"...ในส่วนของการเสื่อมสภาพนั้นทางบริษัทได้มีการเอาถุงดำไปคลุมชิ้นส่วนที่เป็นโกงกางเทียมแล้วเพื่อป้องกันการตากลม ตากฝน ตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่เรื่องของสถานที่เก็บนั้นก็ยอมรับว่ายิ่งช้าก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามทางบริษัทนั้นยินยอมที่จะรับผิดชอบในส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมมานี้เพราะมองว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งกัดเซาะ ..."
จากกรณีสำนักงานป้องปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประจำจังหวัดสมุทรปราการ กับชมรมSTRONG-จิตพอเพียงต้านทุจริต จังหวัดสมุทรปราการ ได้ร่วมกันลงพื้นที่ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรปราการ หลังได้รับเรื่องร้องเรียน “โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจังหวัดสมุทรปราการโดยใช้นวัตกรรมโกงกางเทียมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ” ไม่ได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไม่มีการขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มีการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าให้ผู้รับเหมาไปแล้ว แต่ไม่มีการนำโกงกางเทียมไปติดตั้งตามที่ระบุไว้ในสัญญา ตลอดจนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโกงกางเทียมด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากถูกปลดจากบัญชีนวัตกรรม
ขณะที่ สำนักข่าวอิศราสืบค้นฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ พบว่า อบจ.สมุทรปราการ ดำเนินงานโครงการ จ้างอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจังหวัดสมุทรปราการโดยใช้นวัตกรรมโกงกางเทียม จำนวน 2 สัญญา คือ
1. จ้างโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจังหวัดสมุทรปราการ โดยใช้นวัตกรรมโกงกางเทียม จำนวน 28,990 ชุด โดยวิธีเฉพาะเจาะจง บริษัท อาร์โต้ เอ็นจิเนียร์ จำกัด เป็นคู่สัญญา วงเงินว่าจ้างตามสัญญา 427,602,500 บาท ลงนามในสัญญา วันที่ 27 มี.ค. 63
และ 2.จ้างอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจังหวัดสมุทรปราการโดยใช้นวัตกรรมโกงกางเทียม (โครงการต่อเนื่อง) โดยวิธีคัดเลือก บริษัท อาร์โต้ เอ็นจิเนียร์ จำกัด เป็นคู่สัญญา วงเงินว่าจ้างตามสัญญา 618,379,000 บาท ลงนามในสัญญา วันที่ 31 มี.ค. 64 (นางสาวนันทิดา แก้วบัวสาย นายกอบจ.สมุทรปราการ ลงนาม ในประกาศผล
รวมวงเงินว่าจ้างทั้ง 2 สัญญา อยู่ที่ตัวเลข 1,045 ล้านบาท
ในฐานข้อมูลระบุ สถานะงานทั้ง 2 สัญญา ว่า ส่งงานล่าช้ากว่ากำหนด
- ป.ป.ช.สอบโครงการโกงกางเทียม 1.4 พัน อบจ.สมุทรปราการ ส่งมอบ 2 ปีไม่ติดตั้ง (1)
- 'นันทิดา' ลงนาม 1 โครงการ! ตามคุ้ยโกงกางเทียมพันล้าน อบจ.ปากน้ำ บ.เจ้าเดียวได้งาน 2 ส. (2)
- ป.ป.ช.แจงโกงกางเทียม อบจ.ปากน้ำ 1.045 พัน ล. ไม่ใช่ 1,400 ล้าน-รับยิ่งช้า มีค่าเสียโอกาส (3)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบข้อมูล บริษัท อาร์โต้ เอ็นจิเนียร์ จำกัด คู่สัญญาดำเนินงานโครงการ จ้างอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจังหวัดสมุทรปราการโดยใช้นวัตกรรมโกงกางเทียม จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 1,045 ล้านบาท ของ อบจ. สมุทรปราการ
พบว่า บริษัท อาร์โต้ เอ็นจิเนียร์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้ง 12 พ.ย. 2556 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ตั้งอยู่เลขที่ 55/1 หมู่ที่ 6 ต.สามเมือง อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา
แจ้งประกอบธุรกิจกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ผลิตเม็ดพลาสติก ทุกประเภท
ปรากฏชื่อ นายกฤชนพัต ศรีพลวารี เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ขณะที่ข้อมูลจากโลกออนไลน์ระบุข้อมูลบริษัทฯ ว่าจัดตั้งขึ้นมาเพื่อผลิตและจัดจำหน่ายวัสดุไม้เทียม ไม้อาร์โต้เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้สินค้ามีความเหมาะสมต่อการใช้งานในประเทศไทยที่มี สภาพภูมิอากาศร้อนชื้น โดยการวิจัยสูตรการผลิตมีการจดสิทธิบัตรที่คิดค้นมาเพื่อคนไทย วัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมจะถูกคัดสรรมาจากแหล่งวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพเพื่อเป็นการการันตีในคุณภาพของสินค้า
โดยมีที่อยู่ที่ติดต่อได้ของบริษัทระบุว่าอยู่ที่ 98/36 หมู่ 5 หมู่บ้านคาซ่าวิวล์ ถนนราชพฤกษ์-แจ้งวัฒนะ บางพลับ ปากเกร็ด นนทบุรี 11120 (ดูภาพเว็บไซต์ประกอบ)
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่า ได้ติดต่อไปยังเบอร์โทรศัพท์บริษัทฯ ที่ปรากฎในโลกออนไลน์ เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการฯ นี้
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่บริษัทฯ ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า ในประเด็นแรกที่ข่าวลงไปในหลายสื่อนั้นไม่ถูกต้องในเรื่องของตัวเลขจำนวนเงิน 1,400 ล้านบาท สัญญาที่บริษัทฯ ได้รับมีอยู่แค่สองสัญญา ประมาณพันกว่าล้านนิดเดียว
เมื่อถามต่อถึงเรื่องรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือว่า EIA ที่มีระบุว่าโครงการนี้ไม่ได้ทำนั้น เจ้าหน้าที่บริษัท กล่าวว่า "ต้องย้อนไปก่อนว่างานของบริษัทนั้นเป็นงานวิจัยเกี่ยวกับการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งการดำเนินโครงการนั้นจะต้องมีการศึกษาด้วยว่าจะมีผลกระทบต่อสัตว์น้ำหรือไม่ ทางบริษัทฯ เลยได้มีการยื่น EIA ไปกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ตั้งแต่ปี 2553 แล้ว โดยการยื่นดังกล่าวนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการยื่นเพื่อให้ขึ้นบัญชีนวัตกรรม ส่วนตัวก็เลยสงสัยว่าทำไมคนร้องเขาถึงเอาเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ เพราะนี่ก็ปี 2565 แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีที่ปรากฎเป็นข่าวว่า ยังติดปัญหากับทางกรมเจ้าท่าอยู่ เลยดำเนินโครงการไม่ได้นั้น เจ้าหน้าที่บริษัทกล่าวว่า ก่อนหน้าที่ อบจ.สมุทรปราการ จะมีการทำสัญญากับบริษัทในปี 2562 ทาง อบจ.ได้มีการตรวจสอบจนมั่นใจแล้วก็ตอบกลับมาว่าทางบริษัทของเราไม่ต้องมีการทำ EIA เพราะว่ามันไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงนี้มีหลักฐานตราครุฑยืนยันชัดเจน
"โครงการนี้นั้นตามที่เรียนว่ามีการเซ็นสัญญากับทางภาครัฐให้เอานวัตกรรมตัวนี้ไปติดตั้ง ทีนี้การลงพื้นที่มันก็มีกฎหมายอยู่หลายตัวเหมือนกันที่ทางบริษัทไม่ทราบ อบจ.ก็ไม่ทราบในข้อกฎหมายนี้ ทีนี้พอดำเนินโครงการไปแล้วก็มีการเบิกจ่ายงานเป็นงวด ๆ ไป จนมาอยู่ในช่วงปี 2563 โควิด-19 ก็ทำให้โครงการนั้นประสบปัญหาอยู่เหมือนกัน เพราะตอนนั้นซัพพลายเออร์ที่ทำวัตถุดิบสำหรับโกงกางเทียม โรงงานต่าง ๆ นั้นปิดตัวหมด แต่เราก็ส่งมอบงานมาเป็นงวด ๆ เช่นเดียวกับ อบจ.ที่เขาก็มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจ่ายเงินเป็นงวดให้กับบริษัทจนไปอยู่ที่ 600 กว่าล้านบาทตามที่ปรากฎเป็นข่าว"
"ทีนี้พอช่วงเวลาดำเนินงานผ่านไปเรื่อย ๆ จนมาถึงขั้นตอนการติดตั้ง จะเอาไปลงทะเลแล้ว กรมเจ้าท่าเขาก็มาบอกว่ามันจะต้องไปขออนุญาตในเรื่องสิ่งปลูกสร้างล่วงลำน้ำหรือไม่ เพราะว่ามันอาจต้องมีการสร้างโป๊ะลงไปในน้ำ ซึ่งพอทราบตรงนี้ ทาง อบจ.ก็มีการประสานดำเนินการกับกรมเจ้าท่ามาโดยตลอด จนมาถึงปัจจุบัน แต่ที่ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้เพราะว่ายังไม่เสร็จในเรื่องของประเด็นกฎหมายกับทางกรมเจ้าท่า"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรายังสอบถามถึงประเด็นเรื่องค่าเสียโอกาส เจ้าหน้าที่บริษัทฯ กล่าวว่า "ในส่วนของการเสื่อมสภาพนั้นทางบริษัทได้มีการเอาถุงดำไปคลุมชิ้นส่วนที่เป็นโกงกางเทียมแล้วเพื่อป้องกันการตากลม ตากฝน ตามที่ปรากฏเป็นข่าว แต่เรื่องของสถานที่เก็บนั้นก็ยอมรับว่ายิ่งช้าก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามทางบริษัทนั้นยินยอมที่จะรับผิดชอบในส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมมานี้เพราะมองว่าเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายฝั่งกัดเซาะ "
เจ้าหน้าที่บริษัท ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า "อยากให้ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศราช่วยไปดูบัญชีนวัตกรรมของบริษัทด้วย ก็จะเห็นชัดเลยว่านี่เป็นนวัตกรรมของบริษัทที่มีเจ้าเดียวจริง ๆ จึงเป็นเหตุผลของการจัดซื้อจัดจ้างแบบเจาะจง "
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้ทำการสืบค้นข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงบประมาณโดยใช้คำค้นหาว่าโกงกาง พบว่ามีผลการค้นหาขึ้นแค่เพียงรายเดียวระบุว่าเป็นงานวิจัยของ บริษัท อาร์โต้ เอ็นจิเนียร์ จำกัด
สำหรับหัวข้องานวิจัยของบริษัทนั้นระบุว่า "ไม้โกงกางเทียมเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและรากไม้เทียม เพื่อเร่งการตกตะกอน" ประกาศเมื่อเดือน มี.ค. 60 ปรับปรุงข้อมูล ก.ย. 2564 (ดูภาพประกอบ)
ทั้งหมดคือ คำชี้แจงอีกด้านของเจ้าหน้าที่ บริษัท อาร์โต้ เอ็นจิเนียร์ จำกัด คู่สัญญาดำเนินงานโครงการ จ้างอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลนจังหวัดสมุทรปราการโดยใช้นวัตกรรมโกงกางเทียม จำนวน 2 สัญญา วงเงิน 1,045 ล้านบาท ของ อบจ. สมุทรปราการ ที่ปรากฏเป็นข่าวดังอยู่ในขณะนี้
ส่วนรายละเอียดอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามมานำเสนอต่อไป
อ่านประกอบ: