เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา ยกคำร้อง คดี 'ประภาส ยงคะวิสัย' ผู้สมัคร ส.ส.เขต 5 จ.กาฬสินธุ์ พรรคชาติไทยพัฒนา โดน กกต. ตัดสิทธิ์ ไม่ประกาศชื่อเป็นผู้รับสมัครฯ เหตุมีประวัติถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายก อบต.สงเปลือย ประพฤติมิชอบ-ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เข้าลักษณะต้องห้ามไม่ให้ลงเลือกตั้ง ชอบแล้ว
เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ.2566 ศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องของ นายประภาส ยงคะวิสัย กรณียื่นคำร้องต่อศาลว่า ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดกาฬสินธุ์ ไม่รับสมัครผู้ร้อง เป็นผู้รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่ามีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากประพฤติมิชอบในวงราชการกรณีถูกสั่งพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบจ.) สงเปลือย เมื่อปี 2547 โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ กกต.ไม่ประกาศชื่อผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 5 จ.กาฬสินธุ์นั้นชอบแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอรายละเอียดคำสั่งศาลฎีกา ดังนี้
คดีความเลือกตั้ง นายประภาส ยงคะวิสัย ผู้ร้อง ระหว่าง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดกาฬสินธุ์ ผู้คัดค้าน เรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฯ (สิทธิสมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง)
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งพรรคชาติไทยพัฒนา แต่ผู้คัดค้านไม่รับสมัคร โดยอ้างว่าผู้ร้องมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 เนื่องจากประพฤติมิชอบในวงราชการ ผู้ร้องมิได้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ขอให้มีคำสั่งให้ผู้คัดค้านรับสมัครหรือเพิ่มชื่อผู้ร้องในรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งพรรคชาติไทยพัฒนา
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เพราะเหตุผู้คัดค้านได้ตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ร้องแล้ว ปรากฏว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมีให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่เสนอต่อศาลในวันนัดพร้อมแล้ว เห็นว่า คดีไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานหลักฐาน จึงให้งดการไต่สวนศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่
เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98 บัญญัติว่า ‘บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ... (8) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ’ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 บัญญัติเช่นเดียวกันว่า ‘บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎ...(10) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ’ ดังนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องไม่เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้อง คำคัดค้าน และเอกสารประกอบคำร้องและคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเคยถูกผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสงเปลือย ตามความในมาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 เนื่องจากมีพฤติการณ์กระทำการละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ ตามคำสั่งจังหวัดกาพสินธุ์ที่ 1054/2547 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2547 แม้ผู้ร้องจะอ้างว่า การพ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสงเปลือย มิได้เกิดจากการกระทำโดยทุจริตก็ตาม
แต่บทบัญญัติลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าวได้บัญญัติคำว่า กระทำการทุจริต กับ คำว่าประพฤติมิชอบในวงราชการ แยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยกฎหมายดังกล่าวมิได้ให้นิยามคำว่า ‘ประพฤติมิชอบ’ไว้โดยเฉพาะ จึงต้องเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 3 ซึ่งได้ให้นิยามของคำว่า ‘ประพฤติมิชอบ’ หมายความว่า การกระทำที่ไม่ใช่ทุจริตต่อหน้าที่ แต่เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดโดยอาศัยเหตุที่มีตำแหน่งหรือหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีที่มุ่งหมายจะควบคุมดูแลการรับ การเก็บรักษา หรือการใช้เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน ดังนี้
การที่ผู้ร้องเคยถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสงเปลือย เนื่องจากละเลยไม่ปฏิบัติตามหรือปฏิบัติการไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ โดยละเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน ฯ พ.ศ. 2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2538 ที่แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2544 อันเป็นระเบียบของทางราชการที่มุ่งหมายจะควบคุมดูแล การรับ การเก็บรักษา หรือการใช้เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน ถือได้ว่า ผู้ร้องประพฤติมิชอบในวงราชการ
ตามนิยามคำว่า ‘ประพฤติมิชอบ’ ดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงเป็นบุคคลอันมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 98(8) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (10) ที่ผู้คัดค้านไม่ประกาศรายชื่อผู้ร้องให้ใช้สิทธิเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่ 5 จังหวัดกาฬสินธุ์ พรรคชาติไทยพัฒนานั้น ชอบแล้ว
จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง