ครม.รับทราบมาตรการป้องกันทุจริตจัดซื้อ ‘รถบรรทุกน้ำ-รถบรรทุกขยะมูลฝอย-รถดูดสิ่งปฏิกูล’ แต่ไม่รับข้อเสนอกำหนด ‘เกณฑ์ราคากลาง’ เหตุไม่สะท้อนราคารถอย่างแท้จริง
......................................
เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลางให้สามารถอ้างอิงบัญชี มาตรฐานครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง กรณีศึกษารถดัดแปลง ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ทั้งนี้ ครม.มอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามข้อสรุปผลการประชุมระหว่างกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันและปราบปรามทุจริตในการจัดซื้อรถดัดแปลง เช่น รถบรรทุกน้ำ รถบรรทุกขยะมูลฝอย และรถดูดสิ่งปฏิกูล ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เกี่ยวกับข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ดังนี้
1.ข้อเสนอแนะเรื่องการจัดทำหลักเกณฑ์การคำนวณราคากลาง ให้สามารถอ้างอิงบัญชีมาตราฐานครุภัณฑ์ ราคาต้นทุน และผลตอบแทนตามปกติทางการค้าของยานพาหนะดัดแปลง กรณีศึกษารถดัดแปลง ได้แก่ พิจารณาต้นทุนและอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายทางการตลาด และภาษี การจดประกอบที่เกี่ยวข้องกับรถดัดแปลง ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม นั้น
ที่ประชุมเห็นว่า แนวทางการกำหนดต้นทุนรถดัดแปลงมีรายละเอียดซับซ้อน เนื่องจากหน่วยงานแต่ละแห่งมีความต้องการใช้รถแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของผู้ผลิตรถดัดแปลงจะผันแปรไปตามคุณลักษณะเฉพาะ อาจทำให้ราคากลางไม่สะท้อนราคาของรถอย่างแท้จริง ดังนั้น ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. จึงเป็นแนวทางที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
2.ข้อเสนอแนะกรณีการบูรณาการฐานข้อมูลเปรียบเทียบ เพื่อประกอบการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งนำหลักเกณฑ์ การคำนวณราคากลางที่แล้วเสร็จไปดำเนินการในระบบออนไลน์กลางของภาครัฐ นั้น
ที่ประชุมระบุว่า กรมบัญชีกลางจะปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (e-GP) ให้รองรับข้อมูลเกี่ยวกับครุภัณฑ์ของยานพาหนะดัดแปลง ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงาน และจัดเก็บข้อมูลการจัดซื้อรถดัดแปลงและกำหนดรหัสของรถดัดแปลง เพื่อจัดประเภทหมวดหมู่ และคุณลักษณะเฉพาะของรถให้อยู่ในรหัสเดียวกัน และเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
3.ข้อเสนอแนะที่ให้มีการตรวจสอบเชิงรุกเพื่อป้องกันการสมยอมราคาในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของรถดัดแปลงเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้เสนอราคารายใดรายหนึ่ง นั้น
ที่ประชุมเห็นว่า หากจำเป็นต้องกำหนดเป็นตัวชี้วัดในแผนงานประจำปีของหน่วยงาน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือกับ ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาความเหมาะสม โดยให้เป็นไปตามหลักการของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546
4.การนำข้อเสนอแนะจากการประเมินติดตาม การปฏิบัติตามอนุสัญญา UN ว่าด้วยการต่อต้าน การทุจริต ค.ศ. 2003 และข้อเสนอแนะจากคู่มือ พิชิตความเสี่ยงต่อการเกิดทุจริตในสัญญาภาครัฐ จาก UNDP เช่น ประเด็นการขยายระยะเวลา การพิจารณาและวินิจฉัยอุทธรณ์ มาประกอบการพิจารณาปรับปรุงกระบวนการทางาน ให้มีความเหมาะสมมากขึ้น รวมทั้งให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องเผยแพร่การดำเนินงานผ่านทางเว็บไซต์ และสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะและประชาคมระหว่างประเทศ นั้น
ที่ประชุมพิจารณาเห็นแล้วว่า ระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ที่มีระยะเวลา 7 วัน มีความเหมาะสมแล้ว หากขยายระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ จะส่งผลให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐล่าช้า อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะ กระทรวงการคลังได้เปิดเผยข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่หน้าเว็บไซต์ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแล้ว
นายอนุชา ยังระบุว่า ข้อมูลจากระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ของกรมบัญชีกลาง พบว่าตั้งแต่ปี 2552-2561 มีสัญญาซื้อขายรถดัดแปลงระหว่างหน่วยงานของรัฐกับบริษัทเอกชน 1,721 โครงการ คิดเป็นมูลค่าเงินทั้งสิ้น 8,634.68 ล้านบาท
ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม จึงให้ความสำคัญ และกำชับให้ทุกหน่วยงานต้องทำให้การจัดหาจัดซื้อรถดัดแปลงดังกล่าว ให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม ต้องไม่เอื้อประโยชน์แก่รายใดรายหนึ่ง และต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อให้ประเทศไทยสามารถยกระดับคะแนนความโปร่งใสจากการประเมินของหน่วยงานสากลให้อยู่ในระดับดับที่มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น