"...การจัดงานเลี้ยงที่อ้างว่าเพื่อประชุมหารือการดําเนินงานโครงข่าย 3 จี ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มสําหรับคนจํานวน 30 ถึง 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหาย ...หากนําค่าใช้จ่าย จํานวน 731,473.01 บาท มาเฉลี่ยเป็นรายคนจะคิดเป็น ค่าใช้จ่ายจํานวนมากถึงคนละ 18,000 บาท ถึง 24,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสําหรับการเลี้ยงรับรองเพียง 1 ครั้ง...."
คดีดัง อดีตผู้บริหารบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทีโอที-พวก เบิกค่ารับรองเท็จประชุมร้านไวน์หรู ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำรายละเอียดคำพิพากษา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ที่ตัดสินลงโทษจำคุก นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทีโอที เป็นเวลา 5 ปี ส่วน นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย จำเลยที่ 2 อดีตผู้จัดการสำนักเลขานุการ คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที (ภรรยา นายดิสธร วัชโรทัย อดีตข้าราชการประจำสำนักพระราชวัง) ถูกศาลตัดสินลงโทษเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน แต่คำให้การของ นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ ตามป.อ.มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุก นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย กำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน พร้อมให้ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง 361,720.55 บาท
ในส่วนของคำฟ้องโจทก์ และ คำให้การต่อสู้คดี ของ จำเลยทั้ง 2 ราย ที่ปรากฏอยู่ในรายละเอียดคำพิพากษาคดีนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
- คุก5 ปี 'ยงยุทธ'อดีตบิ๊กTOTชดใช้ 3.6 แสน! บทเรียนคดีเบิกค่ารับรองเท็จประชุมร้านไวน์หรู
- มีลาภเสื่อมลาภ-มียศเสื่อมยศ! วิบากกรรม'คู่สามี-ภรรยา'วัชโรทัย โดนโทษคุกคดีอาญาคนละ2ปีเศษ
- คำพิพากษาคดีเบิกค่ารับรองเท็จประชุมร้านไวน์หรู (1) จัดเลี้ยงสังสรรค์อ้าง3จี-รมต.มาด้วย
- จำเลยเชื่อโดยสุจริตมีคุยงาน 4 ครั้ง! คำพิพากษาคดีเบิกค่ารับรองเท็จประชุมร้านไวน์หรู (2)
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาที่เหลือ คือ รายงานผลการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคำวินิจฉัยคดีของศาล
ปรากฎข้อมูลดังต่อไปนี้
ทางไต่สวนพยานหลักฐานจากการพิจารณาของศาล ประกอบรายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งคู่ความมิได้โต้แย้งคัดค้าน
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า บริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) ผู้ร้องมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจํากัด อยู่ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด
ผู้ร้องจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งทุนทั้งหมดหรือทุนเกินกว่าร้อยละห้าสิบเป็นของรัฐ
จําเลยทั้งสองเป็นพนักงานของผู้ร้อง โดยจําเลยที่ 1 มีตําแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ จําเลยที่ 2 มีตําแหน่งเป็นผู้จัดการสํานักงานเลขานุการคณะกรรมการบริษัท
จําเลยทั้งสองจึงเป็น “พนักงานตามความในมาตรา 3 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502
จําเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการสํานักเลขานุการคณะกรรมการบริษัท ได้ลงนามในเอกสารเรื่องขออนุมัติเบิกค่ารับรองในกิจการบริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) สําหรับค่าอาหารและเครื่องดื่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใช้บริการบริษัทเซลลาร์ อีเลฟเวน จํากัด (ร้านเซลลาร์ อีเลฟเว่น ไวน์ บาร์ แอนด์ บิสโทร) เสนอจําเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่อนุมัติเบิกค่ารับรองดังกล่าวรวม 4 ครั้ง เป็นเอกสาร รวม 4 ชุด คือ
(1) หนังสือเลขที่ ทีโอที ลษ./536 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ประชุมหารือในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 ตามใบแจ้งหนี้ / ใบวางบิล เลขที่ 2013060001 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เป็นเงินจํานวน 94,524.20 บาท
(2) หนังสือเลขที่ ทีโอที ลษ./540 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2556 ประชุมหารือในวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 ตามใบแจ้งหนี้/ใบวางบิล เลขที่ 2013060002 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เป็นเงินจํานวน 88,968.59 บาท
(3) หนังสือเลขที่ ทีโอที ลษ./550 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ประชุมหารือในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ตามใบแจ้งหนี้/ใบวางบิล เลขที่ 2013060003 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เป็นเงินจํานวน 369,752.46 บาท
และ (4) หนังสือเลขที่ ทีโอที ลษ./551 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2556 ประชุมหารือในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ตามใบแจ้งหนี้/ใบวางบิล เลขที่ 2013060004 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เป็นเงินจํานวน 178,227.76 บาท
และจําเลยที่ 1 ได้ลงนามอนุมัติให้เบิกจ่ายค่ารับรองทั้งสี่ครั้งตามที่จําเลยที่ 2 เสนอดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยก่อนว่า ฟ้องโจทก์ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่า จําเลยที่ 1 เป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์อย่างไร กับไม่ได้ระบุหรืออ้างองค์ประกอบความผิดว่า ใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่ผู้ร้องอย่างไรหรือไม่
@ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์
เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยที่ 1 ดํารงตําแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่มีหน้าที่บริหารกิจการของผู้ร้องตามภารกิจเป้าประสงค์และเป้าหมายที่คณะกรรมการบริษัทผู้ร้องกําหนด และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของผู้ร้อง
กับบรรยายฟ้องอีกว่าจําเลยที่ 2 เสนอเอกสารขออนุมัติเบิกจ่ายค่ารับรองแก่จําเลยที่ 1 เพื่ออนุมัติเบิกจ่ายค่ารับรองดังกล่าว
จึงเป็นการบรรยายฟ้องว่าจําเลยที่ 1 มีอํานาจหน้าที่ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ อนุมัติสั่งจ่ายเงินค่ารับรองได้ ซึ่งการอนุมัติค่ารับรองตามฟ้องเป็นกรณีการซื้ออาหาร เครื่องดื่มและบริการจากร้านอาหารตามใบวางบิลที่เสนอมา
ฟ้องโจทก์จึงเป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งแล้วว่า จําเลยที่ 1 มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ แล้ว
ส่วนการที่จําเลยที่ 1 อนุมัติเบิกจ่ายค่ารับรองนั้น หากเป็นการกระทําที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามฟ้องจริง ย่อมเป็นการใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่ผู้ร้องที่ต้องได้รับความเสียหายจากค่าใช้จ่ายซึ่งจําเลย ที่ 1 ได้อนุมัติไปโดยไม่ชอบดังกล่าวแล้วเช่นกัน
ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จําเลยทั้งสองกระทําความผิดตามฟ้องหรือไม่
โจทก์กล่าวอ้างว่าจําเลยที่ 1 อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่ารับรองการประชุมหารือเกี่ยวกับการดําเนินการโครงข่าย 3 จี ทั่วประเทศ รวม 4 ครั้ง คือ ในวันที่ 20, 25, 27 และ 31 พฤษภาคม 2556 ซึ่งการประชุมหารือทั้งสี่ครั้งดังกล่าวจัดขึ้นที่ร้านอาหาร เซลลาร์อีเลฟเว่น ไวน์ บาร์ แอนด์ บิสโทร (Celtar 90 Wine Bar & Bistro) ช่วงเวลาหลังเลิกงาน
แต่ปรากฏว่ามีการประชุมหารือจริงเพียง 1 ครั้ง คือวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังไม่ปรากฏเอกสารเชิญประชุมหรือวาระการประชุมหารือเรื่องการดําเนินงานที่ทําให้เกิดงานเลี้ยงรับรองดังกล่าวอีกด้วย และแม้จะมีการประชุมหารือจริงในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ก็ตาม
แต่การเบิกจ่ายค่ารับรองตามคําสั่ง บมจ.ทีโอที ที่ รง.5/2550 เรื่อง การเบิกจ่ายค่ารับรอง ซึ่งกําหนดคําจํากัดความ “ค่ารับรอง” หมายความว่า ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าที่พัก ค่าบริการ ค่าสิ่งของ ตลอดจนค่าใช้จ่ายตามธรรมเนียมประเพณีทางธุรกิจทั่วไป ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงในการรับรองลูกค้าหรือบุคคลภายนอก
แต่รัฐมนตรีที่มาประชุมในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอกที่จะอํานวยประโยชน์แก่หน่วยงาน
การอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารับรอง รวม 4 ครั้ง ตามฟ้อง จึงเป็นการอนุมัติที่ไม่ชอบนั้น เห็นว่าจากบันทึกคําให้การพยานในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวม 4 ปาก คือ นายมรกต เธียรมนตรี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานขายและบริการภาครัฐและภาคเอกชน นายประสิทธิ์ ศิริภากรณ์ กรรมการ นายกอบพงษ์ ตรีสุขี กรรมการ และนายอุดม พัวสกุล ประธานกรรมการ ให้ถ้อยคําไว้ในทํานองเดียวกันว่า พยานทั้งสี่ได้ไปร่วมงานประชุมหารือตามฟ้องในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 เพียงวันเดียว และในวันดังกล่าว มีนาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กับจําเลยที่ 1 ไปร่วมงานด้วย
ซึ่งสอดคล้องกับที่นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ให้ถ้อยคําต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. และจําเลยที่ 1 ให้การชั้นพิจารณาว่า ทั้งสองคนไปร่วมงานประชุมหารือเพียงวันเดียว คือ วันที่ 27 พฤษภาคม 2556
พยานอื่นนอกจากนี้ในสํานวนการไต่สวนไม่ปรากฏว่ามีใครไปงานประชุมหารือตามฟ้องอีก
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่ามีการจัดประชุมหารือการดําเนินงานโครงข่าย 3 จี ที่ร้านอาหารเซลลาร์อีเลฟเว่น ไวน์ บาร์ แอนด์ บิสโทร (Cellar 11 Wine Bar & Bistro) ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ซึ่งมีหลักฐานใบแจ้งหนี้ ใบวางบิลเป็นเงินจํานวน 369,752.46 บาท ตามฟ้องจริง
ส่วนการจัดประชุมหารืออีก 3 ครั้ง ในวันที่ 20, 25 และ 31 พฤษภาคม 2556 ตามฟ้องนั้น เห็นว่า จากบันทึกคําให้การพยานในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายอิทธิชัย เบญจธนสมบัติ เจ้าของร้านอาหารเซลลาร์ อีเลฟเว่น ไวน์ บาร์ แอนด์ บิสโทร (Cellar 11 Wine Bar & Bistro) ให้ถ้อยคําไว้ว่าประมาณเดือนพฤษภาคม 2556 (จําวันที่ไม่ได้) พนักงานของ บมจ.ทีโอทีไปจัดเลี้ยงที่ร้านอาหารของตน พยานมอบหมายพนักงานต้อนรับชื่อ “หญิง” ไม่ทราบชื่อสกุลจริง เป็นผู้ดูแลห้องจัดเลี้ยงโดยใช้ห้องจัดเลี้ยงด้านล่าง (ห้องใต้ดิน) มีผู้มาร่วมงานเลี้ยง 30 ถึง 40 คน มีนายอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารกับคณะมาในงานเลี้ยงด้วย
มีการสั่งอาหารรับประทานและสั่งเครื่องดื่มประเภทไวน์ราคาสูงจํานวนมาก
โดยพยานยืนยันว่ามีการจัดงานเลี้ยงที่ร้านอาหารของพยานเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นพยานทราบจากนายไพบูลย์ กาวิละ ผู้จัดการทั่วไปของร้านว่า มีพนักงานหญิงของ บมจ.ทีโอที แจ้งให้ทางร้านจัดทําใบเสร็จรับเงินแยกเป็น 4 ฉบับ ซึ่งมีพนักงานของร้าน (จําชื่อสกุลจริงไม่ได้) เป็นผู้ออก ใบเสร็จตามที่ได้รับแจ้งดังกล่าว
ในส่วนนี้จําเลยที่ 2 ให้การในชั้นพิจารณาตามคําให้การฉบับลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ว่า ช่วงเดือนมิถุนายน 2556 นายกอบพงษ์ กรรมการบริษัทเรียกให้จําเลยที่ 2 กับนางชนิสรา สุนทร ไปพบที่ห้องทํางาน และแจ้งให้จําเลยที่ 2 ช่วยเร่งดําเนินการเบิกจ่ายเงินค่ารับรองจากการประชุมหารือนอกสถานที่ และได้มอบเอกสารค่าอาหารและเครื่องดื่มเป็นจํานวนทั้งสิ้น 731,473.01 บาท
จําเลยที่ 2 แจ้งนายกอบพงษ์ว่าค่าอาหารและเครื่องดื่มเป็นจํานวนเงินที่สูงมากจะมีปัญหาในการเบิกจ่าย
นายกอบพงษ์แจ้งว่าจะเป็นผู้ประสานงานกับทางร้านเอง
@ กอบพงษ์ ตรีสุขี
และต่อมาจําเลยที่ 2 ก็ได้รับใบวางบิล รวม 4 ฉบับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ครั้งแรกนายกอบพงษ์นําใบวางบิลมาให้จําเลยที่ 2 เพียง 1 ฉบับ เป็นจํานวนเงิน รวม 731,473.01 บาท
จึงเป็นเหตุให้จําเลยที่ 2 ต้องแจ้งว่าเป็นจํานวนเงินที่สูงมากจะมีปัญหาในการเบิกจ่าย
ข้อเท็จจริงจากคําให้การของจําเลยที่ 2 จึงสอดคล้องกับบันทึกถ้อยคําของนายอิทธิชัย เจ้าของร้านอาหารดังกล่าวที่ยืนยันว่ามีการจัดงานเลี้ยงที่ร้านอาหารของพยานเพียงครั้งเดียว และมีพนักงานจาก บมจ.ทีโอที แจ้งให้พนักงานของร้านจัดทําใบวางบิลเป็น 4 ฉบับ
พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ว่า มีการจัดงานเลี้ยงเพื่อประชุมหารือที่ร้านอาหารเซลลาร์ อีเลฟเว่น ไวน์ บาร์แอนด์ บิสโทร (Cellar 11 Wine Bar & Bistro) ตามฟ้องโจทก์เฉพาะในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ตามใบแจ้งหนี้/ใบวางบิลเป็นเงิน 369,752.46 บาท เท่านั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการจัดงานเลี้ยงเพื่อประชุมหารือตามฟ้องเพียง 1 ครั้ง ดังกล่าว การที่จําเลยที่ 2 ลงนาม ในเอกสารขออนุมัติเบิกค่ารับรองซึ่งไม่มีการจัดเลี้ยงรับรองจริงอีก 3 ครั้ง ตามฟ้อง และจําเลยที่ 1 ลงนาม อนุมัติตามที่จําเลยที่ 2 เสนอ จึงเป็นการอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารับรองที่จําเลยทั้งสองทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการกระทําโดยมิชอบอันเป็นการเสียหายแก่ผู้เสียหายตามฟ้อง
สําหรับปัญหาว่าการประชุมหารือในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 เป็นการจัดเลี้ยงที่มีสิทธิเบิกค่ารับรองได้หรือไม่
เห็นว่า นางณัฏฐ์ณัชชา ไชยประเสริฐ ผู้กล่าวหาซึ่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานกฎหมายและบริหารผลประโยชน์ บมจ.ทีโอที และทําหน้าที่เป็นเลขานุการคณะกรรมการด้วย ให้ถ้อยคําในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนการเบิกจ่ายค่ารับรองของ บมจ.ทีโอทีว่าเป็นไปตามคําสั่ง บมจ.ทีโอที ที่ รง.5/2550 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 เรื่องการเบิกจ่ายเงินค่ารับรองซึ่งในข้อ 1. ให้คําจํากัดความคําว่า “ค่ารับรอง” หมายความว่า ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าที่พักค่าบริการ ค่าสิ่งของ ตลอดจนค่าใช้จ่ายตามธรรมเนียมประเพณีธุรกิจทั่วไป ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องโดยตรงในการรับรองลูกค้าหรือบุคคลภายนอก และบุคคลภายนอกคือบุคคลที่ไม่ใช่พนักงานของบริษัทแต่ต้องเกี่ยวข้องกับงานของบริษัท ซึ่งในทางปฏิบัติของบริษัทหากมีการประชุมพูดคุยหารือที่เกี่ยวกับงานของบริษัทแล้วมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมหารือด้วยก็สามารถเบิกจ่ายเงินค่ารับรองได้
กรณีกล่าวหานี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าร่วมด้วย ซึ่งรัฐมนตรีไม่เป็นลูกค้าแต่ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก และนายศรชัย ไกรนรา นักวิเคราะห์รัฐวิสาหกิจชํานาญการพิเศษ ให้ถ้อยคําไว้ในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่กํากับดูแล บมจ.ทีโอที ถือว่าเป็นบุคคลภายนอก
เนื่องจากตามคําสั่ง บมจ.ทีโอที ที่ รง.5/2550 ดังกล่าว กําหนดให้บุคคลซึ่งได้รับการรับรองต้องไม่ใช่คณะกรรมการ กรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือพนักงานและลูกจ้างของบมจ.ทีโอที ค่าใช้จ่ายที่จ่ายไปจึงสามารถเบิกค่ารับรองได้ และเมื่อพิจารณาคําสั่ง บมจ.ทีโอที ที่ รง.5/2550 ดังกล่าว ข้อ 2.1 ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลซึ่งได้รับการรับรองต้องไม่ใช่คณะกรรมการกรรมการผู้จัดการใหญ่ หรือพนักงาน เว้นแต่บุคคลดังกล่าวจะมีหน้าที่เข้าร่วมในการรับรองลูกค้าหรือบุคคลภายนอกด้วย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงมิใช่บุคคลที่ไม่สามารถเบิกค่ารับรองได้แต่อย่างใด
@ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที
ส่วนที่จําเลยที่ 1 ให้การว่า จําเลยที่ 1 ลงนาม อนุมัติเบิกจ่ายค่ารับรองไปโดยสุจริตและเชื่อว่ามีการประชุมหารือเลี้ยงรับรอง รวม 4 ครั้งจริง
จําเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารว่าถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่ เมื่อมีเอกสารขออนุมัติเบิกจ่ายกับใบวางบิลของร้านอาหารก็ถือว่าถูกต้องตามระเบียบปฏิบัติแล้ว
จําเลยที่ 1 มีอํานาจอนุมัติเบิกจ่ายค่ารับรองโดยไม่จํากัดวงเงินจึงไม่จําต้องแบ่งการเบิกจ่ายเป็น 4 ครั้ง นั้น
เห็นว่าแม้จําเลยที่ 1 จะมีอํานาจอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารับรองโดยไม่จํากัดวงเงินก็ตาม แต่ก็ต้องอยู่ในกรอบของความเหมาะสมของการใช้เงินงบประมาณตามภารกิจที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อผู้เสียหายด้วย
แต่การจัดงานเลี้ยงที่อ้างว่าเพื่อประชุมหารือการดําเนินงานโครงข่าย 3 จี ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการเลี้ยงอาหารและเครื่องดื่มสําหรับคนจํานวน 30 ถึง 40 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกรรมการและเจ้าหน้าที่ของผู้เสียหาย ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นบุคคลภายนอกที่เข้าร่วมประชุมเพียงครั้งเดียว
โดยไม่ปรากฏรายงานการประชุมและมติที่ประชุมที่ต้องให้ฝ่ายบริหารรับไปดําเนินการให้เกิดประโยชน์แก่หน่วยงานของผู้เสียหาย
จึงเชื่อว่ามิใช่เป็นการเลี้ยงรับรองบุคคลภายนอกหรือเป็นการประชุมเรื่องสําคัญอย่างแท้จริง และไม่เคยมีการเบิกค่ารับรองเป็นจํานวนเงินที่สูงมากเช่นนี้มาก่อน โดยหากนําค่าใช้จ่าย จํานวน 731,473.01 บาท มาเฉลี่ยเป็นรายคนจะคิดเป็น ค่าใช้จ่ายจํานวนมากถึงคนละ 18,000 บาท ถึง 24,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสําหรับการเลี้ยงรับรองเพียง 1 ครั้ง
แต่หากแบ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็น 4 ครั้ง จํานวนเงินที่เบิกจ่ายก็อาจจะอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ผิดปกติทั่วไป ซึ่งสอดคล้องกับคําให้การของจําเลยที่ 2 ข้างต้น ที่ว่านายกอบพงษ์มอบเอกสารค่าอาหารและเครื่องดื่มเป็นเงิน จํานวน 731,473.01 บาท
จําเลยที่ 2 แจ้งว่าเป็นจํานวนเงินที่สูงมากจะมีปัญหาในการเบิกจ่าย
อันเป็นการสนับสนุนว่าเหตุใด จําเลยที่ 1 จึงต้องอนุมัติการเบิกจ่ายค่ารับรองเป็น 4 ครั้ง ทั้ง ๆ ที่จําเลยที่ 1 มีอํานาจอนุมัติเบิกจ่ายเงินค่ารับรองได้โดยไม่จํากัดวงเงิน
ดังนั้น การที่ต้องแบ่งการเบิกจ่ายค่ารับรองเป็น 4 ครั้งย่อมแสดงให้เห็นได้ชัดว่าจําเลยทั้งสองทราบว่าเป็นการเลี้ยงรับรองที่ใช้เงินงบประมาณจํานวนที่สูงมากเกินกว่าที่จะก่อประโยชน์และผลดีต่อผู้ร้อง และเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจหน้าที่โดยทุจริต และเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้อง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามฟ้อง
นอกจากนี้ การเลี้ยงรับรองการประชุมหารือที่เสนอขออนุมัติเบิกจ่ายทั้งสี่ครั้งนั้น ระบุว่า มีนาวาเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไปร่วมงานทุกครั้ง
แต่ปรากฏว่านาวาเอกอนุดิษฐ์ให้ถ้อยคําในชั้นไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ไปร่วมงานเลี้ยงรับรองเพียงครั้งเดียวในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 และจําเลยที่ 1 ก็ไปร่วมงานเลี้ยงเพียงครั้งเดียวในวันเดียวกันกับนาวาเอกอนุดิษฐ์
ซึ่งหากมีการเชิญนาวาเอกอนุดิษฐ์ไปงานเลี้ยงประชุมหารืออีก 3 ครั้ง ตามฟ้องจริง ไม่น่าเชื่อว่าจําเลยที่ 1 จะไม่ไปร่วมงานเพื่อต้อนรับนาวาเอกอนุดิษฐ์ซึ่งเป็นถึงรัฐมนตรีที่กํากับดูแลโดยตรง
การที่จําเลยที่ 1 กล่าวอ้างลอย ๆ ว่าไม่มีใครแจ้งให้ไปร่วมงานหรือไม่มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสาร จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง
ส่วนจําเลยที่ 2 ที่ให้การว่าไม่ได้ไปร่วมงานเลี้ยงรับรองประชุมหารือตามฟ้อง แต่ได้รับใบวางบิล 4 ฉบับ จึงเชื่อโดยสุจริตว่ามีการเลี้ยงรับรองประชุมหารือ รวม 4 ครั้งจริง
ทั้งจําเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารใบวางบิลว่าถูกต้องหรือไม่นั้น เป็นการปฏิเสธความรับผิดตามหน้าที่โดยการกล่าวอ้างที่เลื่อนลอยจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังเช่นกัน
พฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ตามในพยานหลักฐานของโจทก์ว่า จําเลยที่ 1 อนุมัติให้เบิกจ่ายเงินค่ารับรองอีก 3 ครั้ง โดยมิได้มีการเลี้ยงรับรองที่ร้านอาหารจริงตามฟ้อง
การกระทําของจําเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้อง หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และเมื่อจําเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีอํานาจอนุมัติเบิกจ่ายเงินของผู้ร้องได้โดยไม่จํากัดวงเงิน จําเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานเป็นพนักงานที่มีหน้าที่ซื้อทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ผู้ร้องอีกกระทงหนึ่งด้วย
เมื่อการกระทําของจําเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่ผู้ร้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ซึ่งเป็นความผิดบทเฉพาะแล้ว
จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 11 ซึ่งเป็นความผิดบททั่วไปของพระราชบัญญัติเดียวกันอีก
ส่วนจําเลยที่ 2 ซึ่งลงนามในเอกสารขออนุมัติเบิกจ่ายค่ารับรองตามฟ้องโดยไม่มีการเลี้ยงรับรองที่ร้านอาหารอีก 3 ครั้ง จริง จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจําเลยที่ 1 ในการกระทําความผิดฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อํานาจในหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่ผู้ร้อง
สําหรับคดีในส่วนที่ผู้ร้องขอให้จําเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 เมื่อคดีฟังได้ว่าจําเลยที่ 1 จัดเลี้ยงและเบิกเงินค่ารับรองจริงเฉพาะในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 แต่กระทําความผิดในการอนุมัติเบิกจ่ายค่ารับรองที่ไม่มีการจัดเลี้ยงจริงอีก 3 ครั้ง คือในวันที่ 20, 25 และ 31 พฤษภาคม 2556 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 361,720.55 บาท
จําเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเฉพาะในจํานวนเงินดังกล่าวแก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี นับแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
@ คำพิพากษา
พิพากษาว่า จําเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 จําเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 8 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
จําคุกจําเลยที่ 1 มีกําหนด 5 ปี
จําคุกจําเลยที่ 2 มีกําหนด 3 ปี 4 เดือน
คําให้การของจําเลยที่ 2 เป็นประโยชน์การพิจารณาอยู่บ้างมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้จําเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม
คงจําคุกจําเลยที่ 2 มีกําหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน
กับให้จําเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องเป็นเงินจํานวน 361,720.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชําระเสร็จ
ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
*********
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสอง ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
แต่ไม่ว่าผลการพิจารณาคดีจะออกมาเป็นอย่างไร คดีนี้นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป