“… CPI ดัชนีการรับรู้ทุจริตประจำปี 64 ของประเทศไทย ลดเหลือ 35 คะแนน ตกมาที่อันดับ 110 ของโลก เผย ปัจจัยหลัก มาจากการทุจริตช่วงโควิด รัฐบาลแก้ปัญหาทางการเมืองมากกว่าคอร์รัปชัน สถานการณ์แทบไม่เปลี่ยนแปลง…”
เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2565 สำนักสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI)
จากการประเมิน 180 ประเทศทั่วโลก คะแนนเต็ม 100 คะแนน พบ CPI ของประเทศไทยติดอันดับ 110 ด้วยคะแนน 35 คะแนน ลดลงจากปี 2563 ที่ได้รับ 36 คะแนน และติดอันดับที่ 104
นับว่าประจำปี 2564 ประเทศไทยตกลำดับมาถึง 6 อันดับ
- เบื้องหลัง! ไทยร่วง 3 อันดับ CPI 2020 ได้ 36 คะแนน มีปัญหาสินบนบ่อนพนัน-ลักลอบขนแรงงาน
- อันดับตก! ดัชนีรับรู้ทุจริตปี 64 ไทยได้ 35 คะแนน อยู่ที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก
โดยสถิติคะแนน CPI ของทั่วโลกประจำปี 2564 พบว่า ประเทศที่มีคะแนนสูงสุด ประกอบด้วย เดนมาร์กได้ 88 คะแนน, ฟินแลนด์ได้ 88 คะแนน, นิวซีแลนด์ได้ 88 คะแนน, นอร์เวย์ได้ 85 คะแนน, สิงคโปร์ได้ 85 คะแนน และสวีเดนได้ 85 คะแนน ส่วนค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 43 คะแนน
ส่วนประเทศที่มีคะแนน CPI ต่ำสุดป ระกอบด้วย ประกอบด้วย อัฟกานิสถาน 16 คะแนน เกาหลีเหนือ 16 คะแนน เยเมน 16 คะแนน เวเนซุเอลา 14 คะแนน โซมาเลีย 13 คะแนน ซีเรีย 13 คะแนน และซูดานใต้ 11 คะแนน
เมื่อจำแนกสถิติคะแนน CPI เฉพาะประเทศอาเซียนนั้น พบว่า สิงคโปร์ 85 คะแนน มาเลเซีย 48 คะแนน ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน เวียดนาม 39 คะแนน อินโดนีเซีย 38 คะแนน ไทย 35 คะแนน ฟิลิปปินส์ 33 คะแนน ลาว 30 คะแนน เมียนมาร์ 28 คะแนน กัมพูชา 23 คะแนน และบรูไนไม่ระบุคะแนน
ปัจจัยใดทำให้ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทยลดลง สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เรียบเรียงข้อมูลจากรายงานขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ บนเว็บไซต์ www.transparency.org มีสาระสำคัญที่น่าสนใจ ดังนี้
ในรายงานดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2564 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ มีการแบ่งชุดข้อมูลออกเป็นภูมิภาคต่างๆ ประกอบด้วย อเมริกา (Americas) แอฟริกาใต้สะฮารา (sub-saharan Africa) ยุโรปตะวันตกและสหภาพยุโรป (Western Europe & EU) ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East & North Africa) ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง (Eastern Europe & Central Asia) และเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific)
ประเทศไทยจัดอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific) โดย CPI ของภูมิภาคนี้มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 45 คะแนน ปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 แล้วที่ได้คะแนนค่าเฉลี่ยเท่าเดิม จึงมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในการต่อสู้กับการทุจริต เมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ
ส่วนสาเหตุที่มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อย หรือแทบไม่มีความคืบหน้านั้น ปัจจัยหนึ่งมาจากความอ่อนแอโดยรวมของสถาบันประชาธิปไตยและสิทธิทางการเมือง โดยในปี 2564 พบคอร์รัปชันใหญ่และประชาชนยังขาดเสรีภาพทางการเมือง
โดย วานูอาตู สถานการณ์ทางการเมืองยังคงซบเซาได้ 45 คะแนน ใกล้เคียงกับสถานการณ์ทางการเมืองในหมู่เกาะโซโลมอน ซึ่งแม้จะผ่านกฎหมายต่อต้านการทุจริตในปี 2561 แต่ก็ยังไม่มีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตที่ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่
ส่วนประเทศบริเวณริมแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนามยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ยังคงอยู่กับที่ โดยประเทศไทยยังพบว่ามีการแก้ปัญฟาทางการเมืองมากกว่าการแก้ปัญหาคอรัปชันโดยมี CPI อยู่ระหว่าง 23-39 คะแนน นอกจากนี้ประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดในภูมิภาค ได้แก่ อัฟกานิสถาน และเกาหลีเหนือ ต่างได้ CPI 16 คะแนน ลดลงไปอีกจาก 19 และ 18 คะแนนตามลำดับ สืบเนื่องมาจากรัฐทั้งสองนี้ไม่มีโครงสร้างพื้นฐานของสถาบัน เช่น กลไกในการบริหารและหลักนิติธรรม ซึ่งพวกเขายังกดขี่ประชาชนที่ต่อต้านการทุจริต
โควิดเปิดช่องให้ทุจริต
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการระบาดของโควิด ที่เปิดช่องทางให้เกิดการทุจริต โดนในเอเชีย เกิดขึ้นเนื่องจากการเปิดตัวแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว มีการดำเนินการโดยปราศจากการตรวจสอบและถ่วงดุลที่เพียงพอ จึงนำไปสู่การทุจริตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การจัดซื้อจัดจ้างฉุกเฉินอย่างไม่ถูกต้องส่งผลให้ราคาสูงขึ้น เกิดการโจรกรรมเวชภัณฑ์และการขายยาปลอม ทำให้ประชาชนเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดและเสียชีวิตได้ แม้ว่าผู้แจ้งเบาะแส นักข่าว และสาธารณะชนจะช่วยปกป้องเงินทุนจากการทุจริตได้ แต่โควิดมักถูกใช้เป็นข้ออ้างในการระงับการพิพากษ์วิจารณ์
ขณะที่หมู่เกาะแปซิฟิก รัฐบาลต่างๆ ได้ตอบสนองต่อการระบาดใหญ่โดยใช้แนวทางเผด็จการ ซึ่งรวมถึงการให้อำนาจใหม่แก่นายกรัฐมนตรี มาตรการดังกล่าวได้บั่นทอนความรับผิดชอบและลดการกำกับดูแลของสาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้หญิงมีบทบาทน้อยในการตัดสินใจของสาธารณชน
เจาะคะแนน CPI ประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ในการการเก็บรวบรวมสถิติ CPI มาจากแหล่งข้อมูลทั้ง 9 แหล่ง ประเทศไทยได้คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่ง ได้คะแนนลดลง 4 แหล่ง และได้คะแนนคงที่ 4 แหล่ง มีรายละเอียดดังนี้
คะแนนเพิ่มขึ้น 1 แหล่งข้อมูล
แหล่งข้อมูล Varieties of Democracy Institute หรือ V-DEM ประเมินการทุจริตในภาครัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และตุลาการเกี่ยวกับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับส่วนรวม ขณะนี้ไทยได้ 26 คะแนน เพิ่มขึ้น 6 คะแนน จากเดิมในปี 2563 ได้ 20 คะแนน
คะแนนลดลง 4 แหล่งข้อมูล
1. แหล่งข้อมูล Competitiveness Yearbook หรือ IMD ประเมินการติดสินบนและการทุจริตว่ามีอยู่หรือไม่และมากน้อยเพียงใด ขณะนี้ไทยได้ 39 คะแนน ลดลง 2 คะแนน จากเดิมในปี 2563 ได้ 41 คะแนน
2. แหล่งข้อมูล The Political Risk Services International Country Risk Guide หรือ PERC ประเมินระดับการรับรู้ว่าการทุจริตเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองมากน้อยเพียงใด ขณะนี้ไทยได้ 36 คะแนน ลดลง 2 คะแนน จากเดิมในปี 2563 ได้ 38 คะแนน
3. แหล่งข้อมูล World Economic Forum หรือ WEF ประเมินภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่างๆ มากน้อยเพียงใด ขณะนี้ไทยได้ 42 คะแนน ลดลง 1 คะแนน จากเดิมในปี 2563 ได้ 43 คะแนน
4. แหล่งข้อมูล World Justice Project หรือ WJP ประเมินเจ้าหน้าที่รัฐมีพฤติกรรมการใช้ตำแหน่งหน้าที่ในทางมิชอบมากน้อยเพียงใด ขณะนี้ไทยได้ 35 คะแนน ลดลง 3 คะแนน จากเดิมในปี 2563 ได้ 38 คะแนน
คะแนนคงที่ 4 แหล่งข้อมูล
1. แหล่งข้อมูล Bertelsmann Stiftung Transformation Index หรือ BF(IT) ประเมินการปราบปรามการทุจริตและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ไทยได้ 37 คะแนนเท่าเดิม
2. แหล่งข้อมูล Economist Intelligence Unit Country Risk Rating หรือ EIU ประเมินความโปร่งใสและตรวจสอบได้ในการใช้จ่ายงบประมาณรัฐ ไทยได้ 37 คะแนนเท่าเดิม
3. แหล่งข้อมูล Global Insight Country Risk Rating หรือ GI ประเมินการดำเนินการทางธุรกิจ ต้องเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด ไทยได้ 35 คะแนนเท่าเดิม
4. แหล่งข้อมูล Political Risk Services International Country Guide หรือ PRS ประเมินการมีอำนาจหรือตำแหน่งทางการเมืองมีการทุจริตโดยใช้ระบบอุปถัมภ์และระบบเครือญาติ และภาคทางการเมืองกับภาคธุรกิจ มีความสัมพันธ์กันมากน้อยเพียงใด ไทยได้ 32 คะแนนเท่าเดิม
ความหวังการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเอเชียแปซิฟิก
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ เปิดเผยว่า แม้ว่าโดยทั่วไปในเอเชียแปซิฟิกจะมีความคืบหน้าในการต่อสู้กับการทุจริตช้า แต่ก็มีบางประเทศที่มีความคืบหน้าบ้าง คือ เกาหลีใต้ ที่ภาคประชาสังคมยังมีความเข้มแข็งและมีการเคารพสิทธิทางการเมืองมากขึ้น ทำให้ CPI เพิ่มสูงขึ้น 6 คะแนนในรอบ 10 ปี จากเดิมที่เคยได้รับ 56 คะแนน
ขณะที่ประเทศที่ทำคะแนนได้น้อยที่สุดในแปซิฟิกด้วย CPI 31 คะแนน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปี 2558 จากเดิมที่ได้รับ 25 คะแนนเท่านั้น เนื่องจากรัฐบาลได้ปฏิรูปกฎหมายสำคัญ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตที่เป็นอิสระ และการร่วมมือกับภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตามจนถึงปัจจุบันกฎหมายเหล่านี้ยังคงไม่มีการบังคับใช้เป็นส่วนใหญ่
สิทธิเสรีภาพทางสังคม ทางแก้ทุจริตที่ยั่งยืน
สำหรับคำแนะนำในการต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติให้ความเห็นว่า ในการวางกลยุทธ์ฟื้นฟูเศรษฐกิจจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่รอบรู้มีส่วนร่วม สามารถชุมนุมได้อย่างอิสระ สามารถพูดได้อย่างเปิดเผย และเป่านกหวีดเกี่ยวกับการทุจริตได้โดยไม่ต้องกลัวการตอบโต้
ประเทศใดที่ไม่มีหน่วยงานต่อต้านการทุจริต หรือสถาบันอ่อนแอ ควรปฏิบัติตามคำชี้แจงของจาการ์ตาเรื่องหน่วยงานต่อต้านการทุจริต พ.ศ. 2555 รวมถึงอนุสัญญาต่อต้านการทุจริตของสหประชาชาติ
ขณะเดียวกันคนธรรมดาก็สามารถสร้างความแตกต่างได้ด้วยการโหวตออกนักการเมืองที่ทุจริต ตรงนี้อาจเครื่องป้องกันให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมสำหรับประเทศที่มีกระบวนการเลือกตั้งในปี 2565 และอื่นๆ
สรุปได้ว่า แม้ทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาโควิด แต่รัฐบาลยังต้องให้ความสำคัญกับสิทธิเสรีภาพทางสังคม ความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างและการใช้จ่ายงบประมาณ ตลอดจนการสร้างความเข้มแข็งและความเป็นอิสระให้กับหน่วยงานตรวจสอบ รวมถึงการรับมือกับปัญหาการทุจริตข้ามชาติ ทั้งในเรื่องช่องว่างของกฎหมายเพื่อสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