"...นาย อ. ได้โทรศัพท์ติดต่อมายังนายฐานันดร กิตติวงศากูล เพื่อสอบถามว่าสามารถช่วยดำเนินการในการขอประกันตัวชาวจีนไต้หวัน ในความผิดฐานใช้หนังสือเดินทางปลอมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ได้หรือไม่? อย่างไร? แต่นายฐานันดร ได้แจ้งกับนาย อ. ว่า "เดี๋ยวดูก่อน" ต่อมานายฐานันดร ได้โทรศัพท์ติดต่อกลับไปยังนาย อ. ว่าสามารถช่วยได้ แต่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 ล้านบาท..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก กรณี นายฐานันดร กิตติวงศากูล อดีตผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในข้อหาหรือฐานความผิดกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เกี่ยวกับการเรียกรับเงินจำนวนสูงถึง 20 ล้านบาท เพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาชาวไต้หวันที่หลบหนีคดีความฉ้อโกงเงินธนาคารในไต้หวันเข้ามาในประเทศไทยให้ได้รับการประกันตัวชั่วคราว
โดยศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 10 ต.ค.2565 นี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำเสนอข้อมูลเชิงลึกในสำนวนการสอบสวนคดีนี้ไปแล้วว่า กรณีนี้เกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลกลุ่มคนหนึ่ง ติดต่อมายังนายฐานันดร ว่า ให้ดำเนินการช่วยเหลือเรื่องการประกันตัว นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิน ชิง ฉง ผู้ต้องหาในคดีการปลอมแปลงหนังสือเดินทางที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ หลังจากถูกจับกุมตัวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนตามอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งนายฐานันดร ได้ยอมรับที่จะให้ความช่วยเหลือ พร้อมแจ้งตัวเลขค่าใช้จ่ายในการดำเนินการทั้งหมดเป็นตัวเลขถึง 60 ล้านบาท ก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรองกันของทั้งสองฝ่าย ตกลงตัวเลขกันใหม่อยู่ที่ 20 ล้านบาท และมีการยินยอมให้จ่ายเงินล่วงหน้า 1 ล้านบาท และเรียกเงินเพิ่มเติมอีกในภายหลัง แต่ผู้ต้องหาก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว ก่อนที่จะมีการเจรจาต่อรองจ่ายเงินส่วนที่เหลือเพิ่มเติม ซึ่งในช่วงที่มีการนัดรับมอบเงิน ทางตัวแทนผู้ต้องหามีการแอบบันทึกภาพเหตุการณ์เอาไว้ รวมไปถึงการทำสัญญาว่าจ้างเรื่องนี้ด้วยว่า ถ้าหากไม่สามารถดำเนินการให้มีการปล่อยตัวชาวไต้หวันได้จะมีการเงินที่รับไปคืนทั้งหมด
แต่ในท้ายที่สุดผู้ต้องหาชาวไต้หวันก็ไม่ได้รับการปล่อยตัว ตัวแทนผู้ต้องหา จึงมีการทำหนังสือขอความเป็นธรรมยื่นต่อประธานศาลอุทธรณ์ภาค 8 กล่าวหาว่า นายฐานันดร หลอกเอาเงิน 20 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายในการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนแต่ไม่สามารถทำได้ ทางศาลฯจึงมีการสอบสวนคดี และส่งผลการสอบสวนให้ ป.ป.ช.จนนำมาสู่การยื่นเรื่องฟ้องร้องคดีอาญาในชั้นศาลดังกล่าว
- เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.! ป.ป.ช.ฟ้องเองคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ -ให้ยึดทรัพย์ด้วย
- ทำไม่สำเร็จ-ย้อนขอเงินเพิ่ม! เบื้องลึก คดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนชาวไต้หวัน 20 ล.
- ข้อมูลใหม่คดีสินบน20 ล.! ผู้พิพากษาราย 2 ให้ประกันตัวชาวไต้หวันถูกลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง
- เจรจาครั้งแรกขอ 60 ล.! เผยสำนวนสอบคดีอดีต พ.ศาลอุทธรณ์ เรียกสินบนไต้หวันช่วยประกันตัว
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดพฤติการณ์การกระทำความผิด นายฐานันดร กิตติวงศากูล ที่ปรากฏอยู่ในรายงานผลการสอบสวนคดีนี้ ซึ่งมีเนื้อหาค่อนข้องมาก สำนักข่าวอิศรา จึงจะขอแบ่งข้อมูลการนำเสนอออกเป็น 2 ตอน
โดยในตอนแรก จะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด ในการเจรจาต่อรองเรียกรับเงินเพื่อแลกเปลี่ยนกับการวิ่งเต้นช่วยเหลือคดีผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ระหว่างนายฐานันดร และตัวแทนผู้ต้องหาชาวไต้หวัน ซึ่งเป็นชาวไทยกลุ่มหนึ่ง มีการนัดพบปะพูดคุยที่โรงแรม ขั้นตอนการรับเงิน รวมถึงข้อมูลตัวละครลับผู้พิพากษารายหนึ่ง ที่นายฐานันดรอ้างว่าเป็นรุ่นน้องอยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีความสนิทสนมกับนายฐานันดร สามารถช่วยเหลือในทางคดีได้
ทุกรายละเอียดข้อมูลปรากฏชัดเจนนับจากบรรทัดต่อไปนี้
@ ปูมคดีจับกุมผู้ต้องหาชาวไต้หวัน
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2561 เจ้าพนักงานตำรวจสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ประจำท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จับกุม "นายฉิน เสียง ยวี่" พร้อมหนังสือเดินทางประเทศสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ระบุชื่อ "นายหลิน ชิง ฉง สัญชาติไต้หวัน โดยกล่าวหาว่าปลอมและใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ซึ่งหนังสือเดินทางปลอม นำส่งพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจฎธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ตามบันทึกการจับกุม ลงวันที่ 16 กันยายน 2561
ผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวนตามอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ นับแต่เวลาถูกจับกุม ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฝ.5138/2561 คดีหมายเลขดำที่ อ.7563/2561) ของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ระหว่าง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผู้ร้อง นายฉิน เสียง ยวี่ หรือนายหลิ่น ชิง ฉง ผู้ต้องหา
@ ประโยคแรกพูด "เดี๋ยวดูก่อน" - ขอเบื้องต้น 60 ล.
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2561 ไม่ปรากฏวันเวลาที่แน่ชัด
นาย อ. ได้โทรศัพท์ติดต่อมายังนายฐานันดร กิตติวงศากูล เพื่อสอบถามว่าสามารถช่วยดำเนินการในการขอประกันตัวชาวจีนไต้หวัน ในความผิดฐานใช้หนังสือเดินทางปลอมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดสมุทรปราการ ได้หรือไม่? อย่างไร?
แต่นายฐานันดร ได้แจ้งกับนาย อ. ว่า "เดี๋ยวดูก่อน"
ต่อมานายฐานันดร ได้โทรศัพท์ติดต่อกลับไปยังนาย อ. ว่าสามารถช่วยได้
แต่มีค่าใช้จ่ายประมาณ 60 ล้านบาท
หลังการพูดคุย นาย อ. ไม่ได้ตกลงให้นายฐานันดร ดำเนินการช่วยเหลือประกันตัวแต่อย่างใด เนื่องจากเห็นว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป
@ ติดต่อไปเอง ต้องการพบตัว
หลังจากนั้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 มีข้อมูลว่า นายฐานันดร ได้โทรศัพท์ติดต่อไปยัง นาย ธ. เจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่ง ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอให้ประสานงานและนัดหมายให้นาย พ. ให้มาพบกับนายฐานันดร หรือ "ฐา" ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่โรงแรมของนาย ธ.
ว่า ต้องการพบตัว
เพราะสามารถให้ความช่วยเหลือในทางคดีของนายฉิน เสียง ยวี่ ได้ และขอนัดพูดคุยกันที่โรงแรมของนาย ธ. และในวันเดียวกันนี้
เมื่อถึงเวลานัดพบเวลาประมาณ 19.00 น. นาย พ. ได้มาพบกับนายฐานันดร ที่โรงแรมของนาย ธ. ซึ่งนายฐานันดร ได้นั่งรออยู่ก่อนแล้ว
โดยนาย ธ. ได้จัดให้นายฐานันดร และนาย พ. ได้พูดคุยกันที่ห้องประชุมชั้นสองของโรงแรม
@ ถามตรงๆ คุณมีงบประมาณเท่าไหร่
ในขณะพูดคุยกันนั้น มีนายฐานันดร พร้อมกับนาย พ. และนาย ธ. อยู่ภายในห้องด้วยรวม 3 คน
ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ในระหว่างอยู่ภายในห้องประชุม นายฐานันดร ได้เป็นผู้ทักทายกับนาย พ. ก่อน
โดยนายฐานันดร เรียกนาย พ. ว่า "โก พ.(ชื่อย่อ)" (ซึ่งเป็นชื่อเล่นของนาย พ. ที่เรียกกันทั่วไป)
และพูดว่า "เรื่องผู้ต้องหาที่ถูกจับที่สนามบินสุวรรณภูมิ คุณมีงบประมาณที่จะจ่ายเพื่อเป็นค่าดำเนินการเท่าไหร่"
นาย พ. ได้พูดตอบกับนายฐานันดร ว่า "แล้วนายฐานันดร กิตติวงศากูล ต้องการเท่าไหร่ที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางคดี"
นายฐานันดร จึงได้แจ้งตอบกับนาย พ. ว่า ต้องใช้เงินประมาณ 50 - 60 ล้านบาท
แต่นาย พ. แจ้งตอบกับนายฐานันดร ว่าเป็นราคาที่แพงเกินไป สู้ไม่ไหว และสู้ได้ประมาณ 10 ล้านบาท
ซึ่งนายฐานันดร ไม่ตกลงด้วย และได้มีการต่อรองราคากันเป็นชั่วโมง
@ ต่อรองเหลือ 20 ล้าน -จ่ายก่อน 1 ล้าน
ในระหว่างนั้นนาย พ. ยังระบุอีกด้วยว่านายฐานันดร ได้แจ้งด้วยว่า มีผู้พิพากษารุ่นน้องที่อยู่ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ มีความสนิทสนม สามารถช่วยเหลือในทางคดีได้
สุดท้ายนาย พ. ระบุตกลงราคากันได้ที่จำนวน 20 ล้านบาท
หลังจากตกลงราคากันได้แล้วในจำนวนเงินดังกล่าว นายฐานันดร ได้แจ้งกับนายพ. ว่ามีค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่ายก่อน สามารถจ่ายได้เท่าไหร่
โดยนาย พ. ได้แจ้งตอบกับนายฐานันดร ว่าสามารถจ่ายก่อนในจำนวน 1,000,000 บาท
ส่วนที่เหลือจะจ่ายวันที่ยื่นประกันตัว และทั้งหมดจะจ่ายเมื่อผู้ต้องขังได้รับการปล่อยตัว
@ โทรถามบุคคลปริศนาให้จ่ายก่อน 1 ล้าน ตกลงหรือไม่
แต่นายฐานันดร ยังไม่ตกลงด้วยตามข้อเสนอของนาย พ.
ก่อนที่จะโทรศัพท์ไปสอบถามบุคคลหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นใคร
แต่นาย พ. ได้ยินการสนทนาของ นายฐานันดร กับปลายสายว่าทางนี้จะให้จ่ายก่อน 1 ล้านบาท ตกลงหรือไม่
ก่อนที่ นายฐานันดร จะแจ้งกับนาย พ. ว่า ทางโน้นไม่ตกลงด้วย เนื่องจากจ่ายน้อยเกินไป
นาย พ. จึงแจ้งกับนายฐานันดร ว่าไม่ตกลงก็ไม่เป็นไร
จากนั้น นาย พ. จึงได้เดินทางกลับบ้านพัก
@ ยอมรับข้อเสนอ หลังเจรจาล้มครั้งแรก
ต่อมาในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวัน นายฐานันตร ได้เดินทางไปที่โรงแรมเดิมอีกครั้ง แล้วให้นาย ธ. โทรศัพท์ติดต่อกับนาย พ. ให้มาพบตนเองอีกครั้ง
เมื่อนาย พ. มาถึงห้องประชุมชั้นสองของโรงแรม (ห้องประชุมเดิม) นายฐานันดร ได้แจ้งว่ากับนาย พ. ว่าตกลงยอมรับเงื่อนไขการจ่ายเงินที่นาย พ. เสนอมา และรับเรื่องจะไปดำเนินการในการร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนายฉิน เสียง ยวี่
โดยนายฐานันดร ได้ถามนาย พ. ว่าสามารถจ่ายเงินให้ได้เมื่อไหร่
นาย พ. แจ้งกับนายฐานันดร ว่าสามารถจ่ายให้ได้ในวันนี้ แต่ต้องไปถอนเงินจากธนาคารก่อน
จากนั้น นาย พ. ได้เดินทางไปถอนเงินจำนวน 1,000,000 บาท จากธนาคาร เวลาประมาณ 13.01 น. แล้วนำเงินสดซึ่งบรรจุอยู่ในซองสีน้ำตาล จำนวน 1,000,000 บาท กลับมาส่งมอบให้กับนายฐานันดร ซึ่งนั่งรออยู่ที่ห้องประชุมชั้นสองของโรงแรม
เมื่อนายฐานันดร ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว
นาย พ. ระบุว่าเมื่อนายฐานันดร ได้รับซองบรรจุเงินแล้วนายฐานันดร ได้นำเงินออกมาตรวจนับว่าครบจำนวน 10 ปึก หรือไม่
เมื่อนับเงินครบตามจำนวนนายฐานันดร ได้นำเงินใส่กลับลงซองสีน้ำตาลเช่นเดิม
นายฐานันดร ได้ถามนาย พ. ว่า "โก พ. ว่างเมื่อไหร่"
นายพ.ตอบกลับว่า "ว่างตลอด"
นายฐานันดร จึงได้แจ้งให้นาย พ. เดินทางไปที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อไปพบกับผู้ประสานงานกับผู้พิพากษาศาลจังหวัดสมุทรปราการในการขอประกันตัว
ขณะที่ นายฐานันดร เองก็จะเดินทางไปที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต ด้วย
*******************
สำหรับข้อมูลในตอนต่อไป จะเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการยื่นเรื่องขอประกันตัว แต่ไม่สำเร็จ นายฐานันดรกับตัวแทนผู้ต้องหามีการเจรจาต่อรองจ่ายเงินเพิ่มอีก หลายครั้ง ก่อนจะนำมาสู่การร้องเรียนและสอบสวนคดีนี้เป็นทางการ
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า การชี้มูลความผิดทางคดีอาญาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ถือเป็นที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดจากศาล และปัจจุบันศาลฯ ยังไม่ได้มีคำพิพากษาชี้ขาด นายฐานันดร จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
ขณะที่พฤติการณ์การกระทำความผิดในข้อกล่าวหานี้ ก็เป็นพฤติการณ์ของ นายฐานันดรเพียงคนเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรศาลในภาพรวมแต่อย่างใด