"....เมื่อนายฐานันดร นับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ได้นำเงินบรรจุลงในกระเป๋าเดินทางมีล้อ (รับเงินครั้งที่ 4) และออกจากห้องพักของโรงแรมดังกล่าวไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองเพื่อไปจังหวัดภูเก็ตโดยสารการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD7502 ในเวลา 09.30 นาฬิกา กำหนดถึงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ในเวลา 10.50 นาฬิกา เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาชาวไต้หวันที่หลบหนีคดีความฉ้อโกงเงินธนาคารในไต้หวันเข้ามาในประเทศไทยให้ได้รับการประกันตัวชั่วคราว
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 10 ต.ค.2565 นี้
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิด นายฐานันดร กิตติวงศากูล ที่ปรากฏอยู่ในรายงานผลการสอบสวนคดีนี้ ส่วนแรกที่เป็นจุดเริ่มต้นเรื่องราวทั้งหมด ในการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดี นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง ชาวไต้หวัน ผู้ต้องหาในคดีการปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างนายฐานันดรและตัวแทนผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นชาวไทยกลุ่มหนึ่ง มีการนัดพบปะพูดคุยที่โรงแรม ขั้นตอนการรับเงิน รวมถึงข้อมูลตัวละครลับผู้พิพากษารายหนึ่ง ที่นายฐานันดรอ้างว่าเป็นรุ่นน้องอยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีความสนิทสนมกับนายฐานันดร สามารถช่วยเหลือในทางคดีได้
- เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.! ป.ป.ช.ฟ้องเองคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ -ให้ยึดทรัพย์ด้วย
- ทำไม่สำเร็จ-ย้อนขอเงินเพิ่ม! เบื้องลึก คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.
- ข้อมูลใหม่คดีสินบน20 ล.! ผู้พิพากษาราย 2 ให้ประกันตัวชาวไต้หวันถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง
- เจรจาครั้งแรกขอ 60 ล.! เผยสำนวนสอบคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนไต้หวันช่วยประกันตัว
- เปิดสำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน 20 ล. (1) คุณมีงบประมาณเท่าไหร่?
ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลผลการสอบสวนส่วนที่เหลือ เกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นเรื่องขอประกันตัว นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง แต่ไม่สำเร็จ ไม่ได้รับการปล่อยตัว ก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรองจ่ายเงินส่วนที่เหลือเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงที่มีการนัดรับมอบเงิน ทางตัวแทนผู้ต้องหามีการแอบบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ รวมไปถึงการทำสัญญาว่าจ้างเรื่องนี้ด้วยว่า ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการให้มีการปล่อยตัวชาวไต้หวันได้จะมีการเงินที่รับไปคืนทั้งหมด ก่อนที่จะมีการทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหาว่า นายฐานันดร หลอกเอาเงิน 20 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแต่ไม่สามารถทำได้ ทางศาลฯจึงมีการสอบสวนคดี และส่งผลการสอบสวนให้ ป.ป.ช.จนนำมาสู่การยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีอาญาในชั้นศาลดังกล่าว
ปรากฎข้อมูลสำคัญ นับจากบรรทัดต่อไปนี้
*************
หลังการจ่ายเงินเบื้องต้นไปแล้ว 1 ล้านบาท นายฐานันดร ได้แจ้งให้นาย พ. (รู้จักกันในชื่อ โก พ. ตัวแทนผู้ต้องหาที่มาติดต่องานกับนายฐานันดร ) เดินทางไปที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อไปพบกับผู้ประสานงานกับผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการในการขอประกันตัว
ขณะที่ นายฐานันดร เองก็จะเดินทางไปที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ด้วย (อ่านเนื้อหารายละเอียดส่วนนี้ใน เปิดสำนวนสอบคดีอดีตพ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบน 20 ล. (1) คุณมีงบประมาณเท่าไหร่?)
@ บินตรงจากภูเก็ตมากรุงเทพฯ
ต่อมาในวันเดียวกันนาย พ. และนาย ธ. (เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ผู้ประสานงานให้นาย พ. และ นายฐานันดร นัดพบกัน) ได้เดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ตโดยสายการบินภายในประเทศไปยังท่าอากาศยานดอนเมืองกรุงเทพมหานคร เพื่อมาพบกับนายฐานันดร ตามที่ได้นัดหมาย
เมื่อนาย พ. พร้อมด้วย นาย ธ. เดินทางถึงบริเวณล็อบบี้ของโรงแรมอมารีแอร์พอร์ต พบว่านายฐานันดร กับผู้ชายอีกคนหนึ่งได้นั่งรออยู่ก่อนแล้ว
โดยนายฐานันดร ได้แนะนำให้รู้จักกับชายคนดังกล่าวว่าชื่อ "ทนาย ค." จะเป็นทนายความผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวและได้มีการแลกเบอร์โทรศัพท์กัน
หลังจากนั้นได้พูดคุยกันในรายละเอียดกำหนดวันขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า นาย พ. ต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง ใช้เวลาประมาณ 10 นาที
จากนั้นได้แยกย้ายกันกลับ
นาย พ. กับนาย ธ. ได้เดินทางกลับจังหวัดภูเก็ตในทันที
@ โทรหาขอให้จ่ายเพิ่มอีก 3 ล้าน -ผู้พิพากษาอีกรายจะเอา
ต่อมานายฐานันดร ได้โทรศัพท์แจ้งกับนาย พ. เพื่อขอให้จ่ายเงินเพิ่มเติมอีกจำนวน 3,000,000 บาท
นายฐานันดร แจ้งกับนาย พ. ว่าผู้พิพากษาผู้มีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต้องการเงินจำนวนดังกล่าว
นายฐานันดร ยังได้แจ้งกับ นาย พ.ด้วยว่า ตัวเองเป็นผู้พิพากษาผู้ใหญ่จะรับรองให้เอง
นาย พ. จึงตกลงจ่ายเงินดังกล่าวและนัดพบกับนายฐานันดร ในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ณ โรงแรมเอ็มบาสซีโฮเต็ล ถนนประดิพัทธ์ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร
@ นัดรับเงินครั้งที่สอง 3 ล้าน
เมื่อถึงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 นาย พ. และนาย ธ. ได้รวบรวมเงินที่ญาติของนายฉิน เสียง ยวี่ โอนเข้าบัญชีธนาคารของนาย พ. และนาย พ. ได้ไปถอนเงินและส่งมอบเงินจำนวน 3,000,000 บาท เป็นธนบัตรชนิดหนึ่งพันบาททั้งหมด จำนวน 30 ปึก ๆ ละ 100,000 บาท ให้กับนายฐานันดร ณ ห้องพักของโรงแรมเอ็มบาสซีโฮเต็ล กรุงเทพมหานคร (รับเงินครั้งที่ 2)
นายฐานันดร รับเงินแล้ว ได้นำเงินจำนวนดังกล่าว ใส่กระเป๋ามีล้อลากที่นำมาเอง และแจ้งกับนาย พ. ว่า จะรีบดำเนินการเกี่ยวกับการยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราวให้โดยเร็ว ซึ่งนาย พ. ได้เดินไปส่งนายฐานันดร ณ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส สถานีสะพานควาย กรุงเทพมหานคร
@ พลิกล็อคศาลฯ ไม่ให้ประกันตัว-ขอเพิ่มอีก 7 ล้าน
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2561 นาย พ. ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ศาลมีคำสั่งในคำร้องว่า "พิเคราะห์แล้ว คดีมีอัตราโทษสูง ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าปลอมหนังสือเดินทางซี่งมีความเสี่ยงต่อการหลบหนี ชั้นนี้ไม่สมควรอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวยกคำร้อง"
วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 นายฐานันดร ได้แจ้งกับนาย พ. ว่าผู้พิพากษาผู้มีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต้องการเงินเพิ่มอีกจำนวน 7 ล้านบาท โดยระบุว่า สามารถปล่อยตัวชั่วคราวได้แน่นอน เพราะนายฐานันดร เป็นผู้พิพากษา ขอให้นาย พ. เชื่อนายฐานันดร
