"...การที่มีนักศึกษาชาติใดชาติหนึ่งมาเรียนจำนวนมากแล้วทำให้นักธุรกิจหรือนักการศึกษาจากประเทศนั้นมาซื้อกิจการในประเทศที่มีนักศึกษาประเทศของตนไปศึกษาจำนวนมาก ไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ..."
สืบเนื่องจากสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เคยนำเสนอข่าวเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ถูกกลุ่มทุนจีนเข้าซื้อกิจการ โดยนายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวอิศราว่าในปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในไทยที่ถูกกลุ่มทุนจีนซื้อกิจการไปแล้ว 3 - 4 มหาวิทยาลัย ส่วนที่เป็นข่าวไป 10 กว่าแห่งนั้น อยู่ในช่วงการเจรจาการซื้อขาย และแสดงความกังวลต่อการตรวจสอบและการปฏิบัติตามกฎหมายของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ถูกต่างชาติซื้อกิจการ ต่อมาทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่าในปัจจุบันนั้นมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์(ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยชินวัตร) และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
นอกจากนี้สำนักข่าวอิศรา ยังได้รายงานข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นของ 3 มหาวิทยาลัยข้างต้นและได้สัมภาษณ์พิเศษกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ไปแล้ว ซึ่งมีคำชี้แจงในเบื้องต้นว่า เป็นการร่วมทุนกัน
- โดนซื้อไปแล้ว3-4แห่ง! กนก ชี้ปัญหาทุนจีนซื้อมหาลัยไทย อยู่ระหว่างเจรจาอีกนับ 10 (1)
- อว.คอนเฟิร์ม! จีนถือหุ้น 3 มหาวิทยาลัยเอกชนไทย ยันมีกฎหมายควบคุมทุกแห่ง (2)
- เปิดข้อมูล 3 ม.เอกชนไทยขายให้ทุนจีน ใช้ บ.โฮลดิ้ง ถือหุ้นใหญ่ (3)
- กระแส ชนะวงศ์ : ม.เกริก ขายกิจการให้ชาวจีนจริงหรือ? (4)
- จี้ตรวจนอมินี บ.โฮลดิ้ง! 'กนก' แย้ง อว.คุมเข้มจีนซื้อม.เอกชนไทย น่าห่วงเรื่องปฏิบัติจริง (5)
จากการติดตามทำข่าวเชิงลึกประเด็นนี้ ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา เคยระบุข้อมูลสำคัญประการหนึ่งไว้อย่างน่าสนใจ คือ สาเหตุที่คนจีนเข้ามาซื้อธุรกิจการศึกษาในไทยเป็นเพราะคนจีนน่าจะสนใจการลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนไทยมีนักศึกษาน้อยลงทำให้ต้องมองหาผู้ร่วมทุน ประกอบกับมีนักศึกษาจากจีนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยไทยด้วย และอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริกกล่าวว่าเมื่อก่อนมหาวิทยาลัยเกริกมีชื่อเสียงด้านภาษาอังกฤษ แต่ตอนหลังมาภาษาจีนมีความสำคัญมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะเปลี่ยนแปลงให้ทันเหตุการณ์ จึงจัดตั้งหลักสูตรภาษาจีนโดยการร่วมมือกับนักการศึกษาประเทศจีน
คำถามที่น่าสนใจ คือ ที่ผ่านมา มีนักศึกษาชาวจีนเข้ามาเรียนในไทยแล้วเป็นจำนวนเท่าไหร่กันแน่?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลสถิติจำนวนนักศึกษาต่างชาติในช่วงปี 2555-2565 (ย้อนหลังไป 10ปี) ที่มาศึกษาในประเทศไทย จากเว็บไซต์ info.mhesi.go.th พบว่า มีนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาในประเทศทั้งหมด 228,724 คน มีจำนวนนักศึกษาจีน 106,869 คน คิดเป็นร้อยละ 46.72
จากจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นนักศึกษาในระดับปริญญาทั้งหมด 225,951 คน แบ่งเป็น ระดับปริญญาตรี 143,722 คน ปริญญาโท 57,761 คน ปริญญาเอก 24,468 คน และศึกษาในระดับอื่น ๆ 2,773 คน
นักศึกษาสัญชาติจีนเป็นนักศึกษาที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทยมากที่สุดในช่วงปี 10 ปี รองลงมาคือ สัญชาติเมียนมา
ปี 2555 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 10,681 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 4,240 คน สัญชาติเมียนมา 869 คน
ปี 2556 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 12,335 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 4,228 คน สัญชาติเมียนมา 1,361 คน
ปี 2557 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 13,610 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 4,543 คน สัญชาติเมียนมา 1,681 คน
ปี 2558 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 16,654 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 6,165 คน สัญชาติเมียนมา 1,900 คน
ปี 2559 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 18,729 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 7,405 คน สัญชาติเมียนมา 2,252 คน
ปี 2560 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 21,360 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 8,669 คน สัญชาติเมียนมา 2,767คน
ปี 2561 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 23,429 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 10,617 คน สัญชาติเมียนมา 2,761 คน
ปี 2562 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 25,110 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 11,993 คน สัญชาติเมียนมา 2,454 คน
ปี 2563 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 28,071 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 14,423 คน สัญชาติเมียนมา 2,762 คน
ปี 2564 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 27,908 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 15,815 คน สัญชาติเมียนมา 2,213 คน
ปี 2565 มีจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด 30,837 คน นักศึกษาสัญชาติจีน 18,771 คน สัญชาติเมียนมา 3,310 คน
ภาพแผนภูมิเปรียบเทียบจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมดกับนักศึกษาที่มีสัญชาติจีนและเมียนมา
ส่วนกรณีที่กระทรวงอว.ออกมาระบุว่า ในปัจจุบันมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีกลุ่มทุนจีนเข้าถือหุ้น ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยชินวัตร และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดนั้น
เมื่อสืบค้นข้อมูลพบจำนวนนักศึกษาต่างชาติ 3 มหาวิทยาลัย ในปี 2555-2565 ดังนี้
ปี 2555 มหาวิทยาลัยเกริกไม่มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 127 และ 185 คน
ปี 2556 มหาวิทยาลัยเกริกมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 2 คน มหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 150 และ 249 คน
ปี 2557 มหาวิทยาลัยเกริกมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 1 คน มหาวิทยาลัยชินวัตรไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนนักศึกษา มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 539 คน
ปี 2558 มหาวิทยาลัยเกริกไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้าศึกษา ส่วนมหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ดมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 93 และ 539 คน
ปี 2559 มหาวิทยาลัยเกริกไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้าศึกษา มหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 284 และ 19 คน
ปี 2560 มหาวิทยาลัยเกริกไม่ปรากฏข้อมูลจำนวนนักศึกษาต่างชาติที่เข้าศึกษา มหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 364 และ 1100 คน
ปี 2561 มหาวิทยาลัยเกริกมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 3 คน มหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 303 และ 1375 คน
ปี 2562 มหาวิทยาลัยเกริกมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 702 คน มหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 430 และ 1418 คน
ปี 2563 มหาวิทยาลัยเกริกมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 911 คน มหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 603 และ 1564 คน
ปี 2564 มหาวิทยาลัยเกริกมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 1396 คน มหาวิทยาลัยชินวัตรและมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 430 และ 1418 คน
ปี 2565 มหาวิทยาลัยเกริกมีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 2283 คน มหาวิทยาลัยชินวัตร (เปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยเมธารัถย์) มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 858 คน มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด มีนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษา 1240 คน
ภาพแผนภูมิแสดงจำนวนมหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยชินวัตร และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด ปี 2555-2565
อย่างไรก็ดี จากการสืบค้นข้อมูลในปี 2565 พบประเด็นที่น่าสนใจเพิ่มเติม ดังนี้
สัญชาติที่เข้ามาเรียนในประเทศไทยสูงสุด 5 อันดับแรกในปี 2565 ได้แก่
- จีน 18,771 คน
- เมียนมา 3,310 คน
- กัมพูชา 1,338 คน
- ไม่มีสัญชาติ 856 คน
- เนปาล 625 คน
ประเภทของมหาวิทยาลัยที่เข้าศึกษาสูงสุด 5 อันดับแรกของปี 2565 ได้แก่
- มหาวิทยาลัยเอกชน 15,785 คน
- มหาวิทยาลัยรัฐในกำกับ 7,367 คน
- มหาวิทยาลัยราชภัฎ 3,303 คน
- มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 1,355 คน
- วิทยาลัยเอกชน 1,145 คน
ระดับการศึกษาที่ชาวต่างชาติเลือกศึกษาในปี 2565 ได้แก่
- ปริญญาตรี 13,848 คน
- ปริญญาโท 9,967 คน
- ปริญญาเอก 6,776 คน
- ศึกษาในระดับอื่น ๆ เช่น อนุปริญญา ประกาศนียบัตรบัณฑิต เป็นต้น 246 คน
มหาวิทยาลัยที่มีชาวต่างชาติเรียนมากสุด ปี 2565 5 อันดับแรก ได้แก่
- มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ 2,757 คน
- มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 2,638 คน
- มหาวิทยาลัยเกริก 2,238 คน
- มหาวิทยาลัยมหิดล 1,286 คน
- มหาวิทยาลัยกรุงเทพ 1,257 คน
ขณะที่ นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ย้ำกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราว่า การที่มีนักศึกษาชาติใดชาติหนึ่งมาเรียนจำนวนมากแล้วทำให้นักธุรกิจหรือนักการศึกษาจากประเทศนั้นมาซื้อกิจการในประเทศที่มีนักศึกษาประเทศของตนไปศึกษาจำนวนมาก ไม่ใช่ปรากฏการณ์ปกติ ยกตัวอย่างนักศึกษาจากไทยไปเรียนที่อเมริกาจำนวนมาก หรือนักศึกษาจากอินโดนีเซียไปเรียนที่อเมริกาจำนวนมาก แต่ก็ไม่เห็นนักธุรกิจไทยหรืออินโดนีเซียไปซื้อธุรกิจมหาวิทยาลัยในอเมริกา เป็นต้น จากการวิเคราะห์ของตนจะเห็นได้ว่าประเทศไทยเป็นกรณีพิเศษ
"คำถามคืออะไรทำให้ประเทศไทยพิเศษ ถ้าประเมินอย่างตรงไปตรงมาแสดงว่า หนึ่งนักธุรกิจจีนมองเห็นประเทศไทยเป็นพื้นที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ฉะนั้นการที่เข้ามามีบทบาทในมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาคนในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อประเทศจีน นี่ไม่ใช่ว่าเป็นเรื่องไม่ดีแต่นี่คือข้อเท็จจริง ประเด็นที่สองที่สำคัญ คือ ระบบและเงื่อนไขในประเทศไทยเปิดให้นักธุรกิจจีนเข้ามาทำได้ ยกตัวอย่างถ้าจีนไปทำแบบนี้ที่สิงคโปร์เขาจะยอมหรือไม่ คำตอบก็คือไม่ แสดงว่ามีเงื่อนไขในประเทศไทยที่เปิดให้ทำสิ่งเหล่านี้ จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม"
"ประเด็นที่สามซึ่งสำคัญมาก คือ รัฐบาลและกระทรวงอุดมศึกษาซึ่งกำกับมหาวิทยาลัยจะปรับท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างไร นี่คือสามเรื่อง ความหมายที่ผมต้องการพูดคือ ไม่ใช่แค่กฎหมายเปิดให้แล้วเข้ามา ถ้าอย่างนั้นก็ต้องถามว่ากฎหมายที่มาเลเซียเปิดไหม สมมุติว่าเปิด คำถามก็คือว่าแล้วทำไมจีนไม่ไปมาเลเซีย แสดงว่าประเทศไทยสำคัญอะไรบางอย่าง ถ้าสมมุติว่ามาเลเซียไม่เปิดแต่ประเทศไทยเปิด คำถามคือแล้วมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง นี่คือคำถามที่กระทรวงอว.จะต้องคิด ตอบ และแก้ไขปัญหา"
นายกนกกล่าวต่อว่า อาจคิดในแง่ดีได้ว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยที่ให้คนจีนเข้ามาเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยในไทย ช่วยเร่งการยกระดับการสร้างคนทั้งคนไทยและคนจีนเพื่อการร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนาคต แต่ในทางกลับกันสมมุติว่าการที่คนจีนเข้ามามาก แล้วนักศึกษาจีนแต่งงานกับคนไทยเพื่อเปิดธุรกิจในประเทศไทยที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก-นำเข้าที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการดึงเศรษฐกิจไทยเข้าไปเป็นส่วนประกอบของระบบเศรษฐกิจจีน ถ้าในกรณีนี้ก็มีความเสี่ยงต่ออนาคตของประเทศไทย
"ดังนั้นประเทศไทยควรคิดวิเคราะห์ให้ชัดเจน กำหนดยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน มีท่าทีที่ชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดขึ้นตามสถานการณ์ ถ้าปล่อยให้เกิดขึ้นตามสถานการณ์ประเทศไทยจะเป็นผู้ถูกกระทำซึ่งการเป็นผู้ถูกกระทำไม่มีอะไรที่เป็นผลดี แต่ในทางกลับกันถ้าเราเห็นสิ่งนี้เป็นโอกาสแล้วเป็นผู้กระทำ กำหนดกรอบกติกาการเข้ามาของนักธุรกิจจีนต่อการเข้ามาบริหารมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของประเทศไทย นี่คือสิ่งที่ควรจะเกิดขึ้น แต่วันนี้การตอบเชิงยุทธศาสตร์ของการเข้ามาของจีนในระบบอุดมศึกษาไทยยังไม่มีท่าทีทางยุทธศาสตร์จากกระทรวงอว. รัฐบาลไทย และกระทรวงการต่างประเทศ"
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษาต่างชาติในประเทศไทย ที่มีการเปิดเผยออกมาล่าสุด พร้อมคำถามสำคัญ ถึง รัฐบาลชุดใหม่ และกระทรวงอุดมศึกษา
ที่ดูเหมือนจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์การศึกษาไทย และนักศึกษาต่างประเทศ ที่เข้ามาเรียนให้เมืองไทยให้ชัดเจนมากขึ้นกว่านี้
อ้างอิงข้อมูลจาก info.mhesi.go.th และ data.mhesi.go.th
หมายเหตุ: ชุดข้อมูลนักศึกษาต่างชาติที่ใช้อ้างอิงเป็นข้อมูล 'นักศึกษารวม' แยกในแต่ละปี สามารถสืบค้นได้ที่ info.mhesi.go.th