“...ทุกวันนี้ คนข้ามเพศไม่สามารถที่จะใช้สิทธิหรือหน้าที่ได้ตามอัตลักษณ์ที่ตัวเองต้องการ เพราะว่าถูกตีกรอบจากเพศกำเนิดอยู่ ในขณะที่เพศกำกวม มีปัญหาอีกแบบหนึ่งคือถูกเลือกเพศตั้งแต่เด็ก ผู้ปกครอง และหมอเลือกให้ตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นการที่บุคคลถูกเลือกเพศตั้งแต่เด็กโตขึ้นมามีปัญหา คืออาจจะเป็นอีกเพศก็ได้ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าคนข้ามเพศหรือเพศกำกวม มีปัญหาด้านอัตลักษณ์ทั้งคู่...”
เดือนมิถุนายน ถือได้ว่าเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) หรือที่เรียกว่า Pride Month แต่กว่าจะเป็นเทศกาลเฉลิมฉลอง หรือเดือนแห่งสีสันอย่างที่เห็นเฉกเช่นทุกวันนี้ กลุ่ม LGBTQIAN+ ได้ผ่านการต่อสู้เพื่อสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคมาอย่างยาวนาน และในปัจจุบันก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับไทย หลายคนมองว่าเปิดกว้างเรื่องความหลากหลายทางเพศมากกว่าหลายประเทศ ซึ่งเป็นเช่นนั้นในแง่ของการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ก็ยังไม่อาจเรียกได้ว่ายอมรับด้วยความเข้าใจ เพราะสิทธิหลายอย่างก็ยังไม่ใกล้เคียงกับคนรักเพศตรงข้าม
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่สร้างประวัติศาสตร์ในสังคมไทย ที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการ 4 ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสมรสเท่าเทียม ซึ่งถือว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญและน่ายินดี เพราะแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในเรื่องของความเท่าเทียมกันในสังคมยุคใหม่
แต่การต่อสู้เพื่อกฎหมายที่เสมอภาคเท่าเทียมของกลุ่ม LGBTQIAN+ เพื่อให้สังคมเล็งเห็นความสำคัญ เข้าใจ และยอมรับในความสวยงามของแตกต่างหลากหลาย ยังมีอีกหลายประเด็น
เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 องค์กรภาคประชาชน นำโดย สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน จัดงานเปิดตัวร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. … (Gender Identity, Gender Expression and Sex Characteristics Act. B.E.256x) หรือเรียกสั้นๆ ว่า GEN-ACT
นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ กล่าวว่า เรื่องสถานะบุคคล เป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญกับการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างแยกกันไม่ออก ซึ่งสิ่งที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือการมีกฎหมายเพื่อให้มีการรับรอง คุ้มครองบุคคลเหล่านั้น จนเกิดสิทธิและหน้าที่ต่างๆ เช่น สถานะที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น เพศชาย จะต้องเกณฑ์ทหาร หรือสถานะที่ติดมากับอายุ เช่น การบรรลุนิติภาวะถึงจะกระทำการสิ่งหนึ่งได้ สถานะจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม ล้วนเกิดจากกฎหมายทั้งสิ้น
ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้ อาจบิดเบี้ยวไปสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง คือ สถานะทางเพศ ที่เกิดขึ้นจากบุคคลที่มีสถานะตามกฎหมายซึ่งรองรับความเป็นเพศชาย-หญิงอยู่ ขัดแย้งกับผู้ที่เป็นบุคคลข้ามเพศ (Transgender) และเพศกำกวม (Intersex) เป็นการขัดแย้งโดยสิ้นเชิง ถือเป็นการกลั่นแกล้งโดยเพศสภาพของบุคคลที่จะสามารถข้ามเพศสรีระ หรือข้ามเพศสภาพได้
นายกิตตินันท์ กล่าวด้วยว่า ณ วันที่เกิด รัฐจึงต้องคิดว่าการรับรองสิทธิเกิดขึ้นตั้งแต่บุคคลรับรู้อัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองเมื่อไหร่ วันนั้นบุคคลก็จะไม่ได้เป็นผู้ที่มีเพศสภาพตามกฎหมายเมื่อแรกเกิดอีกแล้ว หากปล่อยไว้ในระยะยาวจะก่อให้เกิดปัญหาในการเลือกปฏิบัติได้
“แม้ปัจจุบันจะมี พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแก้ไขได้อย่างยั่งยืน ให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิงมีอยู่วิธีเดียว คือเราต้องมีกฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ และการแสดงออกทางเพศคุณลักษณะทางเพศโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายกิตตินันท์ กล่าว
-
นักวิชาการแนะรัฐควรรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ โดยไม่ต้องบังคับให้ผ่าตัด
-
ภาคี LGBTQ+ เปิดร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ-'ชัชชาติ' ร่วมเดินขบวนหนุนความเสมอภาค
ทางด้าน ผศ.อารยา สุขสม อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะกองเลขาคณะกรรมการจัดทำร่างฯ กล่าวว่า การออกกฎหมายฉบับนี้ค่อนข้างยากตรงที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนทัศนคติของคนอย่างสิ้นเชิง จากที่เคยถูกอธิบายว่าคนข้ามเพศและเพศกำกวมมีความผิดปกติในด้านของอัตลักษณ์ และถูกจัดกลุ่มว่าเป็นผู้มีความผิดปกติทางจิต และพฤติกรรม
ในวันนี้องค์การอนามัยโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดนี้ไปแล้ว และบอกว่าคนข้ามเพศหรือเพศกำกวมไม่ใช่ความผิดปกติ แต่เป็นเพียงความแตกต่างของเพศสภาพที่ไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด
ดังนั้นเวลาจะมีการแก้ปัญหาการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ต้องแสดงให้ชัดว่าพวกเขาต้องการอะไร ขณะที่ระบบกฎหมายไทยตั้งอยู่ในพื้นฐานของการมีแค่เพศชาย-หญิง (Binary) การจะมีสิทธิและหน้าที่ได้ต้องมีความเป็นบุคคลทางกฎหมายซึ่งยึดโยงแค่ 2 เพศ
“ทุกวันนี้ คนข้ามเพศไม่สามารถที่จะใช้สิทธิหรือหน้าที่ได้ตามอัตลักษณ์ที่ตัวเองต้องการ เพราะถูกตีกรอบจากเพศกำเนิดอยู่ ในขณะที่เพศกำกวม มีปัญหาอีกแบบหนึ่งคือถูกเลือกเพศตั้งแต่เด็ก ผู้ปกครอง และหมอเลือกให้ตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นการที่บุคคลถูกเลือกเพศตั้งแต่เด็กโตขึ้นมามีปัญหา คืออาจจะเป็นอีกเพศก็ได้ จะเห็นได้ว่าไม่ว่าคนข้ามเพศหรือเพศกำกวม มีปัญหาด้านอัตลักษณ์ทั้งคู่” ผศ.อารยา กล่าว
ขณะเดียวกัน น.ส.รณกฤต หะมิชาติ สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย ทรานส์แมน กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้เป็น one for all อย่างแท้จริง คนทุกกลุ่มสามารถถูกรับรองอัตลักษณ์ทางเพศใหม่ได้
ในอดีตได้มีการถกเถียงกันมากมายระหว่างกลุ่มคนที่แปลงเพศแล้ว และกลุ่มคนที่ยังไม่ได้แปลงเพศว่าใครสมควรที่จะได้รับรองสิทธิทางเพศใหม่ แต่จริงๆ แล้วในโลกปัจจุบันกลุ่มคนข้ามเพศหลายคน ไม่มีโอกาสในการเข้าถึงการผ่าตัดแปลงเพศ แต่ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มที่ขาดโอกาสเหล่านี้จะไม่ต้องถูกรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ
“ยิ่งปัจจุบันโลกมีการพัฒนาการอยู่ตลอดเวลา ค้นพบว่ามนุษย์มีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครก็ตามควรที่จะได้รับความเสมอภาคในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ และที่สำคัญไม่ควรใช้ความคิดในอดีตมาเป็นตัวตัดสินหรือกำหนดสิทธิพื้นฐานของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” น.ส.รณกฤต ระบุ
สำหรับร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพฯ ประกอบด้วย 6 หมวด 28 มาตรา มีสาระสำคัญสรุป ดังนี้
ยื่นขอเปลี่ยนอัตลักษณ์ทางเพศได้ ตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป
บุคคลย่อมมีสิทธิในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมาย และมีเสรีภาพในการ พัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพที่ตนเป็นอยู่ รวมทั้งต้องได้รับการรับรองชื่อตัว ภาพถ่าย และเพศที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนในเอกสารแสดงตน โดยสิทธิในการรับรองอัตลักษณ์ฯ จะต้องได้รับการคุ้มครองตาม กฎหมายตลอดเวลา
ซึ่งบุคคลทุกคนจะต้องไม่ถูกบังคับให้เข้าสู่กระบวนการรักษาทางการแพทย์ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ ผ่าตัดแปลงเพศทั้งหมดหรือบางส่วน รวมถึงการรักษาด้วยวิธีการใช้ฮอร์โมน หรือวิธีการรักษาทางจิตวิทยาหรือ ทางการแพทย์อื่นใดเพื่อเป็นเงื่อนไขในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมาย
สำหรับการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ฯ กำหนดให้บุคคลที่มีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ย่อมมีสิทธิในการยื่นคําขอเพื่อระบุเพศและชื่อตัว รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจํานงของตนได้ และการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพจะต้องกระทำบนพื้นฐานของเจตจํานงของบุคคลโดย ปราศจากการกำหนดเงื่อนไขใดๆ เพื่อให้ได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพในทางกฎหมาย โดยห้ามมิให้นายทะเบียนเรียกเอาเอกสารทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการรับรองทางจิตเวชหรือจิตวิทยา จากผู้ยื่นคําขอ
สำหรับกรณีบุคคลอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ การยื่นคําขอระบุเพศและชื่อตัวในใบสูติบัตร รวมถึงเครื่องหมายระบุเพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรเพื่อให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามเจตจํานงสามารถกระทำได้ตั้งแต่เมื่อบุคคลนั้นอายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม และมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.)
ห้ามผ่าตัดเลือกเพศให้เด็ก Intersex
สำหรับเด็กที่มีเพศสรีระมากกว่า 1 แบบ หรือเพศกำกวม (Intersex) นั้น ห้ามไม่ให้ทำการผ่าตัดเพื่อเลือกเพศ และหรือใช้กระบวนการผ่าตัดในการแทรกแซงลักษณะทางเพศของเด็กจนกว่าบุคคลนั้นจะแสดงความยินยอมได้ด้วยตนเอง ซึ่งสามารถกระทำได้ตั้งแต่อายุครบ 12 ปีบริบูรณ์ และหากเด็กมีความประสงค์จะเข้าสู่กระบวนการผ่าตัดเพื่อเลือกเพศ การ ให้ความยินยอมจะต้องกระทำโดยผ่านทางผู้แทนโดยชอบธรรม และห้ามไม่ให้มีการระบุเพศของเด็กในใบสูติบัตรจนกว่าจะ ได้รับความยินยอมจากเด็กอย่างชัดแจ้ง และให้เว้นช่องว่างในใบสูติบัตรกรณีที่เด็กนั้นไม่สามารถระบุเพศได้
หากมีความจำเป็นต้องระบุเพศของเด็กที่มีเพศสรีระมากกว่าหนึ่งแบบในเอกสารแสดงตน ให้ใช้ ว่าระบุเพศกรณีอื่น (Other/X) เพื่อสื่อถึงกรณีที่ไม่สามารถระบุเพศของเด็กได้
นอกจากนี้ ทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับคำปรึกษาทางด้านจิตวิทยา และได้รับการสนับสนุนเกี่ยวกับ การใช้วิธีทางการแพทย์เพื่อยืนยันเพศสภาพโดยนักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญอย่างเหมาะสม รวมถึงการวินิจฉัย ตามความจําเป็นด้วย ทั้งนี้ การเข้าสู่กระบวนการให้ความช่วยเหลือและบริการด้านสุขภาวะทางเพศย่อมเป็นไปตามเจตจํานง
จดทะเบียนสมรสตามคำนำหน้าที่เปลี่ยน
สำหรับผู้ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศและชื่อตัวในใบสูติบัตร รวมถึงเครื่องหมายระบุ เพศสภาพในข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎร มีสิทธิใช้คํานําหน้านามที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ตลอดจนมีสิทธิและหน้าที่ตามอัตลักษณ์ทางเพศสภาพนั้น ไม่ว่าจะเป็นการรับรองบุตร สิทธิลาตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เป็นนั้น
เมื่อได้รับการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพแล้ว หากมีความประสงค์จะจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้ยื่นหลักฐานการจดทะเบียนรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพประกอบการจดทะเบียนสมรส
ส่วนกรณีมีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศและชื่อตัวในใบสูติบัตรรวมถึง ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรใหม่อีกครั้งหลังจากที่มีการยื่นคําขอเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลเพศไปแล้ว สามารถทำได้โดยอาศัยคำสั่งจากศาลภายใต้หลักการคุ้มครองสิทธิในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพตามกฎหมายของบุคคล
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีมากกว่า 30 ประเทศที่คนข้ามเพศสามารถทำเรื่องขอเปลี่ยนเพศหรือคำนำหน้านามในเอกสารทางราชการ โดยไม่ต้องผ่านการรับรองจากแพทย์ เช่น อาร์เจนตินา มอลตา ไอซ์แลนด์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ. ... ยังคงมีสถานะเป็นร่างกฎหมาย ที่ผลักดันเพียงภาคประชาชนเท่านั้น จะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีพรรคการเมือง หรือหน่วยงานไหนมารับร่างและผลักดันต่อ เพื่อเข้าสู่การพิพิจารณาในสภา และประกาศให้มีผลบังคับใช้