"...กระผมยืนยันว่าได้ประโยชน์อย่างมากในการร่วมวิจัยในโครงการต่างๆ ทำให้กระผมได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเป็นทีม กระบวนการการตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่การเขียน การโต้ตอบกับบรรณาธิการและการแก้ไขต้นฉบับตามข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินบทความ จนกระทั่งการตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับกระผมอย่างมากในการที่จะประยุกต์ใช้กับงานของกระผมในอนาคต และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในห้องเรียน..."
กรณีปรากฏข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ว่า มีนักวิชาการในไทยจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงานและตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ ขณะที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ออกประกาศชี้แจง ระบุว่าได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง เพื่อดำเนินการทางวินัยต่อบุคคลดังกล่าว ตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไปแล้วนั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า มีนักวิชาการ 2 ราย ถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ รายแรกเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รายสองเป็นอาจารย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทั้ง 2 ราย ถูกมหาวิทยาลัยต้นสังกัดตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว
อย่างไรก็ดี ในรายของอาจารย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นั้น เบื้องต้นมีรายงานข่าวว่า อาจารย์คนดังกล่าวได้ทำบันทึกข้อความชี้แจงไปยังคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า ตนได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทีมในงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ผลงานอย่างแท้จริงทุกเรื่อง และไม่เคยกระทำและไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งผู้ร่วมทีมวิจัยมาก่อน และไม่เคยได้รับผลประโยชน์ใดๆ ส่วนประเด็นผลงานพิมพ์ที่จำนวนหลายเรื่องในแต่ละปี มีการชี้แจงว่า เนื่องจากได้รับเชิญให้ทำหน้าที่บรรณาธิการวิชาการ ทำให้ได้รับการติดต่อขอความร่วมมือในการให้ความเห็นในเรื่องระเบียบวิธีการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ (Manuscript) เพื่อตีพิมพ์บ้าง โดยทุกเรื่องได้มีการร่วมพิจารณารายงานการวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสาร ทำให้มีโอกาสมีชื่อร่วมตีพิมพ์ด้วย
- ไม่ใช่แค่ มช.! ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์สั่งสอบปมซื้องานวิจัย อ.เจ้าตัวยันบริสุทธิ์
- มช.ตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนักวิชาการ ปมซื้องานวิจัยใส่ชื่อตัวเอง
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดในบันทึกข้อความชี้แจงข้อเท็จจริงของอาจารย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายนี้
**********
กระผม นายวานิช สุขสถาน อาจารย์ประจำภาควิชาการพยาบาลชุมชน ขณะนี้อยู่ในระหว่างลาศึกษาต่อระดับปริญญาเอกหลักสูตร Doctor of Philosophy in Nursing, with minor in research methodology ณ Saint Louis University ประเทศสหรัฐอเมริกา
กระผมได้เริ่มตีพิมพ์ผลงานวิชาการในฐานข้อมูลระดับชาติและนานาชาติ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ.2559) จนถึงปัจจุบัน และได้ร่วมตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิชาการร่วมกับนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ
จากการตีพิมพ์เผยแพร่ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นนี้ นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์และการถูกพาดพิงจากสื่อสังคมออนไลน์ เกี่ยวกับการตีพิมพ์ผลงานวิชาการในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การมีส่วนร่วมการวิจัย (Contribution) ในงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับพยาบาลและงานวิจัยข้ามศาสตร์
กระผมขอชี้แจงว่า กระผมได้มีส่วนร่วมในทุกผลงาน ตามสัดส่วนการวิจัยในแต่ละเรื่อง เช่น งานวิจัยที่กระผมเป็นผู้วิจัยหลัก (First Author) และ/หรือ ผู้รับผิดชอบบทความ (Correspondence) จะเป็นงานวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพเป็นหลัก โดยกระผมเป็นผู้ดำเนินการหลักในเรื่องนั้นๆ และเป็นผู้มีส่วนสำคัญตั้งแต่แนวคิดการวิจัยจนกระทั่งตีพิมพ์เผยแพร่
ส่วนเรื่องที่เป็นผู้ร่วมงานวิจัย (Co-author) กระผมเป็นผู้ร่วมเขียนในส่วนระเบียบวิธีวิจัย การตรวจสอบการเขียน (Writing, Rewriting and Editing) และรูปแบบการเขียนตามข้อกำหนดและเกณฑ์ของวารสารฉบับที่ส่งผลงานต้นฉบับ (manuscript) เพื่อการพิจารณา
ประเด็นที่ 2 การร่วมงานกับนักวิจัยชาวต่างชาติ
กระผมขอชี้แจงว่า กระผมเริ่มมีประสบการณ์และงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในฐานข้อมูลระดับนานาชาติ (Scopus, Web of Science) ด้วยตนเองและทีมวิจัยในประเทศไทย สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในการอ่าน วิเคราะห์ สังเคราะห์ สรุปประเด็นและเขียนผลงานวิชาการ
ทำให้กระผมได้รับเชิญให้เป็นผู้ประเมินบทความ (Reviewer) และบรรณาธิการวิชาการ (Academic Editor) ให้กับสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียง เช่น สำนักพิมพ์ SAGE สำนักพิมพ์ Frontiers และสำนักพิมพ์ Hindawi เป็นต้น
จึงทำให้ชาวต่างชาติได้รู้จักกระผม มีความสนใจในการร่วมงานด้วยจึงได้รับคำเชิญต่างๆ หลายช่องทาง เช่น Email Research Gate และ Twitter เป็นต้น
ประเด็นที่ 3 สาเหตุของการถูก Retracted ผลงานวิจัย 2 เรื่อง ในวารสาร Applied Nanoscience ของสำนักพิมพ์ Springer ที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมวิจัย (Co-author)
กระผมขอชี้แจงว่า บทความวิจัยทั้ง 2 เรื่องได้ผ่านกระบวนการ Peer-reviewed และได้รับการตรวจสอบผลงาน และยอมรับให้ตีพิมพ์โดยบรรณาธิการรับเชิญ (Guest Editor)
โดยบทความฉบับที่ 1 ส่งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ.2564 (ค.ศ. 2021 และบทความวิจัยฉบับที่ 2 ส่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021) และได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021)
โดยทั้ง 2 บทความนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในรูปแบบ Article in Press เพื่อรอการจัดพิมพ์ในวารสารฉบับสมบูรณ์ (Issue และVolume) ตั้งแต่ปี 2564 โดยสาเหตุการ Retracted ครั้งนี้ คือ บรรณาธิการ (Editor-in-Chiet) วินิจฉัยว่า บทความทั้ง 2 เรื่องไม่อยู่ในขอบเขตของวารสาร Applied Nanoscience และกระบวนการ Peer-reviewed process ของบรรณาธิการรับเชิญท่านนี้ยังไม่รัดกุมพอ (ดังเอกสารแนบ 1 และ 2)
จึงเห็นว่าไม่ควรตีพิมพ์ในวารสารฉบับนี้ทั้ง 2 เรื่อง อย่างไรก็ตาม วารสารนี้ยังมีการ Retracted บทความวิชาการจำนวน 51 เรื่อง ที่พิจารณาจากบรรณาธิการรับเชิญ (Guest Editor) ท่านเดียวกันนี้ ด้วยเหตุผลคล้ายคลึงกัน (รายชื่อบทความทั้ง 51 เรื่อง ที่ถูก Retracted ดังเอกสารแนบ 3)
ดังนั้น ผลงานทั้ง 2 เรื่องที่กระผมมีชื่ออยู่ด้วยและถูก Retracted จากการตีพิมพ์ จึงมิใช่จากเหตุผลทางวิชาการหรือทางจริยธรรมการวิจัยแต่อย่างใด
ประเด็นที่ 4 จากการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการซื้อขายผลงานวิจัยเพื่อให้ผู้ซื้อเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทีมวิจัย
กระผมขอชี้แจงว่า กระผมไม่เคยกระทำและไม่มีส่วนรู้เห็นในการซื้อขายตำแหน่งผู้ร่วมทีมวิจัยมาก่อน และไม่เคยได้รับผลประยชน์ใดๆ ตามที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อออนไลน์ที่ทุจริต
สำหรับตัวกระผมได้ทำหน้าที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมทีมในงานวิจัยเพื่อตีพิมพ์ผลงานอย่างแท้จริงทุกเรื่อง จากการที่มีการโพสต์ผลงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์และมีรายชื่อกระผมเป็นผู้ร่วมวิจัย (Co-author) และมีโพสต์คู่กันเหมือนประกาศโฆษณโดยบอกราคาของนักวิจัยแต่ละตำแหน่งด้วยนั้น
กระผมขอเรียนว่า ได้ทำการตรวจสอบแหล่งที่มาของโพสต์บอกราคาซื้อขายแล้วไม่พบแหล่งที่มาตามเอกสารแนบ 4) ทำให้กระผมไม่สามารถตรวจสอบได้
แต่กระผมขอยืนยันว่า ผลงานของกระผมไม่ได้มีการซื้อหรือการขายใดๆ ตามที่มีการกล่าวหาวิพากษ์วิจารณ์ กระผมยินดีให้มีการตรวจสอบทุกกรณี
ประเด็นที่ 5 หลายคนอาจสงสัยว่าในแต่ละปีทำไมถึงมีผลงานพิมพ์ได้มากเรื่อง
กระผมขอเรียนว่า ผลงานวิจัยที่มีชื่อกระผมเป็นทีมในการตีพิมพ์นั้น กระผมมีส่วนรับผิดชอบอย่างแน่นอนซึ่งมีอยู่ในหลากหลายบทบาท เป็นผู้วิจัยหลัก (Principal Investigator) ผู้รับผิดชอบบทความ (Corresponding Author) และผู้ร่วมวิจัย (Co-author) ซึ่งแต่ละตำแหน่งมีส่วนแบ่งรับผิดชอบไม่เท่ากัน ผลงานของกระผมที่เป็นผู้วิจัยหลัก (Principal Investigator) และผู้รับผิดชอบบทความ (Corresponding Author มีเพียงจำนวนหนึ่ง ส่วนใหญ่เป็นผู้ร่วมวิจัย (Co-author)
ทั้งนี้เนื่องจากการที่กระผมได้รับเชิญให้ทำหน้าที่บรรณาธิการวิชาการ (Academic Editor) ของวารสารดังได้เรียนแล้ว ทำให้กระผมได้รับการติดต่อขอความร่วมมือในการให้ความเห็นในเรื่องระเบียบวิธีการวิจัยบ้าง การวิเคราะห์ข้อมูลบ้าง เนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ (Manuscript) เพื่อตีพิมพ์บ้าง โดยทุกเรื่องได้มีการร่วมพิจารณารายงนการวิยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารทำให้กระผมมีโอกาสมีชื่อร่วมตีพิมพ์ด้วย ซึ่งการดำเนินการเช่นนี้เป็นวิธีปฏิบัติโดยทั่วไปของการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในสากล
กระผมมีความตระหนักอย่างยิ่งที่ได้รับทุนจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช 90 พรรษา ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติสูงสุดของชีวิตและได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนเพื่อสั่งสมประสบการณ์ให้มากที่สุดเพื่อกลับมารับใช้ประเทศชาติ
กระผมจึงได้มุ่งมั่นอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องวิจัยนั้น เพราะได้รับการเน้นย้ำตลอดเวลาของการทำงานในคณะพยาบาลศาสตร์ (ชื่อขณะนั้น) ว่าสมรรถนะเฉพาะของบัณฑิตพยาบาลศาสตร์ จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะต้องแตกต่างจากที่อื่นคือการวิจัย อาจารย์ของคณะฯทุกคนต้องเร่งพัฒนาสมรรถนะการวิจัย และราชวิทยาลัยจุฬภรณ์จะเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยในอนาคต กระผมจึงได้เลือกที่จะศึกษาต่อในสาขาพยาบาลศาสตร์คู่กับสาขารองคือความเชี่ยวชาญด้าน Research Methodology ซึ่งทำให้โลกทัศน์ของกระผมเปิดกว้างในการทำงานด้านวิจัยมากขึ้น
ซึ่งกระผมยืนยันว่าได้ประโยชน์อย่างมากในการร่วมวิจัยในโครงการต่างๆ ทำให้กระผมได้เรียนรู้กระบวนการทำงานเป็นทีม กระบวนการการตีพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่การเขียน การโต้ตอบกับบรรณาธิการและการแก้ไขต้นฉบับตามข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ประเมินบทความ จนกระทั่งการตีพิมพ์เผยแพร่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีประโยชน์สำหรับกระผมอย่างมากในการที่จะประยุกต์ใช้กับงานของกระผมในอนาคต และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ในห้องเรียน
อย่างไรก็ตาม การเลือกร่วมงานกับทีมวิจัยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินั้น กระผมควรต้องทราบแหล่งที่มาให้ชัดเจน ได้แก่ การมีส่วนร่วมของนักวิจัยทุกคน ทุนวิจัย ไม่เฉพาะแต่รายละเอียดโครงการวิจัย และกระบวนการการรับรองจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ในแต่ละเรื่องเท่านั้น โดยเฉพาะการวิจัยข้ามศาสตร์และร่วมมือกับชาวต่างชาติ
ถึงแม้ว่างานวิจัยข้ามศาสตร์เป็นงานวิจัยที่ท้าทายและสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน ในการบูรณาการองค์ความรู้จากนักวิจัยหลายศาสตร์ เพื่อก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ในวงกว้างอย่างไรก็ตาม หากมีการบูรณาการความร่วมมือทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ กระผมจะพิจารณาอย่างรอบด้น ทั้งทีมวิจัย ชื่อโครงการวิจัย และกระบวนการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานต่างๆ อย่างรอบคอบ และจะยึดมั่นในจริยธรรมการวิจัยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาอันจะเกิดขึ้นตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ได้
ท้ายนี้ กระผมใคร่ขอยืนยันอีกครั้งว่า กระผมมีความสำนึกในพระกรุณาธิคุณขององค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬากรณ์ ความอนุเคราะห์ของท่านคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี และคณาจารย์เพื่อนร่วมงานทุกคน และตระหนักเสมอว่า การเป็นอาจารย์ของสถาบันแห่งนี้ กระผมต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และรักษาชื่อเสียงของสถาบันอันทรงเกียรติแห่งนี้ไว้ตลอดไป
**********
อนึ่งเกี่ยวกับกรณีของ อาจารย์จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์รายนี้นั้น
สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ได้ติดต่อไปยัง รศ.ดร.อรพรรณ โตสิงห์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยนวัตกรรมและวิเทศสัมพันธ์ คณะพยาบาลศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงเรื่องนี้
รศ.ดร.อรพรรณ ชี้แจงว่า ได้มีการติดต่อไปยังอาจารย์รายที่ถูกระบุถึงแล้ว เบื้องต้นมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน กำลังหาข้อมูล และรอข้อมูลยืนยันจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.อรพรรณ ยืนยันว่า อาจารย์รายนี้ยังเป็นผู้บริสุทธิ์ ดำเนินการวิจัยเพราะเป็นนักวิชาการจริง ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมหลักฐานจากผู้ร่วมวิจัยและบรรณาธิการสำนักพิมพ์เพื่อมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ส่วนผลการสอบสวนเป็นทางการจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป