‘นายกสมาคมส่งออกข้าวฯ’ เผยผู้ซื้อต่างประเทศสั่งซื้อข้าวไทยคึกคัก หวั่นวิกฤติน้ำมันแพง ทำค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีก แนะรัฐบาลตั้งรับ ‘ปุ๋ยแพง’ กระทบต้นทุนปลูกข้าวนาปี ยอมรับการปรับขึ้นราคาส่งออกข้าวทำยาก เหตุข้าวอินเดียถูกกว่าไทย 60 เหรียญ
.................................
เมื่อวันที่ 18 มี.ค. ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า แม้ว่าสถานการณ์วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน จะทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทางการเกษตร เช่น ข้าวสาลี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่ได้ทำให้ราคาข้าวส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะสถานการณ์ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ผลิตข้าว อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคำสั่งซื้อข้าวไทยเข้ามาอย่างคึกคึก เนื่องจากผู้ซื้อเกรงว่าค่าระวางเรือขนส่งข้าวสารจะเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะน้ำมันแพง
“ปัญหาตอนนี้ คือ ค่าขนส่งข้าวแพงขึ้น อย่างข้าวที่ส่งออกไปแอฟริกา เมื่อก่อนอยู่ที่ 80 เหรียญต่อตัน (ขนส่งแบบเทกอง) แต่ตอนนี้ 100 เหรียญต่อตัน ขึ้นมากว่า 20% แล้ว ทำให้ผู้ซื้อต้องการเร่งของ เพราะกลัวว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไปอีก ทำให้ในช่วง 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา มีคำสั่งซื้อเข้ามาค่อนข้างคึกคัก มีการซื้อขายกันมากขึ้น ลูกค้ามีการเรียกสินค้าให้เร็วขึ้น เพราะไม่อยากให้ค่าระวางเรือขึ้นไปมากว่านี้ และเมื่อซัพพลายข้าวในตลาดโลกไม่ขาดแคลน อีกทั้งนาปรังของไทยก็กำลังออกช่วงนี้ ทำให้ราคาส่งออกข้าวไทยไม่เพิ่มขึ้น” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ร.ต.ท.เจริญ ประเมินว่า ผลผลิตข้าวนาปรังของไทยในปี 2565 จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับปีแล้ว เนื่องจากฤดูการเพาะปลูกข้าวนาปรังปีนี้ มีพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้น 2 ล้านไร่ หรือเพิ่มจาก 4 ล้านไร่ เป็น 6 ล้านไร่ เพราะมีน้ำในเขื่อนมาก โดยเฉพาะเขื่อนในพื้นที่ภาคอีสานมีน้ำทุกเขื่อน ทำให้ปริมาณผลผลิตข้าวในพื้นที่ภาคอีสานในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยในขณะนี้เริ่มมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวในพื้นที่ภาคกลางแล้ว จากนั้นในช่วงปลายเดือน มี.ค. จะเริ่มการทยอยเก็บเกี่ยวในภาคอีสานและพื้นที่อื่นๆ ซึ่งผลผลิตข้าวจะออกมามากในช่วงเดือน เม.ย.นี้
ร.ต.ท.เจริญ กล่าวว่า ในขณะที่ต้นทุนการปลูกข้าวในไทย โดยเฉพาะการปลูกข้าวนาปี ปี 2565/66 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยปุ๋ยมีราคาแพง แต่ไทยอาจไม่สามารถปรับขึ้นราคาส่งออกข้าวได้ เพราะการส่งออกข้าวจะต้องแข่งขันด้านราคากับประเทศอื่นๆ ซึ่งวันนี้ราคาข้าว 5% อินเดียถูกกว่าข้าวไทย 60 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน โดยข้าวขาว 5% ของไทยขายที่ 420 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน แต่ข้าวขาว 5% ของอินเดียขายที่ 340 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน และอินเดียยังมีความได้เปรียบไทยในแง่ขนส่ง โดยเฉพาะการส่งออกไปแอฟริกา เพราะระยะทางการขนส่งใกล้กว่าไทย
“ต้นทุนเพิ่มขึ้นแน่ ซึ่งคงไม่ใช่ฤดูนาปรัง แต่เป็นฤดูนาปีที่จะเริ่มเพาะปลูกในช่วงฤดูฝน ในเดือน พ.ค. โดยที่ผ่านมาไทยซื้อปุ๋ยจากรัสเซียค่อนข้างเยอะ ถ้ารัสเซียถูกแซงชั่น แล้วเราซื้อปุ๋ยจากเขาไม่ได้ ต้องไปซื้อที่อื่น ค่าปุ๋ยในฤดูกาลหน้าจะต้องแพงขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจะต้องเตรียมตัวว่าจะทำอย่างไร ไม่ให้กระทบกระเทือนมาก และเมื่อเราต้องขายข้าวแข่งกับเขา ราคาอาจปรับขึ้นไม่ได้ อย่างวันนี้อินเดียขายข้าวถูกกว่าเรา 60 เหรียญต่อตัน จึงไม่ได้หมายความว่า เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น แล้วเราจะไปปรับขึ้นราคาอะไรได้” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
ร.ต.ท.เจริญ ย้ำว่า “ถ้าถามว่าต้นทุนปลูกข้าวเราแพงขึ้น แล้วราคาข้าวจะแพงขึ้นไหม มันไม่ได้อยู่ที่เราตัดสินใจ แต่อยู่ที่คู่แข่งเราด้วยว่า เขาขายแพงขึ้นหรือเปล่า แล้วเราจะปรับตัวอย่างไรให้แข่งกับเขาได้”
ร.ต.ท.เจริญ ยกตัวอย่างการปรับตัวของเวียดนามว่า เมื่อก่อนเวียดนามปลูกข้าวแข็งอย่างเดียว 5-6 ล้านตัน แต่ ปัจจุบันลดการปลูกข้าวแข็งเหลือ 1 ล้านกว่าตัน และส่วนใหญ่หันไปปลูกข้าวนุ่ม ทำให้เมื่อปีที่แล้วเวียดนามสามารถส่งออกข้าวนุ่มไปขายที่ฟิลิปปินส์ได้ 2 ล้านตัน จากเดิมเคยส่งออกได้ 5-6 แสนตัน ส่วนไทยที่เคยส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์ได้ 5-6 แสนตัน ตอนนี้ส่งออกได้แค่ 7 หมื่นตัน เพราะไทยไม่มีข้าวนุ่มที่ฟิลิปปินส์ต้องการ นอกจากนี้ ราคาข้าวเวียดนามที่เคยถูกกว่าไทย 30-40 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน แต่วันนี้ราคาข้าวเวียดนามแพงกว่าราคาข้าวไทยแล้ว
อย่างไรก็ตาม ร.ต.ท.เจริญ ยังมั่นใจว่า ปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมายที่ 7 ล้านตัน เนื่องจากคาดว่าปีนี้ผลผลิตของไทยมากขึ้น ทำให้ต้องเร่งส่งออก เพราะหากไม่เร่งส่งออก ราคาข้าวในประเทศจะไม่ดี
“เราต้องส่งออกให้เยอะ ราคาข้าวในประเทศจึงจะขึ้น แต่ถ้าไปตั้งราคาสูงๆ แล้วส่งออกไม่ได้ ข้าวเหลืออยู่ในประเทศ ราคาข้าวจะตก แล้วถามว่าจะไปให้ชาวนาหยุดปลูกข้าวได้หรือไม่” ร.ต.ท.เจริญ กล่าว
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า การส่งออกข้าวของไทยในช่วงเดือน ม.ค.2565 มีปริมาณ 459,752 ตัน มูลค่า 7,986.8 ล้านบาท (239.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 8.92% และมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 1.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 ที่มีการส่งออกปริมาณ 422,076 ตัน มูลค่า 7,834.3 ล้านบาท (262.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
อ่านประกอบ :
'ธ.ก.ส.'โอนเงิน'ชดเชยส่วนต่าง'ประกันรายได้ชาวนา-ช่วยต้นทุนปลูกข้าวแล้ว 1.36 แสนล้าน
เหลือแค่หมื่นล.! 'ธ.ก.ส.'โอนเงิน'ประกันรายได้ชาวนา' งวด 3-7 รวดเดียว 6.4 หมื่นล้าน
‘บอร์ด ธ.ก.ส.’เคาะโอนเงินประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยเหลือต้นทุนชาวนา เริ่ม 9 ธ.ค.นี้
‘อินเดีย’ ทิ้งห่าง 'ไทย-เวียดนาม' เผย 10 เดือน ส่งออกข้าวทะลัก 17 ล้านตัน พุ่ง 51%
จาก'จำนำ'ถึง'ประกันรายได้' รัฐติดหนี้ 5 แสนล.-กู้อีก 1.4 แสนล. ระเบิดเวลาวิกฤติการคลัง?
ครม.อนุมัติงบ 1.41 แสนล้าน จ่ายชดเชย‘ส่วนต่าง’ประกันรายได้‘ข้าว-ยาง’-ช่วยต้นทุนชาวนา
ขยายเพดานหนี้คงค้างเป็น 35% เปิดทาง 'ครม.' กู้ 1.55 แสนล้าน ชดเชยประกันฯ ‘ข้าว-ยาง’
'บิ๊กตู่'เผยคิดวิธีหาเงินจ่ายชดเชย‘ประกันราคาข้าว’ได้แล้ว-'คลัง'เร่งเคลียร์หนี้คงค้าง
เปิดมติครม.! สั่ง ‘คลัง-พณ.-สำนักงบฯ’ หาเงินโป๊ะ ‘ประกันราคาข้าว’ อีก 7.6 หมื่นล.