นาย พ. จึงได้ปรึกษากับเจ้านาย ตามที่ได้รับแจ้งจากนายฐานันดร
โดยเจ้านายของนาย พ. ได้ตกลงจ่ายเงินอีกจำนวน 7 ล้านบาท
วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 นายพ. ได้เตรียมเงินไว้มอบให้กับนายฐานันคร เป็นธนบัตรไทย ฉบับละ 500 บาท และฉบับละ 1,000 บาท คละจำนวนกัน รวมจำนวน 7 ล้านบาท และได้โทรแจ้งมายังนายฐานันดร ให้มารับเงินที่ห้องพักหมายเลข 202 โรงแรมแอมบาสซีโฮเต็ลกรุงเทพมหานคร
เมื่อนายฐานันดร ได้เดินทางมาถึงห้องพักดังกล่าว นายฐานันดร ได้ทำการตรวจนับเงินตามที่นาย พ. จัดเตรียมไว้ ซึ่งภายในห้องพักดังกล่าวมีนาย ธ. อยู่ด้วย
โดยในระหว่างที่นายฐานันดร ตรวจรับเงินอยู่นั้น นาย พ. ได้สอบถามนายฐานันดร ว่าจะนัดประกันตัวผู้ต้องขัง ในวันใด
นายฐานันดร ได้แจ้งว่าให้เตรียมยื่นขอประกันตัว โดยจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 3 ธันวาคม 2561 และนายฐานันดร ยังแจ้งให้นาย พ. จัดเตรียมเอกสารต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อประกอบการ ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
@ รับเงินครั้งที่สาม 7 ล้าน
เมื่อนายฐานันดร ตรวจนับเงินเสร็จ ก็ได้นำเงินจำนวน 7 ล้านบาท ใส่กระเป๋าเดินทางที่เตรียมมาเอง (รับเงินครั้งที่ 3)
โดยนายฐานันดร ได้ลากกระเป๋ากลับออกไปจากโรงแรม เวลาประมาณ 20.00 น.
ต่อมาในวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ซึ่งเป็นวันนัดหมายที่ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว
นายฐานันดร ได้โทรศัพท์แจ้งนายพ. ให้กลับไปก่อน
@ ผิดแผนให้กลับไปก่อน
โดยนายฐานันดร ระบุเหตุผลกับนาย พ. ว่า ผู้พิพากษาผู้มีอำนาจสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวกลับไปแล้ว
แต่นาย พ. แจ้งยืนยันกับนายฐานันดร ว่าจะยื่นขอประกันตัว เพราะหลักฐานตอนนี้พร้อมหมดแล้ว
นาย พ. ได้ตัดสินใจยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันนี้
นายฐานันดร จึงได้ส่งข้อความ (MMS) ไปยังหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนาย พ. แจ้งให้นาย พ. ถอนคำร้อง
แต่นาย พ. ไม่ถอนคำร้องดังกล่าว
เมื่อนาย พ. ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างพิจารณาต่อศาลจังหวัดสมุทรปราการ
ศาลมีคำสั่งในคำร้องว่า "ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่อนุญาต ยกคำร้อง"
หลังจากนั้น นาย พ. ได้พยายามติดต่อกับนายฐานันดร เมื่อติดต่อได้
@ ยืนยันต้องจ่ายให้ครบ 20 ล้านก่อน
นายฐานันดร แจ้งให้นาย พ. ชำระเงินให้ครบจำนวน 20,000,000 บาท ก่อน แล้วจะไปดำเนินการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวให้ด้วยตัวของนายฐานันดร เอง
นาย พ. จึงได้ปรึกษากับเจ้านายตนเอง โดยนาย พ. ได้ยืนยันกับเจ้านายตนเองว่าตัวของนายฐานันดร เป็นผู้พิพากษาระดับสูงและได้รับรองว่าผู้ต้องหาจะได้รับการประกันตัวแน่นอน
เจ้านายของนาย พ. จึงตกลงจ่ายเงินในจำนวนดังกล่าว
ต่อมานาย พ. ได้โทรศัพท์แจ้งกลับมายังนายฐานันดร ว่ายินยอมจ่ายเงินเพิ่มให้ อีกจำนวน 9 ล้านบาท ให้นายฐานันดร แจ้งวันที่จะมาดำเนินการยื่นคำร้องประกันตัวผู้ต้องขัง และจะเตรียมเงินจำนวนดังกล่าวไปจ่ายตามวันที่นัดหมายด้วย
