"...นายอร่าม ศิริพันธุ์ กระทำการปลอมผลสอบ ใช้ยางลบลบกระดาษคำตอบเดิมออกแล้วดำเนินการใช้ดินสอดำฝนคำตอบใหม่แทน ทำให้ผลคะแนนสอบที่ได้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง รับเรียกเงินจากนายวรวิทย์ ปักกาโล อดีตนายก อบต. กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม จำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทน จำนวนเงิน 3,302,678 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนในการดำเนินการช่วยเหลือ..."
กรณีการทุจริตเรียกรับเงินและแก้ไขเปลี่ยนแปลงผลคะแนนเพื่อช่วยเหลือผู้สมัครสอบบางรายให้เป็นผู้สอบได้ในการสอบแข่งขันบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม พ.ศ.2557 นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เป็นคดีทุจริตใหญ่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน ล่าสุดศาลมีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุกจำเลยจำนวนมากนับสิบราย บทลงโทษจำคุกนับร้อยนับสิบปี โดยเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 มีคำพิพากษาตัดสินลงโทษจำคุกจำเลย ในกลุ่มของ นายวรวิทย์ ปักกาโล เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และพวก จำนวน 37 ราย
หนึ่งในจำเลยกลุ่มนี้ คือ นายอร่าม ศิริพันธุ์ หัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจำเลยที่ 37 ถูกศาลตัดสินลงโทษรวม 14 กระทง เป็นจำคุก 140 ปี ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 70 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3)
- คดีสอบบรรจุพนง.ตำบลสารคาม 'อดีตนายก อบต.กู่สันตรัตน์-หน.ภาควิชาจุฬา' โดนคุกคนละ140 ปี
- กลุ่มที่ 2! คดีสอบบรรจุพนง.ตำบลสารคาม โดนคุกครบ29ราย อดีตนายกฯลาดพัฒนาอ่วม 21 ปี 6 ด.
- กลุ่ม3! คดีสอบบรรจุพนง.ตำบลสารคาม คุก100ปี อดีตนายกอบต.หนองกุง -พวกนับสิบโดนคนละหลายปี
ข้อมูลสำคัญที่ยังไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นทางการ คือ พฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายอร่าม ศิริพันธุ์ ในคดีนี้ เป็นอย่างไร
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นคำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ในตัดสินคดีนี้ เรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ นายอร่าม ศิริพันธุ์ อดีตหัวหน้าภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
@ สถานะจำเลยในคดี
ในคำพิพากษาระบุว่า นายอร่าม ศิริพันธุ์ เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามสัญญาปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย และได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากคณะรัฐศาสตร์ ตามคำสั่งที่ 72 /2557 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลของ อบต. ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 12 แห่ง รวมถึง อบต.กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม โดยแต่งตั้งนายอร่าม ให้เป็นคณะกรรมการออกข้อสอบ คณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ คณะกรรมการตรวจข้อสอบ คณะกรรมการประมวลผลคะแนน มีหน้าที่ดำเนินการประมวลผลข้อสอบ ดำเนินการจัดส่งผลการประมวลผลคะแนนให้แก่ อบต.ในจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 12 แห่ง เพื่อนำไปประกาศผลสอบต่อไป และเป็นหัวหน้าคณะกรรมการดำเนินการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำยลขของอบต. จำนวน 12 แห่ง มีหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินการโดยทั่วไป ให้ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย
นายอร่าม ศิริพันธุ์ จึงมีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 192
@ พฤติการณ์การกระทำความผิด
นายอร่าม ศิริพันธุ์ ถูกระบุว่าเป็นผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุน นายวรวิทย์ ปักกาโล อดีตนายก อบต. กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม จำเลยที่ 1 ในการเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน จากผู้เข้าสอบแข่งขันเป็นการตอบแทนในการช่วยเหลือหลายกรรมต่างกรรมต่างวาระกัน ให้สามารถผ่านการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุแต่งตั้นบุคคลเป็นเข้ารับราชการเป็นพนักงานส่วนตำบล ในการจัดทำคะแนนสอบ สำหรับภาคความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) และภาคความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข.) กระทำการแก้ไขผลสอบ จากที่ได้คะแนนสอบทั้งสองภาค ไม่ถึงร้อยละ 60 เป็นให้ผลคะแนนสอบทั้งสองภาคดังกล่าว ได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้
โดยนายอร่าม ศิริพันธุ์ กระทำการปลอมผลสอบ ใช้ยางลบลบกระดาษคำตอบเดิมออกแล้วดำเนินการใช้ดินสอดำฝนคำตอบใหม่แทน ทำให้ผลคะแนนสอบที่ได้ไม่ตรงต่อความเป็นจริง รับเรียกเงินจากนายวรวิทย์ ปักกาโล อดีตนายก อบต. กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม จำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทน จำนวนเงิน 3,302,678 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนในการดำเนินการช่วยเหลือ
ในคำพิพากษายังระบุด้วยว่า นางสมจิตร บุญศร หรือรัตนพลที อดีตรองปลัด อบต. หนองเรือ อ.นาเชือก จำเลยที่ 38 ซึ่งเป็นภรรยาของพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร อดีตนายก อบต.หนองเรือ อ.นาเชือก จำเลยที่ 3 ได้รับมอบเงินจาก พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเงินบางส่วนของค่าตอบแทน ในการที่ นายอร่าม ศิริพันธุ์ จะช่วยเหลือในการปลอมผลคะแนนสอบ จำนวน 2,302,674 บาท (จำนวนเต็ม 3,302,678) แล้วนำเงินจำนวนดังกล่าว ส่งมอบให้โดยวิธีฝากธนาคารรวม 2 ครั้ง ครั้งแรก 1 ล้านบาท ครั้ง 2 จำนวน 1,302,678 บาท เงินที่เหลืออีก 1ล้านบาท พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 ได้นำไปมอบให้นายอร่าม ศิริพันธุ์ ในขณะพักรักษาตัวอยู่ที่ รพ.จุฬา เป็นเหตุให้ อบต.กู่สันต์รัตน์ ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยที่ 3 และ 38 จึงเป็นผู้ร่วมกันสนับสนุนพนักงานเรียก รับหรือยอมรจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบด้วย
@ คำให้การต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง
ขณะที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ ให้ปากคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดมหาสารคามว่า ในเบื้องต้น ได้รับการติดต่อทางโทรศัพท์จาก พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร อดีตนายก อบต.หนองเรือ อ.นาเชือก จำเลยที่ 3 อ้างว่าเห็นชื่อของตน ในเอกสารขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนพะยอมจังหวัดขอนแก่น
จากนั้นพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร ได้เดินทางไปพบ นายอร่าม ศิริพันธุ์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอผลประโยชน์แก่นายอร่าม ศิริพันธุ์ หากตกลงจะช่วยเหลือเกี่ยวกับการดำเนินการสอบให้ผลออกมาเป็นไปตามที่พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร กับพวกต้องการ เป็นจำนวนเงินสามล้านบาทเศษ โดยกำหนดเป็นอัตราว่าคนสอบได้คนละ 50,000 บาท ลำดับถัดไปคนละ10,000 บาท
ต่อจากนั้น พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร ได้นัดหมายกับนายอร่าม ศิริพันธุ์ ว่าจะพานายกองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม จำนวน 12 แห่ง มาพบเพื่อให้นายกองค์การบริหารส่วนตำบลทั้ง 12 แห่ง ได้เกิดความมั่นใจว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะรับเป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการ
นายอร่าม ศิริพันธุ์ เห็นตรงตามที่พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร ไปบอกกล่าวแก่นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่ง อันเป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จะไม่บิดพลิ้วเรียกรับผลประโยชน์ไว้เป็นของส่วนตน
จากนั้นก็เข้าสู่กระบวนการจัดสอบทั่วไป หลังจากสอบเสร็จนายอร่าม ศิริพันธุ์ ได้นำกระดาษคำตอบไปที่ศูนย์ประมวลผลฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการตรวจด้วยเครื่องของศูนย์ประมวลผลฯ ผลการตรวจเท่าที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ จำได้ไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 60 เลย นายอร่าม ศิริพันธุ์ จึงดำเนินการจัดทำผลคะแนนขึ้นมาอีกชุดหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกับผลคะแนนจากการตรวจของเครื่อง แล้วดำเนินการจัดส่งให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่ง เพื่อนำไปประกาศผลผู้สอบได้ของแต่ละองค์การบริหารส่วนตำบลต่อไป
ต่อมาจังหวัดมหาสารคามโดยคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้มีหนังสือและมอบหมายให้ท้องถิ่นจังหวัดมหาสารคามเดินทางมาขอข้อสอบภาค ก และภาค ข พร้อมเฉลยและสำเนากระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบแต่ละรายขององค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่ง
นายอร่าม ศิริพันธุ์ เกรงว่าคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจะทราบผลคะแนนที่ส่งให้องค์การบริหารส่วนตำบลกับข้อเท็จจริงคะแนนที่ปรากฏในกระดาษคำตอบของผู้สอบแต่ละคนจะไม่ตรงกัน
นายอร่าม ศิริพันธุ์ จึงนำกระดาษคำตอบฉบับจริงทั้งหมดที่เก็บรักษาไว้มาดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำตอบของผู้เข้าสอบแต่ละราย โดยการใช้ยางลบแล้วใช้ดินสอฝนใหม่เพื่อให้คะแนนในกระดาษคำตอบตรงกับผลที่ส่งให้แก่องค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่งไปประกาศผล
แต่เนื่องจากระยะเวลาดำเนินการมีจำกัด เพราะจะต้องรีบส่งมอบเอกสารให้แก่จังหวัดมหาสารคามทำให้การแก้ไขกระดาษคำตอบดังกล่าวมีพิรุธและข้อบกพร่องมากมาย ซึ่งนายอร่าม ศิริพันธุ์ ก็ทราบเป็นอย่างดี แต่จำเป็นต้องปิดบังเอาไว้เพราะเกรงความผิด
นายอร่าม ศิริพันธุ์ ยืนยันเคยพบและรู้จักพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร เนื่องจากเป็นผู้มาติดต่อและเสนอผลประโยชน์ตอบแทนให้ดำเนินการช่วยเหลือในการสอบครั้งนี้ให้ผลปรากฏตามที่พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร กับพวกซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่ง ต้องการ
โดยพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร มาพบที่ห้องทำงานและเคยไปที่บ้านแต่ไม่พบกัน พบแต่น้องชายของตนทั้งเคยไปเยี่ยมตนขณะป่วยโรคถุงน้ำดีอักเสบถึง 2 ครั้ง
ศาลฯ เห็นว่า นายอร่าม ศิริพันธุ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการสอบแข่งขันขององค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 12 แห่ง รวมทั้งองค์การบริหารส่วนตำบลกู่สันตรัตน์ รู้เห็นเหตุการณ์และบุคคลที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้น ข้อเท็จจริงที่ให้ถ้อยคำเป็นไปตามเหตุและผลที่เกิดขึ้นทั้งไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับนายวรวิทย์ ปักกาโล อดีตนายก อบต. กู่สันตรัตน์ อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม จำเลยที่ 1 และพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 มาก่อน
จึงเชื่อว่า นายอร่าม ศิริพันธุ์ ให้ถ้อยคำตามความจริงไม่แกล้งปรักปรำนายวรวิทย์ ปักกาโล จำเลยที่ 1 พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 หรือบุคคลอื่น
ส่วนในประเด็นเรื่องที่พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 โทรศัพท์ติดต่อกับนายอร่าม ศิริพันธุ์ อ้างว่าเห็นชื่อ ในเอกสารขององค์การบริหารส่วนตำบลโนนพะยอม จากนั้นพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร ได้เดินทางไปพบนายอร่าม ศิริพันธุ์ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น
สอดคล้องเกี่ยวโยงกับข้อเท็จจริงที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ ให้ถ้อยคำว่าพบนายสมพร กองกะมุด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนพะยอม ครั้งแรกเมื่อครั้งที่องค์การบริหารส่วนตำบลโนนพะยอม จะทำการเปิดสอบสอบแข่งชันเพื่อบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ นายอร่าม ศิริพันธุ์ ไปนำเสนอแผนงานกระบวนการในการจัดสอบแข่งขัน เนื่องจากองค์การบริหารส่วนตำบลโนนพะยอมมีหนังสือประสานขอความร่วมมือให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบ
และข้อเท็จจริงที่นายสมพร กองกะมุด นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนพะยอม ให้ถ้อยคำว่ารู้จักพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร เนื่องจากพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร ทราบว่านายสมพรกำลังจะเปิดสอบแข่งขันและอยู่ระหว่างการประสานหน่วยงานกลางในการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นพนักงานส่วนตำบลในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลโนนพะยอม
พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จึงติดต่อมายังนายสมพรเพื่อขอคำแนะนำและขอนัดพบกัน ในวันดังกล่าวนายสมพรกับพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร ไปพบและพูดคุยกันที่ร้านโสเจ้ง ภายในตัวอำเภอบ้านไผ่ พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร สอบถามเกี่ยวกับการใช้จุฬาลงกรณ์เป็นหน่วยงานกลางในการจัดสอบแข่งขันว่าต้องดำเนินการอย่างไรและติดต่อผ่านใคร
ในวันต่อมาพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร โทรศัพท์ถึงนายสมพร แจ้งว่าพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร เดินทางไปถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้วขอทราบเลขหนังสือที่นายสมพรได้มีไปถึงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อขอความอนุเคราะห์เป็นหน่วยงานกลางในการสอบแข่งขัน ซึ่งแสดงว่าพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร โทรศัพท์ติดต่อกับนายอร่าม ศิริพันธุ์ และไปพบนายอร่าม ศิริพันธุ์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจริง
ข้อเท็จจริงที่าพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 ให้ถ้อยคำไว้สอดคล้องกับผลประโยชน์ตอบแทนที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ จำเลยที่ 37 ได้รับ โดยปรากฏหลักฐานว่าเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2557 นางสมจิตร บุญศร หรือรัตนพลที อดีตรองปลัด อบต. หนองเรือ อ.นาเชือก จำเลยที่ 38 (เป็นภรรยาของพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร อดีตนายก อบต.หนองเรือ อ.นาเชือก จำเลยที่ 3) ลงลายมือชื่อผู้นำฝากเงินจำนวน 1,000,000 บาท ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเสริมไทยคอมเพล็กซ์ (มหาสารคาม) เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาวิสุทธิกษัตริย์ ของนายอร่าม ศิริพันธุ์ และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2557 นางสมจิตร บุญศร หรือรัตนพลที จำเลยที่ 38 ลงลายมือชื่อผู้นำฝากเงินจำนวน 1,302,678 บาท ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาเสริมไทย คอมเพล็กซ์ (มหาสารคาม) เข้าบัญชีงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสภากาชาดไทย ของนายอร่าม ศิริพันธุ์ โดยลายมือชื่อผู้นำฝากในใบรับรองรายการฝากทั้งสองฉบับเป็นลายมือชื่อของนางสมจิตร บุญศร หรือรัตนพลที จำเลยที่ 38
นอกจากนั้น นางเยาวลักษณ์ ศิริพันธ์ ภรรยาของนายอร่าม ศิริพันธุ์ ให้ปากคำตามบันทึกปากคำ ว่าเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 พยานนำเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท ไปฝากเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสภากาชาดไทยของนายอร่าม ศิริพันธุ์ เงินสดดังกล่าวพยานได้รับมาจากนายอร่าม ศิริพันธุ์ ขณะที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ นอนพักรักษาตัวด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ซึ่งอยู่ติดกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสภากาชาไทย
โดยมีสำเนาใบรายการฝากและสำเนาใบแจ้งรายการบัญชีออมทรัพย์ในสำนวนการไต่สวน เป็นหลักฐานซึ่งสอดคล้องเกี่ยวโยงกับข้อเท็จจริงที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ ให้ปากคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจังหวัดมหาสารคามว่าพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 เคยไปเยี่ยมตนขณะป่วยโรคถุงน้ำดีอักเสบถึง 2 ครั้ง
จึงรับฟังได้ว่าในขณะที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ อนพักรักษาตัวด้วยโรคถุงน้ำดีอักเสบอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 ไปเยี่ยมและมอบเงินสด จำนวน 1,000000 บาท ให้แก่นายอร่าม ศิริพันธุ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 นางเยาวลักษณ์ ศิริพันธ์ ภรรยาของนายอร่าม ศิริพันธุ์ นำเงินสดจำนวน 1,000,000 บาท จากนายอร่าม ศิริพันธุ์ ไปฝากเข้าบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสภากาชาดไทยของนายอร่าม ศิริพันธุ์
@ คำให้การพยานมัด
ในเรื่องที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ ทำการแก้ไขผลคะแนนและกระดาษคำตอบนั้น นาง ธ. พยานโจทก็เบิกความยืนยันข้อเท็จจริง ว่าพยานหรือบุคคลใกล้ชิดไม่ได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลใดไม่มีบุคคลใดเรียกรับเงินจากพยานเพื่อช่วยเหลือให้พยานสอบผ่านและได้ขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้ พยานสมัครสอบตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน ระดับ 3 และสอบไม่ผ่านโดยไม่มีการแก้ไขคะแนน ผลการสอบภาค ก ได้ 53 คะแนน ภาค ข ได้ 52 คะแนน และประกาศผลการสอบภาค ก และภาค ข ตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน ระดับ 3 นาง ก. เบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามบันทึกปากคำ ว่าพยานหรือบุคคลใกล้ชิดไม่ได้จ่ายเงินให้แก่บุคคลใด ไม่มีบุคคลใด เรียกรับเงินจากพยานเพื่อช่วยเหลือให้พยานสอบผ่านและได้ขึ้นบัญชีเป็นผู้สอบแข่งขันได้พยานสมัครสอบตำแหน่งนักพัฒนาชุมชน ระดับ 3 และสอบไม่ผ่านโดยไม่มีการแก้ไขคะแนน
ขณะที่ พยานโจทก์ หลายปาก เบิกความยืนยัน ว่าพยานได้จ่ายเงินเพื่อให้ตนเองเป็นผู้สอบแข่งขันได้สอดคล้องกับภาพสแกนกระดาษคำตอบในสำนวนการไต่สวน
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงว่า นายอร่าม ศิริพันธุ์ ทำการแก้ไขผลคะแนนและกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบเฉพาะที่จ่ายเงินจากสอบตกเป็นสอบผ่านการที่นายอร่าม ศิริพันธุ์ ไม่ทำการแก้ไขผลคะแนนและกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบที่ไม่จ่ายเงินแต่ทำการแก้ไขผลคะแนนและกระดาษคำตอบเฉพาะของผู้เข้าสอบที่จ่ายเงิน
บ่งชี้ว่านายอร่าม ศิริพันธุ์ ได้รับข้อมูลรายชื่อผู้ที่จ่ายเงินจากองค์การบริหารส่วนตำบลที่เปิดสอบ
เมื่อปรากฎว่า พันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 เป็นผู้ติดต่อประสานงานกับนายอร่าม ศิริพันธุ์ จำเลยที่ 37 จึงเชื่อว่านายอร่าม ศิริพันธุ์ ได้รับข้อมูลดังกล่าวมาจากพันจ่าเอกคมสันต์ บุญศร
@ คำพิพากษาศาล
การกระทำของนายอร่าม ศิริพันธุ์ จำเลยที่ 37 ในกรณีนี้จึงเป็นความผิดฐานพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลสันตรัตน์ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานพนักงานกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในหน้าที่ โดยเห็นแก่ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดซึ่งตนได้เรียก รับ หรือยอมจะรับไว้ก่อนที่ตนได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานในหน้าที่นั้นและฐานเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 11 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 ประกอบมาตรา 192 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
โดยมีนายวรวิทย์ ปักกาโล จำเลยที่ 1 พันจ่าเอก คมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 และนางสมจิตร บุญศร หรือรัตนพลที จำเลยที่ 38 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าว
ศาลฯ พิพากษา นายอร่าม ศิริพันธุ์ จำเลยที่ 37 ให้ลงโทษรวม 14 กระทง เป็นจำคุก 140 ปี ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 70 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3)
ให้ลงโทษนายวรวิทย์ ปักกาโล จำเลยที่ 1 รวม 14 กระทง เป็นจำคุก 140 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว ให้จำคุก 50 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 91 (3)
ส่วน พันจ่าเอก คมสันต์ บุญศร จำเลยที่ 3 และ นางสมจิตร บุญศร หรือรัตนพลที ที่ 38 ให้ลงโทษคุก คนละ 6 ปี 8 เดือน รวม 14 กระทง เป็นจำคุกคนละ 84 ปี 112 เตือน เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วให้จำคุกคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3)
ทั้งหมด คือ พฤติการณ์การกระทำความผิดของ นายอร่าม ศิริพันธุ์ และผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้
ขณะที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา ได้ติดต่อไปยัง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับ นายอร่าม ศิริพันธุ์ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่รายหนึ่ง ว่า นายอร่าม ศิริพันธุ์ ออกไปนานแล้ว
อย่างไรก็ดี สำนักข่าวอิศรา รายงานไปแล้วว่า คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด จำเลยทั้งหมด มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
แต่ผลการพิจารณาคดีที่ออกมา นับเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า กรณีทุจริตในการสอบแข่งขันบุคคลเพื่อบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบล เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาสำคัญ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้ใครเดินซ้ำรอยเอาเป็นเยี่ยงอย่างชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง