เปิดรายงาน ป.ป.ท. ยอมรับ ‘นักธุรกิจ-ต่างชาติ’ ยังไม่เชื่อมั่นการป้องกันและปราบปราม ‘ทุจริต’ ของไทย สะท้อนคะแนน CPI ที่ลดลง ขณะที่ ‘นักธุรกิจทั่วโลก’ 4,300 คน ให้คะแนนเรื่องการให้ ‘สินบน’ ในไทย ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ ครม.รับทราบมาตรการยกระดับมาตรการขับเคลื่อน ‘ยกระดับคะแนน CPI’ คุมเข้มจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ใช้งบตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป
................................
จากกรณีที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International หรือ TI) เผยแพร่ผลสำรวจดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index หรือ CPI) ประจำปี 2564 โดยประเทศไทยได้คะแนน 35 คะแนนอยู่ในอันดับ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ลดลง 6 อันดับ เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ประเทศไทยได้คะแนน 36 คะแนน อยู่ในอันดับ 104 (อ่านประกอบ : เบื้องหลังไทยร่วง 6 อันดับ CPI ปี 64 ปัญหาจัดซื้อช่วงโควิด-ห่วงแก้การเมืองมากกว่าทุจริต)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้รายงานผลการวิเคราะห์ดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2564 ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบ
โดยรายงาน ป.ป.ท. ระบุตอนหนึ่งว่า ภาพรวมคะแนนของไทยที่ลดต่ำลง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตการทุจริตของประเทศไทยกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญ เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ที่คะแนนเพิ่มขึ้น เป็นเครื่องสะท้อนว่า นักธุรกิจ นักลงทุน ชาวต่างชาติ นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญที่ประเมินประเทศไทย ยังไม่เชื่อมั่นในการบริหารจัดการเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันชองประเทศไทยเท่าที่ควร
รายงาน ป.ป.ท. ยังเปรียบเทียบผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2564 เทียบกับ 4 ปีย้อนหลัง ผลปรากฏว่า นักธุรกิจต่างประเทศที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ให้คะแนนในเรื่อง The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) หรือคะแนนการคอร์รัปชันในประเทศไทยที่ระดับ 36 คะแนน ต่ำสุดในรอบ 5 ปี ขณะที่ในปี 2560 ประเทศไทยได้คะแนน PERC ที่ระดับ 40 คะแนน
เช่นเดียวกับเรื่อง World Justice Project Rule of Law Index Expert Survey (WJP) หรือคะแนนการใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายทหารและตำรวจ ซึ่งพบว่าผู้เชี่ยวชาญให้คะแนนประเทศไทยที่ระดับ 35 คะแนน ต่ำสุดในรอบ 5 ปี เมื่อ เทียบกับปี 2560 และปี 2561 ที่ประเทศไทยได้คะแนน WJP ที่ระดับ 40 คะแนน
นอกจากนี้ นักธุรกิจทั่วโลก 4,300 คน ยังให้คะแนนเรื่อง IMD World Competitiveness Center World Competitiveness Yearbook Executive Opinion Survey (IMD) หรือคะแนนการให้สินบนและการทุจริตคอร์รัปชัน ต่ำสุดในรอบ 5 ปีเช่นกัน โดยในปี 2564 ประเทศไทยได้คะแนน 39 คะแนน เทียบกับปี 2560 ที่ประเทศไทยได้คะแนน 43 คะแนน
รายงาน ป.ป.ท. ระบุด้วยว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้มีข้อเสนอแนะสำคัญต่อประเทศไทย 4 ประเด็น ได้แก่
1.ส่งเสริมสิทธิ เสรีภาพ เพื่อเป็นพลังในการตรวจสอบการทุจริต รัฐบาลควรที่จะจัดการในเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน และส่งเสริมการต่อสู้ประเด็นสิทธิมุนษยชนในกระบวนการยุติธรรม ให้เป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วน
2.สร้างความเข้มแข็งของหน่วยงานตรวจสอบการทุจริต โดยขยายโครงสร้างหน่วยงานต่อต้านการทุจริต และหน่วยงานตรวจสอบอื่นๆ ให้มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อระงับยับยั้งการกระทำการทุจริต โดยรัฐสภาและศาล ควรที่จะเฝ้าระวัง ป้องกันเพื่อมิให้ เจ้าหน้าที่กระทำการเกินขอบเขตอำนาจหน้าที่
3.การปราบปรามการทุจริตข้ามชาติ รัฐบาลควรปรับปรุงจุดอ่อนของระบบที่เป็นช่องทางของการทุจริตข้ามชาติ อาชญากรรมทางการเงิน โดยลดช่องว่างทางกฎหมาย และบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ที่กระทำการทุจริตต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
4.สนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงข้อมูลในเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัส (Covid 19) ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติวาระพิเศษว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (UNGASS ) เมื่อเดือนมิ.ย.2021 กำหนดให้ภาครัฐต้องให้สัตยาบรรณว่าต้องมีการป้องกันการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งการมีความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณที่ดียิ่งจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น
ทั้งนี้ ครม.ได้รับทราบแนวทางการขับเคลื่อนมาตรการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ตามข้อเสนอของ ป.ป.ท. และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการให้เกิดผล เช่น จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกและรับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติ ,การจัดทำแผนปรับปรุงและยกระดับการให้บริการภาครัฐของส่วนราชการในกระบวนงานการประกอบกิจการในพื้นที่ EEC , การเปิดเผยข้อมูลตามหลักสากล
การพัฒนาระบบการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการเฝ้าระวัง ลดโอกาสการทุจริต และการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อน ‘แผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการยกระดับคะแนน CPI’ ,การปราบปรามที่จริงจังและลงโทษที่เข้มงวด และการสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในการต่อต้านการทุจริต เป็นต้น
นอกจากนี้ ครม.มอบหมายให้หน่วยงานที่ขอรับจัดสรรงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ หรือรายการในงบลงทุนที่มีวงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป ที่มีการจัดซื้อจัดจ้าง จัดทำการประเมินตามเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงเชิงนโยบาย โดยให้ส่งมาพร้อมคำของบประมาณ เพื่อให้สำนักงบประมาณใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลตามคู่มือแนวทางการประเมินความเสี่ยงการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ต่อไป
อ่านประกอบ :
บทวิเคราะห์ ป.ป.ช.เหตุ CPI ไทยอันดับตก แนะแก้ปัญหาจริงจัง โดยเฉพาะ จนท.รัฐเรียกรับสินบน
เบื้องหลังไทยร่วง 6 อันดับ CPI ปี 64 ปัญหาจัดซื้อช่วงโควิด-ห่วงแก้การเมืองมากกว่าทุจริต
อันดับตก! ดัชนีรับรู้ทุจริตปี 64 ไทยได้ 35 คะแนน อยู่ที่ 110 จาก 180 ประเทศทั่วโลก