“…หากแยกรายละเอียดพฤติการณ์กระทำจากข้อร้องเรียนทั้ง 2,423 เรื่อง พบว่ามี 24 พฤติการณ์ โดย 5 พฤติการณ์ที่มีข้อร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือทุจริต 1,279 เรื่อง หรือคิดเป็น 52.8% ,อันดับ 2 ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ 216 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.91% อันดับ 3 ข่มขู่ เรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ในหน้าที่ 202 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.34%...”
..................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 เรื่อง การรับรายงานผลดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบของศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอสรุปรายละเอียดผลดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบฯ ของ ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต (ศปท.) ในช่วง 7 ปี หรือนับตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557-30 ก.ย.2564 ภายใต้การบริหารประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนี้
@เผย 7 ปีมีการร้องเรียน ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ 2,423 เรื่อง
สำนักงาน ป.ป.ท. ได้รับรายงานกรณีข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบจาก ศปท. ทั้ง 39 หน่วยงาน ซึ่งครอบคลุมหน่วยงานของรัฐในสังกัด 443 หน่วยงาน พบว่า ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.2557-30 ก.ย.2564 มีข้อร้องเรียนทั้งสิ้น 2,423 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,053 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,370 เรื่อง
หน่วยงานที่มีข้อร้องเรียนมากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) 503 เรื่อง (20.76%) กระทรวงการคลัง (กค.) 453 เรื่อง (18.70%) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) 260 เรื่อง (10.73%) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) 223 เรื่อง (9.20%) และกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) 143 เรื่อง (5.90%)
โดยหน่วยงานฯที่มีข้อร้องเรียน ‘ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ’ มากที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย 338 เรื่อง (24.67%) กระทรวงการคลัง 256 เรื่อง (18.69%) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ 197 เรื่อง (14.38%) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 156 เรื่อง (11.39%) และกระทรวงศึกษาธิการ 70 เรื่อง (5.11%)
อย่างไรก็ตาม มี 8 หน่วยงาน ที่ ‘ไม่มีการรับดำเนินการ’ ข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกระทำการทุจริตหรือประพฤติชอบ ได้แก่ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ,สำนักงบประมาณ ,สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ,สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ,สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ,สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)
@กทม.มีข้อร้องเรียนพฤติการณ์ ‘เจ้าหน้าที่’ มากที่สุด 748 เรื่อง
ส่วนเรื่องร้องเรียนที่ดำเนินการแล้วเสร็จ 1,053 เรื่อง หรือคิดเป็น 43.64% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด พบว่า ยุติเรื่อง 495 เรื่อง ,ลงโทษวินัยร้ายแรง (ไล่ออก ปลดออก ให้ออก) 340 เรื่อง ,ลงโทษวินัยไม่ร้ายแรง 209 เรื่อง และอื่นๆ เช่น ผู้ถูกกล่าวหาลาออกก่อนดำเนินการเสร็จ 9 เรื่อง
ขณะที่ผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับรายงาน พบพฤติการณ์ข้อร้องเรียน เจ้าหน้าที่ของรัฐ และกลุ่มพื้นที่ที่เกิดการกระทำความผิด สรุปได้ดังนี้
กลุ่มที่ 1 ข้อร้องเรียนมากกว่า 200 เรื่องขึ้นไป มี 1 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานคร) มีข้อร้องเรียน 748 เรื่อง (30.57%)
พฤติการณ์ข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ : ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือทุจริต ,ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ ,ข่มขู่เรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ในหน้าที่ ,ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนคัดเลือกผู้รับจ้างหรือคู่สัญญา และทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนการจัดทำขอบเขตงาน (TOR) หรือราคากลาง
กลุ่มที่ 2 ข้อร้องเรียนตั้งแต่ 151-200 เรื่อง มี 1 จังหวัด (จังหวัดอุบลราชธานี) มีข้อร้องเรียน 194 เรื่อง (8.01%)
พฤติการณ์ข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ : ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือทุจริต ,ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนการจัดทำ TOR หรือราคากลาง ,ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการตรวจรับงาน ,ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ และทุจริตค่าใช้จ่ายเดินทางไปราชการ/ปฏิบัติงานล่วงเวลา/เบี้ยเลี้ยง
กลุ่มที่ 3 ข้อร้องเรียนตั้งแต่ 51-150 เรื่อง มี 4 จังหวัด (จังหวัดสุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ มุกดาหาร และยโสธร) มีข้อร้องเรียนรวม 224 เรื่อง (9.24%)
พฤติการณ์ข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ : ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือทุจริต ,ทุจริตระดับนโยบายหรือในการจัดทำโครงการ ,ปฏิบัติผิดระเบียบ ,ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับการตรวจรับงาน และยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ
กลุ่มที่ 4 ข้อร้องเรียนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 เรื่อง มี 71 จังหวัด (เช่น จังหวัดนนทบุรี นครราชสีมา อำนาจเจริญ และชลบุรี) มีข้อร้องเรียนรวม 1,257 เรื่อง (51.88%)
พฤติการณ์ข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐ : ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือทุจริต ,ข่มขู่ เรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ในหน้าที่ ,ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ ,ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างทั้งโครงการ และปฏิบัติผิดระเบียบ
@เปิด 5 พฤติการณ์ที่มีการร้องเรียน ‘เจ้าหน้าที่รัฐ’ มากที่สุด
นอกจากนี้ หากแยกรายละเอียดพฤติการณ์กระทำจากข้อร้องเรียนทั้ง 2,423 เรื่อง พบว่ามี 24 พฤติการณ์ โดย 5 พฤติการณ์ที่มีข้อร้องเรียนมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับ 1 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยไม่ชอบหรือทุจริต (กระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157) 1,279 เรื่อง หรือคิดเป็น 52.8%
อันดับ 2 ยักยอกเงินหรือทรัพย์สินราชการ 216 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.91%
อันดับ 3 ข่มขู่ เรียกรับทรัพย์สินหรือประโยชน์ในหน้าที่ 202 เรื่อง หรือคิดเป็น 8.34%
อันดับ 4 ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างในขั้นตอนการจัดทำ TOR หรือราคากลาง 97 เรื่อง หรือคิดเป็น 4%
อันดับ 5 ทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างทั้งโครงการ 91 เรื่อง หรือคิดเป็น 3.76%
@สำนักงาน ป.ป.ท.จัดทำฐานข้อมูลพฤติการณ์เสี่ยงทุจริต
สำนักงาน ป.ป.ท. รายงานว่า สิ่งที่สำนักงานฯ จะดำเนินการต่อไป มี 3 ประเด็น ได้แก่
1.ติดตามเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน ในสังกัดหรือกำกับ ศปท. ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้เร่งรัดดำเนินมาตรการทางวินัย ปกครอง อาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อย่างถูกต้อง และเป็นธรรม และรายงานข้อมูลไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 เรื่อง การรับรายงานผลดำเนินการกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบของ ศปท.
2.พัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพระบบรับรายงานข้อร้องเรียนเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตประพฤติมิชอบทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถรองรับการบูรณาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ตอบสนองต่อการใช้ประโยชน์ข้อมูลของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นแหล่งฐานข้อมูลในการดำเนินงานทางวินัย ปกครอง อาญา และกฎหมายที่เกี่ยวข้องครอบคลุม
3.เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบในระบบการดำเนินงานภาครัฐ สำนักงาน ป.ป.ท.จะนำข้อมูลไปวิเคราะห์และจัดลำดับรูปแบบพฤติการณ์การทุจริตประพฤติมิชอบที่พบมากที่สุดรายหน่วยงานเข้าสู่ระบบการประเมินความเสี่ยงการทุจริต
โดยให้แต่ละหน่วยงานทำการประเมินตนเอง และจัดทำแผนการบริหารความเสี่ยงการทุจริตในประเด็นตามพฤติการณ์ทุจริตประพฤติมิชอบที่พบมากที่สุดของแต่ละหน่วยงาน เพื่อลดหรือไม่ให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบซ้ำในพฤติการณ์เดิม โดยจะติดตามประเมินผลและเปรียบเทียบจากจำนวนเรื่องร้องเรียนรับใหม่ในพฤติการณ์เดิม ซึ่งปรากฏผลการตรวจสอบว่าพบมูลความผิด
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 28 ม.ค.2563 ที่ประชุม ครม. มีมติมอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ท. ทำหน้าที่ประสานงานและร่วมมือกับส่วนราชการและหน่วยงานรัฐอื่นที่เกี่ยวกับการร้องเรียนหรือพบเหตุอันควรสงสัยว่าข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐในสังกัดกระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการทุจริตประพฤติมิชอบ
รวมทั้งการตรวจสอบ เร่งรัด ติดตามการดำเนินงานของหัวหน้าส่วนราชการหรือหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามนัยมาตรา 51 (2) และ (4) แห่ง พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ทั้งนี้ ให้ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตของแต่ละหน่วยงานมีหน้าที่ในการรายงานผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ในสังกัดหรือกำกับ (ประกอบด้วย ส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน) ไปยังสำนักงาน ป.ป.ท. ตามรูปแบบวิธีการที่สำนักงาน ป.ป.ท. กำหนดด้วย
เหล่านี้เป็นข้อมูลการ 'ร้องเรียน' เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ และพฤติการณ์การกระทำผิดต่างๆ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา!
อ่านประกอบ :
เปิดรายงาน ป.ป.ท.! รับ ‘นักธุรกิจ-ต่างชาติ’ ยังไม่เชื่อมั่นการปราบปราม‘ทุจริต’ของไทย
บทวิเคราะห์ ป.ป.ช.เหตุ CPI ไทยอันดับตก แนะแก้ปัญหาจริงจัง โดยเฉพาะ จนท.รัฐเรียกรับสินบน
เบื้องหลังไทยร่วง 6 อันดับ CPI ปี 64 ปัญหาจัดซื้อช่วงโควิด-ห่วงแก้การเมืองมากกว่าทุจริต
อันดับตก! ดัชนีรับรู้ทุจริตปี 64 ไทยได้ 35 คะแนน อยู่ที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก