เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. สับสน ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีจนคดีขาดอายุความต้องดำเนินการอย่างไร ยกกรณี 'สุนทร วิลาวัลย์' ที่ศาลคดีอาญาทุจริตภาค 2 ยอมออกหมายจับให้ เป็นตัวอย่าง แต่ศาลฯภาคอื่นปฏิเสธ อ้างดุลพินิจแตกต่าง เจอหนังสือของสำนักกฎหมายย้ำทำไม่ได้ เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นผลร้าย เลยมึนหนัก
แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เปิดเผย สำนักข่าวอิศรา (isranews agency) ว่า ขณะนี้ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงาน ป.ป.ช.กำลังเกิดความสับสนในการยื่นขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาต่อศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบฯกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาที่กระทำผิดก่อนที่วันที่ 19 เมษายน 2554 ซึ่งเป็นวันพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ไม่ยอมไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการเพื่อนำส่งฟ้องต่อศาลภายในอายุความ
แหล่งข่าวกล่าวว่า ความสับสนดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก ก่อนหน้านี้พนักงานอัยการได้ส่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหาซึ่งกระทำผิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มีผลบังคับใช้ต่อศาลฯ ทั้งๆคดีที่ขาดอายุความแล้วเพราะทาง ป.ป.ช.ไม่นับรวมระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเข้าไปในอายุความาด้วย แต่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึง 2 คำพิพากษา( ที่17905/2557 และ9955/2558) วางหลักไม่ให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ย้อนหลังสรุปความว่า ขณะเกิดเหตุ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯที่ให้เพิ่มบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ มิได้มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้นำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัติฯมีผลใช้บังคับ โดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะข้ดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา
แหล่งข่าวกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายสุนทร วิลาวัลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ปราจีนบุรีซึ่งคดีดังกล่าวมีอายุความ 20 ปีและครบกำหนดไปเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 แต่นายสุนทรหลบหนีไม่ยอมไปรายงานตัวต่อพนักงานอัยการเพื่อนำตัวส่งฟ้องศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 2 สำนักงาน ป.ป.ช.และพนักงานอัยการจึงยื่นขอศาลฯให้ออกหมายจับฉบับที่ 2 โดยอ้างว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปละปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 มิให้นับระยะเวลาหลบหนีรวมเข้าไปในอายุความด้วย ปรากฏว่า ศาลฯได้ออกหมายจับให้ ทางสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงวางแนวทางให้พนักงานไต่สวนหรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ยื่นขอออกหมายจับผู้ถูกกล่าวหาที่กระทำผิดก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปละปราบปรามการทุจริต(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 บังคับใช้และหลบหนีอยู่จนคดีขาดอายุความซึ่งมีอยู่หลายคดี แต่ศาลคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาคอื่นบางแห่ง ไม่ยอมออกหมายจับให้โดยอ้างว่า คดีขาดอายุความแล้ว ส่วนกรณีที่ศาลคดีอาญาทุจริตฯภาค 2 ออกหมายจับให้ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่แตกต่างกัน
"เมื่อศาลคดีอาญาทุจริตฯแต่ละภาคซึ่งมีถึง 9 ภาค เมื่อรวมศาลคดีอาญาทุจริตฯกลางด้วยจะมีถึง 10 แห่งใช้ดุลพินิจที่แตกต่างกัน ทาง ป.ป.ช.จึงอยากให้คดีในลักษณะดังกล่าวขึ้นถึงศาลฎีกาเพื่่อวางหลักให้เป็นไปแนวทางเดียวกัน เนื่องจากพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปละปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 เพิ่งมีผลบังคับใช้" แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากการใช้ดุลพินิจของศาลคดีอาญาทุจริตฯแตกต่างกันแล้ว ยังปรากฏว่า เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสำนักกฎหมาย ของสำนักงาน ป.ป.ช.เองยังทำหนังสือตอบข้อหารือของสำนักงาน ป.ป.ช.จังหวัดบุรีรัมย์ในคดีลักษณะเดียวกันว่า หากเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 19 เมษายน 2554 กล่าวคือก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ. 2554 มีผลใช้บังคับ จะนำบทบัญญัติตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับย้อนหลังแก่ผู้ถูกกล่าวหา โดยมิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีในระหว่างถูกดำเนินคดีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย อันจะเป็นผลร้ายแก่ผู้ถูกกล่าวหามิได้ เนื่องจากขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคหนึ่ง
"หนังสือตอบข้อหารือของสำนักกฎหมายยิ่งสร้างความสับสนแก่ผู้ปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้นว่า ทางสำนักงาน ป.ป.ช.จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อผู้ถูกกล่าวหาที่หลบหนีระหว่างการดำเนินคดีจนคดีขาดอายุความแล้วซึ่งมีอยู่จำนวนมาก"แหล่งข่าวกกล่าว
อ่านข่าวเรื่องเดียวกันประกอบ
เช็คชื่อนักการเมืองหนีคดี! เจาะช่องโหว่กฎหมาย ป.ป.ช. ยุค คสช.
ภาพชุด ‘สุนทร’ เข้ามอบตัว หลังโดนหมายจับ11วัน วัดใจ มท.สรุปผลสอบผิดจริยธรรมหรือไม่?
เบื้องลึก! หมายจับ 'สุนทร’ ฉบับที่ 2 อัยการ แนะนำ ป.ป.ช. - เปิดช่องสู้คดีหรือไม่?
ศาลคดีทุจริตออกหมายจับใหม่'สุนทร'รุกป่าเขาใหญ่ ไม่นับอายุความขณะจำเลยหลบหนี