"...ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาแก้อุทธรณ์ของผู้ร้องโดยตั้งประเด็นอ้างเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโต้แย้งคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่า การกระทําของผู้ถูกกล่าวหาขาดเจตนากระทําความผิด และขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายก คําร้องของผู้ร้องนั้นเห็นว่าคําแก้อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้ถูกกล่าวหาต้องทําเป็นอุทธรณ์ โต้แย้งคําพิพากษาดังกล่าว จะทํามาในคําแก้อุทธรณ์หาได้ไม่ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย..."
ปัญหาความสับสนของผู้ปฎิบัติงานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อกรณีการยื่นขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดก่อนที่วันที่ 19 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ไม่ยอมไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการเพื่อนำส่งฟ้องต่อศาลภายในอายุความนั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการได้ส่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาซึ่งกระทำผิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มีผลบังคับใช้ต่อศาลฯ ทั้ง ๆ คดีที่ขาดอายุความแล้ว เพราะทาง ป.ป.ช.ไม่นับรวมระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเข้าไปในอายุความด้วย
แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึง 2 คำพิพากษา ( ที่17905/2557 และ9955/2558) วางหลักไม่ให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ย้อนหลังสรุปความว่า ขณะเกิดเหตุ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯที่ให้เพิ่มบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ มิได้มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯมีผลใช้บังคับ โดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะข้ดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลคำพิพากษาศาลฯ พบว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2565 ศาลฎีกา มีคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ในคดีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยื่นฟ้องนายศักดาพินิจ ณรงค์ชาติโสภณ หรือวชิรศักดิ์ พงษ์ชนินท์รัฐ การแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ กรณีเข้ารับตําแหน่งและกรณีพ้นจากตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย วาระที่ 1 และวาระที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 เดือน พร้อมขอให้นับโทษผู้ถูกกล่าวหาต่อจากโทษในคดีหมายเลขแดงที่ 5337/2562 ของศาลฎีกา
ซึ่งในเนื้อหาคำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ มีการระบุข้อมูลการตีความทางข้อกฎหมายในเรื่องขาดอายุความ กรณีที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับบัญญัติขึ้น และมีผลใช้บังคับภายหลังวันกระทําความผิดของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่อาจนํามาใช้บังคับย้อนหลังแก่คดีที่ มีการกระทําความผิดก่อนบทกฎหมายใช้บังคับได้ แม้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาด้วย
@ ยืนลงโทษจำคุก 2 เดือน-แต่ต้องขังระหว่างไต่สวนเป็นระยะเวลาพอแก่โทษแล้ว
คำพิพากษาชั้นวินิจฉัยอุทธรณ์ ระบุว่า คดีนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า นายศักดาพินิจ ณรงค์ชาติโสภณหรือวชิรศักดิ์ หงษ์ชนินท์รัฐ ผู้ถูกกล่าวหา จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีพ้นจากตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย วาระที่ 2 ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 32 และมาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้ถูกกล่าวหาดํารงตําแหน่งทางการเมือง หรือดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 ซึ่งเป็นวันที่ ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 34 วรรคสอง กับมีความผิดตามมาตรา 119 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ ของรัฐจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ กรณีพ้นจากตําแหน่งที่ปรึกษานายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย วาระที่ 2
องค์คณะผู้พิพากษาเสียงข้างมาก เห็นควรลงโทษจําคุก 2 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาต้องขังระหว่างไต่สวนเป็นระยะเวลาพอแก่โทษแล้ว จึงให้หมายปล่อยในคดีนี้ และยกคําขอให้นับโทษผู้ถูกกล่าวหาต่อ ข้อหาและคําขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์พิเคราะห์อุทธรณ์ คําแก้อุทธรณ์ คําร้อง เอกสารประกอบ คําร้อง และพยานหลักฐานตามทางไต่สวนแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 และพ้นจากตําแหน่งเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557
ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้ดํารงตําแหน่งเดิมเป็น วาระที่ 2 เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2557 และพ้นจากตําแหน่งด้วยการลาออกเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2558 ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้องกรณีเข้ารับตําแหน่งวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2555 กรณีพ้นจากตําแหน่งวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2557 กรณีเข้ารับตําแหน่ง วาระที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 และกรณีพ้นจากตําแหน่งวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 โดยไม่ระบุหนี้จํานองห้องชุดเลขที่ 79/248 และ 79/454 ชั้นที่ 19 และ 28 อาคารชุด “ปทุมวันรีสอร์ท” ตําบลพญาไท (ประแจจีน) อําเภอพญาไท (ดุสิต) กรุงเทพมหานคร ที่มีต่อบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จํากัด (มหาชน) ในรายการหนี้สินตามเอกสารหมาย ร.9 ร.10 ร.11 และ ร.29 ตามลําดับ
สําหรับคดีที่ผู้ร้องมีคําขอให้นับโทษต่อนั้น ศาลฎีกาได้มีคําพิพากษาลงโทษจําคุก ผู้ถูกกล่าวหา ตามสํานวนคดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) 21/2559 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
@ วินิจฉัยคดีขาดอายุความหรือไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้องประการแรกว่า คดีของผู้ร้องในความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความ อันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบกรณีเข้ารับตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดเชียงรายวาระที่ 2 ขาดอายุความทางอาญาตามคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองหรือไม่
โดยคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า ผู้ร้องยื่นคําร้องเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิดฐานจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินและเอกสารประกอบต่อผู้ร้องด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และขอศาลออกหมายจับ ผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 14 มิถุนายน 2562 ก่อนครบกําหนดอายุความในวันที่ 16 มิถุนายน 2562 จึง ถือว่า ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล ซึ่งตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 74/1 บัญญัติมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ในระหว่างถูกดําเนินคดีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ การที่ศาลออกหมายจับย่อมเป็นเหตุให้ อายุความสะดุดหยุดลงจนกว่าจะจับตัวผู้ถูกกล่าวหาและนําตัวมาส่งศาลได้
เมื่อผู้ร้องนําตัวผู้ถูกกล่าวหา มารายงานตัวต่อศาลเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 คดีจึงไม่ขาดอายุความ สิทธินําคดีอาญามาฟ้องยังไม่ระงับไป เพราะเหตุขาดอายุความดังที่ศาลวินิจฉัยไว้ การที่ศาลนับอายุความเรื่อยมาจนกระทั่งได้ตัว ผู้ถูกกล่าวหามาส่งศาล ถือเป็นการวินิจฉัยขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 มาตรา 74/1 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 25
@ วันเวลาการกระทําความผิด
องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อผู้ร้องกรณีเข้ารับ ตําแหน่งที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายวาระที่ 2 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 โดยไม่แสดงรายการหนี้จํานองห้องชุด 2 ห้อง จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันกระทําความผิด
คดีนี้ผู้ร้อง ยื่นคําร้องขอให้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ภายหลังวันที่ผู้ถูกกล่าวหากระทําความผิด โดยมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มิได้ยกเลิกการ กระทําความผิด ทั้งยังคงกําหนดโทษทางอาญาสําหรับการกระทําความผิดตามคําร้องไว้ใน มาตรา 167 ซึ่งมีระวางโทษเท่ากันกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119
ดังนี้โทษทางอาญาตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังจึงไม่แตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิด จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดบังคับแก่คดี
เมื่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 119 มิได้บัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องนําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วย อายุความมาใช้แก่ความผิดในคดีนี้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 บัญญัติว่า “ในคดีอาญา ถ้ามิได้ฟ้องและได้ตัวผู้กระทําความผิดมายังศาล ภายในกําหนดดังต่อไปนี้ นับแต่วันกระทําความผิด เป็นอันขาดอายุความ... (4) ห้าปี สําหรับความผิดต้องระวางโทษจําคุกกว่าหนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี...”
คดีนี้มีระวางโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน อายุความจึงมีกําหนดเวลาห้าปีนับแต่วันกระทําความผิด
ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องยื่นคําร้องขอให้ศาลวินิจฉัยการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2562 ก่อนครบกําหนดอายุความ แต่ในวันดังกล่าวผู้ร้องไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามายังศาล แม้ศาลออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 อันเป็นวันก่อนครบกําหนดอายุความคดีนี้ซึ่งถือว่าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดี แต่มาตรา 74/1 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่แก้ไขเมื่อปี 2554 เป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทําความผิดและเป็นบทบัญญัติอยู่ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หมวด 6 การดําเนินคดีอาญาผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการดําเนินคดีในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นถูกกล่าวหาว่าร่ำรวย ผิดปกติ กระทําความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทําความผิดต่อ ตําแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการปราบปรามการ ทุจริต โดยไม่รวมถึงการดําเนินคดีกรณียื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินซึ่งอยู่ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หมวด 3 การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน อันเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการป้องกันการทุจริต กรณีจึงไม่อาจนํา มาตรา 74/1 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้
เมื่อไม่นํามาตรา 74/1 มาใช้บังคับ อายุความในคดีนี้จึงไม่สะดุด หยุดลงตามบทบัญญัติดังกล่าว
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า เมื่อผู้ร้องยื่นคําร้องแล้วอายุความย่อมสะดุดหยุดลงตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 25 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ด้วยนั้น
เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสอง ฉบับดังกล่าวมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการนับอายุความทางอาญาแต่มีความแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ ในขณะกระทําความผิดของผู้ถูกกล่าวหา โดยมีผลให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาการบังคับโทษ จึงขยายออกไปซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหา
อีกทั้งปัญหาเรื่องอายุความแม้มิใช่การกําหนดองค์ประกอบของการกระทําอันเป็นความผิด แต่ก็เป็นบทบัญญัติเกี่ยวด้วยกําหนดเวลาให้บุคคลต้อง รับโทษหรือไม่ต้องรับโทษในทางอาญา เมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับบัญญัติขึ้น และมีผลใช้บังคับภายหลังวันกระทําความผิดของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่อาจนํามาใช้บังคับย้อนหลังแก่คดีที่มีการกระทําความผิดก่อนบทกฎหมายใช้บังคับได้
แม้ศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาเนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาไม่มาศาลตามนัดโดยไม่มีเหตุแก้ตัวอันควร แต่คดีนี้ผู้ร้องได้ตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลในวันที่ 25 มิถุนายน 2562 เกินกําหนด 5 ปีแล้ว จึงเป็นอันขาดอายุความทางอาญา ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 95 (4) สิทธินําคดีอาญามาฟ้องของผู้ร้องย่อมระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา 39 (6) ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญา ของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 8 วรรคสาม ส่วนมาตรการบังคับทางการเมืองนั้น ไม่อาจแยกออกจากการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาได้
เมื่อการกระทําตามคําร้องในข้อหานี้เป็นอัน ขาดอายุความทางอาญาไปแล้ว จึงไม่อาจนํามาตรการบังคับทางการเมืองมาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาได้
อุทธรณ์ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้องข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องประการสุดท้ายว่า การที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองพิพากษาลงโทษจําคุก 6 เดือน แต่ผู้ถูกกล่าวหาต้องขัง นระหว่างไต่สวนเป็นระยะเวลาพอแก่โทษแล้ว ให้หมายปล่อยในคดีนี้ และยกคําขอให้นับโทษ ผู้ถูกกล่าวหาต่อชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ร้อง อุทธรณ์ว่า ผู้ร้องยื่นคําร้องและแก้ไขคําร้องขอให้ศาล นับโทษต่อจากคดีอื่น ผู้ถูกกล่าวหามารายงานตัวต่อศาลเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ในวันเดียวกัน ผู้ถูกกล่าวหายื่นคําร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว และยังปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า ผู้ถูกกล่าวหายื่นคําร้อง ขอออกนอกราชอาณาจักรด้วยเหตุผลส่วนตัวและศาลอนุญาต ย่อมเห็นได้ชัดว่า ในระหว่างพิจารณา ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยต้องขังระหว่างไต่สวนแต่ประการใด อีกทั้งการที่ผู้ถูกกล่าวหาต้องโทษจําคุก คดีถึงที่สุดในคดีหมายเลขแดงที่ 5337/2562 ของศาลฎีกา
ตามหมายจําคุกเมื่อคดีถึงที่สุดที่ 14/2563 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ฉบับลงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 มิใช่ คดีเดียวกันกับคดีนี้
จึงรับฟังว่า ผู้ถูกกล่าวหาไม่เคยต้องโทษจําคุกในคดีนี้มาก่อน ย่อมมีเหตุให้ศาล สามารถนับโทษจําคุกในคดีนี้ต่อจากคดีอื่นได้
การที่ศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหาต้องขังระหว่างไต่สวน เป็นระยะเวลาพอแก่โทษแล้ว ย่อมเป็นการวินิจฉัยที่ขัดต่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสํานวน ไม่มีเหตุให้ยก คําขอให้นับโทษต่อของผู้ร้อง หากศาลไม่นับโทษจําคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจําคุกในคดีหมายเลขแดงที่ 5337/2562 ของศาลฎีกา ย่อมถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําผิดจริงแต่ไม่ต้องรับโทษทางอาญานั้น
เห็นว่า ระหว่างการพิจารณาคดีนี้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลฎีกามีคําพิพากษาให้ลงโทษ จําคุกผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลา 8 ปี ตามสํานวนคดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) 21/2559 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารง ตําแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายขังระหว่างไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาไว้ และต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองมีคําพิพากษาคดีนี้ ซึ่งพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 อันเป็นกฎหมายที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองใช้ลงโทษผู้ถูกกล่าวหามิได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับ โทษไว้โดยเฉพาะ
กรณีจึงต้องนําบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยโทษมาใช้แก่ความผิดคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 17 และโดยมาตรา 22 วรรคแรก บัญญัติว่า “โทษจําคุกให้เริ่มแต่วันมีคําพิพากษา แต่ถ้าผู้ต้องคําพิพากษาถูกคุมขังก่อนศาลพิพากษา ให้หักจํานวนวันที่ถูกคุมขัง ออกจากระยะเวลาจําคุกตามคําพิพากษา เว้นแต่คําพิพากษานั้นจะกล่าวไว้เป็นอย่างอื่น”
ดังนั้นการที่ ผู้ถูกกล่าวหามาแสดงตนต่อศาลในระหว่างการพิจารณาคดี ถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาอยู่ในอํานาจของศาล ในคดีนี้ ต่อมาเมื่อผู้ถูกกล่าวหาถูกจําคุกตามคําพิพากษาศาลฎีกาตามสํานวนคดีหมายเลขแดงที่ อท.(ผ) 21/2559 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง จึงเป็นเหตุให้คําสั่งศาลที่อนุญาต ให้ปล่อยตัวผู้ถูกกล่าวหาชั่วคราวสิ้นผลโดยปริยาย
ต่อมาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้ออกหมายขังระหว่างไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาไว้ในคดีนี้โดย ไม่ได้กําหนดให้นับแต่วันสิ้นสุดการลงโทษจําคุกในคดีดังกล่าว ดังนั้นถือได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาถูกคุมขังอยู่ ในคดีนี้ก่อนศาลพิพากษา
เมื่อศาลลงโทษจําคุกผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลา 2 เดือน จึงต้องหักจํานวนวันที่ ถูกคุมขังออกจากระยะเวลาจําคุกตามคําพิพากษา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคแรก เมื่อนับระยะเวลาตั้งแต่ออกหมายขังระหว่างไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาไว้ในคดีนี้ถึงวันที่ศาลมีคําพิพากษาคดี นี้เป็นเวลาเกินกว่า 6 เดือน จึงไม่มีวันต้องโทษจําคุกที่ศาลจะต้องมีคําสั่งให้นับโทษต่อตามคําร้องของผู้ร้องอีก
อุทธรณ์ของผู้ร้องในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
@ ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ผู้ถูกกล่าวหา
ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาแก้อุทธรณ์ของผู้ร้องโดยตั้งประเด็นอ้างเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโต้แย้งคําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่า การกระทําของผู้ถูกกล่าวหาขาดเจตนากระทําความผิด และขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายก
คําร้องของผู้ร้องนั้นเห็นว่าคําแก้อุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นการขอให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้ถูกกล่าวหาต้องทําเป็นอุทธรณ์ โต้แย้งคําพิพากษาดังกล่าว จะทํามาในคําแก้อุทธรณ์หาได้ไม่ องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัย
คําพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองชอบแล้ว องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์ เห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน.
อนึ่ง เกี่ยวกับปัญหาความสับสนของผู้ปฎิบัติงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ต่อกรณีการยื่นขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดก่อนที่วันที่ 19 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ไม่ยอมไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการเพื่อนำส่งฟ้องต่อศาลภายในอายุความนั้น
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วด้วยว่า เมื่อเกิดกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปราจีนบุรีซึ่งคดีดังกล่าวมีอายุความ 20 ปีและครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 แต่นายสุนทรหลบหนีไม่ยอมไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการเพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 สำนักงาน ป.ป.ช.และพนักงานอัยการจึงยื่นขอศาลฯให้ออกหมายจับฉบับที่ 2 โดยอ้างว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปละปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 มิให้นับระยะเวลาหลบหนีรวมเข้าไปในอายุความด้วย ปรากฏว่า ศาลฯได้ออกหมายจับให้ ทางสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงวางแนวทางให้พนักงานไต่สวนหรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ยื่นขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาที่กระทำผิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปละปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 บังคับใช้และหลบหนีอยู่จนคดีขาดอายุความซึ่งมีอยู่หลายคดี แต่ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาคอื่นบางแห่ง ไม่ยอมออกหมายจับให้โดยอ้างว่า คดีขาดอายุความแล้ว ส่วนกรณีที่ศาลคดีอาญาทุจริตฯภาค 2 ออกหมายจับให้ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่แตกต่างกัน
เมื่อศาลคดีอาญาทุจริตฯแต่ละภาคซึ่งมีถึง 9 ภาค เมื่อรวมศาลคดีอาญาทุจริตฯกลางด้วยจะมีถึง 10 แห่งใช้ดุลพินิจที่แตกต่างกัน ทาง ป.ป.ช.จึงอยากให้คดีในลักษณะดังกล่าวขึ้นถึงศาลฎีกาเพื่่อวางหลักให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เพิ่งมีผลบังคับใช้
นอกจากการใช้ดุลพินิจของศาลคดีอาญาทุจริตฯแตกต่างกันแล้ว ยังปรากฏว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสำนักกฎหมาย ของสำนักงาน ป.ป.ช.เองยังทำหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดบุรีรัมย์ในคดีลักษณะเดียวกันว่า หากเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 19 เมษายน 2554 กล่าวคือก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับ จะนำบทบัญญัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับย้อนหลังแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีในระหว่างถูกดำเนินคดีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย อันจะเป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหามิได้ เนื่องจากขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
ขณะที่หนังสือตอบข้อหารือของสำนักกฎหมายยิ่งสร้างความสับสนแก่ผู้ปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้นว่า ทางสำนักงาน ป.ป.ช.จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อผู้ถูกกล่าวหาที่หลบหนีระหว่างการดำเนินคดีจนคดีขาดอายุความแล้วซึ่งมีอยู่จำนวนมาก
กรณีการตีความข้อกฎหมายในเรื่องนี้ จึงนับเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก และไม่ควรถูกมองข้ามจากหน่วยงานที่มีส่วยเกี่ยวข้อง
โดยเด็ดขาด
อ่านข่าวในหมวดเดียวกันประกอบ