"...แต่ไม่ว่า ผลการตัดสินคดีจะออกมาอย่างไรนั้น สิ่งที่ นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ต้องประสบพบเจอไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนคดี การถูกไล่ออกจากราชการ การถูกยึดทรัพย์ ล้วนแล้วเป็นวิบากกรรมที่ นายสถาพัฒน์ ต้องเผชิญหน้า อันเป็นผลพ่วงมาจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแทบทั้งสิ้น ..."
นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส เป็นเจ้าหน้าที่รัฐรายล่าสุด
ที่ถูกศาลมีพิพากษาสั่งยึดทรัพย์สินให้ตกเป็นของแผ่นดิน หลังถูกสอบสวนคดีทุจริตคอร์รัปชัน และถูกไล่ออกราชการไปแล้ว
ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ อดีตผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ กรณีซื้อห้องชุด 2 ห้อง ในอาคารโครงการ ชิลค์ เพลส พหลโยธิน หลักสี่ เขตบางเขน กทม. ในราคาห้องละ 2,469,380 บาท
โดยศาลฯ มีคำพิพากษาให้ ห้องชุด 2 ห้อง ซึ่งปัจจุบันเป็นทรัพย์สินในชื่อของ "นางสุดจิตร์ เครือฟั่น" ในราคารวม 4,938,760 บาท พร้อมด้วยดอกผลที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า สำหรับคดีนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส กับพวกรวม 7 ราย ร่วมกันกระทำการทุจริต โดยการจัดทำเอกสารการจัดจ้างก่อสร้าง การตรวจรับงาน กรณีอนุมัติและการเบิกจ่ายเงินในโครงการก่อสร้างประตูรั้ว และป้ายแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาสอันเป็นเท็จ
ต่อมาในระหว่างการพิจารณาในชั้นอัยการนั้น สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ไต่สวนข้อมูลเพิ่มเติมจนปรากฎข้อเท็จจริงว่า นายสถาพัฒน์ ได้นำเงินสดจำนวน 5 ล้านบาท ไปซื้อคอนโดมิเนียมหรู บริเวณเขตบางเขน กทม.
โดยให้ ‘น้าสาว’ คนหนึ่งถือกรรมสิทธิ์แทน
สำนักงาน ป.ป.ช. จึงเชื่อว่าเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยมิชอบ และปกปิด ซ่อนเร้นข้อเท็จจริง และเพื่อพิสูจน์ที่มาของเงินสด 5 ล้านบาทที่นำมาซื้อคอนโดมีเนียมหรูดังกล่าว คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติให้อธิบดีกรมที่ดิน ยึดอายัดคอนโดนมีเนียมหรูดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวในระหว่างการไต่สวนต่อไป
ขณะที่ เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2562 นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ถึงกรณีนี้ว่า ได้รับหนังสือจาก ป.ป.ช. ให้ชี้แจงกรณีนี้แล้ว โดยเงินสดที่นำไปซื้อคอนโดมีเนียมดังกล่าว เป็นเงินที่ได้มาจาก 2 ส่วนคือ เงินกู้นอกระบบที่เป็นธุรกิจของครอบครัวที่บ้าน อีกส่วนคือเงินจากธุรกิจการซื้อขายที่ดินที่บ้านเช่นเดียวกัน ไม่เกี่ยวกับเงินที่ได้มาจากคดีที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไปแล้ว
นายสถาพัฒน์ ระบุอีกว่า ที่มาที่ไปของเงินสด 5 ล้านบาทดังกล่าว เกิดจากช่วงต้นปี 2558 ตนพยายามหาซื้อที่ดินบริเวณ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยติดต่อผ่านนายหน้า นายหน้าให้วางเงินมัดจำ 1-2 ล้านบาท แต่ตนต้องทำงาน ไม่สะดวก เลยฝากเงินไว้กับรุ่นน้องคนหนึ่งที่เป็นผู้รับเหมา ให้ช่วยดำเนินการแทน จำนวนเงินไม่ถึง 5 ล้านบาท แต่เป็นเงินเพื่อไว้วางมัดจำการซื้อขายที่ดิน แต่สุดท้ายดีลไม่สำเร็จ เงินก้อนนั้นก็ค้างอยู่ ตนจึงพยายามหาซื้อที่ดินแปลงอื่น ๆ ต่อ แต่ก็ไม่สำเร็จจนกระทั่งเปลี่ยนใจ หลังจากนั้นเมื่อปลายปี 2558 จึงเรียกคืนเงินจากลูกหนี้บางส่วนเพื่อรวมกับก้อนแรกประมาณ 5 ล้านบาท จึงไหว้วานให้รุ่นน้องคนดังกล่าวไปซื้อเช็คดราฟท์ เพื่อนำเงินไปซื้อคอนโดมีเนียม โดยความเห็นของครอบครัวตรงกันว่า ควรซื้อคอนโดมีเนียมที่ติดรถไฟฟ้า ไว้ทำกำไรก่อน
ส่วนกรณี ‘น้าสาว’ นั้น นายสถาพัฒน์ ระบุว่า เป็นการบริหารจัดการภายในครอบครัว แม่ต้องการให้น้าได้ค่านายหน้า โดยให้ไปติดต่อผ่านหน่วยงานราชการ เพื่อโอน อย่างไรก็ดีขณะนั้นทั้งแม่และน้ามีปัญหาเรื่องสุขภาพ ตนเลยรับมอบอำนาจไปดำเนินการแทน
นายสถาพัฒน์ ระบุด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างหาพยานหลักฐานเพื่อนำไปชี้แจงกับ ป.ป.ช. แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า หลักฐานบัญชีรับจ่ายเกี่ยวกับเงินกู้นอกระบบนั้น ครอบครัวได้ปล่อยกู้ใน 3 จังหวัด จังหวัดแรกเรียกเงินคืนจากลูกหนี้ที่กู้ไประหว่างปี 2552-2554 บางส่วนเท่าที่เขาคืนได้ และ ป.ป.ช. สามารถเรียกลูกหนี้ที่คืนเงินมาสอบถามได้ ส่วนอีก 2 จังหวัดนั้นหาหลักฐานยากหน่อย เป็นผลพวงจากนโยบายปราบปรามการปล่อยเงินกู้นอกระบบของรัฐบาลชุดนี้ ขณะที่เงินอีกก้อนที่จะได้จากธุรกิจการซื้อขายที่ดินนั้น กำลังหาหลักฐานอยู่เช่นกัน แต่โฉนดได้เปลี่ยนมือไปหลายคนแล้ว จึงยังอยู่ระหว่างดำเนินการ
ต่อมาสำนักข่าวอิศรา ได้รับการยืนยันว่า ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายสถาพัฒน์ไปแล้ว กรมทางหลวง โดยนายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท มีคำสั่งกรมทางหลวง ที่ 1157/2560 ลงโทษไล่นายสถาพัฒน์ออกจากราชการ
คำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ด้วยนายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผอ.แขวง (ผอ.เฉพาะด้าน วิศวกรรมโยธา) ประเภทอำนวยการระดับต้น ต้นสังกัดแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส กรมทางหลวงชนบท เลขที่ตำแหน่ง 1589 ได้รับเงินเดือน 37,680 บาท ได้กระทำผิดวินัยในกรณีปฏิบัติราชการในฐานะหัวหน้าส่วนราชการซึ่งได้รับมอบอำนาจให้ข้าราชการปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมทางหลวงชนบท อนุมัติให้มีการเบิกจ่ายเงินค่าก่อสร้างโครงการปรับปรุงอาคารและสิ่งก่อสร้างประกอบ แขวงทางหลวงชนบทนราธิวาส เมื่อปี 2558 ทั้งที่รู้ว่างานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ โดยไม่ยับยั้งหรือรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้ผู้รับจ้างได้รบัค่าก่อสร้างก่อนเวลาโดยเจตนา ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด
การกระทำของนายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ จึงเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต ตามมาตรา 85 (1) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และ อ.ก.พ. กรมทางหลวงชนบท ได้มีมติให้ลงโทษไล่นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ออกจากราชการ
จากนั้นเรื่องก็เงียบหายไป จนกระทั่งล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้การยืนยันข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ มีห้องชุด 2 ห้อง ในอาคารโครงการ ชิลค์ เพลส พหลโยธิน หลักสี่ เขตบางเขน กทม. ในราคาห้องละ 2,469,380 บาท ดังกล่าวแล้ว
ส่วนผลคดีจัดทำเอกสารการจัดจ้างก่อสร้าง การตรวจรับงาน กรณีอนุมัติและการเบิกจ่ายเงินในโครงการก่อสร้างประตูรั้ว และป้ายแขวงทางหลวงชนบทนราธิวาสอันเป็นเท็จนั้น สำนักข่าวอิศรา ยังไม่ได้รับการยืนยันข้อมูลผลการตัดสินคดีของศาลฯ
แต่ไม่ว่า ผลการตัดสินคดีจะออกมาอย่างไรนั้น สิ่งที่ นายสถาพัฒน์ สุทธิศักดิ์ ต้องประสบพบเจอไม่ว่าจะเป็นการสอบสวนคดี การถูกไล่ออกจากราชการ การถูกยึดทรัพย์ ล้วนแล้วเป็นวิบากกรรมที่ นายสถาพัฒน์ ต้องเผชิญหน้า อันเป็นผลพ่วงมาจากปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันแทบทั้งสิ้น
นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาบทเรียนครั้งสำคัญ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไปอีกหนึ่งกรณี