"ไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เป็นชัยชนะของสภา ไม่ใช่แค่เรื่องผลงานของพรรคก้าวไกล แต่เป็นผลงานของพวกคุณด้วย ถ้าอยากกอบกู้ศรัทธาให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่น ก็หวังว่าเรื่องนี้จะผ่านการพิจารณาไปอย่างราบรื่น" นายธัญวัจน์ กล่าว
15 มิ.ย.2565 สภาผู้แทนราษฎรสร้างประวัติศาสตร์ ลงมติรับหลักการร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ 4 ฉบับ แต่กระบวนการดังกล่าว ยังเป็นเพียง ‘ก้าวแรก’ ที่ต้องผ่านด่านปราการเหล็กอีกหลายวาระ
โดยเฉพาะการพิจารณาในวาระที่ 2-3 ของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการพิจารณาร่าวงกฎหมายอีก 3 วาระโดยสมาชิกวุฒิสภา
และปฏิเสธไม่ได้ว่าร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่ผ่านสภาวาระแรกไปนั้น ยังมีความแตกต่าง-หลากหลายของสาระสำคัญในบางประเด็น
สำหรับร่างกฎหมาย 4 ฉบับ ประกอบด้วย
-
ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่....) พ.ศ.... หรือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เสนอโดยนายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กับคณะได้เสียงสนับสนุน 212 เสียง ไม่เห็นด้วย 180 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง ไม่ลงคะแนน 4 เสียง
-
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ.... เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เสียงสนับสนุน 222 เสียง ไม่เห็นด้วย 167 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
-
ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ.. เสนอโดย ครม. ได้เสียงสนับสนุน 230 เสียง ไม่เห็นด้วย 169 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
-
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต พ.ศ... เสนอโดย นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กับคณะ ได้เสียงสนับสนุน 251 เสียง ไม่เห็นด้วย 124 เสียง งดออกเสียง 30 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง
โดยที่ประชุมสภาตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 25 คน เพื่อพิจารณาตามขั้นตอนก่อนที่จะนำกลับเข้าสภาเพื่อให้พิจารณาในวาระที่ 2-3 ต่อไป
ทั้งนี้ การประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. กมธ.ยังวางกรอบการพิจารณาร่างกฎหมายแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ 2.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.)
ส่งผลให้ปลายทางสุดท้ายของการพิจารณา อาจมีกฎหมายที่เกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศผ่านสภา 2 ฉบับด้วยกัน คือมีทั้งกฎหมายคู่ชีวิต และ กฎหมายสมรสเท่าเทียม ?
โดยร่างกฎหมายทั้ง 2 กลุ่มที่จะพิจารณาในชั้น กมธ.นั้นจะใช้ร่างที่เสนอโดย ครม.เป็นหลักในการพิจารณา
สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับ ครม. ประกอบด้วย 4 หมวด 46 มาตรา มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
‘คู่ชีวิต’ จดทะเบียนโดยบุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกัน
นิยามของคำว่า ‘คู่ชีวิต’ หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้
กำหนดนิยามคำว่า ‘ศาล’ หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
ทั้งนี้ยังกำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมาย มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมายฉบับนี้
นอกจากนี้ให้ การทำสัญญาที่มีข้อตกลงกันว่าจะจดทะเบียนคู่ชีวิต ไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้จดทะเบียนได้ และถ้ามีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อผิดสัญญา ให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
การดำเนินการทางทะเบียน คู่ชีวิตจะจดทะเบียนได้ก็ต่อเมื่อทั้ง 2 คนอายุ 17 ปีบริบูรณ์ มีสัญชาติไทยหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
อย่างไรก็ตาม การจดทะเบียนจะทำไม่ได้ 3 กรณี คือ บุคคลเป็นคนวิกลจริตหรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ บุคคลเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาหรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา และกรณีที่ฝ่ายหนึ่งมีคู่สมรสหรือคู่ชีวิตอยู่ก่อนแล้ว
กรณีเป็นผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมจากบิดาและมารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม หรือผู้ปกครอง ในกรณีที่ไม่มีบุคคลเป็นบิดา มารดา หรือผู้รับบุตรบุญธรรม แต่ถ้าไม่มีผู้ที่มีอำนาจให้ความยินยอม หรือไม่อยู่ในสภาพที่อาจให้ความยินยอม ผู้เยาว์อาจต้องขอต่อศาลเพื่อขออนุญาตจดทะเบียนคู่ชีวิต
สถานะการจดทะเบียนคู่ชีวิตตามกฎหมายนี้ ให้ถือเป็นข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
การเป็น ‘คู่ชีวิต’ และความสัมพันธ์
ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ยังกำหนดให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) ว่าด้วยครอบครัวมาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม
และกำหนดให้ ผู้เยาว์ที่จดทะเบียนคู่ชีวิตแล้ว ย่อมเป็นผู้บรรลุนิติภาวะ หากการจดทะเบียนทำตามบทบัญญัติตามกฎหมายนี้
โดยคู่ชีวิตอาจร้องขอให้ศาลสั่งหรือเพิกถอนคำสั่งให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถเช่นเดียวกันบคู่สมรส
กรณีคู่ชีวิตไม่อยู่ ตามมาตรา 48 ป.พ.พ. คือ ไปจากจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ทั้งมิได้ตั้งตัวแทนมอบอำนาจทั่วไปไว้ และไม่มีใครรู้แน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายมีสิทธิและสถานะเช่นเดียวกับคู่สมรส
นอกจากนั้น การจดทะเบียนเป็นคู่ชีวิตจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้
ซึ่งคู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา ตามมาตรา 3 และมาตรา 5(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีภริยา ตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
และกำหนดให้คู่ชีวิตต้องอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน
กรณีไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวโดยปกติสุขได้หรือถ้าอยู่ร่วมกันจะเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจหรือทำลายความผาสุกอย่างมาก อาจฟ้องต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งอนุญาตให้อยู่ต่างหากในระหว่างที่เหตุนั้นๆยังมีอยู่ก็ได้ ในกรณีเช่นนี้จะกำหนดจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูให้ฝ่ายหนึ่งจ่ายให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งตามควรแก่พฤติการณ์ได้
การจัดการทรัพย์สิน
กำหนดให้ทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัว ย่อมเป็นทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต
สินส่วนตัว ประกอบด้วย ทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนแล้ว ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ รวมถึงทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการเป็นคู่ชีวิตโดยการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา
ทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต ประกอบด้วย ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างการเป็นคู่ชีวิต ทรัพย์สินที่ได้มาโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ เมื่อถูกระบุว่าเป็นทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต และทรัพย์สินที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว
ทั้งนี้ กรณีเกิดความสงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์สินร่วมกันของคู่ชีวิต
การสิ้นสุดความเป็น ‘คู่ชีวิต’
การสิ้นสุดการเป็นคู่ชีวิต จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อสิ้นสุดลงด้วยความตาย ศาลพิพากษาให้เพิกถอน หรือการเลิกการเป็นคู่ชีวิต ซึ่งต้องได้รับความยินยอมทั้งสองฝ่าย
รับบุตรบุญธรรม-การจัดการมรดก
กำหนดให้การรับบุตรบุญธรรม ต้องได้รับความยินยอมจากคู่ชีวิตทั้งสองฝ่าย เว้นแต่กรณีคู่ชีวิตไม่อาจให้ความยินยอมหรือหายตัวไปไม่น้อยกว่า 1 ปี ต้องร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทน
ส่วนมรดก กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.ว่าด้วยมรดก
ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เสนอโดย ครม. นั้น มีจำนวน 5 มาตรา ระบุเหตุผลไว้ว่า เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ในการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวของคู่ชีวิตในลักษณะทำนองเดียวกันกับคู่สมรส
โดยมีหลักการ 3 ข้อ คือ ห้ามไม่ให้จดทะเบียนสมรสหรือจดทะเบียนคู่ชีวิตซ้อน เพิ่มเหตุฟ้องหย่า กรณีสามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกร่องผู้อื่นฉันคู่ชีวิต และเพิ่มเหตุที่ทำให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพหมดไป กรณีที่คู่สมรสฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพจดทะเบียนคู่ชีวิต
หนุนแก้นิยาม ‘คู่ชีวิต’ คนเพศเดียวกันต้องไม่ใช่พลเมืองชั้นสอง
นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะรองประธาน กมธ.คนที่หนึ่ง กล่าวถึงความแตกต่างของ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ฉบับที่เสนอโดย ครม. กับฉบับที่เสนอโดย ปชป. คือ นิยามของคำว่า ‘คู่ชีวิต’ โดยฉบับ ครม.ระบุว่า คู่ชีวิตคือคนเพศเดียวกันที่เป็นสามารถเป็นคู่สมรสได้ แต่ฉบับ ปชป.มองว่าคู่ชีวิตต้องใช้สำหรับคนทุกเพศ เพื่อทำให้คนเท่ากัน ไม่ทำให้ใครถูกมองเป็นคนอีกกลุ่มหนึ่ง
นอกจากนั้นจะเสนอให้เพิ่ม รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าไปมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายนี้ จากเดิมที่มีเพียง รมว.ต่างประเทศ รมว.มหาดไทย และ รมว.ยุติธรรม เนื่องจากเห็นว่า มีภารกิจโดยตรงและครอบคลุมหลายเรื่อง
“หลักการของ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ไม่ควรทำให้ใครถูกมองเป็นพลเมืองอีกกลุ่ม เหมือนที่บางคนมองว่า คนเพศเดียวกันเป็นพลเมืองชั้นสอง กฎหมายนี้ควรเป็นทางเลือกเกี่ยวกับระดับความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่คู่สมรส ทางเลือกนี้ควรหยิบยื่นไปให้คนทุกเพศ แม้กระทั่งกับหญิงและชายก็ตาม” นายอิสระ กล่าว
ลุ้นสภาผลักดันใช้ทั้ง ‘คู่ชีวิต-สมรสเท่าเทียม’
นายอิสระ กล่าวว่า เท่าที่มีการหารือเบื้องต้นในชั้น กมธ.ปลายทางของการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ มี 3 รูปแบบ คือ 1.เอา ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต แต่ไม่เอาร่างสมรสเท่าเทียม 2.เอาร่างสมรสเท่าเทียม แต่ไม่เอาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ 3.มีทั้งร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ร่างสมรสเท่าเทียม เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิเลือกได้ทั้งคู่ และยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามการพิจารณาใน กมธ.เพื่อรับฟังความเห็นให้รอบด้านมากที่สุด
นายอิสระ ยกตัวอย่างประเทศอังกฤษ ที่มีทั้งเรื่องคู่ชีวิตและสมรสเท่าเทียม เพราะอาจมีหลายสถานการณ์หรือเหตุจำเป็นบางอย่างที่ทำให้ไม่สามารถใช้คำว่าคู่สมรสได้ เช่น บางคู่ไม่ได้ต้องการรักกันแบบโรแมนติก แต่ต้องการอยู่ด้วยกันเพื่อเกื้อกูลกันทางกายภาพ หรือ บางคู่ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ลูกหลานรับไม่ได้ที่จะต้องแต่งงานใหม่ หรือบางพื้นที่อาจจะยังไม่ยอมรับการสมรส การเป็นคู่ชีวิตก็ถือเป็นทางเลือกได้เช่นกัน
“ยกตัวอย่าง คู่หมั้น กับ คู่สมรส ถือเป็นสถานะทางกฎหมายเหมือนกัน และการมีคู่ชีวิต ก็จะเป็นอีกสถานะหนึ่ง ส่วนสิทธิและหน้าที่จะมีรายละเอียดอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องหารือให้ตกผลึกใน กมธ. เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศว่ามองเรื่องนี้อย่างไร” นายอิสระ กล่าว
9 หลักการ ‘สมรสเท่าเทียม’ ที่ควรอยู่ในร่างกฎหมาย
ขณะที่ นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธาน กมธ.คนที่สอง ผู้ที่พยายามผลักดันให้เกิด ‘สมรสเท่าเทียม’ กระทั่งร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาในสภาวาระแรกไปพร้อมกับกฎหมายฉบับอื่น มองว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่ไทยอาจจะมีทั้งกฎหมาย ‘คู่ชีวิต’ และ ‘สมรสเท่าเทียม’ ไปพร้อมกัน
พรรคก้าวไกล นำเสนอร่างสมรสเท่าเทียม หรือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งหลักการสำคัญอยู่ 9 ข้อที่ นายธัญวัจน์ ย้ำว่า การแก้ไขเพิ่มเติมใน กมธ.จะเป็นอย่างไร อย่างน้อยหลักการ 9 ข้อที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลควรจะต้องอยู่ครบ
สำหรับหลักการ 9 ข้อในร่างสมรสเท่าเทียม มีรายละเอียด ดังนี้
- ชาย หญิง หรือบุคคลสองคนที่เป็นเพศเดียวกัน สามารถหมั้น สมรสกันได้ตามกฎหมาย เป็นคู่หมั้น คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย
- ตัดคำว่าความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส เพื่อให้สอดคล้องกับร่างกฎหมาย
- กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสซึ่งบุคคลสองคนสมรสกัน ให้มีสิทธิและหน้าที่และความคุ้มครองตามกฎหมาย
- ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา ให้แก้ไขเพิ่มเติมเป็นทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
- กำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมายจัดการทรัพย์สินและหนี้สินร่วมกัน
- กำหนดเงื่อนไขระหว่างคู่สมรส ว่าด้วยการ สิ้นสุดการสมรส การเพิกถอนการสมรส การหย่าขาด การจัดการทรัพย์สินหลังสิ้นสุดการสมรส การเรียกค่าทดแทนอุปการะเลี้ยงดู
- ให้คู่สมรสซึ่งเป็นเพศเดียวกันจดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สามารถัรบผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ และให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสด้วยกัน
- ให้ตัดคำว่าสามีภริยา และเพิ่มคำว่าคู่สมรส กรณีที่ฝ่ายหนึ่งที่เป็นผู้ที่ฆ่าคู่สมรสของตน เป็นผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควรได้รับมรดก
- คู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย หรือคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่โดยมิหย่าขาดจากกัน เป็นทายาทโดยธรรม มีสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิต
‘สมรสเท่าเทียม-คู่ชีวิต’ ชัยชนะสภา ฟื้นศรัทธาประชาชน
นายธัญวัจน์ เล่าว่า ปรากฎการณ์หลังสภามีมติรับหลักการร่างกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ เป็นโอกาสในการกอบกู้ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสภาผู้แทนราษฎร เพราะประเด็นเกี่ยวกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศ หรือสมรสเท่าเทียม ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และไม่เชื่อว่าจะมี ส.ส.คนไหนที่ไม่รู้ถึงความต้องการความเสมอภาคของกลุ่ม LGBT แม้กระทั่งชายหรือหญิงทั่วไป เขาก็สนับสนุนเรื่องนี้เช่นกัน
“เวลาเราพูดถึงเพศในสภา เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่เรื่องฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล เป็นชัยชนะของสภา ไม่ใช่แค่เรื่องผลงานของพรรคก้าวไกล แต่เป็นผลงานของพวกคุณด้วย ต้องมองประชาชนเป็นหลัก และถ้าอยากกอบกู้ศรัทธาให้ประชาชนกลับมาเชื่อมั่น ก็หวังว่าเรื่องนี้จะผ่านการพิจารณาไปอย่างราบรื่น” นายธัญวัจน์ กล่าว
นายธัญวัจน์ กล่าวอีกว่า หากผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้สำเร็จ ไทยจะเป็นที่สอง ต่อจากไต้หวันที่มีกฎหมายรองรับเรื่องนี้ และจะเป็นหนึ่งตัวสะท้อนความก้าวหน้าของประเทศไทย ไม่ใช่แค่เรื่องสังคม แต่อาจมีผลถึงเรื่องเศรษฐกิจด้วย
“หากเรื่องนี้ผ่านสภาสำเร็จ น่าจะเป็นการจุดพลุจนทั่วโลกต้องเฉลิมฉลองกับเรา ทำไมเราถึงกลัวความก้าวหน้า นอกจากเรื่องสังคมยังมีผลถึงด้านเศรษฐกิจ ประเทศที่มีกฎหมายสมรสเท่าเทียมอย่างสหรัฐฯ มีเม็ดเงินเพิ่ม 3 หมื่นล้านจากการลงทุนของคู่สมรส LGBT” นายธัญวัจน์ กล่าว
ทั้ง ‘อิสระ-ธัญวัจน์’ คาดหวังว่า การพิจารณาอย่างเข้มข้นในชั้น กมธ.จะนำมาซึ่งความสำเร็จของกฎหมายสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศที่มีคุณภาพ
พร้อมตั้งเป้าให้กฎหมายว่าด้วย ‘คู่ชีวิต-สมรสเท่าเทียม’ ผ่านกระบวนการพิจารณาของสภาภายในปีนี้