"...เกี่ยวกับเรื่องเงินที่นําไปซื้อตั๋วแลกเงิน 2 ฉบับนี้ ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าเป็นเงินที่นางแน่งน้อย สุทธิศักดิ์ มารดาของผู้ถูกกล่าวหามอบให้เก็บไว้ ซึ่งหากเป็นเงินของนางแน่งน้อยที่ฝากให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้เก็บรักษาไว้จริง ผู้ถูกกล่าวหาก็ควรนําเงินไปฝากธนาคารมิใช่นําเงินจํานวนมากเช่นนี้ไปฝากไว้แก่นายวีระยุทธซึ่งเป็นเพียงคนรู้จักกันโดยอ้างเหตุผลเพียงว่าไม่มีตู้นิรภัยอันเป็นการผิดปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไปจะกระทํากัน..."
กรณี นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส ถูกศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ห้องชุด 2 ห้อง ในอาคารโครงการ ชิลค์ เพลส พหลโยธิน หลักสี่ เขตบางเขน กทม. ในชื่อ "นางสุดจิตร์ เครือฟั่น" ราคาห้องละ 2,469,380 บาท รวม 4,938,760 บาท พร้อมด้วยดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามผลการไต่สวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแหล่งเงินที่นำมาใช้ในการซื้อห้องชุด 2 ห้อง ในอาคารโครงการ ชิลค์ เพลส พหลโยธิน หลักสี่ เขตบางเขน กทม. ดังกล่าว มานำเสนอไปแล้วว่า
1. นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ชำระเงินจอง 120,000 บาท และชำระเงินค่าห้องชุด 2 ห้อง จำนวน 4,818,760 บาท เป็นตั๋วแลกเงิน 2 ฉบับ ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขานราธิวาส โดย บริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด
2. ขณะที่ ป.ป.ช. จากการตรวจสอบข้อมูล บริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด พบว่า เป็นผู้รับเหมางานก่อสร้างถนน และสะพานในช่วงที่ นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส เป็นผู้ขอซื้อตั๋วแลกเงินดังกล่าว ก่อนที่ นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ จะใช้ชื่อ "นางสุดจิตร์ เครือฟั่น" ซึ่งเป็นญาติ เป็นผู้ซื้อและถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดดังกล่าวแทน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้ดำเนินการไต่สวนเบื่องต้น และมีคำสั่งอายัดห้องชุดดังกล่าว ไว้ชั่วคราว
3. ในการต่อสู้คดีนี้ นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ยื่นคําร้องคัดค้าน ระบุว่า ห้องชุด 2 ห้อง ไม่ใช่ทรัพย์สินของตนเอง แต่เป็นของมารดา ให้นางสุดจิต เครือฟั่น (น้าสาว)ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเพื่อจะขายต่อในลักษณะซื้อมาขายไปเมื่อได้กําไร แต่เนื่องจากในช่วงที่ทําสัญญาซื้อขายแม่และน้าสาว มีโรคประจําตัวไม่สามารถดําเนินการได้ด้วยตนเอง น้าสาว จึงมอบอํานาจให้ตนดําเนินการแทน จึงได้นําเงินสดที่แม่มอบไว้ให้ตนเองให้ กรรมการบริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด ช่วยซื้อตั๋วแลกเงินนํามาให้ตนที่กรุงเทพมหานคร แต่พนักงานบริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด ไม่ทราบว่าเงินดังกล่าวเป็นของตน จึงได้ซื้อตั๋วแลกเงิน ในนามของบริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด
นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ยังยืนยันด้วยว่า เงินที่แม่ นํามาซื้ออาคารชุดเป็นรายได้จากการประกอบอาชีพรับราชการ ธุรกิจซื้อขายที่ดิน และการให้กู้ยืมเงิน จึงขอให้ยกคําร้อง และถอนการอายัดห้องชุดทั้ง 2 ห้องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี ศาลฯ เห็นว่า พฤติการณ์ของ นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ น่าเชื่อว่าเจตนาที่จะซื้อห้องชุดทั้ง 2 ห้อง โดยใช้ชื่อบุคคลอื่น เพื่อมิให้มีหลักฐานแสดงว่า ตนเองมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และเห็นควรให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน
- วิบากกรรมคดีทุจริต:ยึดทรัพย์ห้องชุด4.9 ล.อดีตผอ.ทางหลวงชนบทนราฯ ไล่ออกราชการไปแล้ว
- กรมทางหลวงชนบทไล่ออกแล้ว ผอ.แขวงนราธิวาส ถูก ป.ป.ช.ชี้มูล-โดนสอบรวยผิดปกติซ้ำ
- ป.ป.ช.สอบรวยผิดปกติ ผอ.ทางหลวงชนบทนราธิวาส ซื้อสดคอนโด 5 ล.-เจ้าตัวยันใช้เงินครอบครัว
- ใช้ตั๋วแลกเงินผู้รับเหมาซื้อ! เบื้องลึกคอนโด อดีตผอ.ทางหลวงชนบทนราฯ ก่อนโดนยึดทรัพย์ (1)
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดวินิจฉัยของศาลฯ ที่เห็นควรให้ยึดทรัพย์ห้องชุดทั้ง 2 ห้อง ตกเป็นของแผ่นดินดังกล่าว
@ ข้อเท็จจริงในคดี
ในคำพิพากษาศาลฯ ระบุว่า พิเคราะห์คําร้อง คําคัดค้าน พยานหลักฐานผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหาประกอบเอกสารแล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันและไม่โต้แย้งกันฟังเป็นยุติได้ ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 กรมทางหลวงชนบท มีคําสั่งแต่งตั้งให้ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส
ต่อมาวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 กรมทางหลวงชนบทมีคําสั่ง ที่ 1158/2560 ไล่ผู้ถูกกล่าวหาออกจากราชการ เนื่องจากถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยและทางอาญา กรณีอนุมัติจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างในการก่อสร้างรั้วและป้ายชื่อแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาสทั้งที่งานยังไม่แล้วเสร็จตามสัญญา
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องเป็นจําเลยที่ 1 กับพวกรวม 7 คน ในคดีหมายเลขแดงที่ 1/2563 และคดีหมายเลขแดงที่ 35/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ในความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
ส่วนบริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่งจํากัด ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างถนนและสะพาน ตั้งอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส มีนายวีระยุทธ นันทมงคลกุล เป็นกรรมการผู้จัดการ
ระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการแขวง ทางหลวงชนบทนราธิวาส เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2558 ผู้ถูกกล่าวหาชําระเงินจองห้องชุดเลขที่ 229/250 และเลขที่ 229/251 ชั้น 14 อาคารชุด ซิลค์ เพลส พหลโยธิน หลักสี่ แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร 2 ห้อง ๆ ละ 60,000 บาท รวมเป็นเงิน 120,000 บาท โดยให้นางสุดจิตร์ เครือฟั่น ญาติของผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ทําสัญญาจะซื้อจะขายตามสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด
ต่อมาวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ซึ่งเป็นวันทําสัญญาซื้อขายผู้ถูกกล่าวหานําตั๋วแลกเงิน 2 ฉบับ มาชําระค่าห้องชุด หลังจากนั้นมีหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาซื้อห้องชุด 2 ห้องดังกล่าว ไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบกรณีร่ำรวยผิดปกติ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคําสั่งแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นและแจ้งคําสั่งแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นให้ผู้ถูกกล่าวหา ทราบเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ผู้ถูกกล่าวหารับทราบคําสั่งดังกล่าวและส่งบันทึกการรับทราบคําสั่งมายังคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 โดยไม่ได้คัดค้าน
ต่อมาวันที่ 19 มีนาคม 2562 สํานักงาน ป.ป.ช. ประจําจังหวัดนราธิวาส มีหนังสือแจ้งการอายัดห้องชุดทั้ง 2 ห้อง ไปยังนางสุดจิตร์เพื่อให้ชี้แจงต่อคณะผู้ไต่สวนเบื้องต้นว่าทรัพย์สินดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องกับการร่ำรวยผิดปกติ
@ ทรัพย์สินจากการร่ำรวยผิดปกติหรือไม่
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ทรัพย์สินที่ผู้ร้องยื่นคําร้องขอให้ศาลมีคําสั่งให้ ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินจากการร่ำรวยผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่
ได้ความจากพยานผู้ร้องและผู้ถูกกล่าวหาปากนาง ซ . (อักษรย่อ) ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของบริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด ว่า พยานเป็นผู้ซื้อตั๋วแลกเงินทั้ง 2 ฉบับ จากธนาคารกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) สาขานราธิวาส ตามคําสั่งของนายวีระยุทธ ผู้จัดการบริษัท
ส่วนนายวีระยุทธเบิกความได้ความว่า ตั๋วแลกเงินทั้ง 2 ฉบับไม่ใช่ตั๋วแลกเงินที่เป็นธุรกรรมของบริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด แต่เป็นของผู้ถูกกล่าวหาที่ขอให้พยานช่วยซื้อให้
พยานไม่ทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาจะนําตั๋วแลกเงินทั้ง 2 ฉบับไปใช้เพื่อการใด
พยานรู้จักกับผู้ถูกกล่าวหาเมื่อปี 2556 ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาย้ายมารับตําแหน่งที่นราธิวาส จึงทราบว่าผู้ถูกกล่าวหาและพยานจบการศึกษาจากสถาบันเดียวกัน
@ อ้างไม่มีตู้นิรภัย เอาเงิน 7 ล้านมาฝากไว้
ช่วงเดือนกันยายน 2558 ถึงเดือนตุลาคม 2558 ผู้ถูกกล่าวหานําเงิน มาฝากไว้กับพยาน 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 7,000,000 บาท เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่มีตู้นิรภัย
ต่อมาช่วงวันที่ 6 ถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ผู้ถูกกล่าวหาขอให้พยานช่วยซื้อตั๋วแลกเงิน 2 ฉบับ และให้นําไปให้ที่กรุงเทพมหานคร
ส่วนเงินที่เหลือจากการซื้อตั๋วแลกเงิน 1,900,000 บาท ผู้ถูกกล่าวหาให้นําเงินสดไปให้ พยานจึงให้นาง ซ.ไปซื้อตั๋วแลกเงิน
เหตุที่ใบขอซื้อตราสารการเงินระบุว่าผู้ซื้อตั๋วแลกเงินคือบริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด เนื่องจากนาง ซ. เข้าใจว่าเป็นการทําในกิจการงานของบริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด
@ นัดพบที่เซ็นทรัลพลาซ่า รามอินทรา
วันที่ 8 ตุลาคม 2558 พยานนัดพบกับผู้ถูกกล่าวหาที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซ่า รามอินทรา เพื่อนําตั๋วแลกเงินทั้ง 2 ฉบับ และเงินสดส่วนที่เหลืออีก 1,900,000 บาท ไปมอบให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา
แต่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าไม่สะดวกที่จะถือเงินสดกลับไป
จึงขอให้พยานช่วยเปิดบัญชีเงินฝากให้ในชื่อของพยาน พยานจึงเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน) สาขาเซ็นทรัลพลาซ่า รามอินทรา ในชื่อของพยาน และนําเงิน 1,900,000 บาท ฝากเข้าบัญชีดังกล่าว แล้วได้ส่งมอบสมุดบัญชีเงินฝากให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาไป
ต่อมาเดือนกันยายน 2559 ผู้ถูกกล่าวหานําสมุดบัญชีเงินฝากดังกล่าวซึ่งมีเงินในบัญชีประมาณสองล้านบาทเศษมาให้พยาน และขอให้พยานช่วยโอนเงินในบัญชี 2,000,000 บาท ให้แก่นาย ธ. (ชื่อย่อ) โดยอ้างว่าเป็นผู้ขายฝาก
@ ข้ออ้างเงินมารดา มีพิรุธ
เห็นว่า เกี่ยวกับเรื่องเงินที่นําไปซื้อตั๋วแลกเงิน 2 ฉบับนี้ ผู้ถูกกล่าวหาเบิกความว่าเป็นเงินที่นางแน่งน้อย สุทธิศักดิ์ มารดาของผู้ถูกกล่าวหามอบให้เก็บไว้ ซึ่งหากเป็นเงินของนางแน่งน้อยที่ฝากให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้เก็บรักษาไว้จริง
ผู้ถูกกล่าวหาก็ควรนําเงินไปฝากธนาคารมิใช่นําเงินจํานวนมากเช่นนี้ไปฝากไว้แก่นายวีระยุทธซึ่งเป็นเพียงคนรู้จักกันโดยอ้างเหตุผลเพียงว่าไม่มีตู้นิรภัยอันเป็นการผิดปกติวิสัยของวิญญูชนทั่วไปจะกระทํากัน
นอกจากนี้ที่ผู้ถูกกล่าวหาและนางแน่งน้อยต่างเบิกความถึงที่มาของเงินจํานวนดังกล่าวทํานองว่าเป็นเงินที่นางแน่งน้อยทํามาหาได้จากหลายช่องทาง ได้แก่ เงินเดือนข้าราชการ บํานาญ ดอกเบี้ยจากการให้กู้ยืมเงิน การรับซื้อฝากที่ดิน การซื้อขายทองคําค่าเช่าบ้าน และการขายที่ดินที่ตําบลเกาะคอเขา จังหวัดพังงา ที่ร่วมกับนายสมเกียรติ เสนปาน ซื้อมา เป็นต้นนั้น
@ สาวลึกข้อมูลเสียภาษีมารดา
ก็ปรากฏข้อเท็จจริงจากหลักฐานการเสียภาษีของนางแน่งน้อยตามแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2555 ถึง 2559 ตามหนังสือสํานักงานสรรพากรพื้นที่นครศรีธรรมราช ว่า ในช่วงปีดังกล่าวนางแน่งน้อยมีรายได้ที่ต้องเสียภาษีเพียง ปีละประมาณ 200,000 บาทเท่านั้น
ส่วนเงินที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่านางแน่งน้อยได้มาจากการขาย ที่ดินที่ตําบลเกาะคอเขา จังหวัดพังงา 40,000,000 บาท โดยอ้างหลักฐานตามสําเนาหนังสือสัญญา จะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย ค.9 นั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาได้ให้ถ้อยคําเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ แต่เพิ่งมีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมในภายหลัง
นอกจากหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายฉบับดังกล่าวแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่มีเอกสารหลักฐานการรับเงินส่วนแบ่งของนางแน่งน้อย 40,000,000 บาท จาก นายสมเกียรติมาแสดง อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่ได้นํานายสมเกียรติมาเบิกความต่อศาล ข้ออ้างของ ผู้ถูกกล่าวหาในประเด็นนี้จึงไม่น่าเชื่อ
ส่วนข้อที่ว่านางแน่งน้อยซื้อห้องชุด 2 ห้อง ในชื่อของนางสุดจิตร์เพราะต้องการช่วยเหลือนางสุดจิตร์ให้มีส่วนร่วมในผลประโยชน์หากขายอาคารชุดทั้ง 2 ห้องได้ และนางสุดจิตร์มีความสะดวกในการเดินทางไปทําธุรกรรมมากกว่าผู้ถูกกล่าวหาประกอบกับในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนางแน่งน้อยผ่าตัดนิ้วมือข้างขวาล็อคนั้น กลับปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่าในการทําสัญญาซื้อขายห้องชุดนางสุดจิตร์ก็ได้มอบอํานาจให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ทําสัญญาแทน ตามสําเนาหนังสือสัญญาขายห้องชุดโดยผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าเหตุที่นางสุดจิตร์ต้องมอบอํานาจให้ผู้ถูกกล่าวหาไปทําสัญญาแทนเพราะนางสุดจิตร์มีอาการปวดหลังลงขา และชาที่ปลายเท้าต้องเข้ารับการผ่าตัด
ก็เห็นว่าเมื่อผู้ถูกกล่าวหาสามารถที่จะทําสัญญาซื้อขายได้ด้วยตนเองก็ไม่มีความจําเป็นแต่อย่างใดที่นางแน่งน้อยซึ่งประสงค์ที่จะซื้อห้องชุดทั้ง 2 ห้องดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาจะต้องใช้ชื่อนางสุดจิตร์ซึ่งเป็นน้องแทนที่จะให้ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นบุตรเป็นผู้ซื้อด้วยตนเอง
พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาน่าเชื่อว่าเจตนาที่จะซื้อห้องชุด 2 ห้องดังกล่าวโดยใช้ชื่อบุคคลอื่นเพื่อมิให้มีหลักฐานแสดงว่าตนเองมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
ดังนี้เมื่อผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าห้องชุดทั้ง 2 ห้องมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ หรือไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ จึงต้องรับฟังตามพยานหลักฐานของผู้ร้องว่า การที่ผู้ถูกกล่าวหาซื้อห้องชุดทั้ง 2 ห้อง โดยชําระราคาค่าห้องด้วยตั๋วแลกเงินที่บริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด เป็นผู้จัดหามาให้และใช้ชื่อนางสุดจิตร์ เครือฟั่น ซึ่งเป็นญาติเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน
จึงเป็นการมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ห้องชุดทั้ง 2 ห้อง เป็นทรัพย์ที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือเป็นทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ
ส่วนทรัพย์สินที่เป็นหนี้เงินนั้น ผู้ถูกกล่าวหาต้องรับผิดในดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง
@ พิพากษายึดทรัพย์ห้องชุด
พิพากษาว่า ให้ห้องชุดทั้ง 2 ห้อง ที่เป็นทรัพย์สินในชื่อของนางสุดจิตร์ เครือฟั่น ราคา4,938,760 บาท พร้อมด้วยดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
หากผู้ถูกกล่าวหาไม่สามารถโอนทรัพย์สินดังกล่าวพร้อมดอกผลให้แก่แผ่นดินได้ให้ใช้เงิน 4,938,760 บาท พร้อมดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดอัตราร้อยละ 3 ต่อปี อัตราดังกล่าวให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันยื่นคําร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จแก่แผ่นดินหรือให้โอนทรัพย์สินอื่นของถูกกล่าวหาตามสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สินที่ขาดอยู่แก่แผ่นดินแทนจนครบถ้วน
หากไม่โอนให้ถือเอาคําพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และให้ผู้ถูกกล่าวหาชําระค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง 6,300 บาท
****************************************
สำนักข่าวอิศรา รายงานเพิ่มเติมว่า ในคำพิพากษาคดีนี้ ยังมีการระบุถึงข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท เอส.โอ.เอ็น. เอ็นจิเนียริ่ง จํากัด ว่า เป็นผู้รับเหมาที่ได้งานจากแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส จำนวนนับร้อยโครงการ และถูกฟ้องคดีร่วมกับนายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ด้วย จึงน่าเชื่อว่า เงินที่นำไปซื้อตั๋วแลกเงิน เพื่อซื้อห้องชุด 2 ห้อง น่าจะเป็นของ นายวีระยุทธ กรรมการผู้จัดการบริษัทฯเอง
รายละเอียดเป็นอย่างไร ขอนำเสนอในตอนต่อไป