ศาลจังหวัดขอนแก่น พิพากษาคดีปลูกกัญชา 1 ต้น โทษจำคุก 3 เดือน 15 วัน รอลงอาญา 2 ปี ปรับ 17,500 บาท พร้อมคุมประพฤติ 1 ปี ระบุ ประมวลกฎหมายยาเสพติด ยังบัญญัติให้การผลิต-ครอบครองกัญชา เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่จังหวัดขอนแก่น พบยายวัย 70 ปี ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมเนื่องจากปลูกกัญชา 1 ต้นในพื้นที่บ้าน และถูกแจ้งข้อหาผลิตและมียาเสพติดให้โทษ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อและนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย เปิดเผยว่า ประชาชนสามารถปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชาได้ หากถูกดำเนินคดี พรรคภูมิใจไทยยินดีส่งทนายความเข้าไปช่วยนั้น
(อ้างอิงข่าว : https://www.thairath.co.th/news/politic/2284671 และ https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/2347710)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า นอกจากกรณีข้างต้น เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลจังหวัดขอนแก่น ยังได้มีคำพิพากษาเกี่ยวกับครอบครองกัญชา 1 ต้นเช่นกัน โดยพิพากษาจำเลย โทษจำคุก 3 เดือน 15 วัน และปรับ 17,500 บาท ทั้งนี้ ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี
คดีนี้ ศาลจังหวัดขอนแก่น อ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เป็นคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดขอนแก่นเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ
ข้อเท็จจริงรับได้ฟังว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 เวลากลางวัน จำเลยได้ผลิตโดยการเพาะปลูกกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จำนวน 1 ต้น และจำเลยมีกัญชา จำนวน 1 ต้นดังกล่าว (ต้นพืชประกอบด้วยราก ลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ และช่อดอก) น้ำหนักสุทธิ 1,720 กรัม ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เหตุเกิดที่ อ.เมืองขอนแก่น จ.ขอนแก่น เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดกัญชาจำนวนดังกล่าวเป็นของกลาง
อนึ่ง ภายหลังจำเลยกระทำความผิด ได้มี พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 มาตรา 4(5) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 เมื่อประมวลกฎหมายยาเสพติดใช้บังคับแล้ว แต่ประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงบัญญัติให้การผลิตกัญชา อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5
ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26/2 วรรคหนึ่ง ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 75 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติดมาตรา 93 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท
ดังนั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายวที่ใช้ในขณะกระทำความผิด กับประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด มีระวางโทษเท่ากัน เป็นกรณีที่โทษตามประมวลกฎหมายเสพติดไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรคแรก
นอกจากนี้ ประมวลกฎหมายยาเสพติดยังคงบัญญัติให้การมีกัญชาไว้ในครอบครอง ซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26/3 วรรคหนึ่ง ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมมาตรา 76 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 93 ต้องด้วยบทกำหนดโทษตามมาตรา 148 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,000 บาท
ดังนั้น พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด แตกต่างกับประมวลกฎหมายยาเสพติดซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด จึงให้ใช้ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา26/2 วรรคหนึ่ง , 26/3 วรรคหนึ่ง , 75 วรรคหนึ่ง , 76 ฐานผลิตกัญชาและฐานมีกัญชาไว้ในครอบครอง เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ลงโทษฐานผลิตกัญชา ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 7 เดือนแ ละปรับ 35,000 บาท จำเลยสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน 15 วัน และปรับ 17,500 บาท
ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี ในการคุมประพฤติให้จำเลยไปรายงานต่อหนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร เป็นเวลา 12 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 , 30 ริบของกลาง