“…การที่โจทก์ทั้ง 9 และผู้ใช้รถยนต์รายอื่นใช้รถยนต์รุ่นพิพาทในขณะที่เครื่องยนต์มีปัญหา ทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ว่ารถยนต์ไม่มีความปลอดภัย ถือได้ว่าเป็นความเสียหายต่อจิตใจ ตามบทนิยามตามความใน พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา มาตรา 4…”
.......................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ (ศาลชั้นต้น) พิพากษาให้ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกคืนรถยนต์มาสด้า 2 เครื่องยนต์ดีเซล (Mazda 2 Skyactiv D 1.5) ที่ผลิตในปี 2557-2561 เข้ามาซ่อมแซม เนื่องจากเป็นสินค้าที่ชำรุดบกพร่อง ไม่ปลอดภัย และอาจทำให้เกิดอันตรายกับผู้ขับขี่ได้
พร้อมกันนั้น ศาลฯยังมีคำสั่งให้บริษัทฯ ต้องชดใช้ค่าซ่อมตามจริง ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถวันละ 1,800 บาท รวมถึงค่าเสียหายทางจิตใจให้ผู้บริโภค 9 ราย (โจทก์) เป็นเงินรายละ 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 5% ต่อปีนับจากวันฟ้อง นั้น (อ่านประกอบ : ศาลชั้นต้นสั่ง ‘มาสด้า’ เรียกคืน Mazda 2 รุ่นปี 57-61 ซ่อมแซมทุกคัน)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับคำวินิจฉัยของศาลฯในคดีดังกล่าว ซึ่งมีหลายแง่มุมที่จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค สรุปได้ดังนี้
@ฟ้อง‘มาสด้า’ผิด พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายฯ-ขอชดใช้ 23 ล้าน
คำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ผบ 347/2561 คดีหมายเลขแดงที่ ผบ 238/2566 ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ (ศาลชั้นต้น)
คดีนี้ผู้บริโภค 9 ราย (โจทก์) ยื่นฟ้อง บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (จำเลยที่ 1) , บริษัท มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (จำเลยที่ 2) และ บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (จำเลยที่ 3) ในคดีความผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 (ซื้อขาย เช่าซื้อ)
ผู้บริโภคทั้ง 9 ราย บรรยายฟ้องสรุปได้ว่า โจทก์ทั้ง 9 เป็นผู้ครอบครองใช้รถยนต์ยี่ห้อมาสด้า รุ่นมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งได้รับความเสียหายอันเกิดจากรถยนต์รุ่นดังกล่าว โดยเป็นสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ชำรุดบกพร่องอันเป็นเหตุให้เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ ไม่ตรงตามคำโฆษณา
ทั้งเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยในการใช้งาน คือ พบปัญหาเกี่ยวกับเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น กระบอกสูบและหัวฉีดทำงานไม่ดี รวมทั้งมีปัญหาเสียงดังจากอุปกรณ์ช่วงล่าง เช่น โช้กอัพ และห้ามล้อ เป็นต้น โดยโจทก์ทั้ง 9 นำรถยนต์เข้าแก้ไขที่ศูนย์บริการหลายครั้ง เสียเงินค่าซ่อม แต่แก้ปัญหาไม่ได้ ทำให้โจทก์ทั้ง 9 ขาดประโยชน์จากการใช้งาน
เมื่อโจทก์ทั้ง 9 ขอให้จำเลยทั้ง 3 รับสินค้าคืน และคืนเงินค่าสินค้าให้โจทก์ทั้ง 9 แต่จำเลยทั้ง 3 (บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ,บริษัท มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจและผู้ประกอบการ กลับเพิกเฉย
โจทก์ทั้ง 9 จึงมาฟ้องคดีต่อศาลฯ เพื่อขอให้ศาลฯมีคำสั่งบังคับให้จำเลยทั้ง 3 จ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ทั้ง 9 เป็นจำนวน 2 เท่าของค่าเสียหายที่แท้จริง ซึ่งประกอบด้วย เงินดาวน์ ค่าเช่าซื้อ ค่าซ่อม ค่าขาดประโยชน์ และค่าความเสียหายต่อจิตใจ เป็นเงินรวม 23.37 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
พร้อมทั้งขอให้ศาลฯมีคำสั่งห้ามจำเลยจำหน่ายสินค้าที่เหลืออยู่ เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายกลับคืนมาจนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสินค้าให้มีความปลอดภัย และหากแก้ไขไม่ได้ ขอให้ศาลฯสั่งห้ามจำเลยทั้ง 3 ผลิต นำเข้าสินค้านั้น และทำลายสินค้าที่เหลือด้วย รวมทั้งขอให้คำพิพากษาของศาลฯมีผลผูกพันสมาชิกกลุ่ม
@รถยนต์มีข้อบกพร่องจริง-ไม่ได้เสื่อมสภาพตามปกติ
ศาลฯพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ทั้ง 9 และจำเลยทั้ง 3 แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้ง 9 เป็นผู้ครอบครองใช้รถยนต์ยี่ห้อมาสด้า รุ่นมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเซล โจทก์ทั้ง 9 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการหลายครั้ง อ้างว่ามีปัญหาเครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น กับมีปัญหาน้ำมันเครื่องเกินหรือบกพร่องไปจากปกติ
ส่วนจำเลยที่ 1 (บริษัท มาสด้า เซลส์ฯ) เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เจ้าของเครื่องหมายการค้ารถยนต์ยี่ห้อมาสด้าจากญี่ปุ่น จำเลยที่ 2 (บริษัท มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่งฯ) เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์รุ่นพิพาท และจำเลยที่ 3 (บริษัท ออโต้อัลลายแอนซ์ฯ) เป็นผู้ประกอบรถยนต์รุ่นพิพาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจประการแรกว่า รถยนต์รุ่นพิพาทมีปัญหาเครื่องยนต์สั่นและเร่งความเร็วไม่ขึ้นหรือไม่ กับมีปัญหาน้ำมันเครื่องเกินหรือพร่องไปจากจุดที่กำหนดหรือไม่
เห็นว่า โจทก์ที่ 6 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S550200501) เบิกความประกอบเอกสาร คือ สำเนาสรุปราคาของศูนย์บริการ ว่า โจทก์ที่ 6 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ เมื่อใช้รถยนต์ไปได้ 50,509 กิโลเมตร และปรากฏในเอกสารว่า โจทก์แจ้งอาการของรถยนต์ว่า สั่น เร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้น
แม้จำเลยทั้ง 3 จะนำสืบโต้แย้งว่า ข้อความในเอกสารเป็นเพียงโจทก์ที่ 6 แจ้งอาการของรถยนต์ให้ศูนย์บริการทราบเพื่อให้ตรวจสอบ มิได้หมายความว่า เครื่องยนต์มีอาการดังกล่าวจริง แต่ก็ปรากฏว่าศูนย์บริการได้เปลี่ยนอะไหล่ คือ สปริงวาล์ว และอะไหล่อื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ย่อมแสดงความ แม้ศูนย์บริการตรวจไม่พบอาการของเครื่องยนต์ว่า มีปัญหาดังที่โจทก์ที่ 6 แจ้ง แต่ก็มิได้ตัดความเป็นไปได้ว่า เครื่องยนต์อาจมีอาการดังที่แจ้ง เพียงแต่ในขณะนั้นยังตรวจหาไม่พบ
จึงได้ทดลองเปลี่ยนอะไหล่ดังกล่าวให้ เพราะหากเป็นไปไม่ได้โดยแน่แท้ว่า รถยนต์รุ่นพิพาทไม่ควรมีอาการเครื่องยนต์สั่นและเร่งความเร็วไม่ขึ้นในลักษณะนั้น ย่อมไม่มีเหตุผลที่จะทดลองเปลี่ยนอะไหล่ให้
ต่อมายังปรากฏว่า เมื่อโจทก์ที่ 6 ใช้รถยนต์ต่อไปไม่นาน คือ ใช้ไป 54,927 กิโลเมตร ได้นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการอีก โดยระบุปัญหาว่า มีไฟรูปเครื่องยนต์แสดงที่หน้าปัด ศูนย์บริหารได้เปลี่ยนวาล์วควบคุมท่อไอเสียและปะเก็นให้ จึงสนับสนุนว่าโจทก์ที่ 6 พบอาการผิดปกติของเครื่องยนต์จริงและศูนย์บริการดำเนินการแก้ไขให้
เมื่อโจทก์ที่ 6 ใช้รถยนต์ต่อไปอีกจนถึง 65,800 กิโลเมตร ปรากฏตามสำเนาวิเคราะห์งานซ่อมว่า ช่างของศูนย์บริการระบุว่า ตรวจพบรหัสหรือโค้ด ‘พี 0303’ จุดระเบิดไม่ครบสูบ ต่อมาเมื่อใช้รถยนต์ต่อไปและนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการหลายครั้ง ศูนย์บริการได้แก้ปัญหา เช่น แก้ไขโปรแกรม เปลี่ยนหัวฉีด เปลี่ยนสปริงวาล์ว และท่อน้ำมัน เป็นต้น
การที่โจทก์นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการต่างๆรวมหลายครั้ง ในแต่ละครั้งศูนย์บริการเปลี่ยนอะไหล่ให้ มีการทดสอบเครื่องยนต์ ทั้งโดยวิสัยของผู้บริโภคโดยทั่วไปแล้ว เชื่อว่าจะนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการต่อเมื่อครบกำหนดระยะเวลาหรือระยะทางเพื่อบำรุงรักษาเท่านั้น
การที่โจทก์ที่ 6 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ จึงเชื่อว่าเป็นเพราะพบความผิดปกติจากการใช้งาน หาใช่ว่าอุปโลกน์อาการของรถยนต์ขึ้นมาเองไม่ เพราะต้องเสียเวลาและอาจเสียค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากที่จำเลยที่ 1 รับประกัน เพียงแต่เมื่อนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการแล้วอาจตรวจไม่พบอาการ หรือยังหาสาเหตุไม่พอ
การที่ช่างตรวจไม่พบอาการในขณะนั้น จึงนำมารับฟังว่า รถยนต์ไม่มีอาการบกพร่องนั้น ยังหาได้ไม่ เพราะช่างมิได้เป็นผู้ใช้รถยนต์ตามปกติเช่นเดียวกับผู้ใช้หรือผู้ครองครองซึ่งได้ใช้รถยนต์เป็นประจำ
และอาการปัญหาของรถยนต์อาจไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ใช้รถยนต์ดังเช่นที่โจทก์ที่ 6 นำสืบก็ได้ และการที่ตรวจพบโค้ดย่อมแสดงว่ารถยนต์ต้องมีอาการผิดปกติบางประการ ซึ่งไม่น่าใช่การเสื่อมสภาพตามปกติของอะไหล่
@มีโค้ดแจ้งเตือนแสดงว่า ‘รถยนต์’ มีอาการผิดปกติบางประการ
ส่วนกรณี โจทก์ที่ 7 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S530273773) เบิกความประกอบเอกสาร คือ สำเนาสมุดรับประกันและบริการ ว่า โจทก์ที่ 7 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ เมื่อใช้รถยนต์ได้ 25,934 กิโลเมตร และเอกสารดังกล่าวโจทก์ที่ 7 แจ้งอาการของรถยนต์ว่า สั่น เร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้น แต่เบิกความว่า ช่างของศูนย์บริการตรวจไม่พบอาการ
ต่อมาโจทก์ที่ 7 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการอีกหลายครั้งเพื่อแก้ปัญหาเดิม ซึ่งบางครั้งมีไฟรูปเครื่องยนต์แจ้งเตือนที่หน้าปัด แต่บางครั้งไม่มีไฟแจ้งเตือน และช่างของศูนย์บริการระบุว่า ตรวจพบรหัสหรือโค้ด “พี 0302” และ “พี 0303” จุดระเบิดไม่ครบสูบ ศูนย์บริการได้แก้ไขโปรแกรมให้ ล้างเขม่าระบบหมุนเวียนนำไอเสีย เปลี่ยนหัวฉีดและสปริงวาล์ว เป็นต้น
