องค์กรเครือข่าย LGBTQ+ เปิดร่าง พ.ร.บ.รับรองอัตลักษณ์ทางเพศ ยื่นเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้-'ชัชชาติ' ร่วมเดินขบวนหนุนความเสมอภาค ชี้ยอมรับความต่าง จุดเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตย ทำให้สังคมน่าอยู่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 องค์กรเครือข่ายด้านความหลากหลายทางเพศ ประกอบด้วย สมาคมบุคคลข้ามเพศแห่งประเทศไทย มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน และสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย จัดงานเปิดตัว ร่างพระราชบัญญัติรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ การแสดงออกทางเพศสภาพและคุณลักษณะทางเพศ พ.ศ.... TheGenderIdentity,GenderExpression,AndSexCharacteristicsAct.B.E. 256X (GEN-ACT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานเฉลิมฉลอง We All Pride Bangkok 2022 ครั้งที่ 1
นายกิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย และกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ กล่าวว่า สถานะบุคคลกำหนดโดยกฎหมาย ปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้มีเพียงสถานะชายหญิง กำหนดมาพร้อมสิทธิและหน้าที่ต่างๆ ตั้งแต่เกิดจนตาย ทำให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงบุคคลข้ามเพศไม่เข้าเกณฑ์กรอบเพศตามกฎหมาย ถูกเลือกปฏิบัติและกระทำความรุนแรงต่างๆ
ที่ผ่านมามีเพียง พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 คุ้มครองดูแลไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด จึงจำเป็นจะต้องมีร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อที่พยายามแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน ภายใต้หลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ผศ.อารยา สุขสม อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะกองเลขาคณะกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้มี 6 หมวด 29 มาตรา โดยมีสาระสำคัญ เช่น การให้สิทธิเด็ก 12-18 ปี ผูุ้ที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถยื่นขอเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้ แต่จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ปกครอง ผ่านคำวิจนิจฉัยศาล
สำหรับบุคคลอายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถยื่นขอเปลี่ยนคำนำหน้ากับนายทะเบียนได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องแปลงเพศมาก่อน พิจารณาภายใน 15 วัน พร้อมให้สิทธิการรักษาพยาบาล และวันลาหยุดการเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศ ทั้งนี้ ให้มีผลผูกพันกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ เกณฑ์ทหาร สมรส
รวมถึงบุคคลที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน (Intersex) ซึ่งอาจมองเห็นได้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเกิดหรือเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยเจริญพันธุ์ โดยให้สิทธิการเลือกเพศเอง โดยระบุเพศกรณีอื่น (Other/X) หากไม่สามารถระบุเพศได้ในกรณีของเด็กที่มีเพศสรีระมากกว่าหนึ่งแบบ
ทางด้าน ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์จากคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฯ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้จัดทำโดยภาคประชาชน และเป็นที่ยอมรับของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยขั้นตอนแรกคือการร่างพระราชบัญญัติ
โดยขั้นตอนจากนี้จะนำร่างกฎหมายไปประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น 4 ภูมิภาค เพื่อรับฟังความคิดเห็นนำมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ไม่เพียงแค่กลุ่ม LGBTQIA+ เท่านั้น
หลังจากนั้นจะเริ่มเข้าชื่อประชาชนเสนอร่างกฎหมายเข้าสภา พร้อมทำงานร่วมกับพรรคการเมือง ภาครัฐ นำร่างกฎหมายนี้ไปต่อยอด ทำเป็นร่างกฎหมายไปประกบเข้าสภาต่อไป
ภายในงานการแสดงโชว์ต่าง ๆ กล่าวถึงที่มาการจัดทำร่าง พร้อมแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ โดยผู้แทนภาครัฐจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และผู้แทนจากพรรคการเมือง เช่น ชมพูนุท นาครทรรพ ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ ส.ส. กทม. พรรคพลังประชารัฐ
นอกจากนี้ ยังได้มีกิจกรรมบอกเล่าประสบการณ์ปัญหาที่พบของกลุ่มบุคคลข้ามเพศ อาทิ เจินเจิน บุญสูงเนิน นักร้อง, ตุ้ม ปริญญา อดีตนักมวย, นก-ยลดา สวนยศ นักแสดง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากจบกิจกรรมเปิดตัว ร่าง พ.ร.บ.ฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมเดินขบวนบนถนน Walking Street สยามสแควร์ พร้อมร่วมปล่อยลูกโป่งสีรุ้งหลากสีสันกว่า 1,500 ลูก เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศ สนับสนุนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQIA+ ในกรุงเทพฯ ให้ได้รับการยอมรับผ่านความเข้าใจจาก กทม.ในฐานะหน่วยงานรัฐ รวมถึงประชาชนให้ได้รับการบริการอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจในความอ่อนไหวทางเพศ (gender sensitivity) และความเท่าเทียมทางเพศ
นายชัชชาติ กล่าวว่าสำหรับการจัดกิจกรรมในวันนี้คื อการเฉลิมฉลองเดือน มิ.ย. ซึ่งเป็นเดือนของ Pride Month ที่เราจะยอมรับความหลากหลายซึ่งความหลากหลายทางเพศก็เป็นมิติหนึ่ง เราก็ยอมรับความหลากหลายในแบบต่าง ๆ เช่น ความหลากหลายทางการเมือง ความเห็นต่าง เป็นเรื่องปกติที่เราจะยอมรับความแตกต่างในทุกเรื่อง คนเราก็มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันได้ ความคิดที่ไม่เหมือนกันได้ มันคือการแสดงออก ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ที่จะให้สังคมมองคนอื่นที่ไม่เหมือนกับเรา เพราะสังคมไม่ใช่มีแค่ศูนย์กับหนึ่ง แต่มันมีเฉดสีที่หลากหลายแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการยอมรับซึ่งกันและกันจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสามัคคีและมันจะสามารถขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ได้ด้วย
"การยอมรับความแตกต่าง ไม่เพียงเรื่องเพศ แต่มีเรื่องความคิด ก็จะทำให้สังคมเราน่าอยู่มากขึ้น หากเราเข้าใจกัน ความสามัคคีก็เกิด นี่จะเป็นจุดเริ่มต้น และอยากให้จัดทุกปี" นายชัชชาติ กล่าว
ทั้งนี้ กทม. มีโครงการนำร่องที่จะส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ และความเท่าเทียมกันเช่นเรื่องของการแต่งกาย โดยไม่ต้องแต่งตามเพศสภาพ สามารถแต่งได้ตามความรู้สึกโดยไม่มีการบังคับ การคัดเลือกต่าง ๆ ก็จะไม่มีการระบุเพศสภาพเพราะถ้าระบุเพศสภาพก็จะเกิดความไม่เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นเราจะเริ่มจากภายในหน่วยงานของเราก่อน
นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า เรื่องการให้บริการเราต้องให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ของเราว่าต้องยอมรับความแตกต่างและดูแลคนให้เท่าเทียมกัน เพราะฉะนั้นการปฏิบัติกับประชาชนก็ต้องไม่ให้แตกต่างกัน รวมถึงการดูแลด้านสาธารณสุข การให้คำปรึกษา ซึ่งบางทีอาจจะมีความต้องการให้มีฮอร์โมนพิเศษก็ต้องมีคลินิกตรงนี้เพิ่มเติม เราก็ต้องดูแลเขาเหมือนประชาชนทั่วไปที่มีความต้องการที่หลากหลาย
"ในส่วนของการผลักดัน พ.ร.บ.ส่งเสริมอัตลักษณ์ความหลากหลาย ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในวันนี้ เพราะสุดท้ายก็ต้องผ่านกระบวนการทางรัฐสภาโดยมีผู้แตกต่างไปให้ความเห็นเพื่อร่วมพิจารณาอีกทีหนึ่ง ซึ่งโดยหลักการแล้วถือเป็นเรื่องที่ดีที่ประชาชนร่วมกันเสนอเข้ามา แล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการปกติของระบอบของประชาธิปไตย เพื่อร่วมการปรับแก้ให้เหมาะสม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของระบอบประชาธิปไตยที่ดี" นายชัชชาติ กล่าว