"...ว่ากันว่าเรื่องนี้ ผู้บริหารระดับสูงสรรพากรหลายคนในอดีต รับรู้รับทราบปัญหาเรื่องนี้ กันดีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะเหตุผลบางประการ จนปล่อยให้เรื่องนี้เป็นปัญหาบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน ..."
กรณีการปรับปรุงเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศทั้งอาคารกรมสรรพากร วงเงินเกือบ 200 ล้านบาท แต่ระบบความเย็นขัดข้อง จนเจ้าหน้าที่กรมฯ กว่าร้อยละ 80 ต้องทำงานในสภาพอากาศร้อน บางส่วนจึงต้องนำพัดลมมาใช้เอง
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบอยู่ในขณะนี้
นับจนถึงเวลานี้ สามารถขมวดประเด็นสำคัญที่ตรวจสอบพบได้หลายประการดังต่อไปนี้
1.จุดเริ่มต้นของกรณีนี้ เกิดขึ้น เมื่อสรรพากร เริ่มดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับปรุงเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศใหม่ทั้งอาคารสำนักงานใหญ่ แทนเครื่องปรับอากาศรุ่นเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ 2540 โดยเป็นการวางเครื่องปรับอากาศชุดใหม่เข้ากับระบบท่อลมและโครงสร้างเดิม วงเงินกว่า 321,374,755 บาท ในช่วงปี 2560
โดย สรรพากร ได้ขอความอนุเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญภาควิชาวิศวกรรมช่างกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในการออกแบบระบบปรับอากาศ และมีการจัดทำร่างคุณสมบัติ (TOR) ได้กำหนดราคากลาง 303,442,280 บาท
ขณะที่ การดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นด้วยวิธีประกวดราคาจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งหมด 2 ครั้ง ครั้งแรก ยกเลิกเนื่องจาก บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าเสนอราคาเพียงรายเดียว ครั้งที่สองมีเอกชนสนใจขอรับ/ซื้อเอกสาร 24 ราย ผ่านคุณสมบัติและเสนอราคา 2 ราย คือ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด
ส่วนผลการเสนอราคาแข่งขั้นงานนั้น บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เสนอราคา 191,844,975.85 บาท , บริษัท นีโอ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด เสนอราคา 238,991,154.24 บาท
บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เสนอราคาต่ำกว่า 47,146,178.39 บาท จึงได้รับงานไป และทำสัญญาเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2561 กำหนดงาน 4 งวด แล้วเสร็จภายใน 480 วัน ประกัน 5 ปี
จนในที่สุดได้มีการส่งมอบงานเมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2562
อย่างไรก็ดี ในช่วงเวลาหลังจากนั้นไม่นาน มีรายงานข่าวว่า เครื่องปรับอากาศก็มีปัญหา และซ่อมอยู่หลายต่อหลายครั้ง จนเจ้าหน้าที่กรมฯ ต้องนำพัดลมมาใช้เอง
โดยเพจปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน ได้นำภาพถ่ายการใช้พัดลมของเจ้าหน้าที่ มาตีแผ่ปัญหาต่อสาธารณะ พร้อมระบุข้อมูลว่า "กรมสรรพากร จ้างปรับปรุงเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศใหม่ทั้งอาคารสำนักงานใหญ่ วงเงิน 191,844,975.85 บาท ผู้ที่ได้งานเป็นบริษัทผลิตแอร์เบอร์ใหญ่ยี่ห้อมีชื่อของบ้านเรา บิดแข่งกับบริษัทขายแอร์เล็กๆ แถวนวมินทร์ โดยติดตั้งเครื่องปรับอากาศแบบจ่ายลมเย็นอินเวอร์เตอร์ผ่านท่อลม รุ่น Air Handling Unit Inverter ขนาด 250,000-600,000 BTU รวมจำนวน 5 ตัว และมีเครื่องระบายความร้อนความเย็น เครื่องเติมอากาศและปรับทิศทางลมอีก 1,687 ตัว ตรวจรับแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 61"
"ติดตั้งแรกๆ ก็เย็นดี แต่หลังตรวจรับเพียงสองสัปดาห์ก็รู้เรื่อง แอร์เริ่มติดๆ ดับๆ แจ้งแก้ไขมาตลอด 2 ปี ก็ได้คำตอบเพียงไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ปัจจุบันทั้งตึก 27 ชั้น มีเพียงแอร์ชั้นผู้บริหาร กองบริหารการคลังและรายได้ ที่ยังเย็นอยู่ในบางจุด ส่วนเจ้าหน้าที่กว่า 80% ต้องทำงานแบบไม่มีแอร์ ทนร้อนกันไม่ไหวก็ขนทั้งพัดลม พัดลมไอน้ำ แอร์เคลื่อนที่มากันเอง เกลื่อนไปหมดทั่วสำนักงาน และบางชั้นต้องควักเงินซื้อแอร์มาติดเองเพราะอยู่กันไม่ได้"
ขณะที่ นายวินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ รองอธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะโฆษกกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า "กรณีนี้ยังอยู่ในสัญญารับประกันของบริษัทผู้ชนะประมูลกับกรมสรรพากร ที่ผ่านมามีการชำรุด ก็มีการดำเนินการตามสัญญาให้มาซ่อมแซมอยู่ตลอด ล่าสุดเดี่ยวจะมีการเร่งเข้ามาซ่อมแซมไม่เกินต้นเดือน เม.ย. 2566 ในส่วนที่มีปัญหาหนัก ๆ และจะดำเนินการไล่ไปตามขั้นตอนต่อไป"
นายวินิจ ยังระบุด้วยว่า "ส่วนเรื่องราคาโครงการฯ ต้องเรียนว่าข้อมูลเบื้องต้น ตอนที่กำหนดราคากลางไว้ราคาประมาณ 300 กว่าล้านบาท บริษัทที่มีคุณสมบัติเข้ามาประกวดราคาแบบอิเล็กทรอนิกส์ แต่มีการเคาะราคากันลงมาจนเหลือ 190 กว่าล้านบาท"
@ วินิจ วิเศษสุวรรณภูมิ
2. หลังจากกรณีนี้ ปรากฎเป็นข่าวเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ขึ้น ทาง บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้รับจ้าง ได้ออกมาชี้แจงว่า สภาพอาคารกรมสรรพากรมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากไม่มีที่วางเครื่องระบายความร้อน โดยต้องวางเครื่องทั้งหมดอยู่ในห้องระบายความร้อนที่อยู่ภายในอาคาร รวมถึงตำแหน่งห้องดังกล่าวยังถูกจัดให้อยู่ในทิศที่มีลมธรรมชาติพัดสวนทางเข้ามาในอาคาร ทำให้ลมร้อนที่ระบายจากเครื่องระบายความร้อนบางส่วนสวนกลับเข้ามาในอาคารอยู่เสมอ ทำให้การระบายความร้อนออกจากอาคารทำได้ยาก
โดยในระหว่างบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เข้าดำเนินการปรับปรุงระบบปรับอากาศตามสัญญา ในช่วงทดสอบระบบการใช้งาน ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจาก จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พบว่า อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนในห้องดังกล่าวสูงถึง 56 องศาเซลเซียส (ต่างจากที่ TOR กำหนดไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส) ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆเสียหายเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงแก้ไขตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงาน โดยเพิ่มระบบอุปกรณ์เกินกว่าที่กำหนดใน TOR รวมเป็นเงินกว่า 20,000,000 บาทโดยเฉพาะระบบมอเตอร์พัดลมขนาดใหญ่ เพื่อผลักอากาศร้อนออกจากอาคารทุกชั้น และระบบลดความร้อนด้วยน้ำระบบจึงจะสามารถทำความเย็นได้สำเร็จ รวมถึงมีการทดสอบในภาวะวิกฤติ คือทำอุณหภูมิภายในห้องได้ต่ำถึง 15 องศาเซลเซียส ขณะที่ตั้งอุณหภูมิภายนอกสูงถึง 60 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนานถึง 2 เดือน ก่อนที่จะส่งมอบงาน
ส่วนต้นเหตุของปัญหาการติดตั้งระบบปรับอากาศภายในอาคารกรมสรรพากร บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการดัดแปลงอุปกรณ์-การบำรุงรักษาผิดวิธี-ขาดซ่อมบำรุงของบริษัทที่รับจ้างบริหารอาคารกรมสรรพากร โดยพบปั๊มน้ำถูกตัดออก,ปรับตำแหน่งวาล์วน้ำ ไม่ตรงกับลูกศรที่ระบุไว้ ทำให้ปั๊มน้ำทำงานหนัก น้ำท่วมคอยล์ร้อน และพื้นห้อง, คอยล์ร้อน คอยล์เย็น อุดต้นจากการไม่บำรุงรักษา เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อเครื่องปรับอากาศมีปัญหา ทางบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เข้ามาช่วยแก้ไขให้จนกลับมาปกติโดยไม่คิดเงิน โดยครั้งล่าสุดที่เข้าไปซ่อมในเดือน มิ.ย. 2565 แต่แล้วก็ยังเกิดปัญหาขึ้นมาอีก
