ปมนักธุรกิจจีน ซื้อกิจการม.เอกชนไทย ยังไม่จบ! 'กนก วงษ์ตระหง่าน' แย้ง อว. ใช้กฎหมายควบคุมดูแลมหาวิทยาลัยยังน่ากังวลเรื่องปฏิบัติจริง กระบวนการประเมินผลคุณภาพการศึกษาดีจริงหรือไม่ จี้ตรวจกรณีใช้บ.โฮลดิ้งถือหุ้น คนไทยถือหุ้น 51% เป็นนอมินีหรือไม่ ด้าน รองปลัด อว. ยันข้อดียกระดับการศึกษาไทย ปัดไม่รู้อีก 10 แห่งอยู่ระหว่างเจรจาที่ไหนบ้าง ได้ยินต่อๆ กันมาเหมือนกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานความคืบหน้าข่าวกรณีกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน เข้ามาซื้อกิจการมหาวิทยาลัยเอกชนในไทย โดย ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ออกมายืนยันข้อมูลเป็นทางการแล้วว่า ปัจจุบันมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ (ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยชินวัตร) และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี สามารถเป็นต่างชาติได้ แต่กรรมสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย แม้มหาวิทยาลัยจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารและผู้ถือหุ้น ก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) และสำนักปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล และทุกหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นไปตามมาตรฐานมหาวิทยาลัยของไทย
ขณะที่ ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ชี้แจงสำนักข่าวอิศราว่า ในส่วนมหาวิทยาลัยเกริก น่าจะเรียกว่าเป็นการร่วมทุนกับชาวจีนมากกว่า
ล่าสุด นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ออกมาพูดถึงประเด็นเรื่องนี้ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมสำนักข่าวอิศราอีกครั้ง ยืนยันว่า ประเด็นที่ อว.พูดถึงการใช้กฎหมายควบคุมดูแลมหาวิทยาลัย ยังมีปัญหาที่น่ากังวลคือ ปัญหาในด้านการปฏิบัติจริง เช่น อว.บอกว่ามีคณะกรรมการไปประเมินภายนอกมหาวิทยาลัยแล้วประเมินผ่าน แต่ผลคุณภาพการศึกษาดีจริงหรือไม่ นี่คือปัญหาที่พบเห็นตลอดเวลาว่า คุณภาพการศึกษาไทย คุณภาพการเรียนการสอน การวิจัยยังไม่ตอบโจทย์ของประเทศ ของประชาชน แต่ทั้งหมดก็ผ่านการประเมินของ อว.
“พูดง่าย ๆ เวลาที่เขาไปประเมิน ช่วงที่ประเมินภายนอกเขาจะมีคณะกรรมการที่เขาคัดเลือกไปแล้วไปประเมิน คณะกรรมการบอกว่ามีดีอย่างนั้นดีอย่างนี้ หรือมีจุดอ่อนตรงนั้นตรงนี้ แต่ส่วนใหญ่จะบอกว่าดี คำถามก็คือว่าในความเป็นจริงมันดีตามนั้นหรือเปล่า ตามที่ประเมินหรือเปล่า เพราะฉะนั้นความหมายก็คือว่าการประเมินตามกฎระเบียบที่อว.พูดได้นั้น มีความน่าเชื่อถือเพียงใด เป็นจริงแค่ไหน นี่คือปัญหาการปฏิบัติตามกฎระเบียบ อันนี้เป็นปัญหาใหญ่” นายกนกกล่าว
@ กนก วงษ์ตระหง่าน
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงความคิดเห็นต่อการใช้บริษัทโฮลดิ้งถือหุ้น นายกนก กล่าวว่า "จะเอาบริษัทใดมาถือหุ้นไม่สำคัญ สิ่งสำคัญคือสัดส่วนหุ้นที่ต้องมีคนไทยถือหุ้น 51% เมื่อมีคนไทยเป็นผู้ถือหุ้น 51% ก็ต้องไปดูต่อว่าเป็นนอมินีหรือไม่ มีคนไทยบางคนถูกขอให้ร่วมมือให้มาถือหุ้นแทนหรือไม่"
"อีกทั้งยังต้องดูในเรื่องการจัดการเรียนการสอน การดำเนินการรับบุคคลากรทั้งนักศึกษาและอาจารย์จากต่างประเทศ ว่าทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนการใช้คำว่าร่วมทุนเป็นการพูดยังไงก็ได้เพราะถ้ามีคนจีนกับคนไทยก็ถือว่าเป็นการร่วมทุน แต่การร่วมทุนนั้นต้องทำตามกฎหมายไทยที่มีคนไทยถือหุ้น 51% คนต่างชาติ 49%" นายกนกระบุ
นายกนกกล่าวย้ำอีกว่า “เพราะฉะนั้น ประเด็นสำคัญคือรายละเอียดของภาคปฏิบัติ ประเด็นสำคัญมี 2 เรื่อง 1. การจัดการเรียนการสอนมีคุณภาพไหม นักเรียนที่มาเรียน จบแล้วมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานใช่หรือไม่ 2. นักเรียนที่มาเรียน เข้ามาเรียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะฉะนั้นทั้งหมดที่พูดคือภาคปฏิบัติที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด”
@ ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล
สำหรับกรณีที่มีกระแสข่าวว่า มีมหาวิทยาลัยเอกชนไทย อีก 10 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อขายกับกลุ่มกลุ่มนักธุรกิจชาวจีน นั้น
ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า "เรื่องนี้ไม่ทราบเป็นทางการ เพราะได้ยินแบบบอกต่อกันมา ไม่มีหลักฐานยืนยันจึงไม่สามารถตอบได้ อีกทั้งมหาวิทยาลัยเหล่านั้นก็ไม่ได้แจ้งกับอว."
"ส่วนสาเหตุที่คนจีนเข้ามาซื้อธุรกิจการศึกษาในประเทศไทยคิดว่าเป็นเพราะเขา(คนจีน)น่าจะสนใจการลงทุนในประเทศไทย อีกทั้งมหาวิทยาลัยเอกชนไทยมีนักศึกษาน้อยลงทำให้ต้องมองหาผู้ร่วมทุน ประกอบกับมีนักศึกษาจากจีนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยไทยด้วย"
รองปลัดอว. ย้ำด้วยว่า สำหรับประโยชน์ด้านการศึกษาที่ไทยจะได้รับก็คือมีคนเข้ามาเรียนในไทยมากขึ้น แต่ถ้าเป็นสาขาที่ไทยมีเยอะอยู่แล้วอาจจะไม่ค่อยเป็นประโยชน์ แต่ถ้าสาขาที่มหาวิทยาลัยไทยยังต้องการความร่วมมือจากทางจีนอันนี้อาจจะเป็นประโยชน์มากกว่า เช่น ทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
เรื่องเกี่ยวข้อง: