“..เราภูมิใจกับอาชีพเกษตรกร ชาวนาของเรา เพราะเราสามารถเลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัวได้ แม้ว่าคนทั่วไปอาจจะมองว่าด้อยต่ำ ไม่มีเกียรติ ส่วนวลีว่า ‘ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ’ แต่สิ่งที่รัฐทำกับเรา เกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐไม่ได้สนใจเราเลย ไม่เข้ามาดูแลเลย พวกเราก็อาจจะเป็นชาวนารุ่นสุดท้ายแล้ว..”
‘เกษตรกรรม’ อาชีพหลักของคนส่วนใหญ่ในไทย ยังประสบกับความผันผวนของราคาพืชผลในตลาดโลก และประสบความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ รวมทั้งความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติทั้งดินและน้ำ ทำให้เกษตรกรมี ‘ปัญหาหนี้สิน’ สะสมเรื้อรังมานานโดยเฉพาะจากหนี้สินนอกระบบ เนื่องจากการขาดแคลนเงินทุนในการทำการเกษตร ด้วยนโยบายภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลง ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว รวมถึงความผันผวนของธรรมชาติส่งผลให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่ภายใต้ภาวะหนี้สิน เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมายาวนาน
โดยหนี้ในภาคการเกษตรนั้น เป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อปัจจัยการผลิต เช่น พันธุ์ ปุ๋ย อาหารสัตว์ และเกือบทั้งหมดเป็นการกู้ยืมจากสถาบันการเงินในระบบที่มีระยะการกู้ยาว ทำให้ปัญหาหนี้สิน เป็นจุดอ่อนที่ทำให้ภาคการเกษตรพัฒนาต่อไปได้ยาก อีกทั้งปัจจุบันต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต ส่งผลให้ต้นทุนยิ่งเพิ่ม แต่ราคาผลผลิตไม่แน่นอนและลดต่ำลง ซึ่งส่งผลรายได้ที่จะใช้ในครัวเรือน
เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2565 นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จากการสำรวจ หนี้สินครัวเรือนเกษตรกรในปี 2563/64 มีประมาณ 262,317 บาทต่อครัวเรือน เพิ่มขึ้น 16.5% เมื่อเทียบกับหนี้สินครัวเรือนในปี 2562/63 แต่หากเทียบระยะเวลา 2 ปี หลังการระบาดของโควิด-19 หนี้สินเกษตรกรเพิ่มขึ้น 74% จากปี 2561 ก่อนจะมีการระบาดของโควิด-19 เกษตรกรมีหนี้สินเกษตรกรเฉลี่ย 150,636 บาทต่อครัวเรือน
“หนี้สินครัวเรือนของเกษตรกร ปรับเพิ่มขึ้น ตามภาวะหนี้สินครัวเรือนของประเทศ สาเหตุหลักมาจากการระบาดของโควิด-19 โดยหนี้สินส่วนใหญ่มาจากค่าใช้จ่ายนอกภาคการเกษตร เนื่องจากอัตราค่าครองชีพในปี 2564 ปรับตัวขึ้น” นายฉันทานนท์ กล่าว
แม้ว่าจะมีโครงการแก้ไขหนี้สินให้ชาวนา โดยการจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม รักษาที่ดินทำกิน เกษตรกรได้พักฟื้นเรื่องหนี้ ฟื้นฟูอาชีพเพื่อสร้างรายได้ และมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยกองทุนจะซื้อหนี้และหลักทรัพย์จำนองของเกษตรกรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาเป็นของกองทุน แล้วให้ผ่อนชำระหนี้กับกองทุน โดยไม่มีดอกเบี้ย และรับประกันว่าจะไม่ทำให้เกษตรกรเสียหลักทรัพย์ ซึ่งช่วยชาวนาไปได้จำนวนหนึ่ง เมื่อธนาคารเอกชนโอนหนี้สินไปให้กองทุนดังกล่าวจัดการแล้ว
แต่ชาวนาส่วนใหญ่ เป็นหนี้กับธนาคารรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) ซึ่งการที่จะโอนหนี้สินของเกษตรกรให้กับกองทุนได้นั้น จำเป็นจะต้องมีมติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเป็นหนี้จำนวนมาก ซึ่งถือเป็นหนี้ก้อนใหญ่ ซึ่ง กฟก.ได้อนุมัติให้โอนหนี้สินชาวนามาตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2564 และตามหลักแล้ว เรื่องนี้ควรต้องเข้า ครม.ภายใน 60 วัน แต่กลับลากยาวมาถึง 10 เดือน ทำให้ชาวนาต้องแบกรับภาระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
จึงเป็นเหตุผลให้เกษตรกรชาวนาจาก 36 จังหวัดมารวมตัวกันในนาม ‘เครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย’ เดินทางมาปักหลังกินนอนที่บริเวณใต้ทางด่วนพระราม 6 หน้ากระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐแก้ปัญหาหนี้ชาวนา เร่งโอนหนี้สินของเกษตรกรจากธนาคารมาเป็นของรัฐ เป็นเวลากว่า 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 24 มกราคม 2564 จนถึงปัจจุบัน
ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่มาจากภาคกลาง ภาคเหนือตอนล่าง และอีสาน มีอายุเฉลี่ยกว่า 68 ปี ตลอดช่วงเวลาที่เข้ามาปักหลัก กลุ่มชาวนาต้องเดินทางไปตามหน่วยงานราชการที่เกี่ยวจ้องเพื่อขอข้อมูล รวมถึงรอฟังคำตอบจากรัฐบาลหลายจุด โดยเดินจากกระทรวงการคลังไปสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เดินไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อผลักดันให้แก้ปัญหาหนี้สิน
สำหรับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม มีอยู่ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
-
ให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาดทรัพย์สินของสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และเร่ง ครม.อนุมัติให้ธนาคารของรัฐโอนหนี้สินของเกษตรกรให้กองทุนฯ และขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้เกษตรกร
-
ลด/ปลดหนี้ให้กับสมาชิกกองทุนฯ ที่เสียชีวิต พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรค เหลือไม่เกิน 25%
-
ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน และปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงานกองทุนฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ครม.มีมติอนุมัติงบ ‘เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น’ ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2,000 ล้านบาท แต่ก็เป็นการช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้แค่เล็กน้อย ยังไม่ใช่การโอนหนี้สินของเกษตรกรไปให้กองทุนตามที่ชาวนาเรียกร้องกันเป็นหลัก
นายเกรียงศักดิ์ สงวนนามสกุล ชาวนาจากจังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสาเหตุการเดินทางมาชุมนุมว่า การมารวมตัวกันครั้งนี้ เพื่อติดตามการโอนหนี้สินของเกษตรกรจากธนาคารมาเป็นของรัฐ หลังจากมีมติของ กฟก.อนุมัติไปตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมาแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า โดยแรกเริ่มคิดว่าจะอยู่ประมาณ 2 สัปดาห์น่าจะได้คำตอบ แต่กลับกลายเป็นว่าเหมือนกับต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ เพราะรัฐบาลไม่มีท่าทีอะไรเลย
นางมานิตย์ สงวนนามสกุล ชาวนาจากจังหวัดอุทัยธานี กล่าวว่า ตนเดินทางมาชุมนุมตั้งแต่คืนวันที่ 23 มกราคม โดยยังไม่ได้เดินทางกลับบ้านเลย และการชุมนุมครั้งนี้ ไม่ใช่เป็นการรับจ้างชุมนุม แต่พวกตนเดือดร้อนจริงๆ โดยการที่มาเข้าร่วมชุมนุมในครั้งนี้ เพราะว่าตอนนี้ชาวนาหลายคนถูกธนาคารฟ้อง จะยึดที่ดินทำกินที่เป็นสมบัติมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว เลยจะต้องมาสู้อย่างจริงจังเพื่ออาชีพชาวนา
“เราภูมิใจกับอาชีพเกษตรกร ชาวนาของเรา เพราะเราสามารถเลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัวได้ แม้ว่าคนทั่วไปอาจจะมองว่าด้อยต่ำ ไม่มีเกียรติ ส่วนวลีว่า ‘ชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ’ แต่สิ่งที่รัฐทำกับเรา เกือบ 2 เดือนที่ผ่านมา รัฐไม่ได้สนใจเราเลย ไม่เข้ามาดูแลเลย พวกเราก็อาจจะเป็นชาวนารุ่นสุดท้ายแล้ว” นางมานิตย์ กล่าว
นางจำนงค์ คำเอี่ยม ชาวนาจากจังหวัดชัยนาจ กล่าวว่า มีหลายคนบอกว่า เราขี้เกียจ ใช้เงินไม่เป็น ไม่มีวินัยการเงิน ชอบเอาเงินไปใช้อย่างอื่น ที่ไม่ใช่เอาไปลงทุน แต่จริงๆ แล้ว ไม่ใช่เลย เราทำนา ตื่นเช้ามาก็ไปนา แต่ปัญหาทั้งสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นหน้าแล้ง หรือน้ำท่วม เผชิญปัญหามาตลอด 6 ปี เมื่อหว่านข้าว เข้าสู่หน้าแล้ง ข้าวไม่ขึ้น พอฝนมา หว่านเมล็ดซ้ำ น้ำท่วม ผลผลิตเสียหายหมดไม่เหลืออะไรเลย แล้วจะให้ชาวนามีเงินได้อย่างไร และเมื่อจะเริ่มทำนาใหม่ ก็จำเป็นจะต้องไปกู้ยืมอีกครั้ง เป็นวงจรหนี้ไม่จบ
“มีหลายคนบอก ราคาข้าวตก ก็ให้ไปปลูกอย่างอื่น แต่ความจริง พื้นที่เกษตรแต่ละที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมือนกัน จะให้เปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นโดยทันที มันทำไม่ได้ อีกทั้งปลูกไปก็ไม่มีตลาดรองรับ เหมือนที่บอกว่าให้ไปปลูกผักชี เพราะผักชีแพง ทุกคนก็ไปปลูกผักชี ตอนนี้ผักชีจะเหลือราคาเท่าไหร่ มันล้นตลาดอยู่แล้ว” นางจำนงค์ กล่าว
นายอเนก สงวนนามสกุล ชาวนาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า อาชีพเกษตรกร เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยง มีความไม่แน่นอนอยู่แล้ว เพราะการเพาะปลูกต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ฟ้าฝนอากาศ แต่ความเสี่ยงก็มากขึ้นไปอีก เมื่อเราไม่รู้ราคาข้าว เราจะรู้ราคาขายข้าวก็ต่อเมื่อเรานำข้าวไปสีที่โรงสี เต็มที่ข้าวเกรดดีๆ สวยๆ ก็ได้ประมาณ 6,400 – 6,500 บาท ยังไงมันก็ขาดทุนอยู่แล้ว เพราะต้นทุนในการทำหน้าก็ตกราวตันละประมาณ 8,000 บาท ส่วนค่าแรงงานไม่ต้องพูดถึงเลย
แต่ถามว่า ขาดทุนแล้วทำไมยังต้องืทำ คำตอบคือ ถ้าไม่ได้ทำนา แล้วจะให้ไปทำอะไร นี่คืออาชีพของเรา ถึงบอกว่าได้ว่า พวกเราจะเป็นชาวนารุ่นสุดท้าย เพราะรุ่นลูกหลาน เขาจะไม่มาทำ เพราะเห็นตัวอย่างว่าทำไปก็มีแต่หนี้ ไม่มีทางเติบโต และเราก็ไม่อยากให้ลูกต้องลำบากแบบนี้ด้วย
“จากที่เราเคยเป็นประเทศเกตรกรรม ก็จะต้องเปลี่ยนไป เราจะพูดไม่ได้อีกแล้วว่าชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ เพราะตอนนี้กระดูกสันหลังกำลังจะล้มแล้ว” นายอเนก กล่าว
นายชรินทร์ ดวงดารา ชาวนาจากจังหวัดฉะเชิงเทรา และที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนทำนามาตลอดชีวิต มีที่ดิน 50 ไร่ มีหนี้สินเฉพาะเงินต้นจากการกู้มาทำนาประมาณ 1.5 ล้านบาท และดอกเบี้ยปราว 1 แสนบาทต่อปี
ช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ ราคาข้าวขายได้อยู่ที่ 6,000 บาทต่อตัน ไม่สูงไปมากกว่านี้ แต่บางปีก็มีลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ 8,000 - 8,500 บาทต่อตัน ซึ่งแต่ละปีที่ผ่านมาการปลูกข้าวจึงขาดทุนทุกปี จนกลายเป็นหนี้สินที่สะสม
“ยิ่งทำมาก ได้ข้าวมาก ก็ขาดทุนมากเป็นปกติ แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่ได้ เจ้าหนี้จะฟ้อง เพราะถือว่าเราไม่มีรายได้ เนื่องจากเงื่อนไขที่กู้มาเพื่อทำเกษตร ตลอดชีวิตที่ทำนามา มีหนี้มาตลอด” นายชรินทร์ กล่าว
ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ครม. มีมติเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิก กฟก. ลูกหนี้ธนาคารของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ SME BANK จำนวน 50,621 ราย เป็นหนี้เงินต้น 9.28 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 6.81 พันล้านบาท โดยเกษตรกรรับภาระเงินต้น 50% พักชำระเงินต้น 50% และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ เมื่อชำระเสร็จสิ้นแล้ว จะได้รับการยกเว้นเงินต้นและดอกเบี้ยในส่วนที่พักไว้ทั้งหมด
สำหรับเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 50,621 ราย ได้แก่ ลูกหนี้ ธ.ก.ส. จำนวน 47,973 ราย หนี้เงินต้น 8.52 พันล้านบาท ดอกเบี้ย 5.77 พันล้านบาท ลูกหนี้ธนาคารออมสิน จำนวน 552 ราย หนี้เงินต้น 1.62ร้อยล้านบาท ลูกหนี้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) จำนวน 2,008 ราย หนี้เงินต้น 3.06 ร้อยล้านบาท และลูกหนี้ SME BANK จำนวน 88 ราย หนี้เงินต้น 2.93 ร้อยล้านบาท ดอกเบี้ย 3.89 ร้อยล้านบาท
ภายหลังจากมีมติ ครม. นายชรินทร์ เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา ว่า มติ ครม.ที่ออกมานั้น ตรงกับข้อเรียกร้องเพียงแค่ส่วนหนึ่งคือ การพักชำระเงินต้น 50% และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ แต่หนี้สินยังอยู่กับเจ้าหนี้เดิม ซึ่งถือว่ายังไม่ปลอดภัย เนื่องจากเจ้าหนี้ยังสามารถยึดหลักทรัพย์และนำขายทอดตลาดได้ แต่ถ้าหากมีการโอนหนี้เข้าสู่ กฟก. ชาวนาก็จะไม่ต้องกังวลเรื่องที่หลักทรัพย์จะถูกขายทอดตลาด ทั้งนี้ จะยังปักหลักชุมนุมต่อไป โดยในวันพรุ่งนี้ จะเดินหาเพื่อหารือข้อตกลงกับ ธ.ก.ส.อีกครั้งหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ คือการออกมาเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนา ต้องติดตามต่อไปว่าการแก้ไขปัญหาของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า ‘กระดูกสันหลังของชาติ’ จะเป็นอย่างไรต่อไป