"…การจัดซื้อรถดัดแปลงราคาแพง โดยราคาตัวรถดัดแปลงและส่วนประกอบของรถ เมื่อนำมาเทียบเคียงกับส่วนต่างราคาของสินค้าควบคุมประเภทรถยนต์แล้วพบว่า ราคาจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้นจากราคาโรงงานผลิตร้อยละ 29 และเมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วจะมีกำไรจากการประมูลร้อยละ 52.10 ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด…”
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบ มาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอ
พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) เร่งรัดดำเนินการศึกษาแนวทาง และความเหมาะสมของมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ก.พ.ร. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานผลการพิจารณาดำเนินการให้ ครม. รับทราบโดยเร็ว นั้น (อ่านประกอบ : ครม.ปัดข้อเสนอ'ป.ป.ช.'ตั้ง'เกณฑ์ราคากลาง'ป้องกันทุจริตซื้อรถดัดแปลง-พบ10 ปีจัดหา 8 พันล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอแนะมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ของ ป.ป.ช. และข้อโต้แย้งของหน่วยงานรัฐในเรื่องดังกล่าว มีรายละเอียด ดังนี้
@ชี้ 4 ปมปัญหาซื้อ‘รถดัดแปลง’ พบ TOR เอื้อบางราย-ไม่แข่งขัน
ข้อเสนอแนะ ป.ป.ช. เรื่อง มาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง
หน่วยงานของรัฐมีการใช้รถดัดแปลง (รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกขยะมูลฝอย รถดูดสิ่งปฏิกูล) ตั้งแต่ปี 2552 เพื่อนำไปใช้อำนวยความสะดวกในงานราชการและจัดบริการสาธารณะแก่ชุมชน ซึ่งปัจจุบันความต้องการจัดซื้อรถดัดแปลงเพื่อให้บริการแก่ชุมชนและจัดการระบบสาธารณูปโภคเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของประชากรและชุมชน
โดยจากข้อมูลระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลางตั้งแต่ปี 2552-2561 พบว่า มีสัญญาซื้อขายรถดัดแปลงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทเอกชน จำนวน 1,721 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินทั้งสิ้น 8,634.68 ล้านบาท ซึ่งเมื่อตรวจสอบจากกระบวนการจัดซื้อรถดัดแปลงแล้วพบว่า มีประเด็นปัญหา ดังนี้
1.การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะในการจัดทำขอบเขตงาน (Terms of Reference: TOR) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทใดบริษัทหนึ่ง และมีการกำหนดราคากลางที่สูงเกินควร โดยรถดัดแปลงหลายประเภทไม่ได้มีการกำหนดคุณลักษณะและราคากลางไว้ตามมาตรฐานครุภัณฑ์
ดังนั้น หลายหน่วยงานจึงเลือกจัดซื้อโดยการสืบราคาและค้นหารายละเอียดของครุภัณฑ์จากแคตตาล็อกของผู้เสนอราคา ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทหรือบริษัทในเครือ เพื่อทำการเปรียบเทียบราคาที่จะนำมากำหนดราคากลาง ทั้งที่เป็นการสืบราคาจากแหล่งเดียวกัน
และเมื่อเข้าสู่กระบวนการเสนอราคา มักพบว่า เป็นบริษัทในกลุ่มเดียวกันหรือบริษัทในเครือเดียวกันที่เข้าร่วมเสนอราคาและหมุนเวียนกันเป็นผู้ชนะการประมูล
2.การเข้าเสนอราคาอาจไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขัน โดยบริษัทที่ร่วมเสนอราคาได้เสนอราคาอยู่ในช่วงราคาเดียวกัน ประกอบกับระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐไม่ได้กำหนดจำนวนการเคาะประมูลของบริษัท ซึ่งการเสนอราคาประมูลของบริษัทบางแห่งมีการเคาะราคาเพียงรายละ 1 ครั้ง
และมีส่วนต่างของราคาที่ใกล้เคียงกันมากอยู่ระหว่าง 1,500-51,000 บาท ทำให้การเคาะราคาประมูลดังกล่าวอาจไม่มีลักษณะเป็นการแข่งขันการเข้าเสนอราคาที่แท้จริง อีกทั้งหน่วยงานของรัฐบางแห่งเลือกที่จะพิจารณาเพียงเอกสารเสนอราคาเท่านั้น
3.การจัดซื้อรถดัดแปลงราคาแพง โดยราคาตัวรถดัดแปลงและส่วนประกอบของรถเมื่อนำมาเทียบเคียงกับส่วนต่างราคาของสินค้าควบคุมประเภทรถยนต์แล้วพบว่า ราคาจำหน่ายปลีกเพิ่มขึ้นจากราคาโรงงานผลิตร้อยละ 29 และเมื่อหักต้นทุนการผลิตแล้วจะมีกำไรจากการประมูลร้อยละ 52.10 ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาตลาด
4.การเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้มีอำนาจอนุมัติให้จัดซื้อ เช่น การให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่น ๆ เพื่อให้ผู้มีอำนาจอนุมัติให้บริษัทที่เสนอราคาได้มีสิทธิทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ
@ชงกำหนด‘หลักเกณฑ์คำนวณราคากลาง’จัดซื้อรถดัดแปลง
ดังนั้น เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามทุจริตในการจัดซื้อรถดัดแปลงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก่อให้เกิดความน่าเชื่อถือในภาพรวมของประเทศ ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ป้องกันความเสี่ยงในการกำหนดราคากลางของยานพาหนะดัดแปลงอื่นๆ สูงเกินสมควร การสมยอมราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดคุณลักษณะของยานพาหนะดัดแปลงอื่นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง
จึงเห็นสมควรมีมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ตามนัยมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 ต่อ ครม. ดังนี้
1.การจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ราคาต้นทุน และผลตอบแทนตามปกติทางการค้าของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง
เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ ราคาต้นทุน และผลตอบแทนตามปกติทางการค้าของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ตลอดจนกำหนดคุณลักษณะมาตรฐานครุภัณฑ์ให้ครอบคลุม
โดยหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางดังกล่าว ให้พิจารณาต้นทุนและอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และภาษี การจดประกอบที่เกี่ยวข้องของรถดัดแปลงให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมในด้านสมรรณะและด้านประสิทธิภาพ
เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้าในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงคุณลักษณะและเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการฯ ต้องคำนึงถึงราคาต้นทุนในทุกด้าน (ต้นทุนด้านวัตถุดิบ ต้นทุนแรงงาน รวมทั้งต้นทุนด้านเทคนิคการประกอบรถหรือการผลิตรถของผู้ประกอบการ)
1) ให้กรมบัญชีกลาง พิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง ราคาต้นทุน และผลตอบแทนตามปกติทางการค้าสำหรับยานพาหนะและส่วนควบ/ดัดแปลงในการแยกจัดหายานพาหนะดัดแปลง ซึ่งมีลักษณะที่คล้ายกับตาราง Factor F ในงานก่อสร้าง
โดยราคายานพาหนะดัดแปลงดังกล่าวเมื่อรวมกันแล้ว มูลค่าควรเท่ากับหรือไม่สูงกว่าราคายานพาหนะ และส่วนควบ/ดัดแปลงจากการแยกจัดหา เพื่อให้การจัดซื้อยานพาหนะดัดแปลง รวมถึงรถดัดแปลงของหน่วยงานรัฐเป็นไปอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
โดยเห็นควรให้ศึกษาลักษณะงานที่มีความจำเป็นในการใช้รถดัดแปลง สอบถามไปยังหน่วยงานที่ประสงค์ใช้รถประเภทดังกล่าว ตลอดจนศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลสถิติการใช้รถประเภทดังกล่าวของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้มีการกำหนดมาตรฐานการออกแบบพร้อมราคา เพื่อให้ครอบคลุมประเภทรถที่สอดคล้องกับบริบทการใช้งานในแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงมาตรฐานต้นทุนที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะดังกล่าว จะต้องไม่เป็นการสมยอมราคาโดยทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยใช้ราคาที่ได้มาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับราคากลางกำหนด ตามมาตรา 4 (1) และมาตรา 34 (1) แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งในส่วนของการกำหนดราคากลางของยานพาหนะดัดแปลงและรถดัดแปลง ตลอดจนราคาของอุปกรณ์ส่วนควบด้วย
2) ให้สำนักงบประมาณ นำหลักเกณฑ์ตามข้อ 1) ไปกำหนดราคามาตรฐานให้เป็นไปตามมาตรา 4 (3) แห่ง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 โดยให้หารือร่วมกันกับกรมบัญชีกลางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ในการกำหนดราคามาตรฐานของรถดัดแปลง
3) การดำเนินการในระยะต่อไป ให้พิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลงอื่นๆ โดยจัดลำดับความสำคัญจากสถิติการร้องเรียนที่เกี่ยวกับยานพาหนะดัดแปลงอื่นๆ ตลอดจนมูลค่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านความคุ้มค่า ผลลัพธ์ ผลผลิตผลกระทบ และความพึงพอใจต่อสาธารณชน
@เสนอจัดทำฐานข้อมูลเปรียบเทียบราคากลาง‘รถดัดแปลง’
2.การบูรณาการข้อมูลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ให้กรมบัญชีกลางหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงบประมาณ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมการปกครอง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ดังนี้
1) จัดทำและบูรณาการฐานข้อมูลเปรียบเทียบ (Benchmarking database) เพื่อประกอบการตัดสินใจในการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางของยานพาหนะดัดแปลงอื่น โดยจัดลำดับความสำคัญจากมูลค่าความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และจัดทำฐานข้อมูลเปรียบเทียบ (Benchmarking database) ในการประกอบการตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้าง
2) เพื่อให้การดำเนินการตามข้อ 1) เกิดประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม เห็นควรให้นำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางที่แล้วเสร็จดำเนินการในรูปแบบดิจิทัล (Digital) เป็นระบบออนไลน์ (Online platform) กลางของภาครัฐ ให้รองรับการใช้งานข้อมูลจากฐานข้อมูลในรูปแบบ Web-based technology หรือ Mobile application ที่ผู้ใช้งานสามารถปฏิบัติงานและเรียกดูข้อมูลบน Web browser หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ และจะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพื่อให้ส่วนราชการสามารถเปรียบเทียบราคาคุณสมบัติ คุณภาพ ศักยภาพ ประวัติการดำเนินการเป็นคู่ค้าภาครัฐ (Check and balance)
@หนุนตรวจสอบเชิงรุกป้องกัน‘สมยอมราคา’จัดซื้อจัดจ้าง
3.การตรวจสอบเชิงรุกเพื่อป้องกันการสมยอมราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถตัดแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง ในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง
1) ให้หน่วยงานตรวจสอบภายในของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง
2) ให้หน่วยงานตรวจสอบ เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รวมถึงสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลาง ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ดังกล่าว ตลอดจนตรวจสอบความสัมพันธ์เส้นทางการเงินของผู้เกี่ยวข้อง
3) ให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตระดับกระทรวง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการตรวจสอบการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยสร้างแรงจูงใจ (Incentive) และยกระดับมาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริต (Whistleblower protection) และมาตรการคุ้มครองพยาน (Witness protection) ให้เป็นไปตามหลักการสากล
4) ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) นำมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ไปพิจารณากำหนดเป็นตัวชี้วัดในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของตัวชี้วัดแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ
@แนะรัฐปฏิบัติตามมาตรการ-คู่มือป้องกันทุจริตของ UNDP
4.การดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 (The United Nations Convention against Corruption : UNCAC Implementation Review Mechanism) ของประเทศไทยรอบที่ 2 ในหมวดการป้องกันการทุจริต (Prevention) และข้อเสนอแนะจากคู่มือพิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP)
1) ให้รัฐบาลมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง นำข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญา UNCAC (Implementation Review Mechanism) ของประเทศไทยรอบที่ 2 ในหมวดการป้องกันการทุจริต (Prevention) ว่า ประเทศไทยควรพิจารณาประเด็นการขยายระยะเวลาการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์
และข้อเสนอแนะจากคู่มือพิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNDP) เพื่อพัฒนาโครงการตามแนวทางความเสี่ยงต่อคุณธรรมจริยธรรมในระดับองค์กร ระดับกระบวนการ ระดับบุคคล และเครื่องมือจัดซื้อจัดจ้างสมัยใหม่ มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
2) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เผยแพร่การดำเนินงานตามข้อ 1) ทางเว็บไซต์เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะและประชาคมระหว่างประเทศต่อไป
@ตั้งเกณฑ์คำนวณราคากลาง ‘รถดัดแปลง’ ไม่สอดคล้องข้อเท็จจริง
อย่างไรก็ตาม หลังจาก ป.ป.ช.ได้ส่งข้อเสนอแนะฯในเรื่องดังกล่าว ไปให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อนำเสนอให้ ครม. พิจารณา นั้น วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งสั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบตามที่ สลค. เสนอ โดยให้ส่งเรื่องไปให้กระทรวงการคลังพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอ ครม.
โดยต่อมาวันที่ 10 มี.ค.2566 กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้ประชุมร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานประมาณ สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมฯได้พิจารณาแล้วและมีมติในทำนอง ‘เห็นแย้ง’ กับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ในหลายประเด็นด้วยกัน มีดังนี้
-แนวทางการกำหนด Factor F รถดัดแปลง
เนื่องจากรถดัดแปลงมีรายละเอียดซับช้อนและมีเทคนิคเฉพาะจำนวนมาก หน่วยงานแต่ละแห่งมีความต้องการใช้รถแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้ผลิตรถดัดแปลงจะผันแปรไปตามคุณลักษณะเฉพาะที่แต่ละหน่วยงานกำหนด ซึ่งแตกต่างจากงานก่อสร้างที่มีโครงสร้างชัดเจน
ดังนั้น ตามข้อเสนอของสำนักงาน ป.ป.ช. การกำหนด Factor F เพื่อใช้คำนวณราคากลางรถดัดแปลง จึงเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทำให้ราคากลางไม่สะท้อนราคาของรถอย่างแท้จริง
-การกำหนดรายการมาตรฐานครุภัณฑ์
สำหรับการกำหนดรายการมาตรฐานครุภัณฑ์ หากคุณลักษณะเฉพาะของรถดัดแปลงเป็นมาตรฐานและมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการกำหนดรายกรครุภัณฑ์รถดัดแปลงแต่ละชนิด สำนักงบประมาณสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาพิจารณากำหนดราคามาตรฐานครุภัณฑ์ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ สำนักงาน ป.ป.ช. อาจศึกษาเพิ่มเติมแนวทางการรวมซื้อรวมจ้างตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการดำเนินการ รวมการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ลงวันที่ 30 เม.ย.2562 ที่กำหนดเรื่องการรวมซื้อรวมจ้างไว้แล้ว รวมทั้งวิเคราะห์ข้อดีและข้อเสีย เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงานของรัฐจัดซื้อรถดัดแปลงให้เกิดประสิทธิภาพและป้องกันการทุจริตต่อไป
@‘กรมบัญชีกลาง’ชี้กำหนด‘Factor F’รถดัดแปลง ไม่สะท้อนราคา
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลางได้พิจารณาประเด็นการกำหนดหลักเกณฑ์รถดัดแปลงฯ ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ รวม 4 ประเด็น แล้ว มีความเห็น ดังนี้
1.การจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ฯ
ประเด็นนี้ เห็นว่า เนื่องด้วยรถดัดแปลงแต่ละประเภทมีรายละเอียดจำนวนมาก ความซับซ้อนขององค์ประกอบที่ใช้ของรถแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ประกอบกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประกอบรถดัดแปลงของผู้ประกอบการแต่ละรายแตกต่างกัน การกำหนด Factor F สำหรับรถดัดแปลงอาจจะทำให้ราคากลางไม่สะท้อนราคาของรถอย่างแท้จริง
2.การบูรณาการข้อมูลเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ฯ
ประเด็นนี้ เห็นว่า กระทรวงการคลังจะปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ให้รองรับข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน และจัดเก็บข้อมูลการจัดซื้อรถดัดแปลง รวมถึงการกำหนดรหัสของรถดัดแปลงดังกล่าว เพื่อจัดประเภท หมวดหมู่ และคุณลักษณะเฉพาะของรถให้อยู่ในรหัสเดียวกัน และเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (www.gprocurement.go.th)
3.การตรวจสอบเชิงรุกเพื่อป้องกันการสมยอมราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถดัดแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่งในการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ฯ
ประเด็นนี้ เห็นว่า เนื่องจากกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไม่มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ ทั้งนี้ กรณีที่มีการศึกษาเพิ่มเติมและผลการศึกษาเป็นประการใด หากจำเป็นต้องกำหนดเป็นตัวชี้วัดในแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณของหน่วยงาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือสำนักงาน ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาความเหมาะสม
ทั้งนี้ การกำหนดตัวชี้วัดต้องเป็นไปตามหลักการของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546
4.การดำเนินการตามข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ของประเทศไทย รอบที่ 2 ในหมวดการป้องกันการทุจริต ว่าควรขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ และข้อเสนอแนะจากคู่มือพิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐจากสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ในกรณีที่ให้สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ
ประเด็นนี้เห็นว่า ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 117 เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมแล้วซึ่งผู้อุทธรณ์สามารถพิจารณาประเด็นที่ควรยื่นอุทธรณ์ได้ครบถ้วน ซึ่งเห็นได้จากปริมาณงานอุทธรณ์ที่เพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับหากมีการขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์จะส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐล่าช้า
สำหรับกรณีที่ให้สร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ นั้น เห็นว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่หน้ำเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ www.gprocurement.go.th ที่เป็นภาษาไทยแล้ว สำหรับข้อมูลภาษาอังกฤษอยู่ระหว่างดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2567
@‘สันติ’ชี้กำหนด‘เกณฑ์คำนวณราคากลาง’รถดัดแปลง ทำไม่ได้
นอกจากนี้ ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2566 สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ยังได้ชี้แจงข้อมูลต่อ ครม. เกี่ยวกับข้อเสนอของ ป.ป.ช. เรื่อง มาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางฯของยานพาหนะดัดแปลงใน 2ประเด็น ได้แก่
1.กระทรวงการคลัง (กรมบัญชีกลาง) มีหน้าที่หลักในการสนับสนุน ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ โดยคำนึงถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีของยานพาหนะดัดแปลง นั้น อุปกรณ์และส่วนประกอบต่างๆ ของยานพาหนะดัดแปลงในแต่ละรายการได้มีการกำหนดราคากลางไว้แล้ว แต่การกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางของยานพาหนะดัดแปลงทั้งคันให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ ยังไม่สามารถดำเนินการได้
เนื่องจากยานพาหนะดัดแปลงแต่ละกรณีจะจัดทำขึ้นตามความต้องการและตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานของแต่ละหน่วยงานเป็นการเฉพาะราย ซึ่งมีความแตกต่างไป โดยอุปกรณ์ส่วนประกอบและคุณลักษณะเฉพาะต่าง ๆของยานพาหนะดัดแปลงแต่ละคันย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องแต่ละรายจะพิจารณากำหนด เช่น ขนาด จำนวนแรงม้า และอุปกรณ์เสริมต่างๆ เป็นต้น
2.กรณีการยื่นอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้าง ผลการประมูล หรือการฟ้องร้องต่อศาลของผู้ประกอบการที่ไม่เห็นด้วยกับผลการพิจารณาของหน่วยงาน ผู้ประกอบการสามารถยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้ตามหลักเกณฑ์ขั้นตอน และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งในภาพรวมกว่าการฟ้องร้องคดีดังกล่าวจะมีผลสิ้นสุดก็ต้องใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานมาก
นอกจากนี้ เมื่อผลการตัดสินของศาลปรากฎว่าหน่วยงานของรัฐดำเนินการโดยถูกต้องแล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็คือการดำเนินโครงการเกิดความล่าช้า ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผนงานที่กำหนด รวมทั้งมีผลกระทบต่อประชาชนที่ควรจะได้รับประโยชน์จากโครงการนั้นๆ โดยตรง ในขณะที่ผู้ประกอบการที่ยื่นฟ้องคดีก็ไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายใดๆ ที่เกิดขึ้น
ขณะที่ จุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตั้งข้อสังเกตว่า การนำข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 และข้อเสนอแนะจากคู่มือพิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย มาปรับใช้กับประเทศไทย อาจไม่เหมาะสมนัก
เนื่องจากเป็นรูปแบบของต่างประเทศ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและบริบทต่างๆที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เช่น กรณีการขยายระยะเวลาการพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ผลการจัดซื้อจัดจ้างหรือผลการประมูลในการดำเนินโครงการต่างๆของรัฐบาลออกไป จะทำให้โครงการจะต้องหยุดชะงักเป็นเวลานานมากยิ่งขึ้น
ส่งผลให้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการได้ ซึ่งเมื่อโครงการล่าช้าออกไปก็ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนอาจเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากโครงการเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
มติ ครม.
ครม.ได้พิจารณาแล้วลงมติว่า
1.รับทราบมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ตามที่ ป.ป.ช. เสนอ
2.รับทราบผลการพิจารณาต่อมาตรการดังกล่าวของ ป.ป.ช. ตามที่กระทรวงการคลังรายงาน และรับทราบข้อสังเกตของ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ รวมทั้งข้อชี้แจงของ รมช.คลัง (สันติ พร้อมพัฒน์) และให้แจ้ง ป.ป.ช. ทราบต่อไปด้วย
เหล่านี้เป็นรายละเอียดข้อเสนอมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง : กรณีศึกษารถดัดแปลง ของ ป.ป.ช. ที่ ครม.มีมติรับทราบ แต่เนื่องจากยังมีข้อโต้แย้งจากหน่วยงานของรัฐ จึงทำให้การกำหนดหลักเกณฑ์ ‘การคำนวณราคากลาง’ รถดัดแปลง ต้องมีการหารือกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
ครม.ปัดข้อเสนอ'ป.ป.ช.'ตั้ง'เกณฑ์ราคากลาง'ป้องกันทุจริตซื้อรถดัดแปลง-พบ10 ปีจัดหา 8 พันล.