"...รายการอาหารที่สั่งมาในการประชุมดังกล่าวมีจํานวนมาก และมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไวน์ที่มีราคาแพง เช่น รายการ Buccella Cabernet Sauvignon 2007 ราคา 11,500 บาท, Hundred Acre Ark 2008 ราคา 27,500 บาท, Michel Couvreur ราคา 21,500 บาท เป็นต้น ซึ่งไม่เหมาะสมกับการประชุมเจรจาเรื่องธุรกิจโครงข่าย 3 จี ที่มีความสําคัญ และไม่เป็นการอํานวยประโยชน์แก่ผู้เสียหายตามเจตนารมณ์ในการเบิกจ่ายค่ารับรอง..."
คดีดัง อดีตผู้บริหารบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทีโอที-พวก เบิกค่ารับรองเท็จประชุมร้านไวน์หรู ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้เดินย้ำซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างในอนาคตอีกต่อไป
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาตัดสินคดีนี้ เป็นทางการ โดย ศาลฯ สั่งลงโทษจำคุก นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทีโอที เป็นเวลา 5 ปี
ส่วน นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย จำเลยที่ 2 อดีตผู้จัดการสำนักเลขานุการ คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที (ภรรยา นายดิสธร วัชโรทัย อดีตข้าราชการประจำสำนักพระราชวัง) ถูกศาลตัดสินลงโทษเป็นเวลา 3 ปี 4 เดือน
แต่คำให้การของ นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ลดโทษให้ ตามป.อ.มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม
คงจำคุก นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย กำหนด 2 ปี 2 เดือน 20 วัน
พร้อมให้ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้อง 361,720.55 บาท
อย่างไรก็ดี คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งสอง ยังมีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้ได้อีก
- คุก5 ปี 'ยงยุทธ'อดีตบิ๊กTOTชดใช้ 3.6 แสน! บทเรียนคดีเบิกค่ารับรองเท็จประชุมร้านไวน์หรู
- มีลาภเสื่อมลาภ-มียศเสื่อมยศ! วิบากกรรม'คู่สามี-ภรรยา'วัชโรทัย โดนโทษคุกคดีอาญาคนละ2ปีเศษ
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดคำพิพากษาฉบับเต็ม ในคดีนี้
อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง
นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ เป็นจำเลยที่ 1 , นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย เป็นจำเลยที่ 2
@ คำฟ้องโจทก์
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า บริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) เรียกย่อว่า บมจ.ทีโอที ผู้เสียหายมีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจํากัด อยู่ในสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีกระทรวงการคลังซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ผู้เสียหายจึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502
ขณะเกิดเหตุ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์ จําเลยที่ 1 เป็นพนักงานของผู้เสียหายดํารงตําแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ มีหน้าที่บริหารกิจการของผู้เสียหายตามภารกิจเป้าประสงค์และเป้าหมายที่คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที กําหนด ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา ตลอดจนต้องปฏิบัติตามนโยบายของมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ ข้อบังคับคําสั่งคณะกรรมการของ บมจ.ทีโอที รวมทั้งดําเนินงานอื่น ๆ ในทางที่จะก่อให้เกิดประโยชน์และผลดีต่อผู้เสียหายอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักบรรษัทภิบาล เป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานและลูกจ้างของผู้เสียหาย โดยต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบ ข้อบังคับ และกฎหมายที่กําหนดไว้ให้เป็นอํานาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ทั้งที่ใช้บังคับอยู่และใช้บังคับต่อไปในภายภาคหน้า รวมถึงการปฏิบัติตามคําสั่ง บมจ.ทีโอที ที่ 2๙/2546 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2546 และคําสั่ง บมจ.ทีโอที ที่ รง.5/2550
นางอุทัยรัตน์ วัชโรทัย จําเลยที่ 2 เป็นพนักงานของผู้เสียหายดํารงตําแหน่งผู้จัดการสํานักเลขานุการคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที มีอํานาจหน้าที่สนับสนุนการทําหน้าที่ด้านการประชุมให้แก่คณะกรรมการบริษัท บริหารจัดการงานประชุมผู้ถือหุ้นการประชุมคณะกรรมการบริษัทและการประชุมอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย
จําเลยทั้งสองเป็นบุคคลผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่น ซึ่งทุนทั้งหมดเป็นของรัฐโดยได้รับเงินเดือนและผลประโยชน์ตอบแทนจากหน่วยงานนั้น จําเลยทั้งสองจึงเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 และเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจกับเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
@จัดเลี้ยงร้านไวน์หรู -อ้างติดตามงาน 3จี แต่ไม่มีเอกสารเกี่ยวข้อง
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 เวลาประมาณ 19 นาฬิกา ผู้เสียหายจัดงานเลี้ยงที่ร้านอาหารเซลลาร์ อีเลฟเว่น ไวน์ บาร์ แอนด์ บิสโทร (CELLAR 11 Wine Bar & Bistro) โดยอ้างว่าเป็นการประชุมเพื่อติดตามงานเรื่องการวางโครงข่ายในระบบ 3 จี ทั่วประเทศของผู้เสียหาย แต่ไม่ปรากฏเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุม เช่น หนังสือเชิญประชุมหรือเอกสารวาระการประชุม
ทั้งรายการอาหารที่สั่งมาในการประชุมดังกล่าวมีจํานวนมาก และมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไวน์ที่มีราคาแพง เช่น รายการ Buccella Cabernet Sauvignon 2007 ราคา 11,500 บาท, Hundred Acre Ark 2008 ราคา 27,500 บาท, Michel Couvreur ราคา 21,500 บาท เป็นต้น ซึ่งไม่เหมาะสมกับการประชุมเจรจาเรื่องธุรกิจโครงข่าย 3 จี ที่มีความสําคัญ และไม่เป็นการอํานวยประโยชน์แก่ผู้เสียหายตามเจตนารมณ์ในการเบิกจ่ายค่ารับรอง
การประชุมในวันดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการเลี้ยงสังสรรค์เท่านั้น
การที่จําเลยที่ 1 เคยดํารงตําแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ และผู้บริหารระดับสูงในบริษัทผู้เสียหายมาแล้วหลายตําแหน่ง ย่อมต้องทราบว่าการเลี้ยงรับรองในกรณีดังกล่าวข้างต้นไม่สามารถเบิกค่ารับรองได้และแม้ว่าการประชุมในวันดังกล่าวจะมี นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในขณะนั้นเข้าร่วมด้วยก็ตาม
แต่นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ไม่ใช่ลูกค้าหรือบุคคลภายนอกที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทผู้เสียหาย จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการประชุมที่มีสิทธิเบิกค่ารับรองอันจะทําให้จําเลยที่ 1 มีอํานาจอนุมัติได้
@ นายยงยุทธ วัฒนสินธุ์
@ พฤติการณ์การกระทำความผิด
ระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน 2556 ถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2556 ต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลยทั้งสองซึ่งเป็นพนักงานและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีหน้าที่ดังกล่าวข้างต้น ได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมาย
คือ จําเลยที่ 2 ในฐานะผู้จัดการสํานักเลขานุการคณะกรรมการ บมจ.ทีโอที จัดทําเอกสารและลงนามขออนุมัติเบิกค่ารับรอง เสนอจําเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ อนุมัติเบิกค่ารับรองสําหรับการประชุมที่ไม่มีสิทธิเบิกค่ารับรองดังกล่าวข้างต้น
โดยจําเลยที่ 2 ทําหนังสือ ขออนุมัติเบิกค่าอาหารและเครื่องดื่มจากใบแจ้งหนี้ของร้านอาหารเซลลาร์ อีเลฟเว่น ไวน์ บาร์ แอนด์ บิสโทร (CELLAR 11 Wine Bar & Bistro) จํานวน 4 ฉบับ คือ
(1) หนังสือเลขที่ ทีโอที ลษ./536 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2556 เรื่องขออนุมัติเบิกค่ารับรองในกิจการบริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) สําหรับค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้บริการบริษัทเซลลาร์ อีเลฟเวน จํากัด ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 เป็นเงินจํานวน 94,524.20 บาท ตามใบแจ้งหนี้/ใบวางบิล เลขที่2013060001 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 ซึ่งในวันดังกล่าวไม่มีการประชุมหรือเลี้ยงรับรองเกิดขึ้นจริง
(2) หนังสือเลขที่ ทีโอที ลษ./540 ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2556 เรื่อง ขออนุมัติเบิกค่ารับรองในกิจการบริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) สําหรับค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้บริการบริษัท เซลลาร์ อีเลฟเวน จํากัด ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2556 ตามใบแจ้งหนี้/ใบวางบิล เลขที่ 2013060002 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เป็นเงินจํานวน 88,968.59 บาท ซึ่งในวันดังกล่าวไม่มีการประชุมหรือเลี้ยงรับรองเกิดขึ้นจริง
(3) หนังสือเลขที่ ทีโอที ลษ./550 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2556 เรื่อง ขออนุมัติเบิกค่ารับรองในกิจการบริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) สําหรับค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้บริการบริษัทเซลลาร์ อีเลฟเวน จํากัด ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 ตามใบแจ้งหนี้/ใบวางบิล เลขที่ 2013060003 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เป็นเงินจํานวน 369,752.46 บาท โดยในวันดังกล่าวมีการพบปะกันจริงแต่ไม่มีการประชุม
และ (4) หนังสือเลขที ทีโอที ลษ./551 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2556 เรื่องขออนุมัติเบิกค่ารับรองในกิจการบริษัท ทีโอที จํากัด (มหาชน) สําหรับค่าอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้บริการบริษัทเซลลาร์ อีเลฟเวน จํากัดในวันที่ 31 พฤษภาคม 2556 ตามใบแจ้งหนี้/ใบวางบิล เลขที่ 2013060004 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2556 เป็นเงินจํานวน 178,227.76 บาท ซึ่งในวันดังกล่าวไม่มีการประชุมหรือพบปะหารือกันจริง
การเบิกค่ารับรองทั้งสี่ฉบับดังกล่าว จําเลยที่ 2 ใช้รหัส (user password) ของจําเลยที่ 2 เข้าไปทํารายการในระบบสารบรรณ (E-Document) โดยใช้งบประมาณของสํานักงานกรรมการผู้จัดการใหญ่
หนังสือเรื่องการขออนุมัติเบิกค่ารับรองในกิจการของบริษัททีโอทีจํากัด (มหาชน) ทั้งสี่ฉบับข้างต้น ที่มีจําเลยที่ 2 เป็นผู้ลงนามเสนอจําเลยที่ 1 นั้นมีข้อความเหมือนกันทุกฉบับ ต่างกันเฉพาะวันที่ประชุมกับจํานวนเงินค่าอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น
โดยหนังสือทั้งสี่ฉบับดังกล่าวระบุว่ากรรมการ บมจ.ทีโอที (นายกอบพงษ์ ตรีสุขี) เป็นผู้กําหนดวัน เวลา และสถานที่ของการประชุมเป็น 4 วัน คือ วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 วันที่ 25 พฤษภาคม 2556 วันที่ 27 พฤษภาคม 2556 และวันที่ 31 พฤษภาคม 2556
แต่นายกอบพงษ์อ้างว่าเข้าร่วมงานเลี้ยงรับรองในวันที่ 27 พฤษภาคม 2556 เพียงวันเดียวเท่านั้น
ส่วนจําเลยที่ 2 อ้างว่าจําเลยที่ 1 เข้าร่วมประชุมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะกรรมการ บมจ.ทีโอที และส่วนงานที่เกี่ยวข้องด้วยทุกครั้ง
การพิจารณาอนุมัติเบิกจ่ายค่ารับรองทั้งสี่ฉบับดังกล่าว จําเลยที่ 1 รู้อยู่แล้วว่าไม่มีการประชุมในวันที่ 20, 25 และ 31 พฤษภาคม 2556 จึงไม่สามารถอนุมัติเบิกค่ารับรองได้
การกระทําของจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการ หรือรักษาทรัพย์ทั้งปวงของผู้เสียหายอนุมัติเบิกค่ารับรอง รวม 4 ครั้ง เป็นเงินจํานวนทั้งสิ้น 731,473.00 บาท จึงเป็นการใช้อํานาจหน้าที่โดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่ บมจ.ทีโอที ผู้เสียหาย และจําเลยที่ 1 เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต โดยมีจําเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนการกระทําความผิดดังกล่าว
เหตุตามฟ้องเกิดที่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา และแขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกันขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ. 2502 มาตรา 8 และมาตรา 11 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
ระหว่างพิจารณา บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) ผู้ร้องยื่นคําร้องอ้างว่า ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี บริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) ผู้เสียหาย ได้ควบรวมกับบริษัท กสท โทรคมนาคม จํากัด (มหาชน) จดทะเบียนเป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) ผู้ร้อง ทําให้บริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) ซึ่งถูกควบรวมนั้นหมดสภาพจากการเป็นนิติบุคคลและมีผลให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) รับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัททีโอที จํากัด (มหาชน) ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจํากัด พ.ศ. 2535 มาตรา 152 และ 153 ผู้ร้องจึงเป็นผู้เสียหายคดีนี้ และผู้ร้องขอให้จําเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายจากการกระทําความผิดตามฟ้องโจทก์เป็นเงินจํานวน 731,473.00 บาท แก่ผู้ร้อง พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคําร้อง (ยื่นคําร้องวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564) อัตราร้อยละ 3 ต่อปี หรืออัตราใหม่ที่กําหนดในพระราชกฤษฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 7 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชําระเสร็จแก่ผู้ร้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1
**************
สำหรับรายละเอียดคำพิพากษาคดีนี้ยังไม่จบ ยังมีข้อมูลในส่วนคำให้การต่อแย้งคดีของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รวมถึงข้อมูลรายงานการไต่สวนคดี และคำพิพากษาของศาลฯ อีกส่วนหนึ่ง
รายละเอียดเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จะขอมานำเสนอในตอนต่อไป
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ปรากฏชื่อ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที ในขณะนั้นเข้าไปร่วมประชุมด้วยนั้น
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2557 น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า ได้ไปร่วมประชุมติดตามระบบ 3 จี กับคณะกรรมการบริหาร ทีโอที ที่ร้าน"Cellar 11 Wine Bar&Bistro" ตามที่ปรากฎเป็นข่าวไปจริง แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดสถานที่จัดประชุม เพราะเป็นขั้นที่อยู่ในความรับผิดชอบของทีโอที ไม่ใช่กระทรวงไอซีที
"ผมไปร่วมประชุมกับบอร์ดทีโอทีจริง เท่าที่จำได้น่าจะประมาณ 1 ครั้ง ไปในฐานะแขกที่ถูกเชิญไปร่วมประชุมด้วย ส่วนขั้นตอนการดำเนินการอื่นๆ ผมไม่ทราบเรื่องด้วย ซึ่งในการประชุมดังกล่าว มีการพูดคุยเรื่องงานกัน จากนั้นก็มีกินข้าวร่วมกันและก็กลับบ้าน"
@ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีต รมว.ไอซีที
เมื่อถามย้ำว่า ถูกเชิญไปในฐานะแขกเข้าร่วมการประชุม น.อ.อนุดิษฐ์ ตอบว่า "สถานะของผมเป็นเพียงแค่แขกคนหนึ่งที่ถูกเชิญไปร่วมประชุมด้วย ส่วนทีโอที เป็นผู้ดูแลการจัดงาน เป็นผู้ดูแล ซึ่งผมไม่ได้เข้าไปมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนนั้นการเลือกสถานที่"
เมื่อถามว่า แต่ในหนังสือทำเรื่องเบิกจ่ายเงินการจัดประชุมนอกสถานที่ครั้งนี้ มีการอ้างว่าได้นโยบายจากรัฐมนตรี น.อ.อนุดิษฐ์ ตอบว่า "ผมไม่รู้ว่าเขาอ้างอิงถึงผมว่าอย่างไร เพราะเป็นเอกสารหลักฐานที่ทางทีโอที จัดทำขึ้น ผมไม่เคยเห็น แต่ยืนยันว่าผมมีฐานะเป็นเพียงแค่แขกคนหนึ่ง ที่ถูกเชิญให้ไปร่วมประชุมด้วยเท่านั้น ใครจะเอาคำพูดผมไปอ้างอิง เพื่อวัตถุประสงค์อะไรผมไม่ทราบ"
อ่านประกอบ :
- "ยงยุทธ"ปัดแจงปมจัดประชุมทีโอทีร้านไวน์หรู-อ้างหลักฐานถึงมือ สตง.แล้ว
- "พ.ต.อ.สุชาติ"ปัดรู้เห็นจัดประชุมทีโอทีร้านไวน์หรู- อยู่ร่วมงานแค่ 2 ชม.
- เลขาฯบอร์ดทีโอทีปัดให้ความเห็นปมชงอนุมัติงบประชุม"ร้านไวน์หรู"
- "บิ๊กอัยการ" เอาคืน! แฉผู้บริหารทีโอที จ้อง"ลักไก่"ประเคนคลื่นให้ "เอกชน
- รักษาการ "ปลัดไอซีที" พร้อมฟันทุจริตจัดประชุมบอร์ดทีโอที "ร้านไวน์หรู"
- สตง.ฮึม!เรียก"บิ๊กอัยการ" ให้ข้อมูลทุจริตประชุมบอร์ดทีโอที ร้านไวน์หรู
- เปิดหลักฐานเท็จ? ใบเสร็จสวาปามไวน์หรู 7 แสน อ้างประชุมบอร์ดทีโอที
- คำให้การ"บิ๊กอัยการ":ประชุม 3 จี"ทีโอที"ร้านไวน์หรู!ร้ายแรงกว่าตีกอล์ฟ
- อัยการ"ประสิทธิ์"ยันใช้เมมเบอร์ทีโอทีตีกอล์ฟ ยอดแค่ 4 แสน ไม่ถึง1.2 ล.
- อัยการ"ประสิทธิ์" ยันยื่นใบลาออกบอร์ดทีโอทีจริง ลั่น "ไม่อยู่ให้คนด่า"
- สตง.ย้ำทีโอทีส่งหลักฐานค่าใช้จ่ายเงินรับรอง"บิ๊กอัยการ"ตีกอล์ฟ 13 มิ.ย.
- สัมพันธ์ลึกธุรกิจ"อธิเบศร์-กอบพงศ์"ก่อนจองร้านไวน์หรูจัดประชุม3 จี ทีโอที
- สตง.ลุยตรวจเงินรับรอง "บอร์ดทีโอที"ยกชุด-ขยายผลค่าตีกอล์ฟ"บิ๊กอัยการ"
- "บิ๊กอัยการ"ไขก๊อกบอร์ดทีโอที หลังปมใช้เงินรับรองใน"คลับกอล์ฟ"หรู 1.2 ล.
- สหภาพฯ จี้"บอร์ดทีโอที"ลาออกใช้เงินฟุ่มเฟือย - ขู่เปิดข้อมูลทุจริตซ้ำ
- ลุยพิสูจน์ “Cellar 11” ร้านไวน์หรู สถานที่ประชุม 3 จี บอร์ดทีโอที ฉาว!
- สุดบังเอิญ! ปธ.บอร์ดทีโอที อบรมพระปกเกล้าฯ รุ่นเดียวหุ้นใหญ่ร้านไวน์หรู
- "อนุดิษฐ์" ปัดเอี่ยวเลือก"ร้านไวน์หรู" คนสกุลบอร์ดทีโอทีจัดประชุม 3 จี
- ใบเสร็จครบชุด"บิ๊กอัยการ"ใช้เงินรับรองทีโอทีใน"คลับกอล์ฟ"หรู 1.2 ล.
- หุ้นใหญ่"ร้านไวน์หรู"สถานที่ประชุม 3 จี นามสกุลเดียว“บิ๊กทีโอที”
- สั่ง"บิ๊กอัยการ" แจงปมใช้เงินรับรองกรรมการทีโอทีใน"คลับกอล์ฟ"หรู 1.2 ล.
- เปิดตัวร้านไวน์สุขุมวิท ผู้บริหาร ทีโอที ควักครึ่งล้าน จัดประชุมตามงาน 3 จี
- สหภาพฯปูดอีก!ทีโอทีควักหลายแสนจัดประชุมในร้านอาหารหรู -โยง"รมต."
- สหภาพทีโอทีร้อง สตง.สอบผู้บริหารใช้เงินใน "คลับกอล์ฟ" สุดหรู