“ด้วยเหตุผลดังประทานกราบเรียนมาทั้งหมดข้างต้น การที่ผู้ถูกร้องที่ 4 ต้องคำพิพากษาศาลอาญาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่ระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยหมายของศาลอาญา เป็นกระบวนการต่อเนื่องกัน เป็นเหตุให้ผู้ถูกร้องที่ 4 ซึ่งมีสถานะ ส.ส. หรือสมาชิกรัฐสภา ถูกขัดขวางไม่สามารถเข้าร่วมประชุมรัฐสภาได้ จึงเป็นเหตุให้กระทบต่อการทำหน้าที่ ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 การคุมขังในระหว่างสมัยประชุมจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง”
........................................................
“ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่ผู้ร้องขอให้วินิจฉัยว่า สมาชิกภาพ ส.ส.ของผู้ถูกร้องที่ 1-5 สิ้นสุดลงหรือไม่ เห็นว่า กรณีต้องรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสี่ ประกอบวรรคหนึ่ง และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 (5) จึงสั่งรับคำร้องเฉพาะในส่วนกรณีของสมาชิกภาพของ ส.ส. ของผู้ถูกร้องที่ 1-5 สิ้นสุดลงไว้พิจารณาวินิจฉัย
สำหรับคำขอให้ผู้ถูกร้องที่ 1-5 หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสองนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องปรากฏว่า ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ถูกร้องที่ 1-5 และผู้ถูกร้องทั้ง 5 ถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกร้องที่ 1, 3, 5 มีกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่คำพิพากษา กรณีปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่ามีกรณีตามที่ถูกร้องแล้ว จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 5 หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และให้แจ้งผู้ร้อง และประธานสภาผู้แทนราษฎรทราบ”
คือสาระสำคัญในคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 เรื่องพิจารณาที่ 9/2564 สรุปสาระสำคัญคือการรับพิจารณาวินิจฉัยสถานะ ส.ส. ของ ‘กลุ่มจำเลย’ กปปส. ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 5 ราย ได้แก่ นายชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และอดีต รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) นายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ นายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และอดีต รมช.คมนาคม นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และอดีต รมว.ศึกษาธิการ และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 3 ราย ได้แก่ นายชุมพล นายอิสสระ และนายณัฏฐพล (อ่านประกอบ : สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่! ศาล รธน.รับคำร้องวินิจฉัยสถานะ 5 ส.ส.จำเลยคดีชุมนุม กปปส.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2564 นายถาวร เสนเนียม หนึ่งใน ‘กลุ่มจำเลย’ กปปส. ทั้ง 5 รายดังกล่าว ได้ส่งคำชี้แจงถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณาวินิจฉัยแล้ว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากศาลอาญาพิพากษาจำคุกตน 5 ปี โดยออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์และขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมาได้รับการประกันตัว คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว อย่างไรก็ดีข้อเท็จจริงตามคำร้องดังกล่าว เห็นว่า สถานภาพ ส.ส. ของตนยังไม่สิ้นสุดลง ได้แก่
@อ้างสารพัดเรื่องฉาว รบ.ยิ่งลักษณ์ จึงต้องก่อม็อบขับไล่
หนึ่ง มูลเหตุแห่งคดีที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุกนั้น เนื่องจากปี 2556-2557 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ร่วมกับ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ เจตนาทุจริตโดยใช้กลไกของรัฐบาลของรัฐสภากระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นที่ประจักษ์ เช่น จงใจตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ (ฉบับเหมาเข่ง) จงใจตรา พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วว่าขัดรัฐธรรมนูญ รวมถึงเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. เพื่อให้ได้อำนาจมาโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ และกรณีทุจริตคอร์รัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว และโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาไปแล้ว
ขณะเดียวกันในระหว่างการชุมนุมของตนกับพวก ฝ่าย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้นำพฤติกรรมในการชุมนุมดังกล่าวมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า เป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุม และเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ
@การถูกคุมขังเป็นเพียงกระบวนการระหว่างพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวของศาล
สอง กรณีเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 ศาลอาญาพิพากษาให้ตนมีความผิดฐานร่วมