ถึงคิว! เปิดผลสอบงานติดตั้ง ทุ่นดักขยะทะเล จว.ใต้อ่าวไทย สตง.พบปัญหาเพียบ โอนครุภัณฑ์ล่าช้า บางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ สูญหาย ชาวบ้านเข้าทำลาย ลักขโมยด้วย จี้ทุกฝ่ายเร่งแก้ไขปัญหาด่วน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการตรวจสอบผลสัมฤทธิ์สัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการภายใต้ประเด็นการพัฒนาสู่การเป็นเมืองสีเขียวและสังคมคุณภาพ ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่มีการเผยแพร่รายงานผลการตรวจสอบเป็นทางการต่อสาธารณชน
นอกเหนือจากปัญหาการดำเนินงานโครงการฯ สำคัญหลายส่วนที่สำนักข่าวอิศรา นำมาเปิดเผยให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วนั้น
- ล่าช้า! สตง.ชี้ปัญหาตั้งศูนย์พักพิงสุนัขฯตามพระปณิธานม.วลัยลักษณ์-เสี่ยงไร้คนบริหาร
- อีกชุด! ผลสอบสตง.ชี้ปัญหางานศูนย์อนุรักษ์ทะเลสาบพัทลุง-สงขลา เสี่ยงทำโลมาอิรวดีสูญพันธุ์
- สตง.สอบ 8 อปท.ปริศนา? จว.ใต้อ่าวไทย หละหลวมดูแลครุภัณฑ์เตือนภัยพิบัติ 'สูญหาย' เพียบ
การดำเนินงานติดตั้งทุ่นดักขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ สตง.ตรวจสอบพบปัญหาในขั้นตอนการดำเนินงาน อาทิ ข้อบกพร่องการโอนครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทุ่นดักขยะบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ สูญหาย บางแห่งมีชาวบ้านเข้ามาทำลาย ลักขโมย ทำให้เกิดความเสียหายด้วย
ผลการตรวจสอบ สตง.ระบุว่า โครงการบริหารจัดการขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ให้ปริมาณลดลงเพื่อความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ได้รับงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 จำนวน 21.21 ล้านบาท และได้รับงบประมาณต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 13.50 ล้านบาท (รวมวงเงินงบประมาณ 2 ปี กว่า 34 ล้านบาท)
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) เป็นหน่วยดำเนินโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อหามาตรการและดำเนินการลดปริมาณขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย โดยมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชน นักท่องเที่ยว และหน่วยงานราชการ ตลอดจนองค์กรที่เกี่ยวข้องในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งสร้างจิตสำนึกและเผยแพร่ความรู้ให้กับประชาชนชายฝั่ง ให้ร่วมมือกันลดปริมาณขยะทะเลบริเวณภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย
ดำเนินการติดตั้งทุ่นดักขยะในคลอง/ปากน้ำ จำนวน 10 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา
@ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง
จากการตรวจสอบ สตง. พบว่า มีข้อบกพร่องเกี่ยวกับการโอนครุภัณฑ์ทุ่นดักขยะให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นหน่วยงานรับโอน เนื่องจากขาดการประสานงาน และทำความเข้าใจกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ที่ติดตั้งทุ่นดักขยะตั้งแต่ขั้นตอนจัดทำโครงการเพื่อของบประมาณ ทำให้ไม่ทราบความพร้อมในการรับโอนครุภัณฑ์โครงการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง
นอกจากนี้ทุ่นดักขยะที่ติดตั้งในพื้นที่ของเทศบาลนครสุราษฎร์ธานีไม่มีให้ตรวจสอบคิดเป็นความยาว 15 เมตร
- ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 เป็นหน่วยดำเนินโครงการ ติดตั้งทุ่นดักขยะ จำนวน 9แห่ง ในคลอง/ปากน้ำ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา
จากการตรวจสอบ สตง. พบว่า ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไม่แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ ต้องกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีทั้งจำนวน ณ วันตรวจสอบโครงการยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เบิกจ่ายค่างานงวดที่ 2 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2565 รวมเบิกจ่ายแล้วทั้งหมด เป็นเงิน 9.42 ล้านบาท
ขณะที่ ทุ่นดักขยะบางส่วนไม่ได้ใช้ประโยชน์ทำให้การใช้จ่ายงบประมาณไม่คุ้มค่า คิดเป็นความยาว จำนวน 110 เมตร คิดเป็นมูลค่าเบื้องต้นประมาณ 0.41 ล้านบาท เนื่องจากทุ่นดักขยะมีความยาวไม่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
ทุ่นคอนกรีตสำหรับผูกยึดอยู่ใต้น้ำขนาด 30x30 เซนติเมตร บางแห่งไม่ได้ใช้ประโยชน์เนื่องจากในช่วงน้ำหลากและกระแสน้ำเชี่ยวไม่สามารถยึดทุ่นดักขยะไว้ได้ ทำให้ทุ่นดักขยะเคลื่อนไปจากทิศทางที่ติดตั้งไว้เดิมต้องเปลี่ยนมาใช้สมอเรือเพื่อยึดไว้ใต้พื้นทรายแทน
นอกจากนี้ยังพบทุ่นดักขยะมีสภาพชำรุด เนื่องจากผู้รับจ้างเก็บทุ่นดักขยะล่าช้าซึ่งเป็นช่วงกระแสน้ำเชี่ยว มีมรสุม น้ำหลาก ทำให้ทุ่นดักขยะฉีกขาด ชำรุด และบางแห่งมีชาวบ้านเข้ามาทำลาย ลักขโมยทำให้เกิดความเสียหาย
@ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4
เบื้องต้น สตง. ได้แจ้งข้อเสนอแนะการจัดทำโครงการตามแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ป้องกันข้อผิดพลาด/ความเสี่ยง ในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในโอกาสต่อไป และป้องกันมิให้เกิดการกระทำผิดวินัยการเงินการคลัง ให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ดำเนินการดังนี้
1. กำชับหน่วยงานที่เสนอของบประมาณ จัดทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานที่จะรับผิดชอบดูแลและบริหารจัดการค่าใช้จ่าย การรับโอนสินทรัพย์ที่เกิดจากการดำเนินโครงการตามหลักเกณฑ์ฯ อย่างเคร่งครัด และเมื่อโครงการแล้วเสร็จให้หน่วยดำเนินการ/สำนักงานจังหวัดเร่งดำเนินการนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก) เพื่อมีมติโอนสินทรัพย์ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยให้กับหน่วยงานที่จะรับผิดชอบบริหารจัดการโดยเร็ว
2. กำชับหน่วยงานที่เป็นหน่วยดำเนินโครงการ กรณีส่งมอบสินทรัพย์ให้แสดงรายละเอียดสินทรัพย์รายละเอียดอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ให้ชัดเจน ครบถ้วน และหน่วยงานที่รับมอบต้องตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนตามหลักฐาน รวมทั้ง ควบคุมการใช้และตรวจสอบสินทรัพย์ที่อยู่ในความรับผิดชอบเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดการสูญหาย กรณีรับโอนเป็นสินทรัพย์ของหน่วยงานแล้ว ให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 112 และตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ข้อ 203 (1) ข้อ 208 ข้อ 209 และข้อ 212 และควบคุมดูแลสินทรัพย์ที่เกิดจากโครงการทุกโครงการให้เป็นปัจจุบัน
ทั้งที่ได้รับในปีปัจจุบัน ปีงบประมาณที่ผ่านมา และที่จะดำเนินการในโอกาสต่อไป
3. เร่งรัดให้ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง (สงขลา) ดำเนินการโอนสินทรัพย์ของโครงการให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานอื่นที่มีความพร้อมเพื่อมาดูแลบำรุงรักษา และบริหารจัดการต่อไปให้แล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อให้การใช้ประโยชน์เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
4. กรณีเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีทุ่นดักขยะให้ตรวจสอบคิดเป็นความยาว 15 เมตร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีแจ้งเทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ดำเนินการตรวจสอบตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐพ.ศ. 2560 ส่วนที่ 3 ข้อ 214 หากจะต้องหาตัวผู้รับผิดชอบ ให้ดำเนินการตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
5. กำชับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 จัดหาพัสดุให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ระเบียบ มติคณะรัฐมนตรีนโยบาย และหลักเณฑ์ ที่เกี่ยวข้อง อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของประเทศมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ในกรณีของ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ไม่มีทุ่นดักขยะให้ตรวจสอบคิดเป็นความยาว 15 เมตร ให้ตรวจสอบนั้น
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา รายงานว่า ได้พยายามติดต่อไปยัง นายประเสริฐ บุญประสพ นายกเทศมนตรีนครสุราษฎร์ธานี ตามเบอร์โทรศัพท์ที่แจ้งไว้ในเว็บไซต์ เทศบาลนครสุราษฎร์ธานีแล้ว แต่ไม่มีผู้รับสาย
จึงทำให้ยังไม่ได้รับคำชี้แจงข้อเท็จจริงอีกด้านในขณะนี้