'ซัยโจ เด็นกิ’ ชี้แจง ปัญหาเปลี่ยนแอร์งบ 200 ล. อาคารสรรพากรแล้วเสีย เผย ติดตั้งถูกต้องตาม TOR -สรรพากรตรวจรับงานครบถ้วนแล้ว แต่ปัญหาเกิดจากการดัดแปลงอุปกรณ์-การบำรุงรักษาผิดวิธี-ขาดซ่อมบำรุงของอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งดูแลระบบอาคารทั้งหมด
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้า กรณีสรรพากร ดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ปรับปรุงเปลี่ยนระบบเครื่องปรับอากาศใหม่ทั้งอาคารสำนักงานใหญ่ วงเงินเกือบ 200 ล้านบาท โดยได้ผู้ชนะประมูลเป็นบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยตรวจรับแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2561 แต่ใช้งานได้เพียง 2 สัปดาห์ ระบบทำความเย็นก็เริ่มขัดข้อง จนถึงตอนนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่กรมฯ กว่าร้อยละ 80 ต้องทำงานในสภาพอากาศร้อน บางส่วนจึงต้องนำพัดลมมาใช้เอง
ด้านสรรพากรชี้แจงว่า โครงการดังกล่าวยังอยู่ในสัญญารับประกัน แล้วจะเร่งเข้ามาซ่อมแซ่มไม่เกินต้นเดือนเมษายนและขณะนี้มีมาตรการให้เจ้าหน้าที่กรมฯ Work From Home เพื่อบรรเทาเดือดร้อนชั่วคราวก่อน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 นายสมศักดิ์ จิตติพลังศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ชี้แจง ต้นเหตุของปัญหาการติดตั้งระบบปรับอากาศภายในอาคารกรมสรรพากรว่า สภาพอาคารกรมสรรพากรมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากอาคารไม่มีที่วางเครื่องระบายความร้อน โดยต้องวางเครื่องทั้งหมดอยู่ในห้องระบายความร้อนที่อยู่ภายในอาคาร ซึ่งเป็นบริเวณติดกับห้องทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกชั้น โดยห้องดังกล่าวมีสภาพแออัดและมีช่องตะแกรงให้ลมเข้าออกเพียงจุดเดียว รวมถึงตำแหน่งห้องดังกล่าวยังถูกจัดให้อยู่ในทิศที่มีลมธรรมชาติพัดสวนทางเข้ามาในอาคาร ทำให้ลมร้อนที่ระบายจากเครื่องระบายความร้อนบางส่วนสวนกลับเข้ามาในอาคารอยู่เสมอ ทำให้การระบายความร้อนออกจากอาคารทำได้ยาก
นายสมศักดิ์กล่าวว่า กรมสรรพากรทราบถึงปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้น จึงกำหนดอุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนใน TOR ไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนโดยทั่วไปจะมีอุณหภูมิเพียง 35 องศาเซลเซียสเท่านั้นซึ่ง บ.ซัยโจ เด็นกิ เข้าดำเนินการปรับปรุงระบบปรับอากาศตามสัญญา โดยติดตั้งตามข้อกำหนดใน TOR แต่ระหว่างทดสอบระบบการใช้งาน ร.ศ.สุรชัย บวรเศรษฐนันท์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และวิศวกรผู้ควบคุมงาน พบว่า อุณหภูมิรอบเครื่องระบายความร้อนในห้องดังกล่าวสูงถึง 56 องศาเซลเซียส (ต่างจากที่ TOR กำหนดไว้ที่ 43 องศาเซลเซียส) ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์และอุปกรณ์ต่างๆเสียหายเป็นจำนวนมาก
ดังนั้น บ.ซัยโจ เด็นกิ จึงแก้ไขตามคำแนะนำของวิศวกรผู้ควบคุมงาน โดยเพิ่มระบบอุปกรณ์เกินกว่าที่กำหนดใน TOR โดยเฉพาะระบบมอเตอร์พัดลมขนาดใหญ่ เพื่อผลักอากาศร้อนออกจากอาคารทุกชั้น และระบบลดความร้อนด้วยน้ำระบบจึงจะสามารถทำความเย็นได้สำเร็จ รวมถึงมีการทดสอบในภาวะวิกฤติ คือทำอุณหภูมิภายในห้องได้ต่ำถึง 15 องศาเซลเซียส ขณะที่ตั้งอุณหภูมิภายนอกสูงถึง 60 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนานถึง 2 เดือน จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ในอาคารกรมสรรพากรมีหนังสือร้องขอให้บริษัทฯ พิจารณาปรับอุณหภูมิภายในห้องในสูงขึ้น
ทั้งนี้ นายสมศักดิ์ ยืนยันว่าได้ติดตั้งถูกต้องตรงตามที่กำหนดใน TOR และกรมสรรพากรได้ตรวจรับงานครบถ้วนสมบูรณ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 แต่เนื่องจากสัญญาที่ บ.ซัยโจ เด็นกิ ทำกับกรมสรรพากรเป็นเพียงสัญญาปรับปรุงติดตั้งระบบปรับอากาศ ส่วนสัญญาบำรุงรักษาในส่วนของระบบปรับอากาศ กรมสรรพากรได้ทำสัญญากับอีกบริษัทหนึ่ง ซึ่งดูแลระบบอาคารทั้งหมด ครอบคลุมทั้งระบบไฟฟ้า ประปา ลิฟท์ ดับเพลิง ฯลฯ ดังนั้นปัญหาที่เกิดมาภายหลัง ทางบริษัทฯ เข้าไปตรวจสอบแล้วพบว่า มีการดัดแปลงอุปกรณ์สำคัญของระบบปรับอากาศที่ใช้ในการระบายความร้อน เช่น ปั๊มน้ำถูกตัดออก การบำรุงรักษาที่ผิดวิธี หรือขาดการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เพื่อการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ กรมสรรพากรควรจะแยกงานระบบต่าง ๆ ของอาคารออกจากกัน เพื่อให้กรมสรรพากรได้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาช่วยดูแลงานบำรุงรักษาอาคาร จะสามารถบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น และได้ร้องขอให้กรมสรรพากรแก้ปัญหาดังกล่าวที่ต้นเหตุ แต่ทางบริษัทฯก็ยินดีให้การสนับสนุนและแนะนำเพื่อการแก้ปัญหาโดยเร็วที่สุด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนทั้งในเรื่องการประมูลมาด้วยราคาเกือบ 200 ล้านบาท ทั้ง ๆ ที่มีงบตั้งไว้ 300 ล้านบาท ทำไมถึงตัดสินใจไปลงทุนทั้งที่รู้ปัญหา แล้วทำไมถึงไม่บวกเงินเพิ่มไปอีก นายสมศักดิ์ ระบุว่า อยากให้อาคารกรมสรรพากรเป็นโชว์เคส และก็ช่วยประหยัดเงินราชการ
นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สรุปสาเหตุของปัญหาในครั้งนี้ คือ การบำรุงรักษา ทำไม่ถูกต้อง ตามที่ บ.ซัยโจ เด็นกิ ได้แนะนำไว้ ทั้งที่ทาง บ.ซัยโจ เด็นกิ ก่อนส่งมอบงานก็ได้มีการชี้แจงถึงวิธีการบำรุงดูแลรักษาไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้เคยเกิดปัญหาไปแล้ว ซึ่งทางบ.ซัยโจ เด็นกิ ก็ได้เข้ามาช่วยแก้ไขให้จนกลับมาปกติโดยไม่คิดเงิน แต่แล้วก็ยังเกิดปัญหาขึ้นมาอีก ซึ่งทางบ.ซัยโจ เด็นกิ ให้ความมั่นใจได้ว่า ตัวสินค้ามีคุณภาพ แต่มีปัญหาเพราะส่วนของการบำรุงดูแลรักษา
ส่วนความคืบหน้าจะเป็นอย่างไร ทางสรรพากรจะชี้แจงอะไรบ้าง ต้องติดตามกันต่อไป
รูปปก : กรุงเทพธุรกิจ
อ่านประกอบ: