"...ข้อกล่าวหาหลักในคดีนี้ คือ ไม่ได้มีการทดลองหรือตรวจสอบในทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์ หรือเชิญผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับพัสดุนั้นมาให้คำปรึกษา หรือส่งพัสดุนั้นไปทดลองหรือตรวจสอบ ณ สถานที่ของผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒินั้น ๆ ว่า เครื่องจีที 200 ดังกล่าว มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในสัญญา เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจรับพัสดุแต่อย่างใด เป็นเหตุให้เครื่องจีที 200 ดังกล่าว ไม่สามารถใช้งานได้จริง ..."
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในกรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด GT-200 เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2565 ที่ผ่านมา
นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล อภิปรายข้อมูลสำคัญส่วนหนึ่ง ว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องทหารจำนวน 22 คน ในข้อหาว่ากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่กองทัพบกสั่งซื้อ GT-200 เป็นจำนวน 12 สัญญา ทั้งหมด 757 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,600,000 บาท
โดย ป.ป.ช. ที่มีมติชี้มูลความผิดทหารทั้ง 22 นาย ซึ่งทั้งหมดนั้นพบว่าเป็นทหารที่มียศน้อย แต่กลับชี้ความผิดไปไม่ถึงผู้มีส่วนสำคัญในการอนุมัติ ทั้งที่ GT-200 เกือบทั้งหมด ถูกอนุมัติสั่งซื้อโดย พล.อ.อนุพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ขณะนั้น ร่วมกับ พล.อ.ประวิตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น
"การซื้อแต่ละครั้งว่า การซื้อครั้งที่ 3, 11 และ 12 พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ในฐานะ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นผู้เซ็นอนุมัติซื้อด้วยตัวเอง การซื้อครั้งที่ 2, 3, 6, 7, 8 และ 11 ซึ่งเป็นวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท อยู่ในอำนาจอนุมัติของ ผบ.ทบ. ก็พบว่ามีผู้ช่วย ผบ.ทบ. หรือ เสธ.ทบ. เป็นผู้เซ็นอนุมัติโดยรับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. พล.อ.อนุพงษ์ โดยการสั่งซื้อครั้งที่ 11 พบว่า เสธ.ทบ. ผู้รับคำสั่งจาก ผบ.ทบ. ให้เซ็นอนุมัติซื้อ มีชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน พล.อ.ประวิตร ในฐานะรัฐมนตรีกลาโหม มีลายเซ็นอนุมัติสั่งซื้อในครั้งที่ 9, 10 และ 12 ซึ่งมีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท เอกสารนี้เป็นเอกสารในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้ง 12 สัญญา ซึ่ง ป.ป.ช. ถืออยู่มา 10 ปีแล้ว คำถามคือทำไมชื่อเหล่านี้หายไป" นายจิรัฏฐ์ ระบุ
ขณะที่ นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ในส่วนการฟ้องร้องคดีนั้น กระทรวงกลาโหม ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยดำเนินคดีกับเอกชนที่เป็นคู่สัญญา รวม 13 คดี ปัจจุบันคดีถึงที่สุดแล้ว จำนวน 5 คดี มีคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล จำนวน 6 คดี คดีที่อยู่ในชั้นพิจารณาของอัยการ อีก 2 คดี
นอกจากนี้ มีการเรียกฟ้องค่าเสียหายแล้วประมาณ 747 ล้านบาท ซึ่งผู้ถูกฟ้องบางส่วนได้ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแล้วจำนวน 17 ล้านบาท เรื่องนี้ฝ่ายกฎหมายได้ติดตามคดีที่ค้างอยู่อย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะในเรื่องของการบังคับคดี เพื่อรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขยายผลตรวจสอบข้อมูลอภิปรายไม่ไว้ใจวางส่วนนี้ โดยได้รับการยืนยันข้อมูลเป็นเอกสารคำฟ้องคดีจาก นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.จังหวัดฉะเชิงเทรา เขต 4 พรรคก้าวไกล เป็นทางการ
ในเอกสารคำฟ้องคดี ระบุว่า เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา อัยการศาลทหารกรุงเทพ ยื่นฟ้องทหารจำนวน 22 ราย ในข้อหาว่ากระทำผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จากกรณีที่กองทัพบกสั่งซื้อ GT-200 เป็นจำนวน 12 สัญญา ทั้งหมด 757 เครื่อง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 682,600,000 บาท
โดยคดีนี้ อัยการสูงสุด โดยอัยการศาลทหารกรุงเทพ เป็นผู้ฟ้องคดีแทน กระทรวงกลาโหม
สำหรับข้อกล่าวหาหลักในคดีนี้ คือ ไม่ได้มีการทดลองหรือตรวจสอบในทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์ หรือเชิญผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิ เกี่ยวกับพัสดุนั้นมาให้คำปรึกษา หรือส่งพัสดุนั้นไปทดลองหรือตรวจสอบ ณ สถานที่ของผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒินั้น ๆ ว่า เครื่องจีที 200 ดังกล่าว มีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่ระบุไว้ในสัญญา เพื่อประกอบการพิจารณาตรวจรับพัสดุแต่อย่างใด เป็นเหตุให้เครื่องจีที 200 ดังกล่าว ไม่สามารถใช้งานได้จริง
ส่วนเกี่ยวกับ จำเลยทั้ง 22 ราย นั้น ในคำฟ้องระบุว่า ขณะกระทำผิด เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ
จำเลยที่ 1 , ที่ 3 , ที่ 4 , ที่ 7 , ที่ 12 และ ที่ 15 สังกัดกรมสรรพาวุธทหารบก กองทัพบก
จำเลยที่ 2 สังกัด หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ กองทัพบก
จำเลยที่ 5 สังกัด กองบัญชาการช่วยรบที่ 4 กองทัพบก
จำเลยที่ 6 และที่ 9 สังกัด กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองทัพบก
จำเลยที่ 8 สังกัดศูนย์การทหารราบ กองทัพบก
จำเลยที่ 10 และที่ 14 สังกัด กองพลทหารราบที่ 15 กองทัพบก
จำเลยที่ 13 ที่ 16 และที่ 18 สังกัด กองบัญชาการช่วยรบที่ 1 กองทัพบก
จำเลยที่ 17 สังกัด กองทัพภาคที่ 3 กองทัพบก
จำเลยที่ 19 สังกัดกองทัพกาคที่ 1 กองทัพบก
จำเลยที่ 20 และ ที่ 22 สังกัด กรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก
จำเลยที่ 21 สังกัดกองทัพกาคที่ 4 กองทัพบก
ทั้งนี้ ในจำนวนจำเลยทั้ง 22 ราย แยกเป็น พันเอก จำนวน 8 คน พันโท 8 คน พันตรี 2 คน และ ร้อยเอก 4 คน
ในคำฟ้องยังระบุด้วยว่า จำเลยทั้ง 22 ราย ได้รับคำสั่ง แต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการตราจรับพัสดุ เครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธและวัตถุระเบิด (จีที 200) มีอำนาจหน้าที่ตรวจรับพัสดุให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักฐานที่ตกลงกันไว้ สำหรับกรณีที่มีการทดลองหรือตรวจสอบในทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์ จะเชิญผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒิเกี่ยวกับพัสดุนั้นมาให้คำปรึกษาหรือส่งพัสดุนั้นไปทดลองหรือตรวจสอบ ณ สถานที่ของผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒินั้น ๆ ก็ได้ ในกรณีจำเป็นที่ไม่สามารถตรวจนับเป็นจำนวนหน่วยทั้งหมดได้ ให้ตรวจรับตามหลักวิชาการสถิติ เมื่อตรวจถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้รับพัสดุไว้และถือว่าผู้ขายหรือผู้รับจ้างได้ส่งมอบพัสดุถูกต้องครบถ้วนตั้งแต่วันที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างนำพัสดุนั้นมาส่ง แล้วมอบแก่เจ้าหน้าที่พัสดุ พร้อมกับทำใบตรวจรับโดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อย 2 ฉบับ มอบแก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง 1 ฉบับ และเจ้าหน้าที่พัสดุ 1 ฉบับเพื่อดำเนินการเบิกจ่ายเงินตามระเบียบว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินจากคลังและรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 71
คำฟ้องยังระบุด้วยว่า คดีนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งสำนวนการสอบสวนไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขอให้ดำเนินการตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 84 กรณีการทุจริตการจัดซื้อจัดเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยของส่วนราชการหลายหน่วยงาน ซึ่งผลการสอบสวนข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีพฤติการณ์ที่มีมูลความผิดทางอาญา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้แต้งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนทำการไต่สวนคดีนี้ และได้แจ้งข้อกล่าวหาแก้จำเลยทั้ง 22 รายแล้ว
จำเลยทั้ง 22 ราย ไม่คัดค้านการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน แต่จำเลยทั้ง 22 ราย ได้ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า จำเลยทั้ง 22 ราย มีความผิดทางอาญา และส่งให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีทางอาญา ซึ่งอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้ฟ้องจำเลยทั้ง 22 ราย โดยมอบหมายให้อัยการศาลทหารกรุงเทพฟ้องคดีแทน
ปัจจุบันจำเลยทั้ง 22 ราย ไม่ได้ถูกควบคุมตัวในคดีนี้ และยังไม่ปรากฏข่าวว่าศาลมีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้แล้วหรือไม่ จำเลยทุกรายจึงยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับลงมติชี้มูลคดีจัดซื้อเครื่องจีที 200 ของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. นั้น สำนักข่าวอิศรา เคยรายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและสารเสพติด GT200 และ Alpha6 รวม 20 สำนวน จากการไต่สวนทั้งหมด 25 สำนวน มีผู้ถูกกล่าวหาประมาณ 100 ราย โดยถูกชี้มูลทั้งความผิดทางอาญา และความผิดทางวินัย ส่วนใหญ่ผู้ถูกชี้มูลเป็นคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างฯ และคณะกรรมการตรวจรับงานจ้างฯ ของหน่วยงานนั้น โดยใน 20 สำนวนนี้ปรากฏชื่อของ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีต ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (ปัจจุบันเป็น ส.ว.) จากการอนุมัติจัดซื้อจำนวน 3 ครั้ง จากทั้งหมด 4 ครั้ง โดยการจัดซื้อครั้งที่ 1 และ 3 กระทำผิดวินัยร้ายแรง จากการไม่ตั้งผู้ชำนาญการ อนุมัติเบิกจ่าย และไม่ส่งสำเนาสัญญา ส่วนการจัดซื้อครั้งที่ 2 เป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืนประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดวินัยร้ายแรง จากการอนุมัติจัดซื้อในราคแพงกว่าการจัดซื้อครั้งแรก
- หมอพรทิพย์โดนด้วย! ป.ป.ช.ชี้มูลคดีจีที-อัลฟ่า 100 ราย - เจ้าตัวยันไม่เคยเรียกแจง ม.157
- เตรียมปิดฉากคดี GT200-Alpha6 ป.ป.ช.ชี้มูลกราวรูดกว่า 100 คน 20 สำนวน-ระดับ‘บิ๊ก’ด้วย
ในส่วนของกรมสรรพาวุธทหารบก นั้น จัดซื้ออย่างน้อย 12 สัญญา มีนายทหารระดับยศ ‘พลโท’ 2 ราย ถูกชี้มูลความผิดทางวินัยฐานประมาทเลินเล่อเสียหายร้ายแรง ส่วนที่เหลือเป็นคณะกรรมการตรวจรับ ถูกชี้มูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 162 (1) (4) อย่างไรก็ดีความผิดตามมาตรา 162 ขาดอายุความไปแล้ว นอกจากนี้ยังถูกชี้มูลผิดวินัยร้ายแรง
ขณะที่การยื่นเรื่องฟ้องคดีต่อศาลทหารกรุงเทพครั้งนี้ ไม่มีชื่อ นายทหารระดับยศ ‘พลโท’ 2 ราย ที่ถูกชี้มูลความผิดทางวินัยฐานประมาทเลินเล่อเสียหายร้ายแรงด้วยแต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงส่วนนี้เป็นอย่างไร คงต้องรอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องชี้แจงเป็นทางการอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
- ป.ป.ช.แจ้งข้อหากราวรูด 200 ราย! จนท.รัฐพันจัดซื้อ GT200-‘อิศรา’พบมี 10 แห่ง 767 ล.
- ย้อนข้อมูล บ.แจ๊คสันฯ ชนะคดีขายจีที200 กองบัญชาการกองทัพไทย-อัยการอุทธรณ์สู้ต่อ!
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- ข้อมูลธุรกิจล่าสุด สุทธิวัฒน์ วัฒนกิจ ผู้บริหารบ.ขายจีที200 โดนโทษจำคุกคนเดียว 19 ปี
- ผู้บริหารเอวิเอ โดนคุกอีก10 ปี! DSI เผยคำพิพากษาคดีขายจีที200 กรมสรรพาวุธทหารบก
- จำคุก 9 ปี!ผู้บริหาร บ.เอวิเอฯขาย GT200 ให้กรมราชองครักษ์-ยื่น 9 แสนประกันตัวสู้ต่อ
- เช็คท่าที 'กองทัพบก-กองทัพเรือ-2อบจ.' หลังกรมราชองครักษ์ฟ้องชนะคดีซื้อจีที 200
- สัญญาโมฆะ-ปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้!ชนวน บ.เอวิเอฯแพ้คดีGT200 ชดใช้9ล.
- ไม่รับฎีกา! หลังศาลแพ่งสั่งเอวีเอฯ ชดใช้กรมราชองครักษ์9 ล. ซื้อเครื่องจีที200
- 19 สัญญา 688 ล.!เจาะข้อมูล7 หน่วยงานรัฐซื้อจีที200 ก่อนผู้ผลิตโดนยึดทรัพย์