“...คณะกรรมการได้ขอให้สภาวิศวกรในฐานะที่เป็นสภาวิชาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะ ช่วยพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดความเหมาะสมของราคากลาง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พิศิษฐ์ แสง-ชูโต เลขาธิการสภาวิศวกร ได้ให้ความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบรายละเอียด รวมทั้งได้ลงพื้นที่ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ไม่พบความผิดพลาดของปริมาณงานและราคากลางตามมาตรฐานวิชาชีพ...”
ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการแถลงข่าวชี้แจงของคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ของการถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคมหัวหน้ากลุ่มขนส่ง เป็นประธาน
สาระสำคัญของการแถลงเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2566 คือ ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท. ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิม ที่ รฟท. ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่า มีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท. ของการดำเนินโครงการครั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้
“ขณะนี้ได้รายงานผลการตรวจสอบฯ พร้อมข้อเสนอแนะต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคมตามขั้นตอนแล้ว ส่วนจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปเป็นอำนาจของคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.จะพิจารณาในฐานะผู้จัดซื้อจัดจ้าง กรรมการตรวจสอบฯ ไม่สามารถไปสั่งการได้ เพราะจะกระทบต่อคู่สัญญาฯ ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่กระทบต่อข้อกฎหมาย จะต้องอยู่ที่คู่สัญญา คือ รฟท.และเอกชน ทั้งนี้ หาก รฟท.พิจารณาเป็นอย่างไร ควรรายงานผลกลับมาที่กระทรวงคมนาคมโดยเร่งด่วนต่อไป” นายสรพงศ์กล่าวตอนหนึ่ง
แม้คณะกรรมการจะไม่พบการดำเนินการที่ผิดปกติ แต่ไม่สามารถทำให้สาธารณชนวางใจและยอมรับในคำชี้แจงดังกล่าวได้อยู่ดี
@รถไฟ ขอรอหนังสือทางการก่อน
ล่าสุด ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ‘นิรุฒ มณีพันธ์’ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงในส่วนของ รฟท.ว่า ยังไม่ได้รับคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการดังกล่าว ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขอดูหนังสือที่เป็นทางการก่อนว่า ในนั้นเขียนว่าอย่างไร พูดตอนนี้อาจจะไม่ตรงกับถ้อยคำในหนังสือได้ ก็ต้องดูให้ดี ก็ขอเวลานิดหนึ่ง ส่วนคณะกรรมการของ รฟท. ก็ไม่ได้มีคำแนะนำอะไร เพียงแต่รับทราบเท่านั้นว่า คณะกรรมการได้พิจารณาถึงที่สุดแล้ว
เมื่อถามว่า ยังไม่กระทบกับเอกชนที่รับงานคือ บมจ.บมจ. ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ใช่ไหม ผู้ว่ารฟท.กล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะมีคำสั่งระงับไว้ก่อน ซึ่งตอนนี้ก็ยังไม่ได้เริ่มงานอะไร และทางเอกชนก็ไม่ได้เรียกร้องหรือดำเนินการอะไรทางกฎหมาย
ส่วนที่มีประเด็นวิจารณ์ในสังคมเกี่ยวกับการไม่รอให้มีการพระราชทานชื่อในทีเดียว แล้วจึงติดตั้งป้ายนั้น ผู้ว่ารถไฟตอบว่า ต้องไปถามผู้ว่ารฟท.ในยุคที่ออกแบบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตอนแรก ประมาณปี 2551-2552 เพราะตอนนั้นก็ออกแบบและมีป้าย รฟท.ยุคนั้นก็สร้างตามแบบ ซึ่งตนไม่รู้ เพราะยังไม่ได้เข้ามาทำงานในองค์กร แล้วต่อมา มีการขอพระราชทานชื่อจนได้รับโปรดเกล้าฯลงมา ซึ่ง รฟท. เป็นหน่วยงานที่ต้องปฏิบัติตามนโยบาย
นิรุฒ มณีพันธ์ (เนกไทสีชมพู) ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
นอกจากข้อมูลต่างๆ ตามที่คณะกรรมการและทางฝั่งรฟท. ชี้แจงแล้ว สำนักข่าวอิศราพบว่า ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีก 2 ประเด็นที่น่าสนใจ
@เปิดข้อสังเกต ‘สภาวิศวกร’ ปม ‘ราคากลาง 33.19 ล้านบาท’
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า ในผลสรุปดังกล่าว ทางคณะกรรมการได้ขอให้สภาวิศวกรในฐานะที่เป็นสภาวิชาชีพที่มีความชำนาญเฉพาะ ช่วยพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดความเหมาะสมของราคากลาง โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์พิศิษฐ์ แสง-ชูโต เลขาธิการสภาวิศวกร ได้ให้ความอนุเคราะห์ในการตรวจสอบรายละเอียด รวมทั้งได้ลงพื้นที่ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงเบื้องต้น ไม่พบความผิดพลาดของปริมาณงานและราคากลางตามมาตรฐานวิชาชีพ พร้อมทั้งทางสภาวิศวกร มีข้อเสนอแนะการดำเนินการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1.งานวิศวกรรม ประกอบด้วย
งานรื้อถอนผนังกระจก งานรื้อถอนโครงกระจก และงานรื้อถอนป้ายสถานี ซึ่งงานรื้อถอนเป็นงานเฉพาะ ไม่มีหลักเกณฑ์กำหนดเป็นราคามาตรฐาน ราคาที่กำหนดไว้เป็นค่าแรงงาน โดยเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันอาคารสถานีได้เปิดให้บริการแล้ว การปฏิบัติงานบนพื้นที่สูง มีความเสี่ยงมาก ประกอบกับสถานที่เปลี่ยนแปลงไป จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง ต้องมีการป้องกันผลกระทบจากการทำงาน และต้องคำนึงถึงความปลอดภัยที่สูงขึ้น ส่งผลให้มีขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ซับซ้อน ซึ่ง รฟท. ใช้วิธีการสืบราคามาประกอบการจัดทำราคากลาง
งานโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ ราคาโครงสร้างเหล็กรูปพรรณ อ้างอิงจากราคากระทรวงพาณิชย์เป็นมาตรฐาน ซึ่งราคาที่ รฟท. กำหนด เหมาะสมกับราคาตลาดในปัจจุบัน และรวมค่างานสีแล้ว
งานกระเช้าไฟฟ้า งานกระเช้าไฟฟ้าเพื่อรองรับการทำงานที่สูง จำนวน 4 ชุด ระยะเวลา 3 เดือน เป็นการสืบราคาตามราคาตลาด ทั้งนี้ ในส่วนของงานรื้อถอน และงานกระเช้าไฟฟ้า เห็นว่าเพื่อให้การใช้เงินภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีข้อเสนอแนะให้ รฟท. พิจารณาทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน จำนวนกระเช้า และจำนวนเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้งด้วย
2. งานสถาปัตยกรรม คณะกรรมการจัดทำร่างขอบเขตงานและราคากลางฯ ได้เทียบกับราคาเดิม โดยอ้างอิงจากราคาในสัญญา และรายละเอียดปริมาณงาน (BOQ) เดิม ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2553 ราคาที่เสนอปัจจุบันนี้เป็นราคาอ้างอิงตามบัญชีราคาสัญญาเดิม
งานจัดหาและติดตั้งกระจก ราคากระจก ตามสัญญาเดิม ตารางเมตรละ 27,190 บาท เปรียบเทียบกับราคากระจกในส่วนของการเสนอราคาครั้งใหม่ ตารางเมตรละ 25,620 บาท
งานจัดหาและติดตั้งโครงกระจกอลูมิเนียม ราคาโครงอลูมิเนียม ตามสัญญาเดิม ตารางเมตรละ 9,690 บาท ราคาโครงอลูมิเนียมในส่วนของการเสนอราคาครั้งใหม่ ตารางเมตรละ 9,130 บาท
งานจัดหาติดตั้งป้ายและสัญลักษณ์ รฟท. ราคาป้าย ตามสัญญาเดิม ตารางเมตรละ 23,637.62 บาท ราคาป้ายในส่วนของการเสนอราคาครั้งใหม่ ตารางเมตรละ 23,244.53 บาท
ดังนั้น เนื่องจากป้ายใหม่มีตัวอักษรที่เพิ่มขึ้น และมีการเพิ่มตราสัญลักษณ์ จึงทำให้ราคารวมสูงขึ้น แต่เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อตารางเมตรแล้ว มีความใกล้เคียงกัน
ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมเพื่อลดปริมาณงานและค่าใช้จ่ายของ รฟท. เช่น รฟท. ควรพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะนำตัวอักษร “สถานีกลาง” เดิมมาใช้ โดยให้พิจารณาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงป้ายเดิมกับการเปลี่ยนป้ายทั้งหมด
3. งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ
รฟท. กำหนดโดยใช้อัตราร้อยละ 3 ของมูลค่างาน ซึ่งตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2562 กำหนดอัตราค่าออกแบบโครงการไม่ถึง 50 ล้านบาท ไว้ที่ร้อยละ 4.5 การกำหนดราคากลางของ รฟท. จึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงดังกล่าว ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้ตามลักษณะงานเดิมแล้ว รฟท. อาจพิจารณาทบทวนนำแบบเดิมมาใช้ในการดำเนินการ
4. งานเผื่อเลือก (Provisional Sum)
เป็นส่วนของเงินสำรอง ถ้าจะใช้เงินต้องมีการเจรจา เสนอราคาใหม่ ผู้ว่าจ้างต้องสั่งจึงจะดำเนินการได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เจ้าของงานบริหารสัญญาได้ ซึ่งงานนี้ได้กำหนดไว้ที่ร้อยละ 5 ของมูลค่างาน
@รถไฟแจง 5 เหตุผลต้องประมูลเฉพาะเจาะจง ‘ยูนิค’
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนของคำชี้แจงจาก รฟท. ที่ระบุถึงสาเหตุในการจ้าง บมจ.ยูนิครับงานนี้ไป มี 5 เหตุผลสำคัญ ประกอบด้วย
1.ขอบเขตของงานที่ดำเนินการต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ เนื่องจากต้องปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. งานติดตั้งตัวอักษรขนาดใหญ่และมีจำนวนมาก พร้อมตราสัญลักษณ์ รฟท. และงานต่างๆ ตามขอบเขตของงานที่กำหนด รวมถึงการยกป้ายชื่อสถานีใหม่ทั้งสองฝั่งขึ้นติดตั้งบนความสูง 28 เมตร
พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งผู้ที่จะเข้ามาดำเนินการต้องมีความเข้าใจในหลักวิศกรรมโครงสร้างของสถานีเป็นอย่างดี เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และไม่เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของสถานี และความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
2.พื้นที่ที่ติดตั้งป้าย และพื้นที่ทำงานปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. อยู่ในพื้นที่เปิดให้บริการประชาชน และอยู่ระหว่างการรับประกันความชำรุดบกพร่องของกิจการร่วมค้า เอส ยู ประกอบด้วยบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ชิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)
ซึ่งงานจ้างครั้งนี้ มีขอบเขตงานที่เกี่ยวกับการรื้อถอนวัสดุเดิมออก อีกทั้งต้องติดตั้งวัสดุใหม่ที่น้ำหนักมาก มีความเสี่ยงอาจกระทบต่อโครงสร้างของอาคารสถานีที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว และส่งผลต่อเงื่อนไขการรับประกันความชำรุดบกพร่องของอาคารสถานี
3.ความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และความปลอดภัยโดยรอบด้านของประชาชนผู้ใช้บริการทั้งในปัจจุบัน และอนาคต เนื่องจากบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทผู้ดำเนินการติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อ (เดิม) มาก่อน ประกอบกับมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเข้าใจหลักวิศวกรรม รายละเอียด และจุดที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษของโครงสร้างของสถานีเป็นอย่างดี จึงเป็นบริษัทที่เหมาะสมจะดำเนินการในงานดังกล่าว
4.ความเสียหายทั้งในแง่ทรัพย์สิน และความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันผลงานในช่วงรับประกันความชำรุดบกพร่องที่ยังมีอยู่ในสัญญา ซึ่งการติดตั้งป้ายชื่อสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของ รฟท. ที่อยู่ในระหว่างการรับประกันความเสียหาย ย่อมส่งผลดีกว่าที่ไม่มีความคุ้มครองความเสียหาย ถือว่ารัดกุม และคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของ รฟท.
และ 5. โครงการนี้ ภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม มีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน
ทั้งนี้ รฟท.ทิ้งท้ายในคำชี้แจงต่อคณะกรรมการว่า รฟท. ได้ใช้ดุลยพินิจภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยพิจารณาอย่างรอบคอบ ละเอียดถี่ถ้วน และมองในทุกมิติ คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดตามภารกิจที่ได้รับมอบหมาย โดยบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นไปตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 (2) (ค) ที่ให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดจ้างจากผลประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว
อีกทั้งยูนิคยังเป็นคู่สัญญา และเป็นบริษัทที่ดำเนินการก่อสร้างอาคารสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่มีความเข้าใจในโครงสร้างของสถานีเป็นอย่างดี เพื่อลดความเสี่ยง ทำให้เกิดความปลอดภัย ไม่เกิดผลกระทบต่อโครงสร้างของสถานี และความปลอดภัยของประชาชนผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ จึงเป็นการดำเนินการที่เหมาะสมถูกต้องแล้ว
หลังจากนี้ เมื่อพิธีกรรมชี้แจงสังคมเสร็จสิ้น และกระแสต่างๆสร่างซาลงไปตามกาลเวลา ก็คงได้เห็นการเริ่มนับหนึ่ง การเปลี่ยนป้ายสถานีกลางจาก ‘บางซื่อ’ สู่ ‘กรุงเทพอภิวัฒน์’ ในไม่นานนี้
อ่านประกอบ
- ‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งอนุฯ สอบค่างานเพิ่มสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ 7 พันล.
- ‘ก้าวไกล’ อัดเปลี่ยนป้าย 33 ล้าน สิ้นเปลือง ‘ศักดิ์สยาม’ ร่ายยาวที่มา
- ‘ศักดิ์สยาม’ ตั้งกก.สอบป้าย ‘สถานีกทม.อภิวัฒน์’ รฟท.แจงประมูลเจาะจง เพราะเป็นงานด่วน
- เปิดคำสั่ง ‘ศักดิ์สยาม’ เซ็นตั้ง 10 ชื่อเป็นกรรมการ สอบกรณีป้ายส.กลาง กทม.อภิวัฒน์