"...เมื่อนำช่วงเวลาในการประกวดราคางานครั้งแรก ที่อยู่ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ไปเปรียบเทียบกับข้อมูล ประกาศเชิญชวนจัดทำคุณลักษณะเฉพาะสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ ของ รายการจ้างการตรวจสอบเครื่อง GT200 ที่อยู่ในช่วงพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564 จะพบว่า การประกวดราคาจ้างงานครั้งแรก เกิดขึ้นก่อนที่ประกาศเชิญชวนจะออกมาเกือบเดือนเศษ ..."
กรณี กองทัพบก ทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 2 ครั้ง รวม 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท
แยกเป็นครั้งแรกเดือนกันยายน 2564 จำนวน 320 เครื่อง วงเงิน 3,200,000 บาท ครั้งสอง จำนวน 437 เครื่อง วงเงิน 4,370,000 บาท ประกาศผลเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2565
อันนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องความคุ้มค่าในการใช้จ่ายเงินงบประมาณของกองทัพบกในเชิงลบอย่างมาก ดังเช่นคำถามของ นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ที่ระบุว่า "การเอาเงินภาษี 7,570,000 บาท ไปจ้างตรวจสอบกล่องพลาสติกเปล่าสีดำ ในราคาชิ้นละ 1 หมื่นบาท ทั้งหมด 757 ชิ้นเพื่ออะไร เพราะทั้งโลกรู้กันว่าข้างในไม่มีอะไร กระทรวงกลาโหมใช้งบได้ไร้สติสตางค์ขนาดนี้เลยหรือ ค่าแงะกล่องพลาสติกขันนอตตัวเล็กๆ 14 ตัว 1 หมื่นบาท"
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมานำเสนอให้สาธารณชนรับทราบอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
- เปิดหลักฐาน! กองทัพบกจ้างสวทช.ตรวจGT200 ทำตั้งแต่ช่วง ก.ย.64 รวมยอด 757เครื่อง7.57 ล.
- ใช้ประกอบการฟ้องเอกชนในศาลปกครอง! เปิดประกาศเชิญชวน-รายละเอียดกองทัพจ้างตรวจสอบ GT200
- ขมวดเงื่อนปม-ข้อสงสัย กองทัพบก จ้าง สวทช.ตรวจ GT200 เครื่องละ1หมื่น คุ้มค่าหรือ....?
- ฟังเหตุผลตั้งงบ 7 ล.ตรวจไม้ล้างป่าช้า - “จีที 200” ถึง “เรือเหี่ยว” สะเทือนกองทัพ
- เปิดคำพิพากษาจีที 200 กองทัพบก ชนะได้ชดใช้ 687ล. ผลตรวจสอบ 757 เครื่องสำคัญจริงหรือ?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบข้อสังเกตสำคัญเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการฯ นี้ ว่า เป็นการปฏิบัติตามระเบียบราชการหรือไม่
กล่าวคือ ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์กรรมสรรพาวุธทหารบก พบว่ามีการเผยแพร่ประกาศเชิญชวนจัดทำคุณลักษณะเฉพาะสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ ของ รายการจ้างการตรวจสอบเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) พร้อมแนบเอกสารรายละเอียดประกอบการจ้าง
มีการระบุชัดเจนในหัวข้อคุณลักษณะเฉพาะ ว่า เป็นการจ้างการตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องตรวจจับสารเสพติด อาวุธ และวัตถุระเบิด (GT200) เพื่อประกอบการดำเนินคดีศาลปกครอง กรณีฟ้องบริษัท เอวิเอ แซทคอม จำกัด เรื่องผิดสัญญาขอให้ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
เมื่อตรวจสอบข้อมูลวันเวลาในประกาศเชิญชวนดังกล่าว มีข้อมูลสำคัญ 2 ส่วนคือ
1. วันเวลาออกประกาศฉบับนี้ คือ 24 พ.ย.2564
2. มีการกำหนดให้ผู้ที่สนใจ ส่งข้อมูลภายในวันที่ 9 ธันวาคม 2564 (ดูเอกสารประกอบ)
ขณะที่ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบไปแล้วว่า กองทัพบก ทำสัญญาจ้าง มูลค่ารวม 7,570,000 บาท ให้ สวทช. ตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 2 ครั้ง รวม 757 เครื่อง ตกเครื่องละ 10,000 บาท
แยกเป็นครั้งแรกเดือนกันยายน 2564 จำนวน 320 เครื่อง วงเงิน 3,200,000 บาท ครั้งสอง จำนวน 437 เครื่อง วงเงิน 4,370,000 บาท ประกาศผลเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2565
โดยการประกวดราคาจ้างงานครั้งแรก จำนวน 320 เครื่อง วงเงิน 3,200,000 บาท ในฐานข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างกรมบัญชีกลาง เปิดเผยข้อมูล 3 ส่วน คือ
1. ประกาศราคากลาง ในตารางแสดงวงเงินงบประมาณ แบบ บก.06 ระบุว่า วันที่กำหนดราคากลาง คือ 21 กันยายน 2564
2. ประกาศกองทัพบก ให้สวทช. เป็นผู้รับการคัดเลือก ประกาศ ณ วันที่ 28 กันยายน 2564
3. ข้อมูลสาระสำคัญในสัญญา ระบุวันทำสัญญาจ้างงานวันที่ 29 กันยายน 2564 (ดูข้อมูลประกอบ)
เมื่อนำช่วงเวลาในการประกวดราคางานครั้งแรก ที่อยู่ในช่วงเดือนกันยายน 2564 ไปเปรียบเทียบกับข้อมูล ประกาศเชิญชวนจัดทำคุณลักษณะเฉพาะสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ ของ รายการจ้างการตรวจสอบเครื่อง GT200 ที่อยู่ในช่วงพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564
จะพบว่า การประกวดราคาจ้างงานครั้งแรก เกิดขึ้นก่อนที่ประกาศเชิญชวนจะออกมาเกือบเดือนเศษ
เมื่อสำนักข่าวอิศรา ย้อนกลับไปตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์กรรมสรรพาวุธทหารบก เพื่อดูข้อมูลการประกาศเชิญชวนจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวกับงานตรวจสอบเครื่องจีที 200 ฉบับอื่น ๆ อีกครั้ง ก็ไม่พบว่ามีการประกาศเชิญชวนเรื่องนี้อีก
จากข้อมูลที่ตรวจสอบพบล่าสุด ทำให้มีคำถามสำคัญเกิดขึ้นว่า
1. ประกาศเชิญชวนจัดทำคุณลักษณะเฉพาะสิ่งอุปกรณ์สายสรรพาวุธ ของ รายการจ้างการตรวจสอบเครื่อง GT200 ที่อยู่ในช่วงเวลาเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2564 เป็นประกาศเชิญชวนงานจัดซื้อจัดจ้าง ครั้งแรก เดือนกันยายน 2564 จำนวน 320 เครื่อง วงเงิน 3,200,000 บาท หรืองานจัดซื้อจัดจ้าง ครั้งสอง จำนวน 437 เครื่อง วงเงิน 4,370,000 บาท ประกาศผลเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2565
2. ถ้าหากเป็นประกาศเชิญชวนการจัดซื้อจัดจ้างครั้งสอง ทำไมถึงไม่มีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับงานครั้งที่สองเอาไว้?
3. หากเป็นการประกาศเชิญชวน การจัดซื้อจัดจ้างครั้งแรก ทำไม่ถึงมีการประกาศหลังจากที่มีการจัดซื้อจัดจ้างงานไปแล้ว? และการดำเนินการลักษณะดังกล่าว เป็นไปตามระเบียบราชการหรือไม่?
ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงต้องรอผู้มีส่วนเกี่ยวข้องออกมาชี้แจงทำความจริงให้ปรากฏต่อสาธารณะอีกครั้ง