“..การแก้ไขรถติด จุดสำคัญ คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมของคน การเปลี่ยนจาการใช้รถส่วนบุคคล เป็นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีแนวคิดคือ การให้ระบบรถไฟฟ้าเป็นแกนหลักในการเดินทาง และระบบสนับสนุนระบบขนส่งสายรอง เป็นระบบอำนวยความสะดวกเชื่อมเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า..”
ปัญหา ‘รถติด’ ในกรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่ภาครัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องล้วนแต่พยามแก้ไข แต่ก็ยังไม่สำเร็จ อาจจะเป็นเพราะปัญหารถติดไม่สามารถแก้ได้เพียงแค่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงหลายส่วนอย่างซับซ้อน
นายสุรพงษ์ เมี้ยนมิตร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงสาเหตุปัญหาการจราติดขัดในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ปัญหารถติดในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นปัญหาที่สะสมมานาน มีผลสืบเนื่องมาตั้งแต่ในอดีต จากการศึกษาสาเหตุหลักด้านวิชาการในปัจจุบัน พบว่ามี 8 สาเหตุ ดังนี้
1.อัตราการเพิ่มของประชากรเมืองที่เพิ่มขึ้น คนจากต่างจังหวัดยังคงนิยมเดินทางเข้ามาทำงานในเมืองหลวง ส่งผลให้ประชากรในพื้นที่เมืองเพิ่มขึ้น
2.การพัฒนาที่ดินและพัฒนาเมืองที่เป็นการดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาในเมืองมากยิ่งขึ้น จะเห็นว่า มีการพัฒนาคอนโดที่ที่ค่อนข้างเยอะมากตามแนวเส้นทางการเดินรถไฟฟ้า เป็นต้น
3.อัตราการเพิ่มขึ้นของพาหนะ โดยเฉลี่ยใน 1 ปี มีอัตราการเพิ่มขึ้น 45 % สำหรับรถยนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในขณะเดียวกันเส้นทางถนนเพิ่มขึ้นค่อนข้างน้อยมาก ฉะนั้นการที่คนส่วนใหญ่ใช้รถส่วนตัว ทำให้ถนนรองรับได้ไม่เพียงพอ
4.การขาดประสิทธิภาพของโครงข่ายถนนและสะพาน พื้นที่กรุงเทพฯ มีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลาง ดังนั้นการเชื่อมต่อระหว่างฝั่งตะวันออกและตะวันตกจะเป็นการเชื่อมด้วยสะพาน ซึ่งถือว่าน้อยและไม่เพียงพอ
ทั้งนี้ ได้มีการเสนอให้มีการสร้างสะพานเพิ่ม เนื่องจากการที่มีสะพานเชื่อมมีน้อย ทำให้เกิดการจราจรติดขันรูปแบบคอขวดบริเวณเชิงสะพานทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้เกิดการจราจรติดขัดสะสมมาถึงพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน
5.การใช้พื้นผิวจราจรที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยในส่วนนี้หน่วยงานต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ เช่น ที่ผ่านมามีการนำทางเท้ามาใช้ประโยชน์อื่นๆ หรือประชาชนใช้เลนช่องซ้ายมาจอดรถ ทำให้ช่องทางการจราจรลดลง
6.ระบบขนส่งสาธารณะไม่เพียงพอ ในขณะนี้กำลังเร่งสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้าให้เป็นเครือข่าย และปฏิรูปรถโดยสารประจำทาง หรือรถเมล์
7.การเชื่อมต่อการเดินทางที่ไม่สะดวก เช่น การเดินทางจากบ้านเพื่อไปสถานีรถไฟฟ้า จะต้องเดินทางหลายต่อ ทำให้ประชาชนเกิดความไม่สะดวก ปัจจุบันในกระบวนการหาแนวทางในการแก้ไขให้สะดวกยิ่งขึ้น
8.การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น การจอดรถในที่ห้ามจอดทำให้เกิดการขว้างการจราจร
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ กรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันได้มีจัดทำแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการจราจรในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีแนวทางแก้ไขปัญหา 2 ส่วน ดังนี้
แนวทางที่ 1 เพิ่มพื้นที่และความสามารถในการรองรับปริมาณการจราจรบนถนนในจุดที่จำเป็น
ด้วยการปรับปรุงแก้ไข และก่อสร้างแนวเส้นทางให้เชื่อมโยงกับโครงข่ายหลักที่เชื่อมต่อเมืองชั้นนอกเข้าสู่เมืองชั้นใน
มีแผนจะปรับปรุง แนวเส้นทางหลัก 9 เส้นทาง ได้แก่ แนววงแหวนรัชดาภิเษก, แนวมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-ชลบุรี-ทางพิเศษศรีรัช, แนวประเสริฐมนูกิจ-งามวงศ์วาน, แนวทางด่วนขั้นที่ 1 อาจณรงค์, แนวทางด่วนขั้นที่ 1 พระราม 9-พระราม 2, แนวสะพานตากสิน-ราชพฤกษ์-กัลปพฤกษ์, แนวคู่ขนานลอยฟ้าบรมราชชนนี-สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า แนวทางพิเศษฉลองรัช-ลำลูกกา และ แนวราชพฤกษ์ ช่วงชัยพฤกษ์ รัตนาธิเบศร์
รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง ได้แก่ แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ-รามอินทรา), แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ศรีนครินทร์-เทพารักษ์) และ แนวก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม (พระราม 9-รามคำแหง-สุวินทวงศ์)
การแก้ไขปัญหาจะเน้นในเชิงกายภาพ เช่น การก่อสร้างสะพาน อุโมงค์ ทางยกระดับ สะพานข้ามแยก ทางแยกต่างระดับ เพิ่มผิวจราจร การจัดจราจร การปรับปรุงทางร่วมทางแยก สร้างทางเชื่อมระหว่างถนนและทางพิเศษเพิ่มเติม เป็นต้น
แนวทางที่ 2 เร่งส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพื่อลดปริมาณรถส่วนบุคคลบนถนน ประกอบไปด้วย 5 มาตรการ ดังนี้
1) การจัดพื้นที่จอดและจร (Park and Ride) ตามแนวขนส่งมวลชน เพิ่มเติม 10 โครงการ
2) การเพิ่มการเชื่อมต่อด้วยทางข้ามลอยฟ้า (Skywalk) อีก 2 จุด
3) การเพิ่มโครงข่ายเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้า (Access road to MRT Station) ศึกษาและก่อสร้างถนนเชื่อมต่อเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าต่างๆ จำนวน 17 เส้นทาง
4) มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะโดยใช้มาตรการควบคุม เช่น การเก็บค่าธรรมเนียมรถเข้าพื้นที่ชั้นใน (Road Pricing) การปรับเปลี่ยนอัตราภาษีรถยนต์
5) มาตรการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
โดยใช้มาตรการส่งเสริมและอำนวยความสะดวก เช่น การสนับสนุนระบบขนส่งสายรอง (Feeder) และการปรับเส้นทางการเดินเรือ เป็นต้น
แนวทางการลดปริมาณรถยนต์ส่วนบุคคลจะทำควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางหรือรถไฟฟ้า ตามแผนแม่บท M-Map เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาการจราจรได้อย่างยั่งยืน
"ในเมือง มีปัญหาคือ รถติด มลพิษ และการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยการแก้ไขที่สำคัญคือการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน คือการเปลี่ยนจาการใช้รถส่วนบุคคล เป็นการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีแนวคิดคือ การให้ระบบรถไฟฟ้าเป็นแกนหลักในการเดินทาง และระบบสนับสนุนระบบขนส่งสายรอง (Feeder) เป็นระบบอำนวยความสะดวกเชื่อมเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า" นายสุรพงษ์ กล่าว
ทางด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ผอ.ศจร.ตร.) กล่าวว่า ในส่วนการแก้ไขปัญหาจราจรของตำรวจ โดยมีศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) เป็นหน่วยงานรับชอบดูแลการจราจรในพื้นที่กรุงฯ และปริมณฑล
สำหรับสถานการณ์จราจรในพื้นที่กรุงเทพฯ ในขณะนี้เริ่มกลับมามีปัญหาการจราจรติดขัด หลังจากที่เบาบางลง เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีมาตรการให้ประชาชนเวิร์กฟอร์มโฮม
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวถึงสาเหตุของปัญหาจราจรติดขัดว่า สาเหตุของรถติด แบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ปริมาณรถที่มีจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่แก้ได้ยาก แต่ถ้าหากรถติดเนื่องด้วยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ตำรวจก็มีหน้าที่แก้ไขปัญหาให้ได้อย่างทันถ่วงที เช่น ไกล่เกลี่ย จัดการจราจรเฉพาะกิจ เป็นต้น
โดยในส่วนของการดำเนินการจะเน้นการอำนวยการจราจร และการรับเบาะแสการแจ้งร้องเรียนจากประชาชน เช่น จุดไหนที่มีการร้องเรียนเข้ามาในระบบ 1197 หรือ สพ.91 ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนหรือการแจ้งเหตุอะไรก็ตาม ถ้าเกินกว่า 1 ครั้ง รองผู้บังคับการจราจรจะต้องลงพื้นที่เข้าไปดูแล
สำหรับสาเหตุของรถติดเนื่องด้วยการฝ่าฝืน เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด เป็นต้น ในส่วนนี้นอกจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะคอยสอดส่องและจับกุมแล้ว อยากจะขอความร่วมมือประชาชนโดยปัจจุบันมีโครงการ 'อาสาตาจราจร' ที่ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิเมาไม่ขับ สำหรับการแจ้งเบาะแส โดยผู้ที่แจ้งมีสิทธิไดรับรางวัลนำจับด้วย
ขณะเดียวกันยังมีโครงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุ โดยเป็นการกวดขัน เข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังอีกด้วย
"เพราะการฝ่าฝืนกฎหมาย อาจจะทำให้ผู้อื่นได้รับผลกระทบจนเกิดอุบัติเหตุ หรือการเสียช่องทางจราจรไป จนเป็นสาเหตุของการจราจรที่ติดขัดได้" พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าว
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ในระหว่างเร่งจัดทำแผนเพื่อการดำเนินการของบประมาณสำหรับนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการจราจร เช่น ไฟจราจร AI ซึ่งต้องใช้งบประมาณเยอะ คาดว่าจะได้งบประมาณในปี 2566
เบื้องต้นก็ต้องขอให้ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันก่อน ถ้ามีการก่อสร้างก็จะต้องคืนพื้นผิวให้เร็ว เป็นต้น ตอนนี้รถติดไม่ได้เกี่ยวเนื่องแค่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เท่านั้น ยังเกี่ยวโยงไปยังหน่วยงานอื่นๆ เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กรมทางหลวง และจังหวัดต่างๆ พื้นที่รอยต่อปริมณฑล จึงต้องให้ผู้บังคับการจราจรแต่ละพื้นที่เข้าร่วมกันเป็นหน่วยงานเดียวในการแก้ไขปัญหา
ทั้งหมดนี้ คือสาเหตุของปัญหารถติดในกรุงเทพมหานคร จะเห็นได้ว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สำคัญที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนที่ควรหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากยิ่งขึ้น และเป็นหน้าที่ของภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้ระบบขนส่งสาธารณะตอบโจทย์ และอำนวยความสะดวกจนสามารถดึงดูให้คนหันมาใช้ได้