"...หากสกัดรายชื่อคนเด่น ๆ ที่มีบทบาทในสภาในช่วงที่ผ่านมามีอย่างน้อย 2 คน คือ นักการเมืองชื่อดังของไทย และเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคการเมืองหนึ่ง อีกรายเคยเป็นอดีตข้าราชการในกระทรวงหนึ่ง ก่อนจะมาเป็น ส.ส. ปัจจุบันลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว โดยทั้ง 2 คดีงวดเข้าไปทุกขณะเช่นกัน..."
เกือบ 4 ปีที่ผ่านมา การทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 พ.ศ. 2562 เต็มไปด้วยเสียงครหามากมาย
ทั้งประเด็นการเล่นพรรคเล่นพวก การเล่นเกมการเมือง ผลัดกันล่มประชุมสภาฯ เพื่อหวังผลประโยชน์จากกฎหมายที่ตัวเองต้องการ การซื้อตัว ส.ส.ที่ถูกเรียกขานว่า “งูเห่า” รวมถึงการ “เสียบบัตรแทนกัน” ยังคงมีให้เห็น
จนถูกสื่อมวลชนสายสภาฯ ตั้งฉายาไว้สารพัด ปี 2562 สภาผู้แทนราษฎรเป็น “ดงงูเห่า” วุฒิสภาเป็น “สภาทหารเกณฑ์” จนมาถึงปี 2565 สภาผู้แทนราษฎรเป็น “3 วันหนี 4 วันล่ม” ส่วนวุฒิสภาเป็น “ตรา ป.” เป็นต้น
แต่ที่ฮือฮา คือ กรณีคณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร ออกมาแถลงถึงผลงาน 4 ปี รับเรื่องร้องเรียนจริยธรรมไป 66 เรื่อง เอาผิด ส.ส.ด้วยการ “ตักเตือน” แค่ 2 เรื่อง อยู่ระหว่างตรวจสอบ 6 เรื่อง
แต่มีข้อกฎหมายกำหนดว่า หาก “ยุบสภา” ไปแล้ว การตรวจสอบเรื่องต่าง ๆ ต้องยุติลง
โดยกรณีตรวจสอบจริยธรรมนั้น ไม่มีประเด็นเรื่อง “งูเห่า” การล่มประชุมสภาฯ หรือกรณี “เสียบบัตรแทนกัน” แม้แต่รายเดียว
นั่นยิ่งตอกย้ำว่ากลไกของฝ่ายนิติบัญญัติทั้งในปัจจุบัน และในอดีตที่ผ่านมา ไม่เคย “ถอดถอน” นักการเมืองที่เข้าข่ายกระทำผิดจริยธรรมให้พ้นตำแหน่งได้เลยแม้แต่คนเดียว
แต่เดิม การจะให้นักการเมืองคนใดพ้นจากตำแหน่งนั้น หากไม่นับกลไกใน ป.ป.ช. แล้ว จะใช้การโหวตผ่านที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่
แต่ไม่เคยมีใครได้รับเสียงเกินกึ่งหนึ่งเลยแม้แต่คนเดียว ไม่นับช่วงเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งถูกตั้งขึ้นจากการรัฐประหารเมื่อปี 2557
นั่นจึงทำให้กลไกการตรวจสอบของ “องค์กรอิสระ” มีความสำคัญขึ้นมาเป็นอย่างมาก โดยตามรัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติให้ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็น “แม่งาน” มีอำนาจในการไต่สวนกรณีกล่าวหา ส.ส.-ส.ว.ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
หากพบว่า มีความผิดจริงตามที่กล่าวหา ให้มีการส่งเรื่องไปยังศาลฎีกา เพื่อพิจารณาต่อไป
ปัจจุบันคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น ถูกบัญญัติเอาไว้ใน มาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระรวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ. 2561 โดยให้นำมาบังคับใช้กับ “นักการเมือง” โดยอนุโลม ตั้งแต่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น ๆ
นับตั้งแต่กฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ มีนักการเมืองอย่างน้อย 2 รายที่ศาลฎีกามีคำพิพากษา และคดีสิ้นสุดไปแล้ว คือ
1.กรณี น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เนื่องจากฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในการครอบครองเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.โดยมิชอบ เพื่อทำเป็นฟาร์มเลี้ยงไก่ โดยศาลสั่งห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกตลอดชีวิต และห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
2.น.ส.กนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีต รมช.ศึกษาธิการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย โดยในส่วนคดีอาญา น.ส.กนกวรรณ ถูกชี้มูล 2 สำนวน กรณีร่วมกันสนับสนุนเจ้าหน้าที่รัฐออกโฉนดโดยมิชอบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี คดีนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ส่วนคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมนั้น ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้พ้นจากตำแหน่ง พร้อมกับตัดสิทธิห้ามดำรงตำแหน่งทางการการเมืองตลอดชีวิต และห้ามไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 10 ปี
ส่วนคดีผิดมาตรฐานจริยธรรมที่ ป.ป.ช.ชี้มูลไปแล้ว และยังอยู่ระหว่างไต่สวน มีอีกอย่างน้อย 3 คดี
1.คดีเสียบบัตรแทนกันในการประชุมสภาฯ กรณีนี้มีการชี้มูลผิดทั้งทางอาญา และผิดมาตรฐานจริยธรรม
นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย
นายภูมิศิษฐ์ คงมี ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย
นางนาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (พ้นจากตำแหน่งเพราะคดียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จ)
นางธนิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
ความคืบหน้าคดีนี้ กรณี 3 ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมในศาลฎีกา และคดีอาญาในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ส่วนกรณี นางธนิกานต์ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาจำคุก 1 ปีคดีดังกล่าว
แต่เจ้าตัวยื่นอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ปัจจุบันอยู่ระหว่างพิจารณาขององค์คณะอุทธรณ์ฯ ส่วนคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมนั้น ศาลฎีกาได้เลื่อนพิจารณาออกไปก่อน ตามคำร้องของผู้ถูกร้อง เพื่อรอให้องค์คณะอุทธรณ์ฯมีคำพิพากษา
2.คดีโพสต์ภาพในโซเชียลเชื่อมโยงสถาบันฯ โดนเฉพาะฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม
น.ส.พรรณิการ์ วานิช อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (พ้นจากตำแหน่งจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ และถูกตัดสิทธิทางการเมือง เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรค) ปัจจุบันคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
3.ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนคดีฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม ได้แก่
1.) คดีกล่าวหา นายสุพล จุลใส ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดชุมพร เขต 3 พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พี่ชายนายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีถือครองเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน ภ.บ.ท. 5 เลขที่สำรวจ 900/2543 จำนวน 5 ไร่ 41 ตารางวา และเลขที่สำรวจ 894/2543 จำนวน 11 ไร่ 3 งาน 96 ตารางวา ที่ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการนำที่ดินไปเสนอขายให้กับบุคคลอื่นทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าที่ดินที่เสนอขายนั้นเป็นที่ดินที่อยู่ในความครอบครอง ควบคุมดูแล ของกรมธนารักษ์ที่ห้ามไม่ให้มีการซื้อขาย
2.) คดีกล่าวหา นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย กระทำความผิดฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง กรณีเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาการทุจริตเงินจำนวน 431 ล้านบาท ของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูขอนแก่น เมื่อปี 2562
นอกจากนี้ ยังมีกรณีออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ยังมีอีกหลายสิบราย โดยเฉพาะบรรดานักการเมืองมี ส.ส.อีกอย่างน้อย 6 ราย และ ส.ว. 1 ราย ถูกไต่สวนแล้ว
- ป.ป.ช.ตั้งไต่สวน 'สุพล จุลใส' ส.ส.ชุมพร รปช. คดีฝ่าฝืนจริยธรรมปมขายที่ดินธนารักษ์
- ป.ป.ช.ตั้งไต่สวน'เอกราช' ส.ส.ภูมิใจไทย คดีจริยธรรมปมทุจริตเงินสหกรณ์ครูฯ 431 ล.
หากสกัดรายชื่อคนเด่น ๆ ที่มีบทบาทในสภาในช่วงที่ผ่านมามีอย่างน้อย 2 คน คือ นักการเมืองชื่อดังของไทย และเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่มีบทบาทสำคัญในพรรคการเมืองหนึ่ง อีกรายเคยเป็นอดีตข้าราชการในกระทรวงหนึ่ง ก่อนจะมาเป็น ส.ส. ปัจจุบันลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว โดยทั้ง 2 คดีงวดเข้าไปทุกขณะเช่นกัน
ทั้งหมดคือข้อมูลเกี่ยวกับการ “นักเลือกตั้ง” ที่เคยถูกชี้มูล และอยู่ระหว่าง ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงคดีถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ที่น่าจับตาคือ ในช่วงก่อนการเลือกตั้ง 2566 อาจมีการชี้มูลเพิ่มอีก 1-2 คดี
นักการเมืองรายไหน จะเข้าข่ายถูกชี้มูลบ้าง
ห้ามกระพริบตาโดยเด็ดขาด