"...ส่งผลให้ ‘ผลประโยชน์’ หรือ ‘ผลกำไร’ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ของ กบข. และบริษัทย่อย มีจำนวน 10,591.71 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีผลประโยชน์ฯ 44,012.73 ล้านบาท ลดลง 33,421.02 ล้านบาท หรือลดลง 75.9% เมื่อเทียบปี 2564..."
...............................
ในช่วงปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา
สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หลายราย เข้าไปโพสต์ข้อความบนเพจเฟซบุ๊ก ‘กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ' เพื่อสอบถามข้อมูลไปที่ กบข. หลังจากพบว่า ยอดเงินผลประโยชน์ที่ตนเองได้รับในปี 2565 ลดลงจากปีที่แล้ว โดยบางรายระบุว่า มียอดเงินผลประโยชน์ติดลบ 21,000 บาท
ขณะที่สมาชิก กบข. จำนวนหนึ่ง ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการบริหารของ ‘กบข.’ ว่า เหตุใดเงินผลประโยชน์ที่สมาชิกได้รับลดลงต่อเนื่อง และบางทีมีการติดลบ
“ไปดูแล้ว ยอดเงินผลประโยชน์ กบข.ปี 2565 ขาดทุนหรือครับ เพราะของผม ติดลบ 2.1 หมื่นบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา แย่เลย” สมาชิก กบข. รายหนึ่งระบุ ขณะที่สมาชิก กบข. รายหนึ่ง โพสต์ข้อความว่า “สมาชิกได้ประโยชน์ลดลงตลอด บางทีติดลบอีกต่างหาก เมื่อไหร่จะบริหารให้สมาชิกได้ผลประโยชน์ ได้ผลประโยชน์มากขึ้นครับ”
กระทั่งทีมงาน กบข. ได้โพสต์ข้อความชี้แจงว่า “ปี 2565 มีปัจจัยท้าทายหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุน ทำให้สภาวะการลงทุนผันผวนทั่วโลก เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโควิดของจีน สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ภาวะเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ
และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศที่เร็ว และสูงกว่าหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะประเทศสหรัฐฯ ซึ่งกระทบต่อมูลค่าของตราสารหนี้และหุ้นทั่วโลก ส่งผลทำให้มูลค่าต่อหน่วย (NAV/Unit) ของแผนการลงทุนลดลงจากสิ้นปี 64 และทำให้ยอดผลประโยชน์ระหว่างปี 65 ติดลบ
เช่น กรณีหากสมาชิกอยู่แผนหลัก มูลค่าต่อหน่วย ณ สิ้นปี 2564 มีมูลค่าหน่วยลงทุน 27.9388 ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 มูลค่าต่อหน่วยอยู่ที่ 27.5048 ดังนั้น เมื่อนำมาคำนวณกับจำนวนหน่วย จึงส่งผลให้ยอดเงินในบัญชีของสมาชิกลดลง แต่ลดลงในส่วนของผลประโยชน์สะสม ซึ่งยังไม่กระทบกับยอดเงินต้นของสมาชิก
อย่างไรก็ตาม ยอดเงินผลประโยชน์ที่ติดลบ เป็นการประเมินราคาสินทรัพย์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งเปรียบเสมือนการขาดทุนทางบัญชี โดยเกิดจากการปรับตัวลดลงของหลักทรัพย์หรือตราสารที่กองทุนลงทุนไว้โดยที่ยังไม่มีการจำหน่ายแต่อย่างใด หากสมาชิกยังไม่นำเงินออกจากกองทุนก็ยังไม่ได้รับผลกระทบ
เมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย หรือมีปัจจัยที่มาสนับสนุนการลงทุน ที่จะส่งผลให้มูลค่าหุ้นหรือตราสารหนี้ปรับเพิ่มขึ้น มูลค่า NAV/Unit ก็มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ยอดเงินสมาชิกก็ปรับเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สมาชิกสามารถตรวจสอบมูลค่าต่อหน่วยตามแผนการลงทุน”
พร้อมกันนั้น ทีมงาน กบข.ได้แนบลิงค์ https://bit.ly/3FiM2RU เพื่อให้สมาชิกสามารถตรวจสอบสถานะล่าสุดของกองทุน กบข. ล่าสุด โดยข้อมูล ณ วันที่ 8 พ.ค.2566 พบว่า มูลค่าต่อหน่วย (NAV/Unit) ของแผนการลงทุนต่างๆ รวม 13 แผน มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ รวมเงินสำรอง จำนวน 1,239,051.31 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี เพื่อสะท้อนภาพการบริหารงานของ กบข. สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอ ‘รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และบริษัทย่อย’ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 โดย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ณ วันที่ 26 เม.ย.2566 มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@เปิดฐานะ ‘กบข.’ ลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน 1.16 ล้านล้าน
งบแสดงฐานะการเงิน
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวม 1,197,062.07 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีสินทรัพย์รวม 1,135,708.76 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.4% โดยสินทรัพย์ส่วนใหญ่ คือ เงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน จำนวน 1,167,838.96 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 1,109,861.41 ล้านบาท
ส่วนหนี้สินรวม มีจำนวน 3,701.67 ล้านบาท เทียบกับปีปี 2564 ที่มีจำนวน 3,634.66 ล้านบาท โดยหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้สินอนุพันธ์ จำนวน 2,626.90 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 2,295.15 ล้านบาท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายละเอียดหนี้สินและเงินกองทุน ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 ที่มีจำนวน 1,197,062.07 ล้านบาท นั้น พบว่า เป็นเงินทุนที่ได้รับ จำนวน 908,291.33 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 843,664.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64,536.72 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.64%
ขณะที่ผลประโยชน์ของเงินทุนที่รับเข้าบัญชีสมาชิกรายบุคคล (ผลประโยชน์เงินประเดิม ,ผลประโยชน์เงินสะสม ,ผลประโยชน์เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินชดเชย เป็นต้น) มีจำนวน 123,395.25 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 145,618.55 ล้านบาท ลดลง 22,223.31 ล้านบาท หรือลดลง 15.26%
ส่วนผลประโยชน์เงินสำรอง มีจำนวน 162,104.95 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 142,084.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,020.24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.09%
@ปี 65 ได้ผลประโยชน์ฯ 1.05 หมื่นล้าน ลดลงจากปีก่อน 75.9%
งบกำไรขาดทุนและกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น
สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม 29,654.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 25,798.46 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยและส่วนลดรับ จำนวน 24,928.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีจำนวน 21,832.45 ล้านบาท
ส่วนค่าใช้จ่ายรวม มีจำนวน 1,386.87 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่มีจำนวน 1,425.05 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวมาจาก 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ 1.ค่าธรรมเนียมผู้จัดการกองทุน 273.99 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่มีค่าใช้จ่าย 361.82 ล้านบาท
2.ค่าใช้จ่ายในการบริหารอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ให้เช่า 203.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีค่าใช้จ่าย 170.86 ล้านบาท และ 3.ค่าใช้จ่ายสำนักงานที่มีจำนวน 604.12 ล้านบาท ลดลงจากปี 2564 ที่มีค่าใช้จ่าย 619.96 ล้านบาท
ขณะที่รายได้จากการลงทุนสุทธิมีจำนวน 28,267.53 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีจำนวน 24,373.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,894.12 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15.97% แต่เมื่อหักลบกับรายการอื่น โดยเฉพาะการขาดทุนสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน 20,585.34 ล้านบาท
ส่งผลให้ ‘ผลประโยชน์’ หรือ ‘ผลกำไร’ สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ของ กบข. และบริษัทย่อย มีจำนวน 10,591.71 ล้านบาท เทียบกับปี 2564 ที่มีผลประโยชน์ฯ 44,012.73 ล้านบาท ลดลง 33,421.02 ล้านบาท หรือลดลง 75.9% เมื่อเทียบปี 2564
@จ้าง 10 บ.จัดการกองทุนทั้ง‘ใน-ต่างประเทศ’ บริหารเงิน กบข.
การบริหารเงินลงทุน
การบริหารเงินลงทุนของ กบข. มีทั้งส่วนที่บริหารโดย กบข. และส่วนที่ว่าจ้างบริษัทจัดการกองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีดังนี้
บริษัทจัดการกองทุนในประเทศ
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 กบข. จ้างบริษัทจัดการกองทุนในประเทศ จำนวน 3 ราย แบบเน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามประเภทตราสาร เพื่อบริหารเงินลงทุนประเภทตราสารทุน ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด ,บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2565 กบข. ได้ต่ออายุสัญญาว่าจ้างบริษัทจัดการกองทุนในประเทศทั้ง 3 ราย สัญญามีอายุ 3 ปี โดย กบข. ให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กลิกรไทย จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด ส่งคืนทรัพย์สินบางสวนมีมูลค่า 668.89 ล้านบาท และ 505.84 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญา
ดังนั้น ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 กบข. จ้างบริษัทจัดการกองทุนในประเทศจำนวนทั้งสิ้น 3 ราย
บริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศ
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 กบข. จ้างบริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศ จำนวน 8 ราย เพื่อบริหารเงินลงทุนประเภทตราสารทุน จำนวน 5 ราย ได้แก่ MFS International (UK) LTD, Veritas Asset Management (UK) LTD, Baillie Gifford Overseas Limited, Magellan Asset Management Limited และ Allspring Global Investments, LLC (เดิมชื่อ Wells Capital Management)
และบริหารเงินลงทุนประเทตราสารหนี้ จำนวน 3 ราย ได้แก่ Insight Investment Management (Global) Limited, Wellington Management Singapore PTE LTD และ Robeco Institutional Asset Management B.V.
ในระหว่างปี 2565 กบข. ให้บริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศประเภทตราสารทุน ได้แก่ Veritas Asset Management (UK) LTD และ Baillie Gifford Overseas Limited ส่งคืนทรัพย์สินบางส่วนมีมูลค่ายุติธรรม จำนวน 1.332.74 ล้านบาท
โดย กบข. ได้ต่ออายุสัญญาว่าจ้างบริษัทจัดการกองทุน Baillie Gifford Overseas Limited สัญญาดังกล่าวมีอายุ 3 ปี และ กบข. ได้ลงทุนเพิ่มในบริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศประเภทตราสารหนี้ ได้แก่ Insight Investment Management (Global) Limited, Wellington Management Singapore PTE LTD และ Robeco Institutional Asset Management B.V. มีมูลค่ายุติธรรม จำนวน 23,401.79 ล้านบาท
นอกจากนี้ กบข. จ้างบริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศเพิ่ม จำนวน 1 ราย เพื่อบริหารเงินลงทุนประเภทตราสารทุน ได้แก่ Schroder Investment Management (Singapore) LTD โดยเริ่มทยอยลงทุนและส่งมอบทรัพย์สินในเดือน ต.ค.2565 มีมูลค่ายุติธรรม จำนวน 5,217.59 ล้านบาท
และได้ยกเลิกสัญญาว่าจ้างบริษัทจัดการกองทุน MFS International (UK) LTD และ Magellan Asset Management Limited โดยให้ส่งคืนทรัพย์สินทั้งหมดซึ่งมีมูลค่ายุติธรรม จำนวน 10,978.97 ล้านบาท ให้กับ กบข.
ดังนั้น ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 กบข. จ้างบริษัทจัดการกองทุนต่างประเทศจำนวนทั้งสิ้น 7 ราย
@เงินลงทุน ‘กบข.’ กว่า 7.47 แสนล้านลงทุนตราสารหนี้ในประเทศ
เงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 กบข. มีเงินลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน รวมทั้งสิ้น 1,167,838.96 ล้านบาท โดยเงินส่วนของสมาชิก นั้น มีการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น ตราสารหนี้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตราสารทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และหน่วยลงทุนอสังหาริมทรัพย์ทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น รวม 420,612.89 ล้านบาท
ขณะที่เงินส่วนของเงินสำรอง นั้น มีการนำไปลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ จำนวน 747,226.89 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการลงทุนตราสารหนี้ในประเทศของ กบข. ทั้งของสมาชิกและของเงินสำรอง พบว่ามีส่วนที่เป็นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล จำนวน 663,915.39 ล้านบาท และบางส่วนได้ดำเนินธุรกรรม Bond Switching ตามที่กระทรวงการคลังกำหนด
@เผยใช้เครื่องมือ ‘Stress Test’ ประเมินค่าความเสียหายล่วงหน้า
นโยบายการบริหารความเสี่ยง
ความเสี่ยงด้านตลาด
กบข. มีความเสี่ยงด้านตลาด เนื่องจากมีเงินลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งผลตอบแทนของเงินลงทุนดังกล่าวขึ้นอยู่กับความผันผวนของภาระทางเศรษฐกิจ สถานการณ์ตลาดทุนและตลาดเงิน โดยภาวะการณ์ดังกล่าวอาจมีผลกระทบทั้งด้านบวกหรือด้านลบต่อราคาหลักทรัพย์ที่ลงทุนได้ โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน
เนื่องจาก กบข มีการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นสกุลเงินต่างประเทศ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน จึงมีผลต่อการดำเนินงานของ กบข. เมื่อมีการแปลงราคาหลักทรัพย์ดังกล่าวมาเป็นสกุลเงินบาท
ดังนั้น กบข. จึงได้บริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวโดยการทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับสถาบันการเงินให้หมาะสมกับสถานการณ์ภายใต้กรอบการควบคุมสัดส่วนการป้องกันความเสี่ยงสำหรับการลงทุน (Hedged Ratio) ที่กำหนด
ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ย
เนื่องจาก กบข. มีการลงทุนในตราสารหนี้ซึ่งมีโอกาสที่ราคาตราสารหนี้อาจปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง เมื่ออัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ โดยทั่วไปหากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้น ราคาตราสารหนี้จะปรับลดลง และหากอัตราดอกเบี้ยในห้องตลาดลดลง ราคาตราสารหนี้จะปรับเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ หากตราสารหนี้มีอายุคงเหลือยาว ราคาของตราสารหนี้นั้นก็จะยิ่งมีความอ่อนไหวต่อการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ดังนั้น กบข. จึงมีนโยบายการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย
โดยการปรับอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในพอร์ตการลงทุน (Portfolio Duration) ให้เหมาะสมตามสภาวะตลาด รวมถึงการใช้เครื่องมือประเกทตราสารอนุพันธ์ เช่น สัญญาแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate swap: IRS) ในการบริหารพอร์ตการลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความเสี่ยงด้านตราสารทุน
เนื่องจาก กบข. มีการลงทุนในตราสารทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้มีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนของกองทุนจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาตราสารทุน
ดังนั้น กบข. จึงมีนโยบายกระจายการลงทุนในตราสารทุนในประเทศและต่างประเทศเพื่อช่วยให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงการใช้เครื่องมือประเภทตราสารอนุพันธ์ เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือ สัญญาออปชั่น ในการช่วยให้การบรินารพอร์ตการลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ กบข. ยังมีการใช้เครื่องมือการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) ในการประเมินค่าความเสียหายล่วงหน้า โดยทดสอบด้วยสถานการณวิกฤตที่คาดว่าเป็นเหตุการณ์ที่สภาวะตลาดมีความผันผวนผิดปกติและมีระดับสูงที่อาจจะเกิดขึ้นกับ กบข. เพื่อให้มั่นใจว่าได้พิจารณาครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
รวมทั้งได้มีการทดสอบความน่าเชื่อถือของสมมติฐานที่ใช้ (Back Test) เพื่อสอบทานความสมเหตุสมผลและเปรียบเทียบผลลัพธ์จากข้อสมมติกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง
@ศาลฯยกฟ้องคดีฟ้อง ‘กบข.’ ปมผลประกอบการ‘ขาดทุน’ 592 คดี
ขณะเดียวกัน รายงานฯฉบับนี้ ได้มีการระบุในรายการ ‘หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น’ ว่า ในปี 2552 มีสมาชิกฟ้องร้อง กบข. ต่อศาลปกครองทั่วประเทศ เกี่ยวกับผลการดำเนินงานในปี 2551 ที่ทำให้มูลค่าสินทรัพย์สุทธิต่อหน่วยเมื่อสิ้นปี 2551 ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสิ้นปี 2550 จำนวน 633 คดี
ปรากฏว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2565 ศาลปกครองได้มีคำพิพากษายกพ้องคดีปกครองดังกล่าวไปแล้วจำนวน 592 คดี คิดเป็นร้อยละ 93.52 โดยเห็นว่า ผลประกอบการของ กบข. ที่ขาดทุนในปี 2551 นั้น มิได้เกิดจากความผิดของ กบข.
และคาดว่าคำพิพากษาของศาลปกครองในคดีอื่นที่ค้างพิจารณาอีก 41 คดี นั้น น่าจะพิพากษาออกมาในแนวทางเดียวกัน เนื่องจากลักษณะคำร้องและคำขอท้ายคำฟ้องของคดีปกครองที่ค้างพิจารณาอยู่นั้น เป็นอย่างเดียวกันกับคดีปกครองที่มีการยกฟ้อง กบข. ไปแล้ว ดังนั้น กบข. จึงไม่บันทึกประมาณการหนี้สินจากผลของคดีส่วนที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลไว้ในงบการเงิน
ณ วันที่ 31 ธ.ค.2564 มีจำนวนสมาชิกที่ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษายกพ้องไปแล้ว ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด 1 ราย ในระหว่างปี 2565 ไม่มีสมาชิกยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดเพิ่มเติม
ดังนั้น ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2565 จำนวนสมาชิกที่ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดยังคงเป็น 1 รายเท่าเดิม ซึ่ง กบข. คาดว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดน่าจะออกมาในแนวทางเดียวกันกับศาลปกครองชั้นต้น
เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของ 'รายงานงบการเงิน' ของ กบข. ณ ปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565 ก่อนที่ 'สมาชิก กบข.' จำนวนหนึ่ง ได้ออกมาร้องว่า 'เงินผลประโยชน์' ในปี 2565 ติดลบ รวมทั้งมีการตั้งคำถามเกี่ยวกับบริหารเงินกองทุน กบข. ซึ่งปัจจุบันมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ว่าประสิทธิภาพเพียงใด?
อ่านเพิ่มเติม : รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และบริษัทย่อย สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.2565
อ่านประกอบ :
ให้รอ ป.ป.ช.! บอร์ด กบข.ตั้งแง่ไม่สอบจริยธรรม 'ศรีกัญญา' ใส่นาฬิกา-กระเป๋าหรูปลอม
‘‘กบข.’ปรับพอร์ตลงทุนรับความเสี่ยง‘เงินเฟ้อโลก’-จับตาปีหน้า'เฟด'ขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้ง