"...ประเด็นเรื่องการสูบ นายศุภชัย อธิบายด้วยความเห็นส่วนตัวว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่การสูบในที่สาธารณะน่าจะถูกควบคุมโดยกฎหมายตัวอื่น เช่นเดียวกับบุหรี่ รวมถึงยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์การสูบในที่สาธารณะ..."
นับถอยหลัง 9 มิ.ย.2565 ประเทศไทยจะเข้าสู่ปรากฎการณ์ ‘กัญชาเสรี’ หลังครบกำหนด 120 วันตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ถอดกัญชากัญชง ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2565
ส่งผลให้ทุกส่วนของ ‘กัญชา’ ไม่ว่าจะเป็น ช่ออ ดอก ใบ กิ่ง ก้าน ลำต้น เมล็ด หรือแม้แต่ราก ไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป เหลือเพียงแต่สารสกัด ที่มีค่า THC เกิน 0.2% เท่านั้นที่ยังเป็นยาเสพติดประเภท 5
เหลือเวลาอีก 30 วันก่อนที่กฎหมายใช้บังคับ ซึ่งเป็น ‘รอยต่อ’ สำคัญที่ยังเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับการตีความการ ‘เสรี’ ของ ‘กัญชา’
เมื่อเร็วๆนี้ มีอย่างน้อย 2 กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวใหญ่ กลายเป็นคำถามกลับไปถึงหลายฝ่าย โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยซึ่งเป็นผู้ผลักดันเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง
หนึ่ง กรณี ยายวัย 70 ปี ถูกตำรวจจับกุมเนื่องจากปลูกกัญชา 1 ต้น ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และถูกแจ้งข้อหาผลิตและมียาเสพติดให้โทษ
สอง กรณี ศาลจังหวัดขอนแก่น พิพากษาคดีปลูกกัญชา 1 ต้น มีโทษจำคุก 3 เดือน 15 วัน โดยให้รอลงอาญา 2 ปี ปรับเงิน 17,500 บาท พร้อมคุมประพฤติ 1 ปี
ต่อมามีคำอธิบายจากนายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก Suphachai Jaismut ว่า ในคดีที่ศาลจังหวัดขอนแก่นมีคำพิพากษานั้น เป็นคดีที่ถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และเป็นคดีที่ถูกจับก่อน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 จะมีผลบังคับใช้เมื่อ 8 พ.ย.2564
ห้วงเวลาที่กฎหมายอยู่ในช่วง ‘เปลี่ยนผ่าน’ นับถอยหลัง 30 วันก่อนการปลดล็อกโดยสมบูรณ์ นายศุภชัย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เป็นช่วงที่ต้องให้ความเห็นใจกับทุกฝ่าย เพราะเจ้าหน้าที่ยังต้องบังคับใช้กฎหมายตามเดิม ขณะที่ประชาชนเข้าใจว่ากัญชาถูกปลดล็อกโดยสมบูรณ์ไปแล้วตั้งแต่ 9 ก.พ.2564
เขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกันอย่างไม่เป็นทางการกับตำรวจ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย ก่อนที่ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้ช่วยบัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งถึงทุกพื้นที่ กำชับให้ใช้ ‘รัฐศาสตร์’ ควบคู่ ‘นิติศาสตร์’ ระหว่างที่กฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับกัญชายังอยู่ในช่วงรอยต่อ
หากขีดเส้นใต้วันที่ 9 มิ.ย.2565 คือการปลดล็อกโดยสมบูรณ์ แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับ ‘กัญชา’ ระหว่างนี้ควรเป็นอย่างไร ?
นายศุภชัย แนะนำว่า ก่อนวันที่ 9 มิ.ย.2565 เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายกับตำรวจ การปลูกยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ส่วนการนำไปประกอบอาหารหรือใช้ทางการแพทย์ ให้ขออนุญาตตามขั้นตอนปกติ
ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ณ วันที่ 18 เม.ย.2565 ระบุว่า พบว่ามีการขออนุญาตเกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด 2,351 ฉบับ ประกอบด้วย นำเข้า 12 ฉบับ ครอบครอง 106 ฉบับ ผลิต (ปลูก) 458 ฉบับ ผลิต (แปรรูป/สกัด) 41 ฉบับ ผลิต (ปรุง) 6 ฉบับ ส่งออก 1 ฉบับ และจำหน่าย 1,650 ฉบับ
โดยพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชา แบ่งเป็นผู้รับอนุญาตปลูก 397 ราย พื้นที่ปลูกมากกว่า 110 ไร่ จำนวนมากกว่า 245,000 ต้น
ส่วนการขออนุญาตกัญชง ทั้งหมด 2,361 ฉบับ ประกอบด้วย นำเข้า 110 ฉบับ ครอบครอง 21 ฉบับ ผลิต (ปลูก) 2,041 ฉบับ ผลิต (แปรรูป/สกัด) 14 ฉบับ ส่งออก 1 ฉบับ และจำหน่าย 174 ฉบับ พื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชง แบ่งเป็นผู้รับอนุญาตปลูก 2,041 ฉบับ (877 ราย) พื้นที่ปลูก 4,845 ไร่
สำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง และสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) รวม 80 รายการ ได้แก่ น้ำมันจากเมล็ดกัญชง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท ซอสปรุงรส ขนมเยลลี่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที เป็นต้น
อนุญาตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รวม 754 รายการ ได้แก่ เครื่องสำอางที่มีสารสกัดที่มีสาร CBD จากกัญชาและกัญชง 95 รายการ เครื่องสำอางที่ใช้ส่วนของกัญชา 56 รายการ เครื่องสำอางที่ใช้ส่วนของกัญชง 18 รายการ และใช้น้ำมัน/สารสกัดเมล็ดกัญชง 585 รายการ เพื่อบำรุงผิวทำความสะอาดผิวและขัดผิว
อนุญาตผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมทั้งสิ้น 12 รายการ ได้แก่ ยาแผนไทย 11 รายการ และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ จำนวน 1 รายการ
ส่วนหลังวันที่ 9 มิ.ย.2565 นายศุภชัย กล่าวย้ำว่า กัญชาจะไม่มีความเป็นยาเสพติดเหลืออยู่เลย มีสถานะคล้ายกับพืชกระท่อม ที่ถูกถอดออกจากยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2564 สิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น ก็คือ การปลูก และคาดว่าอาจครอบคลุมไปถึงการประกอบอาหารในครัวเรือนด้วย
แต่หลังจากวันดังกล่าว ยังมีข้อน่าเป็นห่วงอีกประเด็น คือ การสูบในที่สาธารณะ
ประเด็นเรื่องการสูบ นายศุภชัย อธิบายด้วยความเห็นส่วนตัวว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม แต่การสูบในที่สาธารณะน่าจะถูกควบคุมโดยกฎหมายตัวอื่น เช่นเดียวกับบุหรี่ รวมถึงยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์การสูบในที่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎหมายอีกฉบับที่สามารถควบคุมสิ่งเหล่านี้ คือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 กำหนดไว้ในหมวด 5 ว่าด้วยเรื่องเหตุรำคาญ หากมีการสูบในที่สาธารณะจนก่อให้เกิดความรำคาญกับประชาชน
“ใครทำให้ก่อให้เกิดความรำคาญกับประชาชน หากเจ้าหน้าที่เตือนแล้วไม่ยุติ เขาก็มีสิทธิ์ดำเนินคดีมีโทษทางอาญา เช่น คุณสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้อื่น เจ้าหน้าที่พนักงานท้องถิ่นหรือเทศกิจไปว่ากล่าวตักเตือนแล้วคุณไม่หยุด คุณก็อาจจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายนี้” นายศุภชัย กล่าว
พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ระบุไว้ใน มาตรา 25 ว่า กรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ให้ถือเป็นเหตุรำคาญ (4) การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
มาตรา 26 ให้พนักงานท้องถิ่นมีอำนาจห้ามผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ก่อเหตุรำคาญในที่หรือทางสาธารณะหรือสถานที่เอกชนรวมทั้งการระงับเหตุรำคาญด้วย
มาตรา 27 กรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดหรืออาจเกิดขึ้นในที่หรือทางสาธารณะ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้บุคคลซึ่งเป็นต้นเหตุหรือเกี่ยวข้องกับการก่อหรืออาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญนั้น ระงับหรือป้องกันเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควรตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง
ในกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น และเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ ให้ระงับเหตุรำคาญนั้น และอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอีก โดยบุคคลต้นเหตุต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการนั้น
ส่วนบทกำหนดลงโทษ ถูกแก้ไขปรับปรุงใน พ.ร.บ.การสาธารณสุข (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 มาตรา 74 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 27 โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นายศุภชัย กล่าวด้วยว่า อีกประเด็นที่เป็นข้อกังวลไม่แพ้กันคือเรื่องเกี่ยวกับ ‘ทัศนคติ’ ที่คนในสังคมส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจและคุ้นเคยว่า กัญชา คือ ยาเสพติด
“ยังมีคนที่มีความเชื่อว่ากัญชาคือยาเสพติด เสพแล้วจะติดกันงอมแงม ซึ่งความจริงไม่ใช่เป็นอย่างนั้น ตรงนี้ก็ต้องให้เวลาเปลี่ยนผ่านทัศนคติ เปลี่ยนวิธีคิด เราเชื่อว่าหากร่างกฎหมายผ่านสภาโดยเร็ว ก็จะมีกรอบในการกำกับดูแล เช่นเรื่องการห้ามจำหน่ายเด็กอายุต่ำว่า 20 ปี” นายศุภชัย กล่าว
เขายอมรับว่า การปลดล็อกกัญชาหลังวันที่ 9 มิ.ย.2565 อาจมีปัญหาเรื่องการกำกับดูแลอีกขยักหนึ่ง เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.กัญชากัญชง ยังไม่ผ่านการพิจารณาในสภา ทำให้ยังไม่มีผลบังคับใช้ และคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการอีก 2 เดือน หรือช่วง ก.ค.-ส.ค.2565
ดังนั้นหลังวันที่ 9 มิ.ย.2565 ที่กัญชาถูกปลดล็อกโดยสมบูรณ์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข กัญชาอาจถูกพูดถึงความเสรีในแง่ของการ ‘ปลูก’ มากขึ้น
ส่วนการ ‘สูบ-บริโภค’ แม้ว่าจะไม่เสรีเสียทีเดียว แต่นายศุภชัย เชื่อว่า การกระทำด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม หรืออยู่ในครัวเรือนของตัวเอง ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้อื่นหรือสาธารณะ น่าจะเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ เพราะกัญชาจะไม่เข้าข่ายเรื่องยาเสพติดอีกต่อไป