ละเอียดยิบ! เปิดคำพิพากษาศาลฎีกาคืนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. นครนายก 'ชาญชัย อิสระเสนารักษ์' ปมถือครอง บมจ. AIS 200 หุ้น วินิจฉัยประกอบธุรกิจสื่อในนิยามความหมายสื่อมวลชนใดๆ แต่ข้อเท็จจริงถือสัดส่วนน้อยมาก ไม่มีอำนาจสั่งการให้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น กกต.ตีความ กม.ตามลายลักษณ์อักษร ไม่ตรงเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ สั่งเพิ่มชื่อเขต 2
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2566 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก เพิ่มชื่อนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ และประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ของพรรคประชาธิปัตย์ กรณี นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้ร้อง ร้องศาลฎีกาปมถูกผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ผู้คัดค้าน ไม่ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เนื่องจากผู้คัดค้านให้เหตุผลว่า นายชาญชัยเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนโดยอ้อม
โดยศาลวินิจฉัยว่า แม้ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด ( เอไอเอส) ถือหุ้นในบริษัทลูก คือ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จำกัด ประกอบกิจการสื่อมวลชน ย่อมถือได้ว่า บริษัท AIS อยู่ความหมายคำว่า สื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ด้วย แต่ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของหรือมีจำนวนหุ้นมากพอที่จะสามารถดําเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น การตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะจองบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) เพียง 200 หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก จึงเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงคำพิพากษาศาลฎีกามารายงาน ดังนี้
ความคดีเลือกตั้ง นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้ร้อง ระหว่าง ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ผู้คัดค้าน เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สิทธิสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง)
ผู้ร้องยื่นคําร้องว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต เลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ แต่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อ ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งโดยอ้างว่าผู้ร้องขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ผู้ร้องมิได้ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ขอให้มีคําสั่งให้ผู้คัดค้านเพิ่มชื่อผู้ร้องในรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ จังหวัดนครนายก ของพรรคประชาธิปัตย์
ผู้คัดค้านยื่นคําคัดค้านว่า ก่อนประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้คัดค้านตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) เนื่องจากเป็นผู้ถือหุ้นใน บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชนใด ๆ โดยอ้อม เพราะมีบริษัทย่อยทางอ้อมเป็นบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) ลักษณะธุรกิจเป็นผู้ให้บริการด้านการนําเสนอสื่อโฆษณาแบบออนไลน์และบริการรับบริหารและจัดทําระบบคอลเซนเตอร์ กับบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ลักษณะธุรกิจเป็นผู้ให้บริการธุรกิจสื่อโฆษณาออนไลน์ ขอให้ยกคําร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความ ไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566 มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย วันที่ 21 มีนาคม 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งมีประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กําหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้ง แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง วันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อและสถานที่ที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ โดยกําหนดให้วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันเลือกตั้ง และวันที่ 3 เมษายน 2566 ถึงวันที่ 7 เมษายน 2566 เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ตามสําเนาใบสมัครและสําเนาใบรับใบสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก เอกสารหมาย ค.5 และ ร.1 ตามลําดับ ต่อมาวันที่ 14 เมษายน 2566 ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้อง เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
เนื่องจากปรากฏหลักฐานว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 42 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ตามสําเนาหนังสือแจ้งการไม่ประกาศรายชื่อบุคคลเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เอกสารหมาย ร.3 และ ค.6 ผู้ร้องถือหุ้นบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) จํานวน 200 หุ้น จากการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ตามสําเนารายงานการถือหลักทรัพย์เอกสารหมาย ร.5 และสําเนาหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบข้อมูลการถือหลักทรัพย์ของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเอกสารหมาย ค.6
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 บัญญัติว่า 'บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... (3) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ..' และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) บัญญัติเช่นเดียวกัน
ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ เมื่อผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยอ้างเหตุว่า ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) จํานวน 200 หุ้น และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) มีบริษัทย่อยทางอ้อม คือ บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน กรณีจึงเห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) บริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) อยู่ในความหมายของคําว่า สื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) หรือไม่
ข้อเท็จจริงปรากฏตามคําร้อง คําคัดค้าน เอกสารประกอบคําร้องและคําคัดค้าน รวมทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารในชั้นไต่สวนว่า บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจํากัด เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2558 ทุนจดทะเบียน มาจากหุ้นสามัญ 15,654,400 หุ้น หุ้นละ 10 บาท เป็นเงิน 156,544,000 บาท ทุนชําระครบถ้วนแล้ว มีวัตถุประสงค์ของบริษัท ดังเช่น ประกอบกิจการรับทําสิ่งพิมพ์ กิจการบริการทางด้านการโฆษณา การออกแบบ การพิมพ์ และเผยแพร่งานศิลปกรรมและวัสดุเพื่อการโฆษณา และกิจการให้บริการ ให้และส่งข้อมูลข่าวสารทุกประเภท รวมถึงการให้บริการเป็นศูนย์บริการข้อมูล หรือคอลเซนเตอร์ ตามสําเนาหนังสือรับรอง เอกสารหมายเลข 2 ในชุดเอกสารหมาย ศ.3 และตามหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) ลงวันที่ 28 เมษายน 2566 ในชุดเอกสารหมาย ศ.3 แผ่นที่ 1 ระบุว่า
บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลัก 3 ลักษณะ ได้แก่ (1) บริการ Outsourced Contact Center รับจัดทําและบริหารระบบคอลเซนเตอร์ครบวงจร โดยมีบริการครอบคลุมบริการรับสายเพื่อรับ เรื่องร้องเรียน รับคําสั่งซื้อสินค้า บริการโทรออกเพื่อนําเสนอสินค้า สอบถามความพึงพอใจ ติดตามหนี้สิน และบริการที่ไม่ใช้เสียง เพื่อให้ข้อมูลทางแชตออนไลน์ (2) บริการโฆษณาออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม YellowPages ซึ่งเป็นสื่อโฆษณาดิจิทัลที่รวมข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศ ไทยไว้ในเว็บไซต์เดียว ในลักษณะของสารบบข้อมูลธุรกิจ เช่น ข้อมูลชื่อ ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ รวมถึงรายละเอียดสินค้าของผู้ประกอบการเพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าทําการสืบค้นข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจ แต่ไม่มีการให้บริการในลักษณะสื่อข้อมูลข่าวสารทั่วไป และ (3) บริการความบันเทิงด้วยเสียง (Infotainment) ผ่านหมายเลขบริการ โดยนําเสนอเนื้อหาบริการด้านกีฬา ดูดวง เรื่องย่อภาพยนตร์ และเรื่องย่อละคร เป็นต้น ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทมาจากการให้บริการดังกล่าวข้างต้น ตามสําเนา งบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตสําหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เอกสารหมายเลข 4 ในชุดเอกสารหมาย ศ.3
ส่วนบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2542 ทุนจดทะเบียน 900,000 บาท มีวัตถุประสงค์ของบริษัท ดังเช่น ประกอบกิจการบริการจัดเก็บ รวบรวม จัดทํา จัดพิมพ์และเผยแพร่สถิติ ข้อมูลในทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม การเงิน การตลาด กิจการเกี่ยวกับการโฆษณาและเผยแพร่ธุรกิจ กิจกรรมของบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล และหน่วยงานของรัฐโดยใช้สื่อโฆษณาทุกประเภท และประกอบกิจการจําหน่าย จัดหา เป็นตัวแทนจําหน่าย ตัวแทนจัดหางานโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางธุรกิจโดยสื่อโฆษณาทุกประเภท ตามสําเนาหนังสือรับรองเอกสารหมายเลข 2 ในชุดเอกสารหมาย ศ.2 และตามหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงของบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ลงวันที่ 28 เมษายน 2566 ในชุดเอกสารหมาย ศ.2 แผ่นที่ 1 ระบุว่า บริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ประกอบกิจการเกี่ยวกับการโฆษณาและเผยแพร่ธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อการถือครองโดเมนเนม (Domain Name) ของเว็บไซต์ www.yellowpages.co.th ซึ่งบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทใช้ในการให้บริการสื่อโฆษณาดิจิทัลที่รวมข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศไทย ไว้ในเว็บไซต์เดียวในลักษณะของสารบบข้อมูลธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดสินค้าของผู้ประกอบการ เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าทําการสืบค้นข้อมูลผู้ประกอบธุรกิจได้ โดยไม่ได้มีการให้บริการในลักษณะ สื่อข้อมูลข่าวสารทั่วไป
ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด มาจาก การให้บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) ใช้โดเมนเนมของเว็บไซต์ดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีรายได้จากการขายสินค้าและหรือบริการอื่น ตามสําเนางบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชี รับอนุญาตสําหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เอกสารหมายเลข 4 ในชุดเอกสารหมาย ศ.2 เมื่อพิจารณาข้อมูลลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และ บริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ทั้งที่ปรากฏในหนังสือรับรองบริษัทและหนังสือชี้แจง ทั้งที่ปรากฏในหนังสือรับรองบริษัทและหนังสือชี้แจงของทั้งสองบริษัทดังกล่าว
ประกอบกับความเห็นของผู้ช่วยศาสตราจารย์กัญภัส อู่ตะเภา คณบดีวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่เบิกความว่า ตามหลักวิชาการ คําว่า 'สื่อมวลชน' หมายถึง สื่อกลางที่นําข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชน หรือกลุ่มคนจํานวนมากไม่ว่ารูปแบบใด สื่อดั้งเดิมมีเช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ปัจจุบันรวมถึงสื่อใหม่หรือสื่อออนไลน์ด้วย เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือแอปพลิเคชันต่างๆ หากบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดเป็นสื่อกลางในการนําข่าวสารหรือเนื้อหาไปยังผู้คนจํานวนมากได้ หรือถือครองสื่อที่เป็นช่องทางการสื่อสารหรือผลิตเนื้อหาไปยังผู้คนจํานวนมาก และผู้คนจํานวนมากสามารถรับสารนั้นได้ ถือเป็นสื่อ
@วินิจฉัย บ.เอไอเอส ประกอบธุรกิจสื่อ
ดังนั้น บริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ที่มีรูปแบบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการช่องทางออนไลน์สําหรับให้ธุรกิจต่าง ๆ มาลงโฆษณาผ่านเว็บไซต์ www.yellowpages.co.th โดยบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด เป็นผู้ถือครองโดเมนเนม ของเว็บไซต์ดังกล่าว ถือได้ว่าบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด เป็นเจ้าของหรือผู้ถือครอง เว็บไซต์อันเป็นสื่อกลางในการนําข่าวสารไปยังผู้คนจํานวนมากตามความมุ่งหมายของการเป็นสื่อมวลชน ตามหลักวิชาการ บริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด จึงอยู่ในความหมายของคําว่า สื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)
ส่วนการที่บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) รับจัดทําและบริหารระบบคอลเซนเตอร์ครบวงจร โดยมีบริการครอบคลุมการรับสายเพื่อรับเรื่องร้องเรียน รับคําสั่งซื้อสินค้า การโทรออกเพื่อนําเสนอสินค้า รวมทั้งบริการที่ไม่ใช้เสียงเพื่อให้ข้อมูลทางแชต ออนไลน์ และมีบริการความบันเทิงด้วยเสียง (Infotainment) ผ่านหมายเลขบริการ อันมีลักษณะเป็นสื่อกลางในการให้ข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางโทรศัพท์และสื่อออนไลน์ต่างๆ ของบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) เอง
นอกจากนี้บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) ยังมีกิจการบริการโฆษณาออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม YellowPages ของบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด อันเป็นสื่อโฆษณาดิจิทัลที่รวมข้อมูลผู้ประกอบการธุรกิจทั่วประเทศไทย โดยบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ผลิตเนื้อหาโฆษณาที่มีอยู่ในแพลตฟอร์มดังกล่าวอีกด้วย ลักษณะการประกอบกิจการดังกล่าว เห็นได้ชัดว่า บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) เป็นทั้งผู้ผลิตเนื้อหาสื่อและเป็นผู้ครอบครองช่องทางการสื่อสารไปยังผู้คนจํานวนมาก บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) จึงอยู่ในความหมายของคําว่า สื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) เช่นกัน
ในส่วนของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) นั้น ข้อเท็จจริงตามคําร้อง คําคัดค้าน เอกสารประกอบคําร้องและคําคัดค้าน รวมทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคล ในชั้นไต่สวนคือ นายนรินทร์ จุ่มศรี ผู้รับมอบอํานาจจากบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ให้มาเบิกความต่อศาล ปรากฏว่า บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจํากัด เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2535 ทุนจดทะเบียน ณ สิ้นปี 2565 เป็นเงิน 4,997,459,800 บาท ทุนชําระแล้วเป็นเงิน 2,973,925,791 บาท มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการต่างๆ รวม 49 ข้อ
ปัจจุบันบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ประกอบกิจการให้บริการที่ปรึกษาและบริหารงานให้แก่บริษัทย่อย รวมถึงเป็นผู้ถือหุ้นของกลุ่มบริษัทย่อย 14 บริษัท บริษัทย่อยทางอ้อม 4 บริษัท บริษัทร่วม 5 บริษัท และบริษัทร่วมค้า 5 บริษัท รวม 28 บริษัท อันเป็นรูปแบบของบริษัทขนาดใหญ่สมัยใหม่ เพื่อความสะดวกในการบริการจัดการ การขยายกิจการ และประโยชน์ในทางภาษีอากร บริษัทย่อย บริษัทย่อยทางอ้อม บริษัทร่วม และบริษัทร่วมค้ากับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ดังกล่าว ประกอบธุรกิจในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ธุรกิจบริการสําหรับลูกค้าองค์กร และธุรกิจในกลุ่มดิจิทัลเซอร์วิส ตามสําเนางบการเงินและรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตสําหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2565 เอกสารหมายเลข 4 ในชุดเอกสารหมาย ศ.4 สําหรับความเกี่ยวพันระหว่างบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) กับบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด นั้น
บริษัททั้งสองเป็นบริษัทย่อยทางอ้อมของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) แม้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด ร้อยละ 99.99 บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ จํากัด (มหาชน) ร้อยละ 99.68 บริษัทซีเอส ล็อกซอินโฟ จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเอดี เวนเจอร์ จํากัด (มหาชน) และบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) ร้อยละ 99.99 เช่นเดียวกัน และบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ร้อยละ 99.94 ตามสําเนารายงานประจําปี 2565 ของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) เอกสารหมายเลข 3 แผ่นที่ 23 ในชุดเอกสารหมาย ศ.4 โดยบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) มิได้เข้าถือหุ้นในบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด โดยตรงก็ตาม
แต่ตามประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ.17/2551 เรื่อง การกําหนดบทนิยามในประกาศเกี่ยวกับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ (ฉบับประมวล) ลงวันที่ 15 ธันวาคม 2551 ข้อ 2 (11) ให้นิยามของคําว่า 'บริษัทย่อย' ว่า หมายความว่า
(ก) บริษัทที่ผู้ออกหลักทรัพย์มีอํานาจควบคุมกิจการ
(ข) บริษัทที่บริษัทตาม (ก) มีอํานาจควบคุมกิจการ
(ค) บริษัทที่อยู่ภายใต้อํานาจควบคุมกิจการของบริษัทตาม (ข) ต่อไปเป็นทอด ๆ ซึ่งอํานาจการควบคุมกิจการนั้น ประกาศคณะกรรมการกํากับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ.17/2551 ดังกล่าว ข้อ 13/1 มีข้อความระบุว่า หมายความว่า มีความสัมพันธ์ในลักษณะใดลักษณะหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) การถือหุ้นที่มีสิทธิออกเสียงในบริษัทเกินกว่าร้อยละห้าสิบของจํานวนสิทธิออกเสียงทั้งหมดของบริษัทนั้น
(ข) การมีอํานาจควบคุมคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม หรือไม่ว่าเพราะเหตุอื่นใด
(ค) การมีอํานาจควบคุมการแต่งตั้งหรือถอดถอนกรรมการตั้งแต่กึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม แสดงว่า บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) มีอํานาจควบคุม การดําเนินงานของบริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด โดยดําเนินการผ่านบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด ที่บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 99.99 และบริษัทที่บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เกินกว่าร้อยละ 99 ต่อไปเป็นทอด ๆ
ประกอบกับ ทางไต่สวนได้ความว่า บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจหลักคือ การเข้าไปลงทุนในบริษัทย่อยและให้คําปรึกษาด้านนโยบาย พร้อมให้การสนับสนุนการดําเนินงาน ในบางส่วนแก่บริษัทที่เข้าไปลงทุน ดังเช่น การให้บริการทางด้านกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) มีความเกี่ยวข้องกับการดําเนินงานของ บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ในความเป็นจริงด้วย ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัทเทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัทเยลโล เพจเจส คอมเมอร์ส จํากัด ประกอบกิจการสื่อมวลชน ย่อมถือได้ว่า บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) อยู่ในความหมายคําว่า สื่อมวลชนใด ๆ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ด้วย
@ ถือครอง 200 หุ้น สัดส่วนน้อย ไม่มีอำนาจสั่งการ เผยแพร่ข้อมูล
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ผู้ร้องถือหุ้นบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) จํานวน 200 หุ้น ทําให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) หรือไม่
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 บัญญัติว่า 'บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร... (3) เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ' และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) บัญญัติเช่นเดียวกัน บทบัญญัติเรื่องลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) ดังกล่าว มีเจตนารมณ์เพื่อป้องกันมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอาศัยความได้เปรียบจากการเป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์หรือเป็นโทษแก่บุคคลเพื่อประโยชน์ในทางการเมือง
ซึ่งในขณะที่มีการเลือกตั้งย่อมหมายถึงการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ตนและพรรคการเมืองที่ตนสังกัดหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น การจํากัดสิทธิผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพราะเหตุเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใด ๆ จึงต้องคํานึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญดังกล่าวด้วย อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) เป็นบทบัญญัติจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และไม่เป็นการเพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ โดยเฉพาะเมื่อคํานึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การเข้าถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนของประชาชนทั่วไปเป็นสิทธิในทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญเช่นกัน และในขณะที่ผู้สมัครยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครยังไม่ได้มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งยังไม่แน่ว่าผู้สมัครจะได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่
คดีนี้ ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ร้องมีหุ้นในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) จํานวนเพียง 200 หุ้น จากจํานวนหุ้นที่ชําระแล้วทั้งหมด 2,973,925,791 หุ้น และมูลค่าหุ้นทั้งหมดของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ตามราคาตลาด ณ สิ้นปี 2565 เป็นเงิน 579,971,000,000 บาท ในขณะที่หุ้นของผู้ร้องมีมูลค่าตามราคาตลาดในวันเดียวกัน เป็นเงินเพียง 39,000 บาท การที่ผู้ร้องเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) จํานวนเพียง 200 หุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก ผู้ร้องย่อมไม่มีอํานาจสั่งการให้ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) ดําเนินการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ร้องและพรรคการเมืองของผู้ร้อง หรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครและพรรคการเมืองอื่น เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของผู้ร้องหรือพรรคการเมืองของผู้ร้องได้
@ ยึดเจตนารมณ์ รธน. - คืนสิทธิ์ให้ผู้รับสมัคร
เนื่องจากผู้ร้องมิใช่เจ้าของหรือมีจํานวนหุ้นในจํานวนมากพอที่จะสามารถกระทําเช่นนั้นได้ การตีความบทบัญญัติของกฎหมายตามลายลักษณ์อักษร ให้ผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะจองบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จํากัด (มหาชน) เพียง 200 หุ้น ย่อมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ การที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องเป็นผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก จึงเป็นการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3)
จึงมีคําสั่งให้ผู้คัดค้านเพิ่มชื่อนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้ร้อง และประกาศรายชื่อ ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดนครนายก ของพรรคประชาธิปัตย์ (คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 24/2566-วันที่ 2 พ.ค.2566)