อย่างไรก็ดี ตามสัญญาปรับปรุงระบบปรับอากาศ ความรับผิดชอบของ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตามสัญญาข้อ 6 คือ หากมีเหตุชำรุดบกพร่องหรือเสียหายเกิดขึ้นจากงานจ้างนี้ ภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถัดจากวันที่ได้รับมอบงานตังกล่าว ซึ่งความชำรุด บกพร่อง หรือเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างอันเกิดจากการใช้วัสดุที่ไม่ถูกต้อง หรือทำไว้ไม่เรียบร้อย หรือทำไม่ถูกต้องตามมาตรฐานแห่งหลักวิชา ผู้รับจ้างจะต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยโดยไม่ชักช้า โดยผู้ว่าจ้างไม่ต้องออกเงินใด ๆ ในการนี้ทั้งสิ้น หากผู้รับจ้างบิดพลิ้วไม่กระทำการดังกล่าวภายในกำหนด 3 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างหรือทำการแก้ไขให้ถูกต้องเรียบร้อยภายในเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนดให้ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่จะทำการจ้างผู้อื่นให้ทำงานนั้น โดยผู้รับจ้างต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
ส่วนบริษัทที่รับจ้างบริหารอาคารกรมสรรพากร คือ บริษัท ไมซ์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ซึ่งดูแลระบบอาคารทั้งหมด ครอบคลุมทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ลิฟท์ ดับเพลิง กำจัดน้ำเสีย ระบบบันไดเลื่อน ระบบระบายอากาศ ระบบทำความสะอาด และระบบปรับอากาศ ฯลฯ โดยค่าจ้างแต่ละปีวงเงินเกือบละ 44-49 ล้านบาท
กรณีนี้ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท ไมซ์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด จะต้องรับผิดชอบตามสัญญาว่าจ้างอย่างไรบ้าง?
3.ปัจจุบัน กรมสรรพากร เตรียมเรียกบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท ไมซ์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด มาหารือพิสูจน์ข้อเท็จจริง และสรรพากรยืนยันความเสียหายครั้งนี้ ต้องมีผู้รับผิดชอบ ดำเนินการกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ ขณะนี้ บริษัท ไมซ์ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ยังไม่ได้มีการออกมาชี้แจงใด ๆ ทั้งสิ้น
หากพิจารณาจากข้อมูลที่ได้รับทั้งหมด จะพบว่ากรณีนี้มีข้อน่าสังเกตสำคัญ 3 ส่วนหลัก คือ
หนึ่ง. ทำไมบริษัทรับจ้างงานถึงเสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง ทั้ง ๆ ที่รู้ว่างานยาก
กล่าวคือ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง จาก 303,442,280 บาท เป็น 191,844,975.85 บาท ทั้ง ๆ ที่รู้ว่างานปรับปรุงเครื่องปรับอากาศอาคารสรรพากร เป็นงานยาก
เนื่องจากสภาพอาคารสรรพากรมีข้อจำกัดมาก ทั้งไม่มีที่เครื่องระบายความร้อน จนต้องวางไว้ภายในอาคาร อีกทั้งตำแหน่งดังกล่าวยังถูกจัดให้อยู่ในทิศที่มีลมธรรมชาติพัดสวนทางเข้ามาในอาคาร ทำให้ลมร้อนที่ระบายจากเครื่องระบายความร้อนบางส่วนสวนกลับเข้ามาในอาคารอยู่เสมอ ทำให้การระบายความร้อนออกจากอาคารทำได้ยาก
และ พบว่า อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนในห้องดังกล่าวสูงถึง 56 องศาเซลเซียส (ต่างจากที่ TOR กำหนดไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส)
จน บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพิ่มระบบอุปกรณ์เกินกว่าที่กำหนดใน TOR ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวะกรรม โดยเฉพาะระบบมอเตอร์พัดลมขนาดใหญ่ เพื่อผลักอากาศร้อนออกจากอาคารทุกชั้น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมรวมเป็นเงินกว่า 20,000,000 บาท
คำถามคือ ทำไมถึงลงทุนทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามันอาจจะขาดทุน ? หรืออาจจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีก
เบื้องต้น นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ชี้แจงว่า อยากให้อาคารสรรพากรเป็นโชว์เคส และก็ช่วยประหยัดเงินราชการ
ข้อเท็จจริงเป็นแบบนั้นจริงๆ หรือ?
