"...นับตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมา พบว่ามีนิติบุคคลในประเทศไทยได้ดำเนินการส่งชิ้นส่วนอาวุธ,อุปกรณ์และวัตถุดิบคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 27.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (954,500,450 บาท) โดยส่งตรงไปให้กับกองทัพเมียนมาผ่าน 25 บริษัทที่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่ง 12 ใน 25 บริษัทนั้นพบว่ามีการจัดตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร และหลายบริษัทก็พบว่าถูกก่อตั้งโดยผู้ค้าอาวุธรายสำคัญที่ดำเนินกิจกรรมการค้าขายจากเมียนมาและสิงคโปร์..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอรายงานส่องคดีทุจริตโลก ที่มีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับรายงานของสหประชาชาติหรือยูเอ็น เปิดเผยข้อมูลกรณีประเทศสิงคโปร์ถูกระบุเป็นช่องทางส่งชิ้นส่วนอาวุธ รวมไปถึงวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องไปยังประเทศเมียนมาคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 342.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (11,754,257,500 บาท)
ขณะที่ในรายงาน ยูเอ็น ฉบับนี้ ระบุว่า สิงคโปร์เป็นเพียงแค่ 1 ใน 5 ประเทศที่มีการส่งชิ้นส่วนอาวุธไปให้เมียนมาเท่านั้น ส่วนประเทศอื่น ๆ นอกเหนือจากสิงคโปร์ ได้แก่ รัสเซีย,จีน,อินเดีย และไทย
จากกรณีดังกล่าวสำนักข่าวอิศรา ได้สืบค้นรายงานของยูเอ็นเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย ปรากฏรายละเอียดดังต่อไปนี้
นับตั้งแต่การรัฐประหารในเมียนมา พบว่ามีนิติบุคคลในประเทศไทยได้ดำเนินการส่งชิ้นส่วนอาวุธ,อุปกรณ์และวัตถุดิบคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 27.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (954,500,450 บาท) โดยส่งตรงไปให้กับกองทัพเมียนมาผ่าน 25 บริษัทที่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่ง 12 ใน 25 บริษัทนั้นพบว่ามีการจัดตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร และหลายบริษัทก็พบว่าถูกก่อตั้งโดยผู้ค้าอาวุธรายสำคัญที่ดำเนินกิจกรรมการค้าขายจากเมียนมาและสิงคโปร์
12 บริษัทที่ว่ามานี้พบว่ามีสัดส่วนคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนการค้าที่มีต่อกองทัพเมียนมาจากประเทศไทย
มีรายงานด้วยว่าประเทศไทยนั้นถูกใช้งานมากขึ้นโดยกลุ่มผู้ค้าอาวุธนับตั้งแต่การรัฐประหาร และมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นประเทศอีกแห่งนอกเหนือจากสิงคโปร์ในการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกรรมทางการเงินเพื่อทำให้เกิดการซื้อขายวัสดุต่างๆ
โดยประเภทของยุทธภัณฑ์และวัสดุต่างๆที่มีการส่งออกไปยังประเทศเมียนมาผ่านเครือข่ายในประเทศไทยนั้นพบว่ามีลักษณะที่คล้ายคลึงกับประเภทยุทธภัณฑ์ที่จัดส่งมาจากประเทศสิงคโปร์มาก อย่างไรก็ตามยุทธภัณฑ์ที่ส่งจากประเทศไทยไปยังกองทัพเมียนมานั้นยังมีสัดส่วนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับยุทธภัณฑ์จากสิงคโปร์ที่ส่งไปให้กองทัพเมียนมา
สำหรับประเภทยุทธภัณฑ์ที่เครือข่ายบริษัทในประเทศไทยได้ส่งไปให้เมียนมานั้นมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
-ชิ้นส่วนอาวุธ ได้แก่ ชิ้นส่วนอะไหล่สําหรับเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และชิ้นส่วนอะไหล่สําหรับเครื่องบินขนส่งทางทหาร ATR-42
-อุปกรณ์ทางทหารที่สามารถใช้ได้สองทาง (สามารถใช้ในทางพลเรือนได้ด้วย) ได้แก่ยานพาหนะและอุปกรณ์ก่อสร้าง,อุปกรณ์วิทยุและการสื่อสาร,อุปกรณ์เครือข่ายโทรคมนาคม,ซอฟต์แวร์ต่างๆ
-เครื่องจักรอุตสาหกรรม ได้แก่เครื่องกลึง เครื่องกัดในอุตสาหกรรม
-วัสดุต่างๆ ได้แก่ แท่งอลูมิเนียม,เหล็กเส้น,ตะกั่ว,เหล็กทองเหลืองบรอนซ์และทองแดง,ทองเหลืองและเหล็กแผ่น,ลวดเหล็ก,สารเคมี,น้ำมันหล่อลื่น
แผนภูมิของสหประชาชาติแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีการส่งยุทธภัณฑ์ไปยังเมียนมานับตั้งแต่วันที่ ต.ค.2564-ธ.ค.2565 คิดเป็นมูลค่า 27,745,212 ดอลลาร์สหรัฐฯ (960,941,545 บาท)
@ผลกระทบจากการที่มีการส่งออกยุทธภัณฑ์จากประเทศไทย
ผู้รายงานพิเศษของยูเอ็นได้ประเมินว่าเนื่องจากประเทศไทยมีการจัดส่งยุทธภัณฑ์ต่างๆที่มีลักษณะคล้ายกับยุทธภัณฑ์ที่จัดส่งจากประเทศสิงคโปร์ อาทิ เครื่องกลึงและเครื่องกัดในอุตสาหกรรม รวมไปถึงโลหะต่างๆ โดยไปให้กับคณะกรรมการอุตสาหกรรมกลาโหมเมียนมา หรือ DDI และส่งไปเพื่อสนับสนุนการผลิตของโรงงาน KaPaSa ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาวุธในเมียนมา ดังนั้นถ้าหากประเทศสิงคโปร์ดำเนินการปราบปรามบริษัทเหล่านี้อย่างจริงจัง จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นจุดที่มีความสำคัญมากขึ้นในแง่ของความพยายามของกองทัพเมียนมาที่จะดำเนินการจัดซื้อต่างๆ
โดยนิติบุคคลในประเทศไทยที่ได้ดำเนินการจัดหาชิ้นส่วนอะไหล่เฮลิคอปเตอร์ อาทิ เฮลิคอปเตอร์รุ่น Mi-17 เฮลิคอปเตอร์รุ่นนี้ก็อาจจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะว่าในปฏิบัติการโจมตีทางอากาศใส่โรงเรียนและวัดในหมู่บ้าน Let Yet Kone ภูมิภาคสะกาย ทางตอนกลางของประเทศเมียนมา ก็มีรายงานว่าเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 จำนวนสองลำเข้าร่วมภารกิจนี้เช่นกัน
เฮลิคอปเตอร์ Mi-17 ที่ใช้ในกองทัพเมียนมา (อ้างอิงวิดีโอจาก Rosoboronexport )
ผู้รายงานพิเศษระบุว่าจนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลบ่งชี้ว่ารัฐบาลไทยรวมไปถึงกองทัพไทยได้ให้ความเห็นชอบต่อส่งออกยุทธภัณฑ์ไปยังกองทัพเมียนมาแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามประเทศไทยนั้นไม่เหมือนกับสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้มีนโยบายห้ามขายอาวุธให้กับเมียนมาที่มาจากประเทศไทย ซึ่งผู้รายงานพิเศษได้แนะให้ประเทศไทยดำเนินการอย่างแข็งขันในเรื่องนโยบายห้ามส่งออกอาวุธให้กับเมียนมามาโดยตลอด
เช่นเดียวกับกรณีที่ผู้ค้าอาวุธซึ่งมีกิจกรรมทั้งในจีน,รัสเซีย และสิงคโปร์ หน่วยงานที่ดำเนินการสืบสวนนั้นควรจะมีการเปิดโปงผู้นำบริษัทค้ายุทธภัณฑ์ที่ดำเนินงานนอกประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนกองทัพเมียนมาที่ก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศ
ผู้รายงานพิเศษได้ตระหนักถึงความอ่อนไหวเป็นพิเศษของประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกับเมียนมาเป็นระยะทางกว่า 2,400 ก.ม. โดยชายแดนไทยกับเมียนมานั้นถือว่าเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นยิ่งในการสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้ อีกทั้งประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่มีการรองรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก
ผู้รายงานพิเศษจึงได้ย้ำเตือนให้ประเทศไทยได้มีการทบทวนการค้าที่เกิดขึ้นกับเมียนมาและดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับตัวนิติบุคคลที่กำลังใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการจัดซื้อและสิ่งยุทธภัณฑ์,อะไหล่อาวุธ,และเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ไปให้กับกองทัพเมียนมา
โดยขอให้ประเทศไทยได้เพิ่มมาตรการการตรวจสอบการส่งออกไปยังเมียนมา และมีการควบคุมการส่งออกอย่างแข็งขันเพื่อขัดขวางไม่ให้มีการไหลของชิ้นส่วนอะไหล่และยุทธภัณฑ์ต่างๆ อันจะเป็นการช่วยปกป้องพลเรือนในเมียนมา,สนับสนุนการไม่แพร่กระจาย และยังเป็นไปตามข้อตกลงและภาระผูกพันระหว่างประเทศ
ผู้รายงานพิเศษระบุทิ้งท้ายว่าให้ประเทศไทยดำเนินการสืบสวนกับบริษัทที่ถูกระบุชื่อในรายงานเหล่านี้ว่ามีพฤติกรรมการละเมิดต่อกฎหมายว่าด้วยการฟอกเงินและกฎหมายอื่นๆในประเทศไทยหรือไม่
เรียบเรียงจาก:https://www.ohchr.org/sites/default/files/documents/countries/myanmar/crp-sr-myanmar-2023-05-17.pdf
คำถามที่น่าสนใจ สำหรับข้อมูลชุดนี้ คือ นิติบุคคลในประเทศไทย ที่ได้ดำเนินการส่งชิ้นส่วนอาวุธ,อุปกรณ์และวัตถุดิบคิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 27.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (954,500,450 บาท) โดยส่งตรงไปให้กับกองทัพเมียนมาผ่าน 25 บริษัทที่มีการจดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่ง 12 ใน 25 บริษัทนั้นพบว่ามีการจัดตั้งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร และหลายบริษัทก็พบว่าถูกก่อตั้งโดยผู้ค้าอาวุธรายสำคัญที่ดำเนินกิจกรรมการค้าขายจากเมียนมาและสิงคโปร์
เป็นใครมาจากไหน? เข้าไปทำธุรกิจประเภทนี้ได้อย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา จะติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอในตอนต่อไป