เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา สั่งยกคำร้อง 2 ผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาชาติ จ.สงขลา 'มังโสด หมะเต๊ะ-อับดุลเราะมัน มอลอ' ปมถูกถอนสิทธิ์ เหตุพรรคไม่มีสาขา ยันกกต.ทำชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องของนายมังโสด หมะเต๊ะ และ นายอับดุลเราะมัน มอลอ กรณีถูกผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งที่ 8และ7 จังหวัดสงขลา ไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาชาติที่ผู้ร้องเป็นสมาชิกไม่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด หรือสาขาพรรคการเมืองไม่มีคณะกรรมการสาขาเหลืออยู่ หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดครบวาระและข้อบังคับพรรคมิได้ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่
นายมังโสด หมะเต๊ะ ภาพจาก www.facebook.com/Dr.Mangsod/
นายอับดุลเราะมัน มอลอ ภาพจาก www.facebook.com/photo/
ทั้งนี้ รายละเอียดคำสั่งของศาลฎีกาของการวินิจฉัยคดีของบุคคลข้างต้นทั้งสอง มีเหตุผลเหมือนกันต่างกันแค่เขตเลือกตั้ง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอรายละเอียดคำสั่งศาลฎีกาของนายมังโสด หมะเต๊ะ ดังนี้
ความคดีเลือกตั้ง
ระหว่าง นายมังโสด หมะเต๊ะ ผู้ร้อง
ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา ผู้คัดค้าน
เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (สิทธิสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง)
ผู้ร้องยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา แต่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากพรรคประชาชาติที่ผู้ร้องเป็นสมาชิกไม่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด หรือสาขาพรรคการเมืองไม่มีคณะกรรมการสาขาเหลืออยู่ หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดครบวาระและข้อบังคับพรรคมิได้ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ ขอให้ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา
ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะเหตุว่าภายหลังปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ผู้คัดค้านได้ดําเนินการตรวจสอบข้อมูลของผู้ร้อง ปรากฏว่าพรรคประชาชาติที่ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น ไม่ดําเนินการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ดังนั้นพรรคประชาชาติจึงไม่สามารถส่งผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
หัวหน้าพรรคประชาชาติแจ้งการแต่งตั้งตัวแทนพรรคประชาชาติประจําจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2562 ซึ่งครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 1 มกราคม 2566 (ที่ถูก 2 มกราคม 2566) ตามข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. 2561 ข้อ 28 อย่างไรก็ดีข้อบังคับดังกล่าวไม่ได้กําหนดให้กรณีที่ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดที่ครบวาระแล้วอยู่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้นตัวแทนพรรคประชาชาติประจําจังหวัดสงขลาจึงไม่สามารถอยู่รักษาการต่อไปได้ ส่งผลให้พรรคประชาชาติไม่มีตัวแทนพรรคประจําจังหวัดสงขลา แม้ที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคประชาชาติจะมีมติให้ตัวแทนพรรคประชาชาติที่ครบวาระทําหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 7 มีนาคม 2566 ก็ไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และแม้ข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. 2561 ข้อ 30 จะระบุว่าความเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดสิ้นสุดลงเมื่อตาย ลาออก ขาดจากสมาชิกภาพ หรือถูกสั่งให้ออกจากการเป็นตัวแทนพรรค ก็เป็นคนละกรณีกับการอยู่รักษาการ ซึ่งข้อบังคับไม่ได้กําหนดให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดที่ครบวาระอยู่รักษาการต่อไป
ต่อมาแม้วันที่ 11 มีนาคม 2566 ที่ประชุมใหญ่พรรคประชาชาติได้มีมติแก้ไขข้อบังคับพรรคประชาชาติ ข้อ 27 ให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดที่ครบวาระแล้วสามารถทําหน้าที่รักษาการต่อไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่การแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดสงขลาครบวาระแล้ว การแก้ไขข้อบังคับจึงไม่มีผลย้อนหลังให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดดังกล่าวรักษาการต่อไปได้ เนื่องจากอยู่ภายใต้ข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. 2561 ฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไข ขอให้ยกคําร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา ของพรรคประชาชาติ แต่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดสงขลา หรือไม่
เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 47 บัญญัติว่า 'พรรคการเมืองซึ่งประสงค์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งในจังหวัดใด ต้องมีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดในจังหวัดนั้น...' ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดใดจะต้องเป็นตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดนั้นไว้แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนและข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับ โดยผู้ร้องแถลงรับข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมใหญ่สามัญประจําปีพรรคประชาชาติ ครั้งที่ 1/2566 ในวันที่ 11 มีนาคม 2566 เอกสารหมาย ค.12 ซึ่งปรากฏว่าในการประชุมดังกล่าวมีการแก้ไขข้อบังคับพรรคประชาชาติ ข้อ 27 ให้นําข้อบังคับ ข้อ 23 และข้อ 24 มาใช้กับตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด
อันทําให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดที่ครบวาระดํารงตําแหน่งรักษาการต่อไปได้ และพรรคประชาชาติได้รายงานให้นายทะเบียนพรรคการเมืองทราบแล้ว ก็เป็นการแก้ไขข้อบังคับพรรคภายหลังจากที่ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดสงขลาครบวาระแล้วเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2566 การแก้ไขข้อบังคับดังกล่าวจึงไม่มีผลย้อนหลังไปถึงตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดสงขลาซึ่งครบวาระไปแล้วให้กลับมารักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เนื่องจากขณะตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดสงขลาครบวาระจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับพรรคประชาชาติ พ.ศ. 2561 เดิมก่อนมีการแก้ไขตามเอกสารหมาย ร.2 ซึ่งไม่มีข้อบังคับใดให้รักษาการหรือปฏิบัติหน้าที่ต่อไป เช่น กรณีกรรมการสาขาพรรค
ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า คณะกรรมการบริหารพรรคยังไม่เคยมีมติให้เลิกตัวแทนพรรคประจําจังหวัดสงขลาและได้มีมติให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดที่ครบวาระรักษาการแทนไปก่อนจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ ตัวแทนพรรคประชาชาติประจําจังหวัดสงขลายังไม่สิ้นสุดการดํารงตําแหน่งตามข้อบังคับพรรคหรือการที่พรรคประชาชาติมีหนังสือแจ้งไปยังนายทะเบียนพรรคการเมืองตามเอกสารหมาย ร.4. ว่า ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดสงขลาที่ครบวาระแล้ว จะรักษาการต่อไปตามข้อบังคับของพรรค ซึ่งปรากฏว่านายทะเบียนพรรคการเมืองมีหนังสือแจ้งตอบรับทราบแล้ว ก็ไม่มีผลทําให้ตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดสงขลาซึ่งครบวาระไปแล้วสามารถรักษาการต่อไปได้ เพราะขณะนั้นยังไม่มีข้อบังคับกําหนดไว้
ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า หัวหน้าพรรคประชาชาติได้ออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 50 และ 51 แล้ว ซึ่งแม้ปรากฏภายหลังว่าการสรรหาไม่ได้ดําเนินการตามบทบัญญัติมาตรา 50 และ 51 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 56 วรรคสอง ระบุว่า ไม่ทําให้การสมัครรับเลือกตั้งนั้นเสียไปก็เป็นกรณีที่ไม่ได้มีการดําเนินการตามมาตรา 50 หรือมาตรา 51 เท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงการไม่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดตามมาตรา 47 ด้วย
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าพรรคประชาชาติไม่มีสาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคประจําจังหวัดสงขลา จึงไม่สามารถส่งสมัครสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดสงขลาได้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 47 ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดสงขลา ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
จึงมีคําสั่งให้ยกคําร้อง
คดีเลือกตั้งอื่น
- กรณีศึกษา : ศาลฎีกาสั่งถอนชื่อสมัคร ส.ส. เพราะไม่ไปเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.
- มีประวัติถูกปลดพ้นนายก อบต.! ศาลฎีกายกคำร้องผู้สมัคร ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคชาติไทยพัฒนา
- ถือน้อยไม่มีอำนาจสั่งการ!คำพิพากษาศาลฎีกาคืนสิทธิ์สมัคร ส.ส. 'ชาญชัย'ปม AIS 200 หุ้น
- โดนปลดพ้นนายกเทศฯ คดีอยู่ระหว่าง‘ทุเลา’คำสั่ง! ศาลฎีกาคืนสิทธิ์ ผู้สมัคร ส.ส. ภูมิใจไทย
- ไม่ไปเลือกตั้งซ่อม สท.! ศาลฎีกา ตัดสิทธิ์ผู้สมัคร ส.ส.จ.อุบลฯ พรรค รทสช.