"...รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 ครั้งที่ 12 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11 ..มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อแต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้..."
กรณี สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามขยายผลตรวจสอบข้อมูลอภิปรายไม่ไว้ใจวาง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT-200 ของ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
ในประเด็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มติชี้มูลความผิดทหารทั้ง 22 นาย ซึ่งทั้งหมดนั้นพบว่าเป็นทหารที่มียศน้อย แต่กลับชี้ความผิดไปไม่ถึงผู้มีส่วนสำคัญในการอนุมัติ ทั้งที่ GT-200 เกือบทั้งหมด ถูกอนุมัติสั่งซื้อโดย พล.อ.อนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น
โดยนายจิรัฏฐ์ ตั้งข้อสังเกตว่า "การซื้อแต่ละครั้งว่า การซื้อครั้งที่ 3, 11 และ 12 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้เซ็นอนุมัติซื้อด้วยตัวเอง การซื้อครั้งที่ 2, 3, 6, 7, 8 และ 11 ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของ ผบ.ทบ. ก็พบว่ามีผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ เสธ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติโดยรับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ โดยการสั่งซื้อครั้งที่ 11 พบว่า เสธ.ทบ. ผู้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้เซ็นอนุมัติซื้อ มีชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม มีลายเซ็นอนุมัติสั่งซื้อในครั้งที่ 9, 10 และ 12 ซึ่งมีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท เอกสารนี้เป็นเอกสารในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 12 สัญญา ซึ่ง ป.ป.ช. ถืออยู่มา 10 ปีแล้ว คำถามคือทำไมชื่อเหล่านี้หายไป”
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา นำข้อมูลในสำนวนความเห็นและคำสั่งฟ้องในคดีนี้ ของอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด เกี่ยวกับการอนุมัติจัดซื้อเครื่องจีที 200 ในส่วนของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2 ใน 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 4 , 9 ที่อยู่ในสำนวนการไต่สวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. ซึ่งอัยการระบุความเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อแต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้ และการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติในการจัดซื้อมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น การไม่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
โดยข้อมูลในการจัดซื้อเครื่องจีที 200 ครั้งที่ 4 , 9 นั้น มีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จำนวน 2 ราย คือ นายสมัคร สุนทรเวช และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยในฐานะผู้ลงนามอนุมัติให้กองทัพบกไทย (กรมสรรพาวุธทหารบก) ซื้อเครื่องจีที 200
ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดข้อมูลการจัดซื้อ 2 ครั้งที่เหลือ คือ ครั้งที่ 10 , 12 ซึ่ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้อนุมัติจัดซื้อในฐานะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้ง 2 ครั้ง
การจัดซื้อครั้งที่ 10
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2551 พลโท คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามในบันทึกข้อความ สพ.ทบ. ด่วนมาก ที่ กห 0443/6343 ขออนุมัติแผนจัดหาเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) จำนวน 129 เครื่อง วงเงิน 116,100,000 บาท โดยใช้แบบรูปรายการประกอบแทนคุณลักษณะเฉพาะเป็นหลักในการจัดหา ถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผ่านกรมส่งกำลังบำรุงทหารบก) โดยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (1) รับคำสั่ง) ได้ลงนามวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 อนุมัติแผนจัดหาตามที่เสนอ ตามบันทึกข้อความ กบ.ทบ. ด่วนมาก ที่ ต่อ กห 0404/13063 ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2551
ต่อมา พันเอก ภาณุ ป้านทอง หัวหน้ากลุ่มกองจัดหา กรมสรรพาวุธทหารบก จึงได้มีบันทึกข้อความ กจห.สพ.ทบ. ด่วนมาก ที่ต่อ กห 0443.9/1710, 5 พ.ย. 2551 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 255 1 ถึงเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่านกองปลัดบัญชี กรมสรรพาวุธทหารบก, กองส่งกำลัง กรมสรรพาวุธทหารบก) เพื่อขออนุมัติหลักการซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ และแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ และในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 พันเอก วิกรานต์ จันทะมาด รองผู้อำนวยการกองส่งกำลังกรมสรรพาวุธทหารบก ทำการแทนผู้อำนวยการกองส่งกำลัง กรมสรรพาวุธทหารบก ได้มีบันทึกข้อความ กสล.สพ.ทบ. ด่วนมาก ที่ต่อ กห 0443.4/9967, 19 พฤศจิกายน 2551 ถึงเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่าน รองเจ้ากรมสรรพวุธทหารบก (2) ขออนุมัติหลักการซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด,อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ จำนวน 129 เครื่อง วงเงิน 116,100,000 บาท สำหรับงบประมาณยังไม่ได้รับอนุมัติสั่งจ่าย จึงเห็นควรให้ดำเนินการไปก่อนโดยยังไม่ผูกพัน และพลโท คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้อนุมัติตามเสนอ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วย พันเอก บัญชา พงษ์สวัสดิ์ เป็นประธานกรรมการ โดยมี พันเอก โกสิทธิ์ จันทมาลา และพันโท ปัญญา นพคุณ เป็นกรรมการ
ประมาณเดือนพฤศจิกายน 2551 กรมสรรพาวุธทหารบก ได้เชิญชวนผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายโดยตรงจากผู้ผลิตที่ใด้รับการแต่งตั้งให้จำหน่ายผลิตภัณฑ์นั้น ให้เสนอราคาเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) กำหนดยื่นซองเสนอราคา ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2551 และจะเปิดซองเสนอราคาในวันเดียวกัน ปรากฏว่าบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เสนอราคาเครื่องละ 900,000 บาท จำนวน 129 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 116,100,000 บาท
ต่อมาวันที่ 23 ธันวาคม 2551 พลโท คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามในบันทึกข้อความ สพ.ทบ. ด่วนมาก ที่ กห 0443/8390 ขออนุมัติซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด,อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ จำนวน 129 เครื่อง ราคาเครื่องละ 900,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 116,100,000 บาท จากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 23 (6) ถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผ่านกรมส่งกำลังบำรุงทหารบก) ซึ่งวงเงินอนุมัติซื้อในครั้งนี้อยู่ในอำนาจรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอนุมัติ โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามวันที่ 3 มีนาคม 2552 อนุมัติให้กองทัพบกไทย (กรมสรรพาวุธทหารบก) ซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ จำนวน 129 เครื่อง ราคาเครื่องละ 900,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 116,100,000 บาท จากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 23 (6) ตามบันทึกข้อความสงป.กห ด่วนมาก ที่ (ฉบับ สงป.กห.เลขรับ 844/52) ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552
จากนั้นพลโทคำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามทำสัญญาซื้อขายเลขที่ 82/2552 ลงวันที่ 8 เมษายน 2552 กำหนดส่งมอบพัสดุภายในวันที่ 7 กรกฎาคม 2552 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ประกอบด้วย พันเอก ชาติชาย สุคนธสิงห์ เป็นประธานกรรมการ โดยมี พันโท ธรรมนูญ ภักดีพินิจ และพันโท พงศ์พัฒน์ ขันธเขตต์ เป็นกรรมการ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้ส่งมอบพัสดุในวันที่ 25 พฤษภาคม 2552 ทันกำหนดการส่งมอบพัสดุตามสัญญา โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ดำเนินการตรวจรับพัสดุในวันที่ 28 พฤษภาคม 2552 โดยวิธีการนับจำนวน, ตรวจตามแบบรูปรายการละเอียดของผู้ซื้อ และทดสอบทดลองใช้งานพิจารณาแล้ว เห็นควรรับพัสดุไว้ใช้ในราชการและได้มอบพัสดุดังกล่าวให้กับกองคลังยุทธโธปกรณ์ กรมสรรพาวุธทหารบก คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงได้จัดทำบันทึกข้อความ รร.สพ.สพ.ทบ ที่ กห 0443.16/พ. ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2552 เรื่อง รายงานผลการตรวจรับพัสดุ เสนอไปยังเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่านกองจัดหา กรมสรรพาวุธทหารบก)
จากนั้นรองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (2) ทำการแทนเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำนวน 116,100,000 บาท
การจัดซื้อครั้งที่ 12
วันที่ 10 สิงหาคม 2552 พลตรี ชวลิต ศรีศิลปนันทน์ เจ้ากรมส่งกำลังบำรุงทหารบก ได้ลงนามในบันทึกข้อความ กบ.ทบ ด่วนมาก ที่ต่อ กห 0404/10617 ขออนุมัติแผนจัดหาเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) จำนวน 166 เครื่อง วงเงิน 149,400,000 บาท โดยให้กรมสรรพาวุธทหารบกดำนินการจัดหา โดยใช้แบบรูปรายการประกอบแทนคุณลักษณะเฉพาะเป็นหลักในการจัดหา ถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผ่านผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (1)) โดยผู้บัญชาการทหารบก (ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (1) รับคำสั่ง) ได้ลงนามวันที่ 11 สิงหาคม 2552 อนุมัติแผนจัดหาตามที่กรมส่งกำลังบำรุงทหารบกเสนอ
ต่อมา พันเอก ภาณุ ป้านทอง หัวหน้ากลุ่มกองจัดหา กรมสรรพาวุธทหารบก จึงได้มีบันทึกข้อความ กจห.สพ.ทบ. ด่วนที่สุด ที่ต่อ กห 0443.9/815, 10 ส.ค. 2552 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ถึงเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่านกองปลัดบัญชี กรมสรรพาวุธทหารบก, กองส่งกำลังกรมสรรพาวุธทหารบก) เพื่อขออนุมัติหลักการซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษและแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ
ต่อมาไม่ปรากฏวันที่ - สิงหาคม 2552 พันเอก วิกรานต์ จันทะมาด รองผู้อำนวยการกองส่งกำลัง กรมสรรพาวุธทหารบก ทำการแทนผู้อำนวยการกองส่งกำลัง กรมสรพาวุธทหารบก ได้มีบันทึกข้อความ กสล.สพ.ทบ.ด่วนที่สุด ที่ต่อ กห 0443.4/7041/52 ถึงเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่าน รองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (2)) ขออนุมัติหลักการซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES โดยวิธีพิเศษ จำนวน 166 เครื่อง วงเงิน 149,400,000 บาท สำหรับงบประมาณยังไม่ได้รับอนุมัติสั่งจ่าย จึงเห็นควรให้ดำเนินการไปก่อนโดยยังไม่ผูกพัน และพลโท คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้อนุมัติตามเสนอเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดซื้อโดยวิธีพิเศษ ประกอบด้วย พันเอก เกรียงศักดิ์ โคตระภู เป็นประธานกรรมการ โดยมี พันเอก ธรรมนูญ ภักดีพินิจ และพันตรี กฤษณ์ แสงม่วงพันธ์ เป็นกรรมการ
วันที่ 14 สิงหาคม 2552 กองจัดหา กรมสรรพาวุธทหารบก ได้มีหนังสือ ที่ต่อ กห 0443/815 เชิญชวนบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ให้เสนอราคาเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) กำหนดยื่นซองเสนอราคาในวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และจะเปิดซองเสนอราคาในวันเดียวกัน ปรากฏว่าบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เสนอราคาเครื่องละ 900,000 บาท จำนวน 166 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 149,400,000 บาท
ต่อมาวันที่ 18 สิงหาคม 2552 พลโท คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบกได้ลงนาม ในบันทึกข้อความ สพ.ทบ. ด่วนที่สุด ที่ กห 0443/5157/ ขออนุมัติซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ จำนวนราคาเครื่องละ 900,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 149,400,000 บาท จากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 23 (6) ถึงผู้บัญชาการทหารบก (ผ่านกรมส่งกำลังบำรุงทหารบก) ซึ่งวงเงินอนุมัติซื้อในครั้งนี้อยู่ในอำนาจรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอนุมัติ โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ได้ลงนามวันที่ 23 กันยายน 2552 อนุมัติให้กองทัพบกไทย (กรมสรรพาวุธทหารบก) ซื้อเครื่องตรวจจับสารเสพติด, อาวุธและวัตถุระเบิด (GT 200 DETECTION SUBSTANCES) โดยวิธีพิเศษ จำนวน 166 เครื่อง ราคาเครื่องละ 900,000 บาท รวมเป็นงินทั้งสิ้น 149,400,000 บาท จากบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 23 (6) ตามบันทึกข้อความสงป.กห ด่วนมาก ที่ (ฉบับ สงป.กห.เลขรับ 6346/52) ลงวันที่ 18 กันยายน 2552
@ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
จากนั้นพลโท คำนวณ เธียรประมุข เจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามทำสัญญาซื้อขายเลขที่ 163/2552 ลงวันที่ 30 กันยายน 2552 กำหนดส่งมอบพัสดุภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2552 และได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ ประกอบด้วย พันเอก บัญชา พงษ์สวัสดิ์ (เสียชีวิต) เป็นประธานกรรมการ โดยมี พันโทประชา พรหมอารักษ์ และพันโท เกรียงไกร ลาดปาละ เป็นกรรมการ บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด ได้ส่งมอบพัสดุในวันที่ 13 ตุลาคม 2552 ทันกำหนดการส่งมอบพัสดุตามสัญญา โดยคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้ดำเนินการตรวจรับพัสดุในวันที่ 14 ตุลาคม 2552 โดยวิธีการนับจำนวน, ตรวจตามแบบรูปรายการละเอียดของผู้ซื้อ และทดสอบทดลองใช้งาน พิจารณาแล้วเห็นควรรับพัสดุไว้ใช้ในราชการและได้มอบพัสดุดังกล่าวให้กับกองคลังยุทธโธปกรณ์ กรมสรรพาวุธทหารบก คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงได้จัดทำบันทึกข้อความ กวก.สพ.ทบ ที่ กห 0443.8/พ. ลงวันที่ 14 ตุลาคม 2552 เรื่อง รายงานผลการตรวจรับพัสดุ เสนอไปยังเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (ผ่านกองจัดหา กรมสรพาวุธทหารบก)
จากนั้นรองเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก (1) ทำการแทนเจ้ากรมสรรพาวุธทหารบก ได้ลงนามอนุมัติเบิกจ่ายเงินให้แก่บริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด จำนวน 149,400,000 บาท
**********************************
ทั้งนี้ จากข้อมูลสำนวนการไต่สวนคดีนี้ ของ ป.ป.ช. ในส่วนการอนุมัติจัดซื้อเครื่องจีที 200 ของ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทั้ง 4 ครั้ง คือ ครั้งที่ 4 , 9 , 10 และ 12 ตามที่เสนอไปทั้งหมด
จะพบว่า พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ อนุมัติมากสุดจำนวน 3 ครั้ง จำนวน 517 เครื่อง รวมวงเงิน 465,300,000 บาท ส่วนนายสมัคร สุนทรเวช อนุมัติจำนวน 1 ครั้ง จำนวน 68 เครื่อง รวมวงเงิน 61,200,000 บาท (ดูข้อมูลในตารางประกอบ)
ขณะที่สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า นายสมัคร สุนทรเวช ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และไม่เคยปรากฏข้อมูลว่าถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ชี้มูลความผิดทางวินัยหรืออาญา และถูกฟ้องในคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 ด้วยแต่อย่างใด
ส่วนอัยการระบุความเห็นไว้ว่า "รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 ครั้งที่ 12 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11 ..มีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ ก่อนที่จะอนุมัติให้มีการสั่งซื้อแต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น จึงปฏิเสธว่าไม่รู้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้เพื่อให้พ้นความรับผิดไม่ได้"
"คดีนี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 4 ครั้งที่ 9 ครั้งที่ 10 ครั้งที่ 12 ผู้บัญชาการทหารบก ผู้มีอำนาจอนุมัติจัดซื้อในการจัดซื้อครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 11 อัยการสูงสุดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาการกระทำความผิดของบุคคลดังกล่าวได้"
"อนึ่งการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่แจ้งข้อกล่าวหา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะผู้มีอำนาจอนุมัติในการจัดซื้อมีหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีความชัดเจนว่าอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถตรวจสารวัตถุระเบิดและสารเสพติดได้หรือไม่ แต่ไม่ได้ดำเนินการนั้น การไม่แจ้งข้อกล่าวหาเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
ซึ่งเกี่ยวกับในประเด็นนี้ ปัจจุบันยังไม่มีคำชี้แจงจากหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องเป็นทางการแต่อย่างใด
อนึ่ง เกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีนี้ สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า จำเลยทั้ง 22 ราย ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา ปัจจุบันไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ และยังไม่ปรากฏข่าวว่าศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้แล้วหรือไม่ จำเลยทุกรายรวมถึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด จึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อ่านประกอบ :
- เปิดครบ! 20 หน่วยงานถูก ป.ป.ช.ชี้มูลอาญา-วินัยกราวรูดคดีจัดซื้อ GT200-Alpha6
- ป.ป.ช.แจ้งข้อหากราวรูด 200 ราย! จนท.รัฐพันจัดซื้อ GT200-‘อิศรา’พบมี 10 แห่ง 767 ล.
- ย้อนข้อมูล บ.แจ๊คสันฯ ชนะคดีขายจีที200 กองบัญชาการกองทัพไทย-อัยการอุทธรณ์สู้ต่อ!
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- ข้อมูลธุรกิจล่าสุด สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบ.ขายจีที200 โดนโทษจำคุกคนเดียว 19 ปี
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
- เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
- สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
- ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
- 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์