ซึ่งนายฐานันดร ได้นัดหมายดำเนินการให้ประมาณวันที่ 13 หรือ 14 ธันวาคม 2561
โดยนายฐานันดร ได้แจ้งกับนาย พ. ว่าเงินที่เรียกเพิ่มอีก 9 ล้านบาท ต้องจ่ายก่อนถึงวันที่นัดหมาย
ต่อมา นายฐานันดร ได้แจ้งวันจ่ายเงิน จำนวน 9 ล้านบาท ให้กับนาย พ. ทราบว่าต้องจ่ายเงินในวันที่ 11 ธันวาคม 2561 นาย พ. จึงได้นัดหมายให้นายฐานันดร มารับเงินที่โรงแรมเอ็มบาสซีโฮเต็ล เช่นเดิม
โดยในช่วงเย็นของวันดังกล่าวนาย พ. ยังรวบรวมเงินไม่ครบ 9 ล้านบาท จึงโทรศัพท์ขอเลื่อนนัดให้นายฐานันดร มารับเงินในช่วงเช้าของวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561
เมื่อนาย พ. รวบรวมเงินครบตามจำนวนดังกล่าว โดยใช้เวลาจนถึงเช้าของวันที่ 12 ธันวาคม 2561
นาย พ. จึงได้แจ้งให้นายฐานันดร มารับเงิน ในเวลาประมาณ 6.00 น. ของวันที่ 12 ธันวาคม 2561 ณ ห้องพักหมายเลข 414 ที่นาย พ. เปิดห้องพักไว้
@ นัดจ่ายครั้งที่สี่ 9 ล้าน โดนถ่ายคลิป-ทำสัญญาจ้าง
ต่อมาในวันที่ 12 ธันวาคม 2561 นายฐานันดร เดินทางไปรับเงินจากนาย พ. ณ ห้องพักหมายเลข 414 โรงแรมเอ็มบาสซีโฮเต็ล กรุงเทพมหานคร
โดยในการรับเงินในครั้งนี้ นาย พ. ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในห้องพักเลขที่ดังกล่าว ซึ่งปรากฏเป็นภาพเคลื่อนไหว ในขณะที่นายฐานันดร ตรวจนับธนบัตร มีนาย พ. นาย ธ. และชายชาวต่างชาติอีก 3 คน รวมอยู่ด้วย
ทั้งนี้ ในการรับเงินในครั้งนี้ นาย พ. ได้เขียนสัญญาจ้างขึ้นมา 1 ฉบับ ลงวันที่ 11 ธันวาคม 2561 โดยในสัญญาระบุว่า นาย จ. เป็นผู้ว่าจ้าง ได้ทำสัญญาจ้างนาย พ. เป็นผู้รับจ้างที่ 1 นาย ธ. เป็นผู้รับจ้างที่ 2 และนายฐานันดร เป็นผู้รับจ้างที่ 3 เพื่อทำการประกันตัวนายฉิน เสียง ยวี่ จากศาลจังหวัดสมุทรปราการ ในวันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม 2561 ให้เรียบร้อย ในวันทำสัญญา ผู้ว่าจ้างได้จ่ายเงินให้ผู้รับจ้าง จำนวน 9,000,000 บาท
หากไม่สามารถประกันตัวนายฉิน เสี่ยง ยวี่ ได้ ผู้รับจ้างยินดีให้ยึดที่ดินห้องชุด โรงแรมสินทวี ชั้น 8 และชั้น 9 และผู้รับจ้างที่ 3 จะคืนเงินที่รับมาแล้วทั้งหมด จำนวน 20,000,000 บาท แก่ผู้ว่าจ้าง ทันที
โดยนายฐานันดร ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาฉบับดังกล่าวไว้ด้วย
@ รู้ตัวโดนหลอก ยื่นเรื่องประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 สอบสวน
เมื่อนายฐานันดร นับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว ได้นำเงินบรรจุลงในกระเป๋าเดินทางมีล้อ (รับเงินครั้งที่ 4) และออกจากห้องพักของโรงแรมดังกล่าวไปยังท่าอากาศยานนานาชาติดอนเมืองเพื่อไปจังหวัดภูเก็ตโดยสารการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ DD7502 ในเวลา 09.30 นาฬิกา กำหนดถึงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ในเวลา 10.50 นาฬิกา เพื่อไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8
อย่างไรก็ตาม นายฉิน เสียง ยวี่ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
ต่อมาวันที่ 20 ธันวาคม 2563 นาย พ. จึงได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหานายฐานันดร ว่าหลอกเอาเงินจำนวน 20,000,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนคดีดังกล่าว แต่ไม่สามารถทำให้ได้
*****************
หลังจากนั้น สำนักข่าวอิศรารายงานไปแล้วว่าศาลมีการสั่งสอบสวนคดี ก่อนที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) มีมติไล่ออกจากราชการในเวลาต่อมา (ราชกิจจานุเบกษา 16 ธ.ค.2562 เผยแพร่ ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ข้าราชการตุลาการพ้นจากตำแหน่งและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นทางการ)
พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนคดีทางอาญาต่อ
ขณะที่ในการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. มีการชี้มูลความผิดทางอาญา และส่งสำนวนพยานเอกสารหลักฐานให้อัยการสูงสุดฟ้องร้องดำเนินคดี
แต่อัยการสูงสุด มีคำสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช.จึงฟ้องคดีนี้เอง ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว
โดย ป.ป.ช. ขอให้ศาลลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 171 , 175 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 30 วรรคสอง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 128, 129 ประกอบมาตรา 169 , 194 และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 2543 ข้อ 5 (2) และประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง พ.ศ. 2563 ข้อ 5 และข้อ 6 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 , 84 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
นอกจากนี้ ยังขอให้ศาลสั่งและบังคับจำเลยตามคำขอ คือ ขอให้ริบทรัพย์สินหรือประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ของจำเลย รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท และหรือขอให้จำเลยชำระเงิน หรือทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามมูลค่า รวมเป็นเงินจำนวน 20,000,000 บาท ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน หรือขอให้ริบทรัพย์สินอื่นของจำเลยแทนตามมูลค่าดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 83 และมาตรา 84 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง
สำหรับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ระบุว่า ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจากศาล และปัจจุบันศาลฯ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายฐานันดร จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ขณะที่พฤติการณ์การกระทำความผิดในข้อกล่าวหานี้ ก็เป็นพฤติการณ์ของ นายฐานันดรเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลในภาพรวมแต่อย่างใด
การต่อสู้คดีนี้ในชั้นศาล ของนายฐานันดร ที่จะเริ่มต้นเป็นทางการในวันที่ 10 ต.ค.65นี้ ผลจะออกมาเป็นอย่างไร ต้องคอยติดตามดูกันต่อไป
แต่ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้น นับเป็นวิบากกรรม ของ นายฐานันดร อันมีผลมาจากการประพฤติปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องสุจริตในตำแหน่งหน้าที่การงานตามความรับผิดชอบ
เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ไม่ให้ใครเดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป ได้ชัดเจนอีกกรณีหนึ่ง