"...การที่ รธน.กำหนดให้นำลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว มาเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตาม รธน. มาตรา 101 (6) โดยมิต้องรอให้มีคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจาก ส.ส.ต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร..."
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานกรณีเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าสมาชิกภาพ ส.ส. ของแกนนำ 5 กปปส.สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ
แกนนำ 5 กปปส.ประกอบด้วย
-
ผู้ถูกร้องที่ 1 คือ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์
-
ผู้ถูกร้องที่ 2 คือ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
-
ผู้ถูกร้องที่ 3 คือ นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
-
ผู้ถูกร้องที่ 4 นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์
-
ผู้ถูกร้องที่ 5 นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก มติ 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่า ผู้ถูกร้องทั้งห้าต้องคำพิพากษาของศาลอาญาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลอาญา เป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องทั้งห้าจึงสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) นับแต่วันที่ 7 เมษายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
รายงานข่าวแจ้งว่าตุลาการเสียงข้างมาก 6 คน ประกอบด้วย นายปัญญา อุดชาชน , นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม , นายวิรุฬห์ แสงเทียน , นายจิรนิติ หะวานนท์ , นายนภดล เทพพิทักษ์ และนายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์
ขณะที่ตุลาการเสียงข้างน้อย 3 คน ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ , นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้ใช้เวลาเกือบ 40 นาทีในการอ่านคำวินิจฉัย และมีข้อโต้แย้งอย่างน้อย 7 ประเด็น ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นข้อโต้แย้งที่ฟังไม่ขึ้น โดยมีประเด็นที่น่าสนใจไว้ ดังนี้
ชุมนุมเป็นสิทธิตาม รธน.แต่ไม่รับรองการทำผิด กม.อื่น
ข้อโต้แย้งที่ว่า การกระทำผิดอาญของผู้ถูกร้องที่ 1 , 3 , 4 และ 5 มาจากการชุมนุม เพื่อแสดงออกความเห็นทางการเมือง ซึ่งศาล รธน.เคยรับรองว่าเป็นการใช้สิทธิการชุมนุม ดังปรากฎในคำสั่งศาลหลายคำสั่ง
เห็นว่า คำสั่งที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างเป็นกรณีที่ศาล รธน.มีคำสั่งไม่รับคำร้องพิจารณาวินิจฉัย แม้ปรากฎถ้อยคำว่า เป็นการชุมนุมแสดงออกเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตาม รธน. แต่หากการกระทำนั้นเป็นการกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่น เป็นเรื่องที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่ศาลไม่ได้รับรองการกระทำ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นไว้ตามที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้าง ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น
คุมขังระหว่างรอประกันชอบด้วยกฎหมาย
ข้อโต้แย้งที่ว่า คำสั่งศาลอาญาที่ส่งคำร้องใขอให้ปล่อยตัวชั่วคราว ระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 106 , 107 , 108 และ 108/1 แต่ระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมว่าด้วยการปล่อยชั่วคราว พ.ศ.2548 การที่ศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา และส่งตัวผู้ถูกร้องทั้งห้าไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 24-26 ก.พ.2564 ไม่ใช่การคุมขังโดยหมายของศาล ตาม รธน. มาตรา 98
เห็นว่า การที่ศาลอาญาไม่ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยสั่งในคำร้องว่า ส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง เป็นการใช้ดุลพินิจสั่งคำร้องในคดีของศาลอาญา เป็นการดำเนินกระบวนการพิจารณาตาม ป.วิอาญา 106 (4) ให้อำนาจไว้ เมื่อยังไม่มีคำสั่งศาลอุทธรณ์ให้ปล่อยตัวชั่วคราว ศาลอาญาต้องออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ตามผลของคำพิพากษาลงโทษจำคุก และส่งตัวไปขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ อันเป็นการพิจารณาคดีในขอบเขตการใช้อำนาจศาลยุติธรรม ตาม รธน.มาตรา 194 และการที่ถูกคุมขังเป็นการถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงเป็นการถูกคุมขังโดยหมายของศาล มาตรา 98 (6) ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
คุมขังโดยหมายศาล สิ้นสภาพ ส.ส.ได้
ข้อโต้แย้งที่ว่า เจตนารมณ์ รธน. มาตรา 98 (6) บัญญัติให้การคุมขังโดยหมายของศาล อันเป็นเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. ต้องเป็นการถูกคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้นั้น
เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 98 (6) ไม่ได้กำหหนดเงื่อนไขว่า ต้องเป็นการคุมขังจนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
เอกสิทธิ์ ส.ส.ไม่คุ้มครอง หลังศาลชี้ขาดตัดสินคดี
ข้อโต้แย้งว่า รธน. มาตรา 125 วรรคสสี่ บัญญัติให้คุ้มครอง ส.ส. ระหว่างสมัยประชุม การที่ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษา และออกหมายขังผู้ถูกร้องระหว่างรอคำสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ เป็นการขัดขวางต่อการที่ ส.ส. จะมาปราะชุมสภานั้น
เห็นว่า ความคุ้มกันของสมาชิกรัฐสภา เป็นสถานะพิเศษที่ รธน. บัญญัติขึ้น เพื่อให้สมาชิกรัฐสภามาประชุมระหว่างสมัยประชุมได้ตามปกติ โดยไม่อาจถูกจับ คุมขัง หรือหมายเรียกตัวไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา หรือการพิจารณาคดีอาญา ต้องไม่มีลักษณะขัดขวางการที่สมาชิกรัฐสภาจะมาประชุมสภา
รธน. มาตรา 125 วรรคสี่ เป็นบทบัญญัติ การฟ้อง ส.ส.ในคดีอาญา ศาลมีอำนาจ พิจารณาคดีระหว่างสมัยประชุมได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตสภาก่อน เพียงแต่การพิจารณาคดีของศาลต้องไม่ขัดขวาง ส.ส.มาประชุมสภา แม้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 2/2563 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2563 และมีพระราชกฤษฎีกาปิดสมัยประชุม ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2564 การอ่านคำพิพากษาศาลอาญาวันที่ 24 ก.พ.2564 การคุมขังตามหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ระหว่างวันที่ 24-26 ก.พ.2564 อยู่ในระหว่างสมัยประชุมก็ตาม แต่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 1 (8) ประกอบ ป.วิอาญา มาตรา 15 บัญญัติให้การพิจารณาหมายความว่า กระบวนารพิจารณาศาลใดศาลหนึ่ง ก่อนศาลนัดชี้ตัดสินหรือจำหน่ายคดี ประกอบกับ ป.วิอาญา 182 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งในศาลโดยเปิดเผย นับตั้งแต่วันเสร็จการพิจารณา หรือภายใน 3 วัน หากมีเหตุควรเลื่อนไปอ่านวันอื่นได้ แต่ต้องจดรายงานเหตุนั้นไว้
ดังนั้นการอ่านคำพิพากษา และการคุมขัง จึงไม่ใช่กระบวนการก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี แต่เป็นกระบวนการหลังศาลชี้ขาดตัดสินคดี ไม่อยู่ในความหมาย รธน. มาตรา 125 วรรคสี่
เมื่อถูกร้องต้องคำพิพากษาให้จำคุกและคุมขังโดยหมายศาล แม้จะเป็นหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา รธน. มาตรา 98 (6) บัญญัติลักษณะต้องห้าม ส.ส. โดยมิได้บัญญัติว่าต้องเป็นกรณีต้องคำพิพากษาถึง แสดงว่า รธน.มาตรา 125 วรรคสี่ ไม่คุ้มครอง ส.ส. เฉพาะกรณีที่คดีอยู่ระหว่างพิจารณา แต่กรณีที่การพิจารณาเสร็จสิ้น จนถึงขั้นตอนการอ่านคำพิพากษา ย่อมไม่อาจอ้างความคุ้มกัน ของ ส.ส.ได้ ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาโดยไม่ขัดต่อ รธน. ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น
มีลักษณะต้องห้ามระหว่างเป็น ส.ส. สมาชิกภาพสิ้นสุดได้
ข้อโต้แย้งที่ว่า เจตตนารมณ์ รธน. มาตรา 101 (4) (6) บัญญัติเหตุสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. เพื่อควบคุมคุณสบัติก่อนวันสมัครรับเลือกตั้ง
เห็นว่า รธน. มาตรตา 101 กำหนดเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส และมาตรา 98 กำหนดลักษณะต้องห้าม เป็นกรณีที่ รธน.บัญญัติให้นำลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิ์สมัคร ส.ส. มาใช้เป็นเหตุแห่งการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ตาม รธน.มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) หาก ส.ส.มีลักษณะต้องห้าม ระหว่างการดำรงตำแหน่ง ย่อมเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงระหว่างดำรงตำแหน่งได้ ตามมาตรา 101 (6) มิใช่เป็นเพียงลักษณะต้องห้ามขณะที่ผู้ถูกร้องใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เท่านั้น ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
ผู้เป็น ส.ส.ต้องปราศจากเหตุมัวหมอง
ข้อโต้แย้งที่ว่า คดีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ตาม รธน. มาตรา 96 (2) ต้องเป็นกรณีคดีถึงที่สุด
เห็นว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ต้องสิ้นสุดลง เมื่อเป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 96 (2) บุคคลที่อยู่ระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีถึงที่สุดหรือไม่ จึงเป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง
บทบัญญัติ รธน.เกี่ยวกับการกำหนดลักษณะต้องห้ามการใช้สิทธิเลือกตั้งของบุคคล มีการแก้ไขเพิ่มเติมจาก รธน.ที่ผ่านมา โดยเพิ่มความว่า “ไม่ว่าคดีถึงที่สุดหรือไม่” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการว่า คำพิพากษาของศาล ย่อมมีผลใช้บังคับได้จนกว่าศาลสูงมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้ใดแล้ว ผู้นั้นย่อมมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งโดยพลัน และเข้าลักษณะต้องห้ามของบุคคลในการสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ตามมาตรา 98 (4)
การที่ รธน.กำหนดให้นำลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันเลือกตั้งของบุคคลดังกล่าว มาเป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลง ตาม รธน. มาตรา 101 (6) โดยมิต้องรอให้มีคำพิพากษาถึงที่สุด เนื่องจาก ส.ส.ต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ปราศจากเหตุมัวหมอง ในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่เกียรติและศักดิ์ศรีของสภาผู้แทนราษฎร
การที่ ส.ส.ผู้ใด กระทำความผิดจนศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง อันต้องด้วยลักษณะต้องห้าม ส.ส.ผู้นั้นย่อมไม่อาจอยู่ในฐานะที่จะไว้วางใจในความสุจริตได้ ไม่สมควรให้เข้ามามีอำนาจในทางการเมืองอื่นอีกด้วย
บทบัญญัติ รธน.เกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ของ ส.ส. มีการใช้ถ้อยคำ แตกต่างกัน แยกได้หลายลักษณะ เช่น
มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (9) ใช้คำว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”
มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (10) ใช้คำว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ว่าการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ”
มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (11) ใช้คำว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด ว่าการกระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง”
ย่อมแสดงให้เห็นว่า รธน.มีเจตนารมณ์ให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุหลายประการ ตามบริบทของข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน
บทบัญญัติดังกล่าวหาได้ขัดแย้งกันเอง ข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้เป็นกรณี มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) และ มาตรา 96 (2) ใช้คำว่า “อยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นถึงที่สุดแล้วหรือไม่” โดยไม่ได้ใช้คำว่า “คำพิพากษาอันถึงที่สุด”
บทบัญญัติติลายลักษณ์อักษรมีความชัดเจนไม่อาจตีความเป็นอย่างอื่น ย่อมหมายความว่า สมาชิกภาพ ส.ส. ต้องสิ้นสุดลง เมื่อต้องคำพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ต้องรอคดีถึงที่สุดก่อน ข้อโต้แย้งฟังไม่ขึ้น
สิ้นสมาชิกภาพ ไม่ต้องรอคดีถึงที่สุด
ข้อโต้แย้งที่ว่า การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส.เนื่องจากมีลักษณะต้องห้าม กรณีต้องคำพิพากษาให้จำคุก ตามมาตรา 101 (13) ต้องเป็นกรณีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
เห็นว่า รธน.บัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. โดยใช้ถ้อยคำการต้องคำพิพากษา แตกต่างกันในหลายลักษณะ เช่น
มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) ใช้คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล”
มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (9) ใช้คำว่า “เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก เพราะกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต”
มาตรา 101 (13) ใช้คำว่า “ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอการลงอาญา”
แสดงให้เห็นว่า รธน. มีเจตนารมณ์ ให้สมาชิกาภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงด้วยเหตุผลหลายประการ ตามข้อเท็จจริงของผลแห่งคำพิพากษาแตกต่างกัน เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ เป็นกรณีมาตรา 98 (6) ใช้คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล โดยไม่มีคำว่าถึงที่สุด” จึงมีควาหมายว่า สมาชิกภาพต้องสิ้นสุดลงเมื่อต้องคำพิพากษาให้จำคุกเท่านั้น โดยไม่ต้องรอคดีถึงที่สุด
กรณีของผู้ถูกร้องทั้งห้า จึงตกอยู่ภายใต้บังคับ รธน. มาตรา 98 (6) เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงตาม มาตรา 101 (6) โดยไม่จำเป็นต้องรอให้คดีถึงที่สุด ตามมาตรา 101 (13) ข้อโต้แย้งนี้ฟังไม่ขึ้น
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1 , 3 , 5 สิ้นสุดลงตาม รธน.มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (4) (6) และมาตรา 96 (2)
ส่วนสมาชิกภาพ ส.ส.ของ ผู้ถูกร้อง 2 , 4 สิ้นสุดลงตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6)
นับแต่วันศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ 7 เมษายน 2564 และให้ถือว่าวันที่ศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยให้คู่กรณีฟังโดยชอบ คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2564 เป็นวันที่ตำแหน่ง ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1 , 2 , 3 , 4 ว่างลงตามรัฐธรรมนูญ
อ่านประกอบ :
-
ศาล รธน.นัดชี้สถานภาพ ส.ส. '5 กปปส.' 8 ธ.ค.หลังถูกจำคุก-ถอนสิทธิเลือกตั้ง
-
ถ้าขั้นตอนราชการเร็วคงไม่ถูกขัง! เปิดคำชี้แจง‘ถาวร’ถึงศาล รธน.ยันไม่พ้น ส.ส.
-
จากรัฐมนตรีสู่ 2 คืนในเรือนจำ! ความในใจ 'ณัฏฐพล' บนวิบากกรรม กปปส.
-
กกต.ส่งศาล รธน.วินิจฉัยความเป็น รมต.-ส.ส. 5 อดีตแกนนำ กปปส.โดนศาลสั่งคุก
-
'สุเทพ'เสียใจมาก'ตั้น-บี'พ้น รมต.! 8 กปปส.ได้ประกัน วงเงิน 8 แสน-ห้ามออกนอก ปท.
-
8 จำเลยคดีชุมนุม กปปส.นอนคุกต่อ! ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งให้ประกันตัวหรือไม่
-
กาง รธน.-สแกนจำเลย กปปส.โดนกี่เด้ง? เลื่อน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์-‘ทยา’อดชิงผู้ว่า กทม.
-
‘ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์-ถาวร’หลุด รมต.! 'วิษณุ'คอนเฟิร์ม-รธน.ระบุชัดโดนคุกต้องพ้นเก้าอี้
-
'สุเทพ-3 รมต.'นอนคุก! รออุทธรณ์พิจารณาให้ประกันหรือไม่หลังศาลพิพากษาคดีม็อบ กปปส.