แม้จำเลยทั้ง 3 จะนำสืบโต้แย้งว่า ได้แก้ไขปัญหาเครื่องยนต์จุดระเบิดไม่ครบสูบ โดยเปลี่ยนสปริงวาล์วให้แล้ว และในบางครั้งช่างตรวจไม่พบความผิดปกติดังที่แจ้ง และบางครั้งโจทก์ที่ 7 ก็ไม่ได้แจ้งว่ามีอาการดังกล่าวนั้น
แต่การที่โจทก์ที่ 7 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการต่างๆรวมหลายครั้ง ในแต่ละครั้งศูนย์บริการเปลี่ยนอะไหล่ให้ และตามที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นในกรณีที่โจทก์ที่ 6 ถึงวิสัยของผู้บริโภคโดยทั่วไปที่จะนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการต่อเมื่อครบกำหนดเวลาหรือระยะทางเพื่อบำรุงรักษาตามปกติ
การที่ช่างตรวจไม่พบอาการ เมื่อโจทก์ที่ 7 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ จะนำมารับฟังว่ารถยนต์ไม่มีอาการบกพร่องนั้น ยังหาได้ไม่ด้วยเหตุผลเดียวกัน อาการปัญหาของรถยนต์อาจไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ใช้รถยนต์ดังเช่นที่โจทก์ที่ 7 นำสืบ และการตรวจพบโค้ดย่อมแสดงว่า รถยนต์ต้องมีอาการผิดปกติบางประการ ซึ่งไม่น่าใช้การเสื่อมสภาพตามปกติของอะไหล่
@รถยนต์โจทก์ 7 ราย มีปัญหาเครื่องยนต์สั่น-จุดระเบิดไม่ครบสูบ
สำหรับกรณีที่ โจทก์ที่ 1 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S530216879) โจทก์ที่ 2 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S550201120) โจทก์ที่ 3 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S530202401) โจทก์ที่ 4 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S550202759) โจท์ที่ 5 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S530278939)
โจทก์ที่ 8 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S530213434) และโจทก์ที่ 9 (ผู้ครอบครองใช้รถพิพาท หมายเลขเครื่องยนต์ S530203831) นั้น
แม้ในชั้นสืบพยาน โจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 ไม่ได้เบิกความด้วยตนเอง คงมีเพียงโจทก์ที่ 7 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจมาเบิกความ ซึ่งโจทก์ที่ 7 เป็นผู้ใช้รถยนต์ของโจทก์ที่ 7 เอง ไม่ได้เป็นผู้ใช้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 ด้วย
ดังนั้น ที่โจทก์ที่ 7 เบิกความถึงปัญหาเกี่ยวกับรถยนต์ของโจทก์อื่น จึงเป็นเพียงแต่ได้รับคำบอกเล่ามาจากโจทก์อื่นเท่านั้น โจทก์ที่ 7 หาทราบถึงปัญหาของโจทก์อื่นอย่างแท้จริงไม่ แต่อย่างไรก็ดี โจทก์ที่ 7 ได้รับเอกสารมาจากโจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 ซึ่งเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่นำมาใช้พิจารณาและพิเคราะห์ได้
เห็นว่า ในวันที่ 6 ม.ค.2561 โจทก์ที่ 1 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการและแจ้งว่า เครื่องยนต์สั่น มีไฟรูปเครื่องยนต์ขึ้นแจ้งเตือน โดยสำเนาใบตรวจรับรถยนต์ระบุเพิ่มเติมว่า มีอาการสั่นที่ความเร็ว 80-120 กิโลเมตร/ชั่วโมง
ต่อมาเมื่อใช้รถยนต์ถึง 70,000 กิโลเมตร ปรากฏสำเนาของศูนย์บริการว่าง มีการตรวจสอบปัญหาเครื่องยนต์สั่นอีกครั้ง ในครั้งนี้ไม่ปรากฎว่ามีการเปลี่ยนอะไหล่เครื่องยนต์ แต่ในครั้งต่อๆมา พบว่ามีการเปลี่ยนสปริงวาล์ว
จนเมื่อโจทก์ที่ 1 ใช้รถยนต์ถึง 80,000 กิโลเมตร 91,146 กิโลเมตร และ 102,556 กิโลเมตร ก็ยังแจ้งว่าเครื่องยนต์สั่น ศูนย์บริการแก้ไขโปรแกรมให้ใหม่ หลังจากนั้น ไม่ปรากฎว่าเครื่องยนต์สั่นและเร่งเครื่องไม่ขึ้นอีก เพียงแต่บางครั้งมีไฟรูปเครื่องยนต์และประแจแสดงขึ้นที่หน้าปัดและมีการล้างท่อไอดี
รถยนต์โจทก์ที่ 2 จากสำเนาสมุดรับประกันและบริการ กับสำเนาเอกสารการเข้ารับบริการแล้ว พบว่าเมื่อวันที่ 30 มี.ค.2560 หรือเมื่อใช้รถยนต์ได้ 52,560 กิโลเมตร โจทก์ที่ 2 แจ้งว่า เครื่องยนต์สั่น เร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้น และรายการตามใบสรุปรายการซ่อมวันที่ 5 เม.ย.2566 ระบุว่า มีการตรวจสอบอาการเครื่องยนต์สั่น สะดุด เร่งเครื่องไม่ขึ้น
โดยมีการเปลี่ยนอะไหล่สำคัญ เช่น สปริงวาล์ว หัวฉีด ท่อน้ำมัน หลังจากนั้น ยังปรากฏรายการนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการด้วยปัญหาเครื่องยนต์สั่นหรือเร่งไม่ขึ้น โดยบางครั้งมีการแก้ไขโปรแกรมและกำจัดเขม่าด้วยหลายครั้ง
รถยนต์ของโจทก์ที่ 3 ปรากฏตามสำเนาใบปิดงานซ่อมว่า เมื่อใช้รถยนต์ได้ 60,460 กิโลเมตร โจทก์ที่ 3 แจ้งว่า เครื่องยนต์สั่น และปรากฏใบปิดงานซ่อมเมื่อวันที่ 10 ก.ย.2559 เมื่อใช้รถยนต์ได้ 63,943 กิโลเมตร ว่า เร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้นอีก โดยมีข้อความต่อท้ายว่า “ตรวจสอบแล้วเป็นจริง”
มีการเปลี่ยนสปริงวาล์ว ท่อหัวฉีด ท่อน้ำมัน ปะเก็น ฝาวาล์ว ลงโปรแกรมปัญหาเครื่องยนต์สั่น กำจัดเขม่า และต้องเปลี่ยนเทอร์โบเมื่อใช้รถยนต์ได้ 104,118 กิโลเมตร โดยศูนย์บริการมีหนังสือแจ้งโจทก์ที่ 3 รับว่า เมื่อทดลองขับพบว่ารถยนต์ “เร่งไม่ออก” และมีเสียงดังที่เทอร์โบ
ต่อมาเมื่อใช้รถยนต์ได้ 124,017 กิโลเมตร 132,092 กิโลเมตร โจทก์ที่ 3 แจ้งต่อศูนย์บริการว่า เครื่องยนต์ยังตงสั่น ปรากฏในสำเนาสมุดรับประกันและบริการ ในครั้งที่ใช้รถยนต์ได้ 132,136 กิโลเมตร ศูนย์บริการพบว่าการสั่นเกิดจากล้อแกว่ง จึงแนะนำให้สลับยาง
รถยนต์ของโจทก์ที่ 4 ปรากฏตามสำเนาสมุดรับประกันและบริการ ว่า โจทก์ที่ 4 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.2560 ใช้รถยนต์ได้ 17,057 กิโลเมตร ศูนย์บริการล้างระบบหมุนเวียนไอเสีย (EGR) และตั้งระบบใหม่ให้ และยังปรากฏในเอกสารว่า มีการรีโปรแกรม กำจัดเขม่า
ขณะที่ก่อนหน้านี้ คือ วันที่ 20 ธ.ค.2559 เมื่อใช้รถยนต์ได้ 13,989 กิโลเมตร พบว่าระบบกรองและกำจัดเขม่า (DPF) ทำงานบ่อย ช่างระบุสาเหตุว่า เขม่าตกค้าง การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ แก้ไขโดยตั้งค่าระบบใหม่ รวมถึงปรับการฉีดน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ยังมีปัญหาเครื่องยนต์สั่นอีก
รถยนต์ของโจทก์ที่ 5 ปรากฏตามสำเนาสมุดรับประกันและบริการ ว่า โจทก์ที่ 5 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2560 เมื่อใช้รถยนต์ได้ 52,894 กิโลเมตร ศูนย์บริการแก้ไขโดยการเปลี่ยนสปริงวาล์ว เปลี่ยนหัวฉีด ต่อมาเมื่อใช้รถยนต์ได้ 77,622 กิโลเมตร พบปัญห้าเครื่องยนต์สั่น พบโค้ด “พี 0304 พี 0303” จุดระเบิดไม่ครบสูบ เมื่อใช้รถยนต์ได้ 91,877 กิโลเมตร รถยนต์เร่งความเร็วไม่ขึ้น ศูนย์บริการแก้ไขโดยลงโปรแกรมกำจัดเขม่า
รถยนต์ของโจทก์ที่ 8 เมื่อดูจากสำเนาสมุดรับประกันและบริการ พบว่ามีการนำรถเข้าศูนย์บริการเมื่อใช้รถยนต์ได้ 44,863 กิโลเมตร ซึ่งข้อความไม่ชัดเจนว่า มีการแก้ปัญใดบ้าง แต่ก่อนหน้านี้พบว่ามีการเปลี่ยนกล่องวงจรควบคุมคอนเวอร์เตอร์ ต่อมามีการเปลี่ยนสปริงวาล์ว ลงโปรแกรมกำจัดเขม่า เปลี่ยนหัวฉีด เปลี่ยนท่อน้ำมันเชื้อเพลิง
เมื่อใช้รถยนต์ได้ 68,438 กิโลเมตร ยังพบปัญหาเครื่องยนต์สั่น มีการแก้ไขโปรแกรมกล่องสมองกล (PCM) ตรวจพบโค้ดว่าจุดระเบิดไม่ครบสูบ เขม่าอุดตันที่วาล์วและฝาสูบพบเทอร์โบเสียงดัง
และรถยนต์ของโจทก์ที่ 9 เมื่อดูจากสำเนาสมุดรับประกันและบริการ พบว่ามีการนำรถเข้าศูนย์บริการเมื่อใช้รถยนต์ได้ 30,105 กิโลเมตร และต่อไปที่ 40,798 กิโลเมตร แต่พบว่าก่อนหน้านั้น มีการเปลี่ยนกล่องวงจรควบคุมคอนเวอร์เตอร์
และต่อมาศูนย์บริการตรวจพบเขม่าที่บ่าวาล์วจำนวนมาก ซึ่งมีการระบุว่า ทำให้เครื่องยนต์สั่นและกระตุก แก้ไขโดยเผาเขม่า เปลี่ยนสปริงวาล์ว เปลี่ยนหัวฉีด เปลี่ยนท่อน้ำมัน ตรวจพบโค้ด “พี 0302” จุดระเบิดไม่ครบสูบ
@ศาลฯเชื่อรถยนต์ของโจทก์ มีอาการ‘เครื่องยนต์สั่น-เร่งไม่ขึ้น’ตามฟ้อง
จึงเห็นได้ว่า โจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 ต่างประสบปัญหาจากการใช้รถยนต์พิพาทเช่นเดียวกัน และในลักษณะปัญหาเดียวกันกับโจทก์ที่ 6 และโจทก์ที่ 7 แม้จำเลยทั้ง 3 จะนำสืบโต้แย้งว่า ศูนย์บริการได้แก้ไขรถยนต์ของโจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 แล้ว หลังจากนั้นไม่พบว่ามีปัญหาอีก
แต่ก็ปรากฏว่าต้องแก้ไขหลายครั้ง มีการเปลี่ยนสปริงวาล์ว ซึ่งเป็นอะไหล่ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ให้ทุกคัน บางคันเปลี่ยนหัวฉีดและท่อน้ำมัน ทั้งกรณีโจทก์ที่ 8 ยังต้องเปลี่ยนกล่องวงจรควบคุมคอนเวอร์เตอร์ด้วย
การที่มีการเบิกความว่า ได้มีการแก้ไขรถยนต์ให้โจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 จนหายขาดแล้ว ย่อมแสดงได้ว่า แม้ศูนย์บริการไม่ทราบถึงสาเหตุของปัญหาอย่างแน่ชัดในเบื้องต้น แต่ได้ทดลองเปลี่ยนอะไหล่ ตรวจสอบและทดสอบ
จึงสนับสนุนว่า โจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 พบอาการผิดปกติของรถยนต์จริง
ส่วนที่อ้างว่า การสั่นของรถยนต์ของโจทก์ที่ 3 และโจทก์ที่ 4 ไม่ได้เกิดจากเครื่องยนต์ แต่เกิดจากล้อไม่สมดุลและยางเสื่อมสภาพ ก็ปรากฏว่า ศูนย์บริการได้เปลี่ยนอะไหล่ต่างๆเกี่ยวกับ 'เครื่องยนต์' เช่นเดียวกันกับโจทก์คนอื่นๆ
ส่วนการตรวจสภาพยางรถยนต์หรือทดลองเปลี่ยนยางแล้วรถยนต์ไม่สั่น ก็เป็นการตรวจสอบปัญหาในช่วงท้าย เป็นคนละช่วงเวลากันกับอาการเครื่องยนต์สั่นที่เกิดตั้งแต่แรก และเชื่อต่อไปด้วยว่า ผู้ใช้รถยนต์พิพาทโดยใช้เป็นประจำ น่าจะแยกแยะถึงความแตกต่างของอาการสั่นของเครื่องยนต์และอาการสั่นจากระบบช่วงล่างได้ ทั้งรถยนต์ยังมีอาการเร่งเครื่องยนต์ไม่ขึ้นด้วย หาใช่มีแต่การสั่นเพียงอย่างเดียวไม่
โจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการต่างๆ หลายครั้ง ในแต่ละครั้งมีการเปลี่ยนอะไหล่ มีการทดสอบรถยนต์ ทั้งโดยวิสัยของผู้บริโภคโดยทั่วไปที่ควรนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการต่อเมื่อครบกำหนดเวลาหรือระยะทางเพื่อบำรุงรักษาตามปรกติตามที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น
โจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ จึงเชื่อว่าเป็นเพราะพบความผิดปกติจากการใช้งาน การที่ศูนย์บริการตรวจไม่พบอาการหรือยังหาสาเหตุไม่พบในขณะนั้น จะนำมารับฟังว่ารถยนต์ไม่มีอาการบกพร่องนั้นหาได้ไม่
เพราะช่างมิได้เป็นผู้ใช้รถยนต์ตามปรกติเช่นเดียวกับผู้ใช้หรือครอบครองรถยนต์ซึ่งได้ใช้รถยนต์เป็นประจำ อาการปัญหาของรถยนต์อาจไม่ได้เกิดขึ้นทุกครั้งที่ใช้รถยนต์ดังเช่นที่ โจทก์ที่ 1-5 โจทก์ที่ 8 และโจทก์ที่ 9 นำสืบก็ได้
จึงเชื่อว่ารถยนต์ของโจทก์ทั้ง 9 มีอาการเครื่องยนต์สั่นและเร่งไม่ขึ้นตามฟ้อง
@‘มาสด้า เซลส์ฯ’ ต้องรับผิดชอบกรณีสินค้าชำรุดพกพร่องตามป.แพ่ง
ส่วนปัญหาน้ำมันเครื่องเกินกว่าขีดกำหนด หรือบางกรณีน้ำมันเครื่องพร่อง และโจทก์ต้องนำรถยนต์เข้าศูนย์บริการเพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนกำหนด นั้น
เห็นว่า แม้ว่าจำเลยทั้ง 3 นำสืบว่าเป็นกรณีปกติที่น้ำมันเชื้อเพลิงจะปนกับน้ำมันเครื่อง เพราะมีการออกแบบให้ฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปในห้องเผาไหม้เพิ่มเติมเพื่อกำจัดเขม่า
แต่การที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งศูนย์บริการต่างๆให้แก้ปัญหาการกำจัดเขม่าสะสมในเครื่องยนต์ แนะนำวิธีและขั้นตอนกำจัดเขม่า มีการลงโปรแกรมหรือแก้ไขโปรแกรมเกี่ยวกับระบบกรองและกำจัดเขม่า (DPF) หรือระบบหมุนเวียนไอเสีย (EGR) แสดงว่ารถยนต์รุ่นพิพาทมีปัญหาเรื่องการกำจัดเขม่า
และดังที่จำเลยทั้ง 3 นำสืบว่า เครื่องยนต์ดีเซลมีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เท่ากับเครื่องยนต์เบนซิน เมื่อต้องการกำจัดเขม่าให้ได้มากขึ้น จึงฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปในห้องเผาไหม้มากขึ้น ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้เชื่อว่ามีน้ำมันเชื้อเพลิงไหลลงไปรวมกับน้ำมันเครื่องที่อ่างน้ำมันมากขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้ง 3 แก้ต่างว่า มีการระบุในสมุดคู่มือการใช้รถยนต์แล้วว่า กรณีน้ำมันเครื่องเกินกว่าขีดที่กำหนด ให้นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการเพื่อเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องนั้น หาใช่ความเหมาะสมแก่การใช้งานรถยนต์ตามปกติไม่ เพราะเท่ากับผลักภาระให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ต้องตรวจวัดระดับน้ำมันเครื่องบ่อย อันจะนับว่าเป็นกรณีปกติไม่ได้
ขณะที่พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายโจทก์ทั้ง 9 เบิกความว่า ระบบหมุนเวียนไอเสีย (EGR) คือ การนำไอเสียกลับไปเผาไหม้อีกครั้ง เพื่อลดไอเสียจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ แต่มักพบว่าเมื่อใช้งานได้ประมาณ 3-4 ปี อาจอุดตัน ส่งผลให้เครื่องยนต์สั่นได้และเครื่องยนต์กำลังตก
ส่วนระบบกรองและกำจัดเขม่า (DPF) เป็นระบบต่อเนื่อง ใช้วิธีฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปเพื่อให้เกิดความร้อน แล้ววนกลับไปที่ระบบหมุนระบบหมุนเวียนไอเสีย (EGR) ซึ่งอาจกำจัดเขม่าได้ไม่หมด จึงทำให้ระบบหมุนเวียนไอเสีย (EGR) อุดตัน มีเขม่าตกค้างที่บ่าวาล์ว ทำให้วาล์วปิดไม่สนิทส่งผลให้เครื่องยนต์สั่นได้
ทั้งนี้ รถยนต์ทั่วไปมีการวนไอเสียเพียง 8-10% แต่รถยนต์รุ่นพิพาทมีการวนไอเสียมากถึง 24% ทำให้ระบบกรองและกำจัดเขม่า (DPF) ทำงานบ่อยขึ้น สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้นด้วย แล้วน้ำมันเชื้อเพลิงในห้องเครื่องที่หลงเหลือจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จะไปปนกับน้ำมันเครื่อง
เมื่อพยานเป็นคนกลาง เบิกความไปตามความรู้ของตน น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง จึงมีน้ำหนักให้รับฟังอย่างยิ่ง พยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 9 มีน้ำหนักดีกว่าจำเลยทั้ง 3 เชื่อว่ารถยนต์รุ่นพิพาทมีปัญหาการสั่นของเครื่องยนต์ เร่งความเร็วไม่ขึ้น และมีน้ำมันเครื่องเกินเกิดขึ้น อันเป็นผลมาจากระบบหมุนเวียนไอเสีย (EGR) กับระบบกรองและกำจัดเขม่า (DPF)
จึงเป็นกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายหรือให้เช่าซื้อนั้นชำรุดบกพร่อง อันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งใช้เป็นปกติ และความที่กล่าวมานี้ย่อมใช้ได้ ทั้งที่จำเลยที่ 1 (บริษัท มาสด้า เซลส์ฯ) รู้อยู่แล้วหรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเช่นเดียวกับผู้ขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 472
@คืนเงินไม่ได้ เหตุ‘มาสด้าฯ’ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์-ไม่ได้ยื่นฟ้องผู้ขาย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 (บริษัท มาสด้า เซลส์ฯ) ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ทั้ง 9 หรือไม่
เบื้องต้นเห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับรถยนต์พิพาทคืนจากโจทก์ทั้ง 9 หรือไม่
เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบธุรกิจและเป็นผู้ประกอบการ แต่มิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทในขณะที่โจทก์ทั้ง 9 ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่ผู้รับชำระค่าเช่าซื้อรถยนต์พิพาท
โจทก์ทั้ง 9 ในฐานะผู้บริโภค คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าที่ชำรุดบกพร่องและเรียกค่าเสียหายภายใต้บังคับกฎหมายเท่านั้น
และโจทก์ทั้ง 9 มิได้ฟ้องผู้ขายตามสัญญาซื้อขาย หรือฟ้องผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อด้วย ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1455/2562 กรณีย่อมไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 รับรถยนต์คืนจากโจทก์ทั้ง 9 และคืนราคาทรัพย์สินหรือค่าเช่าซื้อที่โจทก์ทั้ง 9 ชำระคืนแก่โจทก์ทั้ง 9 ตามคำบังคับได้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในค่าเสียหายเพียงใด
เห็นว่า เมื่อในส่วนของราคาทรัพย์สินและค่าเช่าซื้อได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นว่า ไม่อาจเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนแก่โจทก์ทั้ง 9 ได้ จึงเหลือเพียงค่าซ่อมแซมรถยนต์พิพาท และค่าขาดประโยชน์ที่เรียกมาในอัตราวันละ 1,800 บาทเท่านั้น
โดยจำเลยที่ 1 จึงรับผิดชอบต่อโจทก์ที่ 1 เป็นเงินค่าซ่อม 10,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 12,600 บาท ,โจทก์ที่ 2 เป็นเงินค่าซ่อม 53,403.98 บาท และค่าขาดประโยชน์ 36,000 บาท ,โจทก์ที่ 3 เป็นเงินค่าซ่อม 10,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 50,400 บาท ,โจทก์ที่ 4 เป็นเงินค่าซ่อม 1,800 บาท และค่าขาดประโยชน์ 25,200 บาท
โจทก์ที่ 5 เป็นเงินค่าซ่อม 10,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 14,400 บาท ,โจทก์ที่ 6 เป็นเงินค่าซ่อม 50,000 บาท และค่าขาดประโยชน์ 37,800 บาท ,โจทก์ที่ 7 ค่าขาดประโยชน์ 7,200 บาท ,โจทก์ที่ 8 เป็นเงินค่าซ่อม 3,200 บาท และค่าขาดประโยชน์ 21,600 บาท และโจทก์ที่ 9 เป็นเงินค่าซ่อม 2,700 บาท และค่าขาดประโยชน์ 36,000 บาท
@สั่งมาสด้าฯจ่ายค่าเสียหายทางจิตใจให้โจทก์รายละ 3 หมื่นบาท
ส่วนกรณีที่โจทก์ทั้ง 9 อ้างว่าได้รับความเสียหายต่อจิตใจ จึงขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้คนละ 50,000 บาท/ปี นั้น
พิเคราะห์แล้ว คำขอบังคับของโจทก์ทั้ง 9 ในข้อนี้เป็นคำขอให้บังคับตาม พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา 11 (1) ซึ่งให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายสำหรับของผู้เสียหายได้ อันจะต้องได้ความในเบื้องแรกเสียก่อนว่ารถยนต์รุ่นพิพาทเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหรือไม่
โดยสินค้าที่ไม่ปลอดภัยหมายความว่า สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไม่ได้กำหนดวิธีใช้วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร
ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งานและการเก็บรักษาตามปรกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้
เมื่อพิจารณาว่าสินค้าพิพาทเป็นประเภทยานพาหนะใช้วิ่งในทางเดินรถ ซึ่งควรมีความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ หากรถยนต์มีความชำรุดบกพร่องย่อมก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่าย อาจเป็นอุบัติเหตุที่เล็กน้อยหรือถึงขนาดร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตและร่างกายก็ได้
รถยนต์รุ่นพิพาทของโจทก์ทั้ง 9 มีปัญหาเครื่องยนต์สั่นและเร่งไม่ขึ้น จึงอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง การที่ยังไม่เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับโจทก์ทั้ง 9 หรือผู้ใช้รถยนต์รายอื่นนั้น ต้องถือเป็นเรื่องที่พึงสำเหนียกว่า ยังไม่เกิดเหตุร้ายขึ้นเท่านั้น
ทั้งการที่โจทก์ทั้ง 9 และผู้ใช้รถยนต์รายอื่นใช้รถยนต์รุ่นพิพาทในขณะที่เครื่องยนต์มีปัญหา ทำให้เกิดความวิตกกังวลได้ว่ารถยนต์ไม่มีความปลอดภัย ถือได้ว่าเป็นความเสียหายต่อจิตใจ ตามบทนิยามตามความใน พ.ร.บ.ความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 มาตรา มาตรา 4
ดังนั้น เมื่อเกิดความวิตกกังวลทำให้เกิดความเสียหายต่อจิตใจดังกล่าว ย่อมส่งผลต่ออนามัยของผู้เสียหายด้วยและบทนิยามในมาตรา ไม่ได้หมายความแต่เฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น ยังรวมถึงความเสียหายจากสินค้าที่อาจก่อให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งในกรณีของร่างกายหรือสุขภาพนั้น นับว่ารถยนต์รุ่นพิพาทอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้
และในส่วนความเสียหายต่ออนามัยคือจิตใจที่วิตกกังวลนี้ เชื่อว่าได้เกิดขึ้นแล้วด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีความรับผิดในความเสียหายส่วนนี้ ตามมาตรา 11 (1) แห่งบทบัญญัติดังกล่าว แต่ที่โจทก์ทั้ง 9 คิดมาคนละ 50,000 บาท ต่อปี นั้น เนื่องจากเป็นเพียงความเสียหายต่อจิตใจที่วิตกกังวล
ทางนำสืบของโจทก์ทั้ง 9 ไม่ปรากฏว่าความวิตกกังวลนี้ ส่งผลกระทบต่อร่างกาย หรือโจทก์ทั้ง 9 ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดในการบำบัดรักษาอาการวิตกกังวลนี้หรือไม่ และโจทก์ทั้ง 9 คิดมาเป็นรายปี จึงเป็นค่าเสียหายที่สูงเกินส่วน เห็นสมควรกำหนดให้จำนวนเดียวเป็นเงินคนละ 30,000 บาท
@'มาสด้าฯ' ไม่ได้เอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม
ส่วนกรณีที่โจทก์ทั้ง 9 ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ 2 เท่าของค่าเสียหายจริง นั้น
เห็นว่า จะต้องได้ความก่อนว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย หรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง ไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค หรือกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบ ในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารราคดีผู้บริโภค พ.ศ.2541 มาตรา 42
แต่เมื่อทางนำสืบของโจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่ 1 รับกันว่า เมื่อโจทก์ทั้ง 9 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการเพื่อแก้ปัญหาหลังจากใช้ไปแล้วระยะหนึ่ง ศูนย์บริการต่างๆได้ซ่อมแซม โดยเปลี่ยนอะไหล่ ทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงแก้ไขโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในระบบต่างๆด้วย
ดังนั้น จะนับว่าจำเลยที่ 1 เอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายนั้นไม่ได้ เพราะเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เองก็หาทราบไม่ว่ารถยนต์รุ่นพิพาทจะเกิดปัญหาขึ้นเมื่อผ่านการใช้งานไปแล้ว และเมื่อโจทก์ทั้ง 9 นำรถยนต์เข้าศูนย์บริการ ศูนย์บริการรับแก้ไขปัญหาให้
ส่วนจำเลยที่ 1 ก็ได้บอกวิธีและขั้นตอนการแก้ไขปัญหาไปยังศูนย์บริการต่างๆ รวมถึงมีการแก้ไขโปรแกรมของระบบต่างๆ ด้วยเช่นนี้ จะถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ไม่นำพาต่อความเสียหายที่เกิดแก่ผู้บริโภคก็ไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะจำเลยที่ 1 ได้พยายามแก้ไขปัญหาแล้ว เพียงแต่แก้ได้ไม่ทันทีและใช้เวลานานเท่านั้น
@สั่ง‘มาสด้าฯ’ประกาศรับรถรุ่นพิพาทเข้าแก้ปัญหาภายใน 2 ปี
สำหรับกรณีที่โจทก์ทั้ง 9 มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 จัดการประกาศและรับสินค้าซึ่งอาจเป็นอันตรายคืนจากผู้บริโภค เพื่อนำการแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ภายในเวลาที่กำหนด โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 เอง
แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่อาจแก้ไขได้หรือดำเนินการตามที่กล่าวข้างต้นได้ ขอให้ห้ามจำเลยที่ 1 จำหน่ายสินค้าที่อยู่ และให้เรียกเก็บสินค้าที่ยังไม่ได้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคคืน แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ผลิตหรือนำเข้า และทำลายสินค้าที่เหลือด้วยนั้น
เห็นว่า ดังที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในขณะทำสัญญาซื้อขายหรือเช่าซื้อ ไม่อาจให้จำเลยที่ 1 รับรถยนต์คืนจากโจทก์ทั้ง 9 หรือให้ใช้ราคาแทนได้
จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 จัดการประกาศและรับรถยนต์รุ่นพิพาทเพื่อทำการแก้ไขภายใน 2 ปีนับแต่วันพิพากษา โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 เอง และห้ามจำเลยที่ 1 จำหน่ายรถยนต์รุ่นพิพาทที่ผลิตระหว่างปี 2557 ถึงปี 2561 ที่หากมีเหลืออยู่ (ก่อนเปลี่ยนรูปร่างทั้งภายนอกและภายในที่จำหน่ายในปี 2562) และให้เรียกเก็บรถยนต์รุ่นพิพาทที่ผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวที่ยังไม่ได้จำหน่ายแก่ผู้บริโภคกลับคืน จนกว่าจะได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสินค้าดังกล่าวให้มีความปลอดภัย
ทั้งนี้ เมื่อทางนำสืบของโจทก์ทั้ง 9 และจำเลยที่ 1 รับกันว่า หลังจากช่อมแล้วหลายครั้งรถยนต์ของโจทก์ทั้ง 9 เครื่องยนต์ไม่สั่น ไม่มีปัญหาเร่งความเร็วไม่ขึ้นอีก
จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ จึงไม่จำต้องสั่งห้ามจำเลยที่ 1 ผลิตรถยนต์รุ่นพิพาทหรือห้ามนำเข้ารถยนต์รุ่นพิพาทที่ผลิตและจำหน่ายตั้งแต่ปี 2562 (ที่เปลี่ยนรูปร่างภายนอกและภายในแล้ว) และไม่จำต้องทำลายสินค้าที่เหลือ
@ผู้ใช้รถรุ่นพิพาท มีสิทธิยื่นเรียกค่าซ่อม-ค่าขาดประโยชน์-ค่าเสียหายจิตใจ
ส่วนที่โจทก์ทั้ง 9 มีคำขอให้คำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันสมาชิกกลุ่มด้วย นั้น
เป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 222/35 ซึ่งคำพิพากษาของศาลต้องกล่าวถึงลักษณะโดยชัดเจนของกลุ่มบุคคลที่จะต้องถูกผูกพันตามคำพิพากษา หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการชำระเงินให้สมาชิกกลุ่ม ตามมาตรา 222/36
จึงเห็นสมควรกล่าวว่า สมาชิกกลุ่มที่มีสิทธิจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ คือ บุคคลที่ใช้รถยนต์ยี่ห้อมาสด้า รุ่นมาสด้า 2 สกายแอคทีฟ เครื่องยนต์ดีเชลที่พิพาท ที่จำหน่ายตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2561 และเป็นรุ่นก่อนเปลี่ยนโฉมรถยนต์ โดยรถยนต์ต้องมีการสั่นของเครื่องยนต์ เร่งความเร็วไม่ขึ้น
และหรือมีปัญหาน้ำมันเครื่องเกินกว่าจุดที่กำหนด (เครื่องหมายกากบาทที่ก้านวัดน้ำมันเครื่อง) หรือพร่องไปกว่าระดับมาตรฐานบนก้านวัดน้ำมันเครื่อง ทั้งนี้ หมายรวมถึงรถยนต์ที่มีการดัดแปลงสภาพเครื่องยนต์หรือแก้ไข ถอด หรือปิดระบบหมุนเวียนไอเสีย (EGR) และระบบกรองและกำจัดเขม่า (DPF) ด้วย
โดยให้ได้รับชำระหนี้ เป็นค่าเสียหายเฉพาะค่าซ่อมที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ ค่าใช้จ่ายจากการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนกำหนด ค่าขาดประโยชน์เฉพาะระหว่างเวลาซ่อมแซมรถยนต์วันละ 1,800 บาท และค่าเสียหายต่อจิตใจ 30,000 บาท
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มต้องแสดงหลักฐานเอกสารของศูนย์บริการรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าถึงค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปในการซ่อมเครื่องยนต์อันเนื่องมาจากการสั่นหรือสะดุดของเครื่องยนต์ เร่งความเร็วไม่ขึ้น และการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนถึงกำหนด หรือสมุดรับประกันและบริการ เป็นต้น
โดยเอกสารต้องแสดงได้ถึงค่าอะไหล่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ เช่น สปริงวาล์ว หัวฉีด น้ำมันเครื่อง และอะไหล่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงค่าแรงของศูนย์บริการแสดงจำนวนวันที่นำรถยนต์รุ่นพิพาทเข้าศูนย์บริการเฉพาะเพื่อการซ่อมเครื่องยนต์รวมถึงการแก้ไขโปรแกรมในระบบหมุนเวียนไอเสีย (EGR) กับระบบกรองและกำจัดเขม่า (DPF) และจำนวนวันเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนกำหนดเพื่อคำนวณเป็นค่าขาดประโยชน์
ทั้งนี้ สมาชิกกลุ่มที่มีสิทธิจะยื่นคำขอรับชำระหนี้ นอกจากเป็นผู้ที่ครอบครองใช้รถยนต์รุ่นพิพาทจนถึงวันที่ศาลมีคำพิพากษาแล้วยังหมายความรวมถึงผู้ที่เคยครอบครองใช้รถยนต์รุ่นพิพาท และได้เสียค่าใช้จ่ายไปในการซ่อมแซมเครื่องยนต์และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องก่อนครบกำหนดแต่ปัจจุบันมิได้ครอบครองรถยนต์รุ่นพิพาทต่อไปแล้วด้วย
และทั้งนี้ การกำหนดค่าเสียหายข้างต้นไม่ตัดสิทธิของสมาชิกกลุ่ม หากสมาชิกกลุ่มต้องการให้จำเลยที่ 1 รับรถยนต์รุ่นพิพาทเพื่อทำการแก้ไขโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยที่ 1 เองภายใน 2 ปี ตามที่ศาลมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 จัดการประกาศข้างต้น
เหล่านี้เป็นคำวินิจฉัยในคดีรถยนต์ ‘มาสด้า 2’ รุ่น Mazda 2 Skyactiv D 1.5 ที่มีปัญหา ‘เครื่องยนต์สั่น เร่งความเร็วไม่ขึ้น’ ของศาลชั้นต้น ซึ่งบริษัท มาสด้า เซลส์ฯและพวก ยังมีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ ในขณะที่ ‘สภาองค์กรของผู้บริโภค’ ได้ออกมาเรียกร้องให้บริษัทฯหยุดขายรถรุ่นดังกล่าว และดำเนินการแก้ไขปัญหาตามคำพิพากษาทันที!
ฉบับเต็ม : คำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ ผบ 347/2561 คดีหมายเลขแดงที่ ผบ 238/2566 คดี mazda2 ที่มา : สภาองค์กรของผู้บริโภค
อ่านประกอบ :
สภาองค์กรของผู้บริโภคเผยพร้อมสนับสนุนผู้เสียหาย 'มาสด้า 2' ให้ได้รับการเยียวยา
ศาลชั้นต้นสั่ง ‘มาสด้า’ เรียกคืน Mazda 2 รุ่นปี 57-61 ซ่อมแซมทุกคัน
สั่งยุติเด็ดขาด! ศาลฎีกาไม่รับคำร้อง ‘มาสด้า’ ฟ้องลูกค้าเรียก 84 ล. หลังร้องปัญหารถ
‘ศาลปค.สูงสุด’ ทุเลาการบังคับคำสั่ง ‘กขค.’ ระงับ ‘นิสสัน’ เลิกสัญญา 7 ดีลเลอร์