สอง. ปัญหาเครื่องปรับอากาศเสียหลายครั้งแล้ว น่าจะพบสาเหตุของปัญหาตั้งแต่ซ่อมครั้งแรก ๆ ทำไมถึงไม่แจ้งสรรพากร หรือ บริษัทที่รับจ้างบริหารอาคารสรรพากร
กล่าวคือ ปัญหาเครื่องปรับอากาศเสีย มีมาตั้งแต่หลังมอบงานในเดือน พ.ค. 2562 และซ่อมครั้งล่าสุดในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2565 ทุกครั้งที่มีการซ่อมน่าจะพบปัญหาในเรื่องการดัดแปลงอุปกรณ์-การบำรุงรักษาผิดวิธี-ขาดซ่อมบำรุง
คำถามคือ ทำไมถึงไม่แจ้งสาเหตุเหล่านั้นให้ทางสรรพากร หรือบริษัทที่รับจ้างบริหารอาคาร ตั้งแต่ตอนนั้น เพื่อที่จะให้มีมาตรการดูแลรักษากันต่อไป
หรือเรื่องนี้ มันมีอะไรซับซ้อนมากกว่าที่เห็น?
สาม. ปัญหาเครื่องปรับอากาศเสียเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว เจ้าหน้าที่กลุ่มงานที่ดูแลบริหารอาคารดังกล่าว ไม่เคยตรวจสอบ หรือแจ้งผลเลยหรือ
กล่าวคือ เนื่องจาก ปัญหาเครื่องปรับอากาศเสียเกิดขึ้นหลายครั้ง
บริษัทที่รับจ้างปรับปรุงเข้ามาซ่อมเครื่องปรับอากาศดังกล่าว แล้วพบการดัดแปลงอุปกรณ์-การบำรุงรักษาผิดวิธี-ขาดซ่อมบำรุง
เช่น เครื่องปั๊มน้ำหาย ปรับตำแหน่งวาล์วน้ำ ไม่ตรงกับลูกศรที่ระบุไว้ ทำให้ปั๊มน้ำทำงานหนัก น้ำท่วมคอยล์ร้อน และพื้นห้อง, คอยล์ร้อน คอยล์เย็น อุดต้นจากการไม่บำรุงรักษา
คำถาม คือ ไม่เคยมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือประเมินงานของบริษัทรับจ้างบริหารอาคารเลยหรือ
เพราะงบที่สรรพากรจ้างบริษัทรับจ้างบริหารอาคาร วงเงินเกือบปีละ 44-49 ล้านบาทต่อปี
และเหตุการณ์เครื่องปรับอากาศเสียมีมาตั้งแต่ปี 2562 -2565 (3 ปี)
ว่ากันว่าเรื่องนี้ ผู้บริหารระดับสูงสรรพากรหลายคนในอดีต รับรู้ปัญหาเรื่องนี้ กันดีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้ทำอะไร เพราะเหตุผลบางประการ จนปล่อยให้เรื่องนี้เป็นปัญหาบานปลายมาจนถึงปัจจุบัน
เหล่านี้ คือ เงื่อนปมและข้อสังเกตกรณีสรรพากรปรับปรุงเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศทั้งอาคารกรมสรรพากร วงเงินเกือบ 200 ล้านบาท
ที่กรมสรรพากร ต้องมีคำตอบ ชัดเจนต่อสาธารณะ ว่าแท้จริงแล้วสาเหตุของปัญหาเกิดจากอะไร
ใครกันที่จะต้องรับผิดชอบกันแน่
อ่านเพิ่มเติม
- อยู่ในสัญญาประกัน! สรรพากรแจงเปลี่ยนแอร์ 200 ล.สุดท้ายเปิดพัดลมทั้งสนง.-เร่งซ่อม เม.ย.นี
- ไส้ในสรรพากรเปลี่ยนแอร์ 191 ล้าน บ.ซัยโจเด็นกิ เสนอราคาต่ำกว่าคู่เทียบ 47 ล
- เจาะลึกคำชี้แจง ‘ชัยโจ เด็นกิ’ แอร์สรรพากรไม่เย็น เหตุดัดแปลงอุปกรณ์-บำรุงรักษาผิดวิธี
- ซัยโจฯ ชี้ปัญหา 'แอร์ไม่เย็น' สรรพากร เกิดจากดัดแปลงอุปกรณ์-บำรุงรักษาผิดวิธี
- ต้องมีผู้รับผิดชอบ! สรรพากร เรียก บ.ไมซ์ฯ พิสูจน์ข้อเท็จจริง ปมซัยโจฯ แจงเหตุแอร์ไม่เย็น