"...พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ เสธ.ศปค.ทบ. ที่รับคำสั่งลงนามอนุมัติซื้อเครื่องจีที 200 ครั้งที่ 11 จำนวน 30 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 27,000,000 บาท ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และไม่เคยปรากฏข้อมูลว่าถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ชี้มูลความผิดทางวินัยหรืออาญา และถูกฟ้องในคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 ด้วยแต่อย่างใด..."
ประเด็นตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก!
การอนุมัติจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT 200 ของกองทัพบก ในส่วนของ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" และ "ผู้บัญชาการทหารบก" ที่อัยการสำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นโต้แย้งสำนวนการไต่สวนคดีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า การที่ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหากับ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" และ "ผู้บัญชาการทหารบก" ที่มีส่วนเกี่ยวกับการอนุมัติจัดซื้อถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เพราะ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" และ "ผู้บัญชาการทหารบก" มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อแต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้
ในหลายตอนก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำข้อมูลเอกสารหลักฐานการอนุมัติจัดซื้อในส่วนของ "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม" จำนวน 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 4 , 9 , 10 และ 12 มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
โดยพบว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ อนุมัติมากสุดจำนวน 3 ครั้ง จำนวน 517 เครื่อง รวมวงเงิน 465,300,000 บาท ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช อนุมัติจำนวน 1 ครั้ง จำนวน 68 เครื่อง รวมวงเงิน 61,200,000 บาท (ดูข้อมูลในตารางประกอบ)
ปัจจุบัน นายสมัคร สุนทรเวช เสียชีวิตไปแล้ว
ขณะที่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และไม่เคยปรากฏข้อมูลว่าถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ชี้มูลความผิดทางวินัยหรืออาญา และถูกฟ้องในคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 ด้วยแต่อย่างใด
- อภิปรายไม่ไว้วางใจ : 'ก้าวไกล' ย้อนรอย GT-200 ถามทำไมเอาผิดไม่ถึง 3 ป.
- เปิดคำฟ้องคดีจีทีฯ ไม่ถึง 3 ป.-ยื่นศาลทหารเอาผิด 'พ.อ.-พ.ท-พ.ต.-ร.อ.' 22 คน-ไร้ พลโท? (1)
- เปิดความเห็นอัยการคดีจีทีฯ ป.ป.ช.ไม่แจ้งข้อหา รมว.กห.-ผบ.ทบ เป็นการกระทำไม่ชอบด้วย กม. (2)
- เจาะสำนวนสอบคดีจีทีฯ 'สมัคร-ประวิตร'อนุมัติซื้อครั้งที่ 4,9 ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา-ชี้มูล? (3)
- เจาะสำนวนสอบคดีจีทีฯ(2) ชัดๆ'ประวิตร'อนุมัติซื้อ 3 ครั้ง465ล.ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา-ชี้มูล? (4)
- พวกเราคือแพะ! ฟังความจากปาก 'นายทหาร' จำเลยคดีจีที 200 ตัดตอน 3 ป.มีจริงไหม? (5)
- ชัดๆ(อีกครั้ง)ลายเซ็น 'ประวิตร' อนุมัติซื้อจีทีฯ 3ครั้ง465ล.ไม่ถูกแจ้งข้อกล่าวหา-ชี้มูล? (6)
คราวนี้มาดูข้อมูลในส่วนการอนุมัติจัดซื้อของ ผู้บัญชาการทหารบก กันบ้าง?
โดยในสำนวนความเห็นและคำสั่งอัยการสำนักงานอัยการสูง ส่งฟ้องคดีนี้ ระบุว่า ผู้บัญชาการทหารบก มีส่วนเกี่ยวข้องในการลงนามอนุมัติจัดซื้อจำนวน 6 ครั้ง คือ ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11
แต่สำนักข่าวอิศรา จะขอเริ่มต้นนำเสนอข้อมูลการอนุมัติครั้งที่ 11 ซึ่งนาย จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล เคยระบุในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) เป็นผู้ได้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้เซ็นอนุมัติซื้อด้วย
ข้อเท็จจริงปรากฏตามรายละเอียดพร้อมเอกสารดังต่อไปนี้
พฤติการณ์ผู้เกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2551 พลตรี ชวลิต ศรีศิลปนันทน์ หัวหน้าฝ่ายการส่งกำลังบำรุง ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก ได้มีบันทึกข้อความ ฝกบ.ศปก.ทบ. ด่วนมาก ที่ กห 0407.20 /1298 ถึงผู้บัญชาการทหารบก โดยรายงานการขอจัดซื้อเพื่อสนับสนุน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 และขออนุมัติใช้แบบรูปรายการแทนคุณลักษณะเฉพาะประกอบในการจัดซื้อ
เสนอจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
เนื่องจากกรณีเป็นพัสดุที่โดยลักษณะการใช้งานหรือมีข้อจำกัดทางเทคนิคที่จำเป็นต้องระบุยี่ห้อเป็นการเฉพาะ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 23 (6) และผู้บัญชาการทหารบกได้มีการอนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552
วันที่ 16 มกราคม 2552 พลตรี ชวลิต ศรีศิลปนันทน์ หัวหน้าฝ้ายการส่งกำลังบำรุงศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพบก ได้ลงนามในบันทึกข้อความ ฝกบ.ศปก.ทบ. ด่วนมาก ที่ กห 0407.21/0046 ขออนุมัติแผนจัดหาเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) จำนวน 30 เครื่อง วงเงิน 27,000,000 บาท โดยให้กรมสรรพวุธทหารบกดำเนินการจัดหา โดยใช้แบบรูปรายการประกอบแทนคุณลักษณะเฉพาะเป็นหลักในการจัดหา ถึงผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (ผ่านเสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก) โดยผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก รับคำสั่ง) ได้ลงนามวันที่ 22 มกราคม 2552 อนุมัติแผนจัดหาตามที่ฝ่ายการส่งกำลังบำรุง ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกเสนอ
ต่อมา พันเอก ภาณุ บ้านทอง หัวหน้ากลุ่มกองจัดหา กรมสรรพาวุธทหารบก จึงได้มีบันทึกข้อความ กจห.สพ.ทบ. ด่วนมาก ที่ต่อ กห 0443.9/68, 23 ม.ค. 2552 ลงวันที่ 30 มกราคม 2552 ถึงเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่านกองปลัดบัญชี กรมสรรพาวุธทหารบก, กองส่งกำลังกรมสรรพาวุธทหารบก) เพื่อขออนุมัติหลักการซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ และแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษและในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2552 พันเอก วิกรานต์ จันทะมาด รองผู้อำนวยการกองส่งกำลังกรมสรรพาวุธทหารบก ทำการแทนผู้อำนวยการกองส่งกำลัง กรมสรรพาวุธทหารบก ได้มีบันทึกข้อความ กสล.สพ.ทบ. ด่วนมาก ที่ต่อ กห 0443.4/12880/52 ถึงเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่านรองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (2)) ขออนุมัติหลักการซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ จำนวน 30 เครื่อง วงเงิน 27,000,000 บาท สำหรับงบประมาณยังไม่ได้รับอนุมัติสั่งจ่าย จึงเห็นควรให้ดำเนินการไปก่อนโดยยังไม่ผูกพัน และพลโทคำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้อนุมัติตามเสนอเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อ โดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วย พันเอก บัญชา พงษ์สวัสดิ์ (เสียชีวิต) เป็นประธานกรรมการ โดยมี พันโท ปัญญา นพคุณ และพันโท สุภาพ รัตนโรจน์พันธ์ เป็นกรรมการ
วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2552 กรมสรรพาวุธทหารบก ได้มีหนังสือ ที่ต่อ กห 04439/68 เชิญชวนบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ให้เสนอราคาเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) กำหนดยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 และจะเปิดซองเสนอราคาในวันเดียวกัน ปรากฏว่าบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เสนอราคาเครื่องละ 900,000 บาท จำนวน 30 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 27,000,000 บาท
ต่อมาวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 นั้นพลโท คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามในบันทึกข้อความ สพ.ทบ. ด่วนมาก ที่ กห 0443/1025 ขออนุมัติซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ จำนวน 30 เครื่อง ราคาเครื่องละ 900,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 27,000,000 บาท จากบริษัท เอวิเอ แซทคอมจำกัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 23 (6) ถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผ่านศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก)
ซึ่งวงเงินอนุมัติซื้อในครั้งนี้อยู่ในอำนาจผู้บัญชาการทหารบก โดยผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกรับคำสั่ง) ได้ลงนามวันที่ 17 มีนาคม 2552 อนุมัติให้กรมสรรพาวุธทหารบกซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ ตามที่เสนอ ตามบันทึกข้อความ ฝกบ.ศปก.ทบ. ด่วนที่สุด ที่ กห 0407.21/242 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2552
