"...กรณีที่ปรากฏข่าวว่า มีเอกชนรายเดียวได้รับงานจัดซื้อทุ่นดักขยะเป็นเรื่องจริง เอกชนรายนี้เป็นผู้ชนะในการเสนอราคาต่ำที่สุดในบรรดาผู้เข้าร่วมเสนอราคา 5 ราย เนื่องจากเอกชนรายนี้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศราคาที่เสนอมาจึงต่ำมาก ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบราชการทุกประการ ..."
ประเด็นการขยายผลตรวจสอบข้อมูลการดำเนินงานติดตั้งทุ่นดักขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเป็นโครงการภายใต้ประเด็นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสีเขียวและสังคมคุณภาพ กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบมีข้อบกพร่องการโอนครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุ่นดักขยะบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ สูญหาย บางแห่งมีชาวบ้านเข้ามาทำลาย ลักขโมย ทำให้เกิดความเสียหาย พร้อมแจ้งข้อสังเกตให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปแก้ไขปัญหานั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ที่รับผิดชอบการดำเนินงานในช่วงแรกปี 2563 ว่า ในขั้นตอนการดำเนินงานติดตั้งทุ่นดักขยะทะเลนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้มีการประกวดราคาจัดจ้างครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะหลายสัญญาวงเงินหลายสิบล้านบาทเพื่อนำมาให้ ศูนย์วิจัยฯ ดำเนินงาน
ขณะที่ผลการประกวดราคาหลายสัญญานั้น ปรากฏว่า มีบริษัทเอกชนรายเดียวเป็นผู้ได้รับงาน ซึ่งบริษัทเอกชนรายนี้มีชื่อเสียงประสบการณ์ในการผลิตสินค้าเกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มายาวนานลูกค้ามีทั้งในส่วนของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
- หาย-ถูกทำลาย-โดนขโมย! สตง.สอบจัดซื้อทุ่นดักขยะทะเลกลุ่มจว.ใต้อ่าวไทย ปัญหาเพียบ
- 'เจ้าเดียวได้งานเพียบ! คนในศูนย์วิจัยฯให้ข้อมูลจัดซื้อทุ่นดักขยะทะเลปี 63 แบ่งหลายสัญญา'
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับคำชี้แจงข้อมูลการประกวดราคาจัดจ้างครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะ จาก นางสาวราตรี สุขสุวรรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง เป็นทางการ
นางสาวราตรี กล่าวว่า กรณีที่ปรากฏข่าวว่า มีเอกชนรายเดียวได้รับงานจัดซื้อทุ่นดักขยะเป็นเรื่องจริง เอกชนรายนี้เป็นผู้ชนะในการเสนอราคาต่ำที่สุดในบรรดาผู้เข้าร่วมเสนอราคา 5 ราย เนื่องจากเอกชนรายนี้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในประเทศราคาที่เสนอมาจึงต่ำมาก ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบราชการทุกประการ
ส่วนประเด็นการแบ่งสัญญาจัดซื้อหลายฉบับที่มีจำนวนหลายสัญญา นั้น นางสาวราตรี ระบุว่า "เป็นเพราะเงินคนละส่วนกัน สัญญาของสงขลาก็ใช้งบประมาณของสงขลา สัญญาของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ก็ใช้งบประมาณของกลุ่มจังหวัดภาคใต้"
สำหรับปัญหาโอนครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามที่ สตง. ตรวจสอบพบนั้น นางสาวราตรี กล่าวว่า ดำเนินการโอนทรัพย์สินไปแล้วครึ่งหนึ่งและกำลังดำเนินการส่วนที่เหลือ แต่จะมีบางส่วนที่มีปัญหาเนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางพื้นที่มีการเปลี่ยนคณะผู้บริหารเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากการตรวจสอบฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับงานประกวดราคาจัดซื้อทุ่นดักขยะ ของ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ในช่วงปี 2563 มีจำนวน 2 สัญญา ปี 2564 จำนวน 1 สัญญา รวมวงเงินทั้งหมด 37.7 ล้านบาท (เท่าที่ตรวจสอบพบ)
บริษัท จีเอ 2007 จำกัด เป็นผู้ชนะทั้ง 3 สัญญา ระบุเหตุผลที่คัดเลือก เป็นผู้มีคุณสมบัติและข้อเสนอทางเทคนิค ถูกต้องครบถ้วนและเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด
สถานะสัญญาส่งงานครบถ้วนทุกสัญญาแล้ว
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการประกวดราคามีข้อสังเกต 2 ส่วนสำคัญ คือ
1. ในช่วงปี 2563 จำนวน 2 สัญญา มีบริษัท เอ็นควิปส์ จำกัด เป็นคู่เทียบทุกสัญญา
2. งานประกวดราคาในช่วงปี 2564 บริษัท จีเอ 2007 จำกัด เสนอราคาสูงสุด แต่ได้รับการคัดเลือก (เป็นไปได้ว่า คู่เทียบรายอื่นอาจตกคุณสมบัติ? )
(ดูรายละเอียดการประกวดราคาทั้ง 3 โครงการในตาราง)
ส่วนข้อมูลเชิงลึกอื่นๆ สำนักข่าวอิศรา จะติดตามนำมาเสนอต่อไป