"...เหล่านี้ คือ เบื้องลึก 3 พรรคหน้าใหม่ แต่ใส้ในล้วนเป็น ‘หน้าเดิม’ ทางการเมือง และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเครือข่าย ‘ส้ม-แดง’ ไม่ต่างอะไรกับ ‘ลูกไม้ใต้ต้น’ จาก ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’..."
จับตา 22 พ.ค.นี้ ดีเดย์ 8 พรรคการเมืองร่วมกันฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาล นำโดย ‘ก้าวไกล’ ที่กวาดจำนวน ส.ส.เยอะที่สุดในการเลือกตั้ง 2566 ที่ผ่านมา จำนวน 152 เสียง หวังผลักดัน ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี คนที่ 30
ในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังการหย่อนบัตรเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.2566
ได้เกิดกระแสดราม่าสั่นสะเทือนแวดวงการเมืองมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสารพัด ‘ดีลลับ-ดีลแจ้ง’ เชิญพรรคการเมืองมาร่วมรัฐบาล
โดยดีลที่เป็นกระแสชั่วข้ามคืน หนีไม่พ้นกรณี ‘ก้าวไกล’ เปิดเทียบเชิญ ‘พรรคใหม่-พรรคชาติพัฒนากล้า’ ซึ่งมีจุดยืนคนละฟากฝั่งการเมือง มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลด้วย
ส่งผลให้ ‘ด้อมส้ม’ วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระทั่ง #มีกรณ์ไม่มีกู ขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์ ส่งผลให้ ‘ก้าวไกล’ ออกแถลงการณ์ขอโทษประชาชนกลางดึก และไม่เอา 2 พรรคดังกล่าวมาร่วมรัฐบาล
ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ 20 พ.ค. 2566) มีพรรคการเมืองที่ประกาศจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างน้อย 8 พรรค รวมเสียง 313 ส.ส. ได้แก่ พรรคก้าวไกล 152 ส.ส. พรรคเพื่อไทย 141 ส.ส. พรรค พรรคประชาชาติ 9 ส.ส. พรรคไทยสร้างไทย 6 ส.ส. พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 ส.ส. พรรคเสรีรวมไทย 1 ส.ส. พรรคเป็นธรรม 1 ส.ส. และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 ส.ส.
ในจำนวนนี้มี ‘หน้าใหม่การเมือง’ อย่างน้อย 3 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่
ที่มาที่ไป 3 พรรคนี้เป็นอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.or) สรุปให้ทราบ ดังนี้
พรรคเพื่อไทรวมพลัง
คือ หนึ่งในเครือข่ายของ ‘บ้านใหญ่โคราช’ ตระกูล ‘หวังศุภกิจโกศล’ ผนึกกำลังกับกลุ่ม ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ แบ่งเป็น 2 สาย คือ เครือข่าย ‘เพื่อไทย’ ที่ ‘กำนันป้อ’ วีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล
ที่แม้ประกาศวางมือทางการเมือง แต่ส่ง ‘บุตรสาว’ สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ไปฝังตัวที่พรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์
ขณะที่พรรคเพื่อไทรวมพลัง มี ‘วสวรรธน์ พวงพรศรี’ หลานชายแท้ ๆ ของ ‘ยลดา หวังศุภกิจโกศล’ ภริยา ‘กำนันป้อ’ เป็นหัวหน้าพรรค ‘จิตรวรรณ หวังศุภกิจโกศล’ เป็นที่ปรึกษาพรรค ได้เก้าอี้ ส.ส.อุบลราชธานี 2 ที่นั่ง
รวมเบ็ดเสร็จ ‘บ้านใหญ่โคราช’ ยึดเก้าอี้ทั้ง ส.ส.แบ่งเขตใน จ.นครราชสีมา จ.อุบลราชธานี และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ รวม 14 ที่นั่ง
สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.อุบลราชธานี ‘เพื่อไทรวมพลัง’ เรียกได้ว่าล้ม ‘บ้านใหญ่’
โดยในพื้นที่เขต 3 ‘พิมพ์พกาญจน์ พลสมัคร’ ชนะ ‘ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ’ หรือที่สื่อมวลชนเรียกกันว่า ‘ชูวิทย์ กุ่ย’ อดีต ส.ส.หลายสมัย ทิ้งห่างเกือบ 1 หมื่นเสียง
ส่วนในเขต 10 ‘สมศักดิ์ บุญประชม’ เอาชนะ ‘สมคิด เชื้อคง’ จากเพื่อไทย ไปแบบถล่มทลาย 63,127 เสียง ต่อ 19,351 เสียง
เมื่อกวาดเสียง ส.ส.มาได้ถึง 14 ที่นั่ง ในวันที่ 18 พ.ค. 2566 แถลงข่าวประกาศชัยชนะของทีม ‘บ้านใหญ่’ พร้อมร่วมรัฐบาลกับ ‘ก้าวไกล’ พร้อมกับส่งสัญญาณต่อรองขอเก้าอี้ระดับ ‘รัฐมนตรีว่าการ’ (รมว.) ถึง 2 คน
อย่างไรก็ดียังไม่มีบทสรุปในเรื่องนี้จาก ‘ก้าวไกล’ ว่าจะจัดสรรแบ่งเค้กกันอย่างไร?
@ วสวรรธน์ พวงพรศรี
ถัดมา พรรคเป็นธรรม
คือหนึ่งในพรรคที่ถูก ‘เซ้ง’ จาก ‘พรรคกลาง’ เมื่อปี 2563 ปัจจุบันมี ‘ปิติพงศ์ เต็มเจริญ’ เป็นหัวหน้าพรรค
‘ปิติพงศ์' คือนักการเมืองรุ่น ‘ลายคราม’ เป็นอดีต ส.ส.กทม. 3 สมัย เคยสังกัดพรรคประชากรไทย พรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน เคยนั่งตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีหลายกระทรวง เคยทำงานให้กับ ‘บิ๊กเนมค่ายสีแดง’ หลายคน ทั้งชัยเกษม นิติศิริ ชูศักดิ์ ศิรินิล และนพดล ปัทมะ เป็นต้น
ที่สำคัญเขามีเพื่อนคู่คิดไว้ปรึกษาการเมืองชื่อ ‘เสธ.แมว’ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดย ‘ปิติพงศ์’ เคารพนับถือ ‘ปรีดา พัฒนถาบุตร’ บิดา ‘เสธ.แมว’ ที่เคยประกาศว่าเป็นครูการเมืองให้กับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’
อย่างไรก็ดี โปรเจกต์ปั้น ‘พรรคเป็นธรรม’ ให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับ ‘กลุ่มแคร์’ ของ ‘เพื่อไทย’ ก็ไม่สมหวังนัก
โดย ‘เสธ.แมว’ กลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง ส่วน ‘ปิติพงศ์’ ได้เริ่มทำพรรคไปในทางท้องถิ่น โดยเจาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชูโรง ‘นล’ กัณวีร์ สืบแสง อดีตประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ
ก่อนหน้านี้เคยนั่งเก้าอี้หัวหน้าสำนักงานภาคสนาม สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย แห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ใน 8 ประเทศ มีประสบการณ์ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน และพื้นที่สงครามทั่วโลก และมีชั่วโมงบินค่อนข้างสูงในการทำงานกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ทำให้ถูกแต่งตั้งเป็นรองหัวหน้าพรรค และส่งลง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ 1 และได้เข้าสภาฯไปทำงานในที่สุด และถูก ‘ก้าวไกล’ เทียบเชิญร่วมรัฐบาลเป็นพรรคแรก ๆ
@ เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ
ปิดท้ายที่พรรคพลังสังคมใหม่ ถูกก่อตั้งเมื่อปี 2564 มี ‘เชาวฤทธิ์ ขจรพงศ์กีรติ’ เป็นหัวหน้าพรรค และ ‘อังกูร ไผ่แก้ว’ เลขาธิการพรรค
โดยไม่ถือว่าเป็นคนไกลแต่อย่างใด เพราะ ‘อังกูร’ คืออดีตเลขาธิการพรรคผึ้งหลวงที่ ‘ก้าวไกล’ ไปเทคโอเวอร์ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ‘ยุบพรรค’ อนาคตใหม่ เมื่อปี 2563
ส่วน ‘ชาวฤทธิ์’ พื้นเพเป็นคน จ.น่าน ทำงานการเมืองในพื้นที่มายาวนาน มีความรู้จักมักจี่กับ ส.ส.ในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากพรรคเพื่อไทยเป็นอย่างดี รวมถึงความสัมพันธ์อันดีกับ ‘หมอชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรค นั่นจึงไม่แปลกเมื่อจบเลือกตั้ง พรรคนี้จะเลือกไปรวมกับ ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ เพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาล
เหล่านี้ คือ เบื้องลึก 3 พรรคหน้าใหม่ แต่ใส้ในล้วนเป็น ‘หน้าเดิม’ ทางการเมือง และมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเครือข่าย ‘ส้ม-แดง’ ไม่ต่างอะไรกับ ‘ลูกไม้ใต้ต้น’ จาก ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’
แต่สิ่งที่ต้องโฟกัสต่อคือ การจัดตั้งรัฐบาล จะสำเร็จเห็นผลเป็นรูปธรรมหรือไม่
ต้องรอวัดใจเสียง ส.ว. ที่ยังขาดอยู่อีกมากในตอนนี้