จากนั้นพลโท คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามทำสัญญาซื้อขายเลขที่ 90/2552 ลงวันที่ 28 เมษายน 2552 กำหนดส่งมอบพัสดุภายในวันที่ 27 กรกฎาคม 2552 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ประกอบด้วย พันเอก ชาญวิทย์ ราชธนบริบาล เป็นประธานกรรมการ โดยมีพันเอก เอกพล ถาวรยุติธรรม และพันเอก ธรรมนูญ ภักดีพินิจ เป็นกรรมการ
บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้ส่งมอบพัสดุในวันที่ 29 พฤษภาคม 2552 ทันกำหนดการส่งมอบพัสดุตามสัญญา โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ดำเนินการตรวจรับพัสดุในวันที่ 4 มิถุนายน 2552 โดยวิธีการนับจำนาน, ตรวจตามแบบรูปรายการละเอียดของผู้ซื้อ และทดสอบทดลองให้งานพิจารณาแล้วเห็นควรรับพัสดุไว้ใช้ในราชการและได้มอบพัสดุดังกล่าวให้กับกองคลังยุทธโธปกรณ์กรมสรรพาวุธทหารบก คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงได้จัดทำบันทึกข้อความ รร.สพ.สพ.ทบ ที่ กห 0443.16/พ. ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2552 เรื่อง รายงานผลการตรวจรับพัสดุ เสนอไปยังเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่านกองจัดหา กรมสรรพาวุธทหารบก) จากนั้นรองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (2) ทำการแทนเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ให้แก่บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำนวน 27,000,000 บาท
************************
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบเอกสารหลักฐานประกอบการลงนามอนุมัติซื้อเครื่องจีที 200 ครั้งที่ 11 นี้ พบว่า อยู่ในช่วงที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบก ขณะที่เสนาธิการศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก (เสธ.ศปค.ทบ) ที่เป็นผู้ลงนามอนุมัติให้จัดซื้อ ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย รับคำสั่ง จาก ผบ.ศปค.ทบ. (ดูเอกสารประกอบ)
จากข้อมูลทั้งหมด จะเห็นได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ เสธ.ศปค.ทบ. มีส่วนเกี่ยวข้องกับในการลงนามอนุมัติซื้อเครื่องจีที 200 ครั้งที่ 11 จำนวน 30 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 27,000,000 บาทด้วย
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับคดีจัดซื้อเครื่อง จีที 200 นั้น สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า ปัจจุบัน มีนายทหาร จำนวน 22 ราย แยกเป็น พันเอก จำนวน 8 คน พันโท 8 คน พันตรี 2 คน และ ร้อยเอก 4 คน ในฐานะคณะกรรมการตรวจรับ ถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และส่งเรื่องอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาไปแล้ว
โดยพลโท ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ พลโท คำนวณ เธียรประมุข ถูกชี้มูลความผิดทางวินัย ไม่ถูกชี้มูลคดีอาญา
ส่วน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ เสธ.ศปค.ทบ. ที่รับคำสั่งลงนามอนุมัติซื้อเครื่องจีที 200 ครั้งที่ 11 จำนวน 30 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 27,000,000 บาท ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และไม่เคยปรากฏข้อมูลว่าถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ชี้มูลความผิดทางวินัยหรืออาญา และถูกฟ้องในคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 ด้วยแต่อย่างใด
เช่นเดียวกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ไม่เคยปรากฏข้อมูลว่าถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ชี้มูลความผิดทางวินัยหรืออาญา และถูกฟ้องในคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 ด้วย
ขณะที่ความเห็นอัยการระบุว่า ผู้บัญชาการทหารบก มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อแต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้ และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติในการจัดซื้อมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น การไม่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับ ข้อมูลการอนุมัติจัดซื้อเครื่อจีที 200 ในส่วนของ ผู้บัญชาการทหารบก ยังไม่จบยังมีข้อมูลในส่วนของการจัดซื้อครั้งที่ 2 , 3 , 6 , 7 และ 8 อีก
รายละเอียดเป็นอย่างไร จะขอนำมาเสนอในตอนต่อไป
อนึ่ง เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า จำเลยทั้ง 22 ราย ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ปัจจุบันไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ และยังไม่ปรากฏข่าวว่าศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้แล้วหรือไม่ จำเลยทุกรายรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
- เปิดครบ! 20 หน่วยงานถูก ป.ป.ช.ชี้มูลอาญา-วินัยกราวรูดคดีจัดซื้อ GT200-Alpha6
- ป.ป.ช.แจ้งข้อหากราวรูด 200 ราย! จนท.รัฐพันจัดซื้อ GT200-‘อิศรา’พบมี 10 แห่ง 767 ล.
- ย้อนข้อมูล บ.แจ๊คสันฯ ชนะคดีขายจีที200 กองบัญชาการกองทัพไทย-อัยการอุทธรณ์สู้ต่อ!
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- ข้อมูลธุรกิจล่าสุด สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบ.ขายจีที200 โดนโทษจำคุกคนเดียว 19 ปี
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
- เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
- สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
- ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
- 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์