"...ในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคภายหลังทราบว่าชนะการเลือกตั้ง ได้หารือกันอย่างเคร่งเครียดถึงเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาล ตอนหนึ่งมีการหยิบยกกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ขอกลับประเทศไทยด้วย โดยที่ประชุมพรรคไม่ได้ต่อต้านเรื่องนี้ แต่ขอให้กลับเข้ามาด้วยวิธีปกติ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่จะไม่ยอมรับหากเข้ามาด้วย “วิธีพิเศษ”..."
นับถอยหลังวันที่ 22 พ.ค. 2566 นี้
จะมีการแถลงของ 8 พรรคร่วม นำโดย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคประชาชาติ พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง รวมเสียง 313 ส.ส. จากผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างไม่เป็นทางการ
ฟอร์มทีมตั้งรัฐบาลความหวังของประชาชน
ความเคลื่อนไหวขณะนี้ยังคงไม่นิ่ง เพราะในช่วง 2-3 วันนี้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุในการแถลงข่าวว่า เพิ่งมีการตั้งคณะทำงาน 2 ทีม คือ “คณะเจรจา” และ “คณะเปลี่ยนผ่านอำนาจ” เพื่อวางแผนในหลายรูปแบบ และลดความเสี่ยงจาก “ความไม่แน่นอน” ในการจัดตั้งรัฐบาล
เนื่องจาก “พรรคก้าวไกล” ที่ยึดหัวหาดมาเป็นพรรคลำดับ 1 โดยกวาดเก้าอี้ ส.ส.แบบแบ่งเขต และปาร์ตี้ลิสต์รวม 152 พรรค ได้ “ป๊อปปูล่าร์โหวต” กว่า 14 ล้านเสียง
ยังคงเผชิญข้อครหาหลายประเด็น โดยเฉพาะกรณีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นประเด็น “อ่อนไหว” ในทางการเมืองอย่างมาก
ที่สำคัญในบรรดา 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลข้างต้น มีแค่พรรคก้าวไกล และพรรคเป็นธรรม ที่แสดงจุดยืนแน่ชัดว่าจำเป็นต้องแก้ไข
ส่วนพรรคเพื่อไทย ยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ขอนำไปพิจารณา ส่วนพรรคอื่น ๆ ยังไม่มีจุดยืนออกมาอย่างชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนี้
อีกเรื่องคือกรณีการชงกฎหมาย “นิรโทษกรรม” คดีทางการเมือง เดิมพรรคก้าวไกลเคยประกาศว่าจะนิรโทษกรรมผู้ชุมนุมและผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองตั้งแต่ปี 2557 แต่ภายหลังการเลือกตั้ง 2566 กลับย้อนการนิรโทษกรรมไปไกลถึงปี 2549
มีรายงานข่าวจากพรรคก้าวไกล แจ้งว่า ในที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคภายหลังทราบว่าชนะการเลือกตั้ง ได้หารือกันอย่างเคร่งเครียดถึงเงื่อนไขการจัดตั้งรัฐบาล
ตอนหนึ่งมีการหยิบยกกรณี “ทักษิณ ชินวัตร” ขอกลับประเทศไทยด้วย
โดยที่ประชุมพรรคไม่ได้ต่อต้านเรื่องนี้ แต่ขอให้กลับเข้ามาด้วยวิธีปกติ และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่จะไม่ยอมรับหากเข้ามาด้วย “วิธีพิเศษ”
อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมพรรคก้าวไกล ได้แสดงความเสียดายว่า หาก “ทักษิณ ชินวัตร” กลับไทยในช่วง ก.ค. 2566 อย่างที่เคยโพสต์ในทวิตเตอร์เอาไว้จริง อาจทำให้ไม่ทันกับการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน ต้องดูรายละเอียดอีกยาว
นอกจาก 2 เงื่อนไขหลักข้างต้นแล้ว ยังมีกรณีการ “แบ่งเค้ก” ชิงเก้าอี้รัฐมนตรีกันด้วย โดยพรรคก้าวไกล แสดงจุดยืนชัดว่า เก้าอี้ “สร.1” ต้องตกเป็นของ “พิธา” เท่านั้น พ่วงด้วย รมว.กลาโหม รวมทั้งขอโควตาเก้าอี้ รมว.คลัง เพื่อสานต่อนโยบายรัฐสวัสดิการ รมว.มหาดไทย เพื่อปฏิรูปท้องถิ่น กระจายอำนาจ และเลือกตั้งผู้ว่าฯทุกจังหวัด รวมถึง รมว.สาธารณสุข ด้วย
ขณะที่ “เพื่อไทย” ต่างยื้อแย่งโควตารัฐมนตรีในกระทรวงเศรษฐกิจ ทั้งรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ รมว.คลัง และ รมว.คมนาคม เพื่อสานต่อนโยบายของพรรคตัวเองเช่นกัน โดยชี้ให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทย มีจุดยืนที่แข็งแกร่งในด้านฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ นับตั้งแต่รัฐบาลไทยรักไทย
ส่วนพรรคเล็กหลายพรรคต่างจับกลุ่มรวมกัน ไม่ต่างกับการเลือกตั้งปี 2562 เพื่อต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี โดยในบรรดาพรรคเล็กเหล่านี้ มีอย่างน้อย 3 พรรคคือ พรรคเป็นธรรม พรรคพลังสังคมใหม่ และพรรคเพื่อไทรวมพลัง ที่เป็นระดับ “ลมใต้ปีก” หนุน “ก้าวไกล-เพื่อไทย” มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดเครือข่าย “สีส้ม-สีแดง”
ดังนั้นสิ่งที่ต้องรอดูคือ 22 พ.ค.ในการลงนาม MOU เป็นแค่กระบวนการ “ขั้นต้น” ยังไม่ “สะเด็ดน้ำ” ว่า มีการตกลงร่วมรัฐบาลกันเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่
อีกปัจจัยสำคัญคือ การโหวตเลือกนายกฯครั้งนี้ ยังคงติดหล่มบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 272 ที่เปิดช่องให้ “สภาล่าง” คือสภาผู้แทนราษฎร และ “สภาสูง” คือวุฒิสภา ร่วมลงมติด้วย โดยผู้จะได้รับการดำรงตำแหน่งนายกฯ ต้องได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ 2 สภา หรือไม่ต่ำกว่า 376 เสียง
ดังนั้น 8 พรรคร่วมรัฐบาลข้างต้น จำเป็นต้อง “ดีล” ส.ว.มาช่วยโหวตด้วยไม่ต่ำกว่า 63 คน จึงจะผ่านไปได้แบบ “ฉิวเฉียด”
แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบตอนนี้ มี ส.ว.ที่ออกมาแสดงจุดยืน “สนับสนุน” พรรคที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ 1 มีแค่ 13 คน ยังขาดอีก 50 คน โดยแกนนำก้าวไกล และเพื่อไทย พยายามต่อสายดีลทั้ง “ทางลับ-ทางแจ้ง” เพื่อต่อรองเสียงโหวตดังกล่าว
และบังเอิญเหลือเกินที่ ส.ว.สาย “นักวิชาการ-นักธุรกิจ-ภาคประชาชน” ที่เคยโหวต “ปิดสวิตช์ตัวเอง” มาแล้วระหว่างปี 2563-2565 มีจำนวน 63 คน ตามที่ “ไอติม-พริษฐ์ วัชรสินธุ” แกนนำก้าวไกล ทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องเอาไว้พอดี
แต่หมากเกมนี้เพิ่งเริ่มเท่านั้น เห็นได้จาก “พรรคภูมิใจไทย” ที่รอเวลา 2-3 วันจึงออกแถลงการณ์โชว์จุดยืนว่า ไม่สนับสนุนพรรคที่แก้ไขมาตรา 112 และพร้อมเป็น “ฝ่ายค้าน” เช่นเดียวกับพรรคเครือข่ายอนุรักษ์นิยมอย่าง พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ค่อนข้างแน่ชัดแล้วว่า “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีรักษาการ อาจไม่ไปต่อทางการเมือง พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ยังคงนิ่งดูทิศทางลมอยู่ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยังอยู่ระหว่าง “ถอดบทเรียน” พ่ายเลือกตั้งครั้งใหญ่
เพราะบนกระดานการเมืองไม่มีคำว่า “มิตรแท้ ศัตรูถาวร”
ดังนั้น “ก้าวไกล” ที่ถูกหลายพรรคมองเป็น “เด็กดื้อ” จึงอาจไม่ใช่พรรคที่มี “แต้มต่อ” เหนือกว่า “เพื่อไทย” ที่สามารถต่อสายดีลได้ทุกขั้วการเมืองก็เป็นไปได้
หากสุดท้าย “ก้าวไกล” ดีลจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ “ตาอยู่” อย่าง “เพื่อไทย” จะหยิบชิ้นปลามันไปหรือไม่
ต้องลุ้นต่อไปแบบห้ามกระพริบตา
เพราะสารพัดโจทย์ (หิน) เหล่านี้ ดูเหมือนจะไม่ได้แก้ไขกันได้ง่ายๆ นัก