"...ถ้าเราส่งเสริมการร่วทุนกับจีนให้เกิดขึ้นอีกจนมองเห็นภาพว่าประเทศไทยเป็นที่รวมสถาบันการศึกษานานาชาติ ที่มีความหลากหลายทางภาษาไม่ได้มีแค่ภาษาอังกฤษ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลไทยให้มีความแข็งแรงจนมีคนจากอาเซียนหรือประเทศอื่นมาเรียนรู้ที่ประเทศไทย ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้หรือเมืองการศึกษาในแถบอาเซียนได้ นี่ก็เป็นประโยชน์ให้กับประเทศไทยในเชิงรายได้และด้านอื่น ๆ ที่จะตามมา..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณีกิจการมหาวิทยาลัยไทยที่ถูกซื้อโดยนักธุรกิจชาวจีนนั้น
เบื้องต้น มีคำชี้แจงเป็นทางการจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศ.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. ออกมาแล้วว่า ปัจจุบันมี 3 มหาวิทยาลัยที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกริก มหาวิทยาลัยเมธารัถย์ (ชื่อเดิมมหาวิทยาลัยชินวัตร) และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด แต่สัดส่วนการถือครองหุ้นยังคงเป็นนิติบุคคลสถานะไทย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งตามกฎหมายไทย สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดี สามารถเป็นชาวต่างชาติได้ แต่กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องเป็นคนไทย
ศ.ศุภชัย ยังระบุด้วยว่า แม้มหาวิทยาลัยจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้บริหารและผู้ถือหุ้น ก็ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชนน พ.ร.บ.การอุดมศึกษา และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยมีคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา (กมอ.) และสำนักปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล และทุกหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นไปตามมาตรฐานมหาวิทยาลัยของไทย
สำนักปลัดกระทรวง อว. เป็นผู้กำกับดูแล และทุกหลักสูตรที่เปิดสอนเป็นไปตามมาตรฐานมหาวิทยาลัยของไทย
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ 'ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์' อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก เกี่ยวกับการบริหารงานของมหาวิทยาลัยเกริก หลังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีนดังกล่าว
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
อิศรา : ขายกิจการให้ชาวจีนจริงหรือไม่?
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ : เรียกว่าขายก็คงจะจริงไม่หมด เป็นการร่วมทุนกัน เพราะมหาวิทยาลัยเกริกก็เป็นมหาวิทยาลัยไทยที่มีความเจริญเติบโตมานานแล้ว อาจารย์ ดร.เกริก มังคละพฤกษ์ สร้างมหาวิทยาลัยแห่งนี้ขึ้นมา เมื่อก่อนมหาวิทยาลัยเกริกมีชื่อเสียงด้านภาษาอังกฤษ แต่ตอนหลังมาภาษาจีนมีความสำคัญมากขึ้น จึงมีความจำเป็นที่จะเปลี่ยนแปลงให้ทันเหตุการณ์ จึงจัดตั้งหลักสูตรภาษาจีนโดยการร่วมมือกับนักการศึกษาประเทศจีน จากการจัดตั้งข้างต้นก็คือการร่วมทุน ถ้าไม่มีการร่วมทุนการที่ชาวจีนจะมาสอนหนังสือก็ไม่มีหลักประกันใด ดังนั้นการร่วมทุนจึงเป็นความจำเป็นเพื่อให้เกิดการรับผิดชอบร่วมกัน
อิศรา : สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากมีผู้บริหารชาวจีนเข้าร่วม?
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ : หลังจากมีผู้บริหารชาวจีนมาร่วมด้วยทำให้เรามีวิสัยทัศน์ที่กว้างขึ้น เข้าใจความจำเป็นและความต้องการของผู้ที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยเกริกมากขึ้นโดยเฉพาะที่มาจากประเทศจีน
อิศรา : ผลงานการบริหารมหาวิทยาลัยในช่วงที่ผ่านมา?
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ : ต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จที่ได้ทั้งงานและน้ำใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง งานคือด้านการศึกษา น้ำใจคือความพอใจของผู้มาเรียนที่ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยกับจีนที่มีความสัมพันธ์เป็นพี่น้องกันมาอย่างยาวนาน ทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจวัฒนธรรมระหว่างประเทศได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คิดว่าส่วนนี้เป็นความเจริญก้าวหน้าในส่วนของวิชาการด้วย มหาวิทยาลัยเกริกประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งเพราะนโยบายของจีนที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ไปเรียนในต่างประเทศ เพื่อให้คนรุ่นใหม่รู้จักโลกภายนอก เป็นส่วนที่ทำให้มีนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้น และอีกส่วนเพราะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทย จากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากนี้เรายังได้รับการติดตามตรวจสอบคุณภาพการเรียนการสอนตลอดเวลา โดยที่คุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกริกได้รับการยอมรับจากประเทศจีน ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่มาจากความสำเร็จ คือ เมื่อมีนักศึกษาจีนเพิ่มขึ้น นักศึกษาไทยก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะนักศึกษาไทยก็สนใจว่ามหาวิทยาลัยเกริกมีการสอนภาษาจีน ภาษาอาหรับ ฯลฯ มีความสำเร็จในด้านปริมาณนักศึกษา เมื่อมีนักศึกษาเพิ่มขึ้นรายได้ก็เพิ่มตาม ทำให้สามารถพัฒนาสถานที่ เครื่องมือต่าง ๆ ให้มีความทันสมัย
อาคารเรียนมหาวิทยาลัยเกริก ที่มาภาพ: www.krirk.ac.th/building-site/
อิศรา : คุณภาพของนักศึกษาต่างจากก่อนร่วมมือกับจีนหรือไม่?
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ : คุณภาพนักศึกษาดีขึ้น เพราะได้ดูตัวอย่างที่ดีจากนักศึกษาจีนที่มาเรียน เนื่องจากคนจีนถ้าจะไปเรียนในต่างประเทศต้องผ่านการพิจารณาหลายขั้นตอน นักศึกษาจีนที่มาเรียนพบว่าเป็นสุภาพบุรุษ สุภาพสตรี ที่เรียบร้อย ปฏิบัติตามระเบียบมหาวิทยาลัย เป็นวิธีส่วนหนึ่งที่ทำให้นักศึกษาไทยได้ตัวอย่างที่ดี ทำให้นักศึกษาไทยมีกำลังใจที่จะทำตัวตามแบบอย่างที่ดี คิดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด วิชาการของกันและกัน คุณภาพดีขึ้นเพราะการผสมผสานความรู้ มุมมองระหว่างทั้งสองประเทศ
อิศรา : ความคิดเห็นต่อการที่มหาวิทยาลัยเอกชนไทยร่วมทุนกับจีน และการร่วมมือนี้จะส่งผลต่อการศึกษาไทยอย่างไร?
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ : เป็นเรื่องที่คนไทยให้ความสนใจ มองในระยะยาวจะส่งผลดีกับระบบอุดมศึกษาไทย คงไม่กระทบกระเทือนในทางเสียหายกับการศึกษาไทย ส่วนระยะสั้นก็อาจมีเรื่องการแข่งขันเพื่อแย่งนักศึกษา
“ในระยะสั้นมองว่าก็อาจจะมีความขัดแย้งกันบ้างในเรื่องการแข่งขันที่มีการแย่งนักศึกษากัน ซึ่งเรื่องนี้ผมก็ย้ำกับเพื่อนร่วมงานว่า เราไม่ได้ทำมหาวิทยาลัยเพื่อจะแข่งกับคนอื่น แต่เราจะต้องแข่งกับตัวเอง ถ้าเรายังขยันน้อยเราต้องขยันมากขึ้น ถ้าเราประหยัดไม่พอเราต้องประหยัดมากขึ้น เพื่อให้ค่าใช้จ่ายของมหาวิทยาลัยอยู่ในเกณฑ์ที่คนยอมรับได้ ทำให้ผู้ปกครองและนักศึกษาประหยัดได้ด้วย เพราะการประหยัดเป็นเรื่องสำคัญ”
ด้วยประสบการณ์ที่เคยเป็นส.ส. และรัฐมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ มาก่อนจึงพอรู้ว่าประชาชนอยากได้อะไร สิ่งนั้นมีประโยชน์กับประเทศอย่างไร มีข้อเสียอย่างไรบ้าง ตนต้องรับผิดชอบต่อคนไทยและประเทศไทย ตนเคยถามคนจีนถึงสาเหตุที่มาเรียนที่ประเทศไทย เขาตอบว่าเขามองว่าคนไทยเปิดกว้าง ยอมรับคนต่างชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นจุดเด่นที่เราควรเอามาใช้ประโยชน์ เพราะยังมีคนจีนอีกจำนวนมากที่อยากมาเรียนที่ประเทศไทย ถ้าเราส่งเสริมการร่วทุนกับจีนให้เกิดขึ้นอีกจนมองเห็นภาพว่าประเทศไทยเป็นที่รวมสถาบันการศึกษานานาชาติที่มีความหลากหลายทางภาษาไม่ได้มีแค่ภาษาอังกฤษ โดยอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐบาลไทยให้มีความแข็งแรงจนมีคนจากอาเซียนหรือประเทศอื่นมาเรียนรู้ที่ประเทศไทย ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้หรือเมืองการศึกษาในแถบอาเซียนได้ นี่ก็เป็นประโยชน์ให้กับประเทศไทยในเชิงรายได้และด้านอื่น ๆ ที่จะตามมา และสร้างภาพพจน์ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เป็นศูนย์กลางการศึกษาที่มีความหลากหลาย
ในฐานะที่เคยอยู่ในราชการ ตนยังคิดต่อไปว่าเมื่อคนจีนอยากจะมาเรียนที่เมืองไทยมาก มหาวิทยาลัยของภาครัฐที่มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาจีนทีละน้อย ๆ ก็ตั้งคณะนานาชาติเป็นภาษาจีนขึ้นในมหาวิทยาลัย แล้วก็จ้างครู อาจารย์จากประเทศจีน ซึ่งถ้าเป็นมหาวิทยาลัยของภาครัฐจะขอความร่วมมือได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น นอกจากจะมีวิทยาลัยนานาชาติที่เป็นภาษาอังกฤษ ก็จะมีวิทยาลัยนานาชาติภาษาจีนเพิ่มขึ้นมา
อิศรา : การบริหารมหาวิทยาลัยและภาครัฐกำกับดูแลต่างกับมหาวิทยาลัยที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้งหมดต่างกันหรือไม่?
ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ : มองที่มหาวิทยาลัยเอกชนเป็นหลัก คิดว่าในแง่การดำเนินตามกฎหมาย ตามระเบียบที่กระทรวงกำหนดก็เหมือนกัน พอมีผู้ถือหุ้นจีนเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วก็ไม่แตกต่างแต่อย่างใด เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัยประมาณ 85% เป็นคนไทย นายกสภาก็เป็นคนไทย ตนที่เป็นอธิการบดีก็เป็นคนไทย มีกรรมการที่เป็นคนจีนเพราะให้เกียรติ ให้โอกาสเขาในการปรึกษาหารือเกี่ยวกับหลักสูตรและค่าใช้จ่ายการเรียน หรือการรับอาจารย์จากประเทศจีนมาสอนในประเทศไทย ในภาพรวมก็ไม่ต่างจากมหาวิทยาลัยเอกชนที่เป็นคนไทยล้วน
*************
ทั้งหมดนี้ เป็นคำชี้แจงจาก ศ.นพ.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก เกี่ยวกับการบริหารงานของ มหาวิทยาลัยเกริก หลังมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างมีต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นโดยมีผู้บริหารและกรรมสภามหาวิทยาลัยที่เป็นชาวจีน
ที่กำลังอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอยู่ในขณะนี้
เรื่องเกี่ยวข้อง: