"...ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองย่อมทราบดีว่า ต้นสังกัดไม่อาจอนุญาตให้นายสราวุธ เบญจกุล ไปดำรงตำแหน่งอื่นใดนอกราชการศาลยุติธรรมได้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองใช้อำนาจในตำแหน่งแต่งตั้งหรือเห็นชอบให้นายสราวุธ เบญจกุล ไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ข้างต้นโดยพลการอันเป็นการแทรกแซงการบริหารงานบุคคลของสำนักงานศาลยุติธรรมนั้น นอกจากเป็นการไม่ให้เกียรติต่อตำแหน่งประธานศาลฎีกาแล้ว ยังเป็นการด้อยค่าและทำลายความน่าเชื่อถือของประธานศาลฎีกาผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่นายสราวุธ เบญจกุล..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานไปแล้วว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 มีกลุ่มผู้พิพากษา นำทีมโดย นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ข้าราชการตุลาการบำนาญ (อดีตประธานศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา)นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายนรพัฒน์ สุจิวรกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ได้เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า มีพฤติการณ์ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการศาลยุติธรรม ประเทศชาติและประชาชน และกระทำการที่เป็นการขัดต่อนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมภิบาล และป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
กรณีการแต่งตั้ง นายสราวุธ เบญจกุล ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ 3 กรณี คือ การเสนอขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุติของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งมีชื่อ นายสราวุธ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุติรวมอยู่ด้วย ,กรณีการแต่งตั้งให้ นายสราวุธ ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมการ (คนที่ 1 ) ในคณะอนุกรรมการ ก.ตร , และกรณีการแต่งตั้ง นายสราวุธ เป็นกรรมการไฟฟ้านครหลวง
ทั้งที่ นายสราวุธ อยู่ระหว่างถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณีการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง รวมทั้งศาลจังหวัดตลิ่งชั้นและศาลจังหวัดมีนบุรี ตามคำสั่งประธานศาลฎีกา และมีการส่งเรื่องมายังสำนักงาน ป.ป.ช. ให้รับดำเนินการสอบสวนแล้ว
@ นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์' อดีตปธ.ศาลอุทธรณ์นำทีมผู้พิพากษา ยื่นหนังสือ ป.ป.ช.สอบ
ต่อไปนี้ เป็นรายละเอียดฉบับเต็มในหนังสือของ นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ และทีมผู้พิพากษา ที่ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการสอบสวนเรื่องนี้
*********************
ที่ศาลฎีกา แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
มกราคม 2565
เรื่อง ขอให้ดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แก่ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
เรียน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ด้วยข้าพเจ้า นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ข้าราชการตุลาการบำนาญ (อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 5 ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา) นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาและนายนรพัฒน์ สุจิวรกุล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ผู้กล่าวหาที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า ผู้ถูกล่าวหาที่ 1 และที่ 2 พบว่า มีพฤติการณ์การกระทำที่ส่อให้เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ราชการศาลยุติธรรม ประเทศชาติและประชาชน และกระทำการที่เป็นการขัดต่อนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
มีรายละเอียดข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังนี้
(1) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ประธานศาลฎีกาได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่ นายสราวุธ เบญจกุล ตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม (เทียบเท่าตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม) กรณีมีการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง (รวมทั้งศาลจังหวัดตลิ่งชันและศาลจังหวัดมีนบุรี) ซึ่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบแล้วมีความเห็นว่า ผู้รับจ้างเข้าไปทำงานปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง ก่อนที่นายสราวุธ เบญจกุล ขณะดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงนศาลยุติธรรมได้ลงนามในสัญญาจ้างประมาณ 3 เดือน และได้ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำผิดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แล้ว
(2) วันที่ 11 ตุลาคม 2564 ได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการแต่งตั้งนายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา โดยมีรายชื่อ นายสรวุธ เบญจกุล เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบลงนามสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งผู้กล่าวหาทั้งสามเห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ เป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีนายสราวุธ เบญจกุล เป็นกรรมการในคณะกรรมการคดีพิเศษร่วมงานกันมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ย่อมมีความสนิทสนมคุ้นเคยกัน และข่าวการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงแก่นายสรวุธ เบญจกุล และข่าวที่นายสราวุธ เบญจกุล ฟ้องประธานศาลฎีกาและคณะกรรมการสอบสวนวินัย ได้มีการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 น่าจะรู้อยู่แล้วว่า นายสราวุธ เบญจกุล เป็นผู้มีคุณสมบัติไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว สมควรมีคำสั่งให้ส่งเรื่องคืนไปให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทบทวนเสียใหม่ ดังที่เคยปฏิบัติในกรณีอื่น ๆ และควรสอบถามความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเป็นต้นสังกัดด้วย แต่ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 หาได้กระทำไม่ กลับเพิกเฉยลงนามสนองพระบรมราชโองการจึงต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการกระทำหรือละเว้นการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการศาลยุติธรรมและเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่สถาบันการศึกษาระดับสูงของประเทศชาติ
(3) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ ลงนามในประกาศคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ก.ตร. เกี่ยวกับการอุทธรณ์ โดยแต่งตั้งให้ นายสราวุธ เบญจกุล ดำรงตำแหน่งรองประธานอนุกรรมการ (คนที่ 1) ในคณะอนุกรรมการ ก.ตร.เกี่ยวกับการอุทธรณ์ มีหน้าที่ทำการแทน ก.ตร.ในเรื่องการอุทธรณ์และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับวินัยข้าราชการตำรวจ ด้วย
(4) วันที่ 11 มกราคม 2565 คณะรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม และผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมประชุมและมีมติแต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการการไฟฟ้านครหลวง โดยมีนายสราวุธ เบญจกุล ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการการไฟฟ้านครหลวงด้วย
เนื่องด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 193 บัญญัติ ว่าให้แต่ละศาล ยกเว้นศาลทหาร มีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการที่เป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลการงบประมาณ และการดำเนินการอื่น โดยให้มีหัวหน้าหน่วยงานคนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานของแต่ละศาล ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ และมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มาตรา 5 และมาตรา 6 บัญญัติว่า ให้มีสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระ มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของศาลยุติธรรม และมาตรา 8 บัญญัติว่า ให้มีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นข้าราชการศาลยุติธรรมขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา มีหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งราชการของสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ... ....ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล และวรรค 2 บัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระและหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ภายหลังมีการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง รวมทั้งอาคารศาลจังหวัดตลิ่งชันและอาคารศาลจังหวัดมีนบุรี ซึ่งคุณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปความเห็นว่า นายสราวุธ เบญจกุล ซึ่งเป็นผู้ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลทั้ง 3 แห่ง มีมูลความผิดวินัยร้ายแรง
ต่อมาวันที่ 19 สิงหาคม 2564 ประธานศาลฎีกาพิจารณาแล้ว ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่นายสราวุธ เบญจกุล แล้วนายสราวุธ เบญจกุล ได้ยื่นฟ้องประธานศาลฎีกา และคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อศาลปกครองกลาง ต่อมาศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ซึ่งสื่อมวลชนได้เสนอข่าวเป็นที่รับทราบกันอย่างกว้างขวางแล้ว
ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ยังลงนามสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งนายสราวุธ เบญจกุล เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยมิได้ดำเนินการเพื่อขอให้มีการส่งเรื่องคืนไปยังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เพื่อทบทวน และควรสอบถามความเห็นจากสำนักงานศาลยุติธรรมและประธานศาลฎีกาเสียก่อนว่า นายสราวุธ เบญจกุล ยังมีความเหมาะสมที่จะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่
หลังจากนั้น วันที่ 5 ธันวาคม 256 4 ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ก็มีคำสั่งแต่งตั้งให้นายสราวุธ เบญจกุล ดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการ ก.ตร. คนที่ 1 เกี่ยวกับอุทธรณ์ มีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องวินัยของข้าราชการตำรวจในชั้นอุทธรณ์ ทั้งที่ นายสราวุธ เบญจกุล อยู่ระหว่างการถูกสอบสวนวินัยร้ายแรงกรณีจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาล จนกระทั่ง สื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางถึงการแต่งตั้งที่ไม่เหมาะสม แม้กระนั้น เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองก็ยังได้ร่วมกันลงมติแต่งตั้งให้นายสราวุธ เบญจกุล ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการการไฟฟ้านครหลวง ต่อไปอีก 1 สมัย
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองทราบดีว่า นายสราวุธ เบญจกุล เป็นข้าราชการศาลยุติธรรม สังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งเป็นหน่วยงานธุรการที่เป็นอิสระ มีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 193 หากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองประสงค์จะได้ตัวนายสราวุธ เบญจกุล ไปช่วยเหลืองานราชการของฝ่ายบริหาร เพราะเห็นว่ามีความจำเป็นที่ไม่อาจหาคนอื่นที่เหมาะสมได้ (ซึ่งไม่น่าจะใช่เหตุผลสมควร) ก็ต้องติดต่อประสานงานจากต้นสังกัดเพื่อขออนุญาตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมหรือประธานศาลฎีกาเสียก่อน
แต่สำหรับกรณีการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญทั้ง 3 กรณีข้างตัน ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากประธานศาลฎีกามีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองย่อมทราบดีว่า ต้นสังกัดไม่อาจอนุญาตให้นายสราวุธ เบญจกุล ไปดำรงตำแหน่งอื่นใดนอกราชการศาลยุติธรรมได้ การที่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองใช้อำนาจในตำแหน่งแต่งตั้งหรือเห็นชอบให้นายสราวุธ เบญจกุล ไปดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ข้างต้นโดยพลการอันเป็นการแทรกแซงการบริหารงานบุคคล
ของสำนักงานศาลยุติธรรมนั้น นอกจากเป็นการไม่ให้เกียรติต่อตำแหน่งประธานศาลฎีกาแล้ว ยังเป็นการด้อยค่าและทำลายความน่าเชื่อถือของประธานศาลฎีกาผู้ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแก่นายสราวุธ เบญจกุล
เสมือนหนึ่งว่าเห็นสำนักงานศาลยุติธรรมซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองความเป็นอิสระไว้ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบในการบริหารงานบุคคลขึ้นตรงต่อประธานศาลฎีกานั้นเป็นหน่วยงานในสังกัดของรัฐบาลอันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 193 และขัดแย้งกับนโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่ได้มีการแถลงต่อรัฐสภาก่อนเริ่ม
ปฏิบัติหน้าที่
รวมทั้งย้อนแย้งกับพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 ที่ประกาศชักชวนให้ประชาชนร่วมมือกันต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบ ภายใต้แนวคิดที่ว่า "คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต"
ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นการไม่รับสนองตอบพระบรมรโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยให้ส่งเสริมคนดีให้ได้ปกครองบ้านเมืองและป้องกันคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ
แต่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองกลับส่งเสริมบุคคลที่มีข้อครหาเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตให้ได้รับตำแหน่งสำคัญในบ้านเมือง จึงเป็นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย และหลักนิติธรรม มิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม แต่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บุคคลที่ไม่สมควรจะได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสำคัญข้างต้นซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 3 วรรคสอง อีกด้วย
อนึ่ง นอกเหนือจากการแต่งตั้งหรือเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ แล้ว นายสราวุธ ยังดำรงตำแหน่งสำคัญในหน่วยงานอื่น ๆ ที่อยู่ในสังกัดของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหารอีกหลายตำแหน่ง เช่น (1) ประธานกรรมการการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (2) กรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน ป.ป.ช. (4) ประธานกรรมการธุรกรรมในสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (5) กรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (6) ประธานอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ( อ.ก.ค.ศ.) และดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ในสถาบันหรือสถานศึกษาอีกหลายแห่ง รวมทั้ง ยังมีตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอลจำกัด (มหาชน) อีกด้วย
ทั้งที่ นายสราวุธ เบญจกุล เป็นข้าราชการซึ่งปฏิบัติงานประจำในสำนักงานศาลยุติธรรม ย่อมมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงสามารถออกไปปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานภายนอกได้หลายแห่งเช่นนั้น
แม้ประธานศาลฎีกามีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยร้ายแรงแล้ว ก็ไม่มีหน่วยงานใดพิจารณาถึงความเหมาะสมว่า นายสราวุธ ยังสมควรดำรงตำแหน่งข้างต้นต่อไปหรือไม่
นอกจากนี้ กลุ่มผู้พิพากษา ได้รับทราบมาว่า บางตำแหน่งก็มีการแต่งตั้งโดยมิได้มีการขออนุญาตตามระเบียบของทางราชการศาลยุติธรรม เช่น กรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 แต่งตั้งนายสราวุธ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ซึ่งมีนายวิษณุ เป็นประธานกรรมการคดีพิเศษ เป็นต้น
จึงเรียนมาเพื่อขอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. สอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 91 และชี้มูลว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองข้างต้นเป็นความผิดจริยธรรมร้ายแรงหรือไม่ด้วย และขอให้ตรวจสอบด้วยว่า มีบุคคลใดอนุญาตให้นายสราวุธ ออกไปดำรงตำแหน่งอื่นในหน่วยงานภายนอกศาลยุติธรรม โดยไม่ชอบด้วยกฎระเบียบของทางราชการอีกหรือไม่
ขอแสดงความนับถือ
ผู้กล่าวหาที่ 1 นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์
ผู้กล่าวหาที่ 2 นายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล
ผู้กล่าวหาที่ 3 นายนรพัฒน์ สุจิวรกุล
อนึ่ง เกี่ยวกับกรณีนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการรับเรื่องของ ป.ป.ช.เท่านั้น ผู้ถูกกล่าวหา และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่