นักวิชาการจี้รัฐ หามาตรการรับรองอัตลักษณ์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ แนะเริ่มจากเอกสารราชการ ยังจำเป็นหรือไม่ที่ต้องระบุเพศ ย้ำทุกความสัมพันธ์ควรได้รับการคุ้มครอง
...........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2564 สำนักส่งเสริมวิชาการรัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า จัดสัมมนาทางวิชา เรื่อง 'การผลักดันสิทธิ LGBTQI ในระดับสากล และสถานการณ์ในประเทศไทย : มุมมองด้านกฎหมาย' โดย ศ.กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์ กล่าวว่า เพศวิถี คือเพศในทางชีวภาพ ตั้งแต่กำเนิด และอัตลักษณ์ทางเพศ ไม่จำเป็นต้องตามเพศ เป็นไปตามความสัมพันธ์ระหว่างหรือความต้องการของบุคคล โดยปัจจุบันกลุ่มที่โดยริดรอนหรือละเมิดสิทธิ คือ กลุ่มข้ามเพศ การออกมาเรียกร้องหรือดำเนินการใดๆ ไม่ใช่หมายถึงการให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นการมอบสิทธิตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ทุกคนพึงได้รับ ฉะนั้นจึงมีการตั้งอาณัติ มีการฟ้องร้องได้ หากได้รับการเลือกปฎิบัติ
ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวถึงรายงานของผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านการป้องกันความรุนแรงและการเลือกปฎิบัติเหตุแห่งเพศวิถีหรืออัตลักษณ์ทางเพศแห่งสหประชาชาติ ว่า สิ่งที่ควรตระหนักถึงคือ การรับรู้ร่วมกันว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศ มีทุกแห่ง และได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคเช่นเดียวกัน การสนันสนุนการทำงานของประชาสังคมและกลุ่มคุ้มครองสิทธิความหลากหลายทางเพศ และการปกป้องกลุ่มหลากหลายทางเพศ จากความรุนแรงและการเลือกปฎิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากการระบาด และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด รวมถึงการเลือกปฎิบัติโดยอ้อม เป็นความเสี่ยงโดยตรงที่สำคัญ เช่น การกีดกันการไม่ให้เข้าถึงฮอร์โมน โดยไม่คำนึงถึง และการมีตัวแทนของกลุ่มหลากหลายทางเพศ เข้าร่วมในกระบวนการพิจารณา ดำเนินการ และประเมินผลในการกำหนดมาตารที่เกี่ยวข้องกับโควิด เป็นสิ่งสำคัญ คือการต้องรับฟังเสียงสะท้อนจากทุกกลุ่ม และต้องมีการรวบรวมข้อมูลหลักฐานผลกระทบของโควิดต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ อีกทั้งรัฐตเองดำเนินการตามแนวทางการปฎิบัติที่ประสบความสำเร็จ
ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวถึงความท้าทายในยุคโควิด ว่า เนื่องจากบทบาทของฝ่ายบริหารมีมากขึ้น รวมทั้งมีอำนาจมากขึ้นในทุกประเทศ ทำให้มีการจำกัดสิทธิด้านการแสดงออกและการรวมกลุ่มอีกด้วย การคานอำนาจอาจจะขาดดุลไป เช่น ในบางประเทศฝ่ายตุลาการและรัฐสภาต้องยอมตามแนวทางของฝ่ายบริหาร หรือนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกทำร้าย และการควบคุมความปลอดภัยโดยหน่วยงานความมั่นคงและสาธารณสุข เช่น การกำหนดเคอร์ฟิวที่ไม่สมเหตุสมผล การปิดพรมแดน การปฏิเสธผู้ลี้ภัยเป็นต้น
ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวด้วยว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด คือ ด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น กลุ่มคนข้ามเพศถูกตัดหรือจำกัดการเข้าถึงฮอร์โมนต่างๆ เป็นต้น ด้านสังคมเกิดความยากจน ลิดรอนสิทธิและการเลิกจ้าง และด้านการคุ้มครอง เนื่องจากกลุ่มความหลากหลายทางเพศ เป็นกลุ่มเปราะบางยิ่งเปราะบางมากขึ้นจากความยากจน คำพูดที่แสดงความเกลียดชัง และการไม่ยอมรับกันในสังคม
ด้าน พ.ร.บ.ความเท่าเทียมทางเพศ ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวได้รับการชื่นชม แต่ควรเปิดกว้างในการเข้าถึงมากกว่านี้ เนื่องจากส่วนมากมีคำร้องจากกลุ่มคนข้ามเพศเข้ามาในเรื่องต่างๆ อีกทั้ง พ.ร.บ.เปิดช่องให้กับสตรีในด้านความเท่าเทียมกับบุรุษมากกว่า ความเท่าเทียมของความหลากหลายทางเพศ
ส่วนเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือความรักประเภทใด ได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย
ศ.กิตติคุณ วิทิต กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องเร่งด่วนที่รัฐควรจะรับรองคือ การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศภาพ โดยไม่ต้องบังคับให้ผ่าตัดแปลงเพศหรือตัดอวัยวะ เพราะเป็นสิทธิส่วนบุคคลในร่างกายของบุคคลนั้นๆ แต่สิ่งที่ทุกคนและทุกองค์กรจะปรับตัวเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศได้ง่ายและมากที่สุด คือ ตัวอย่างเอกสารที่ต้องกรอก เป็นคำถามว่าจำเป็นหรือไม่ที่ต้องระบุเพศ และห้องน้ำที่เป็นการแบ่งแยกเพศ อาจจะไม่ต้องสสร้างห้องน้ำแยก แต่ปรับโดยการไม่มีการแบ่งแยก เป็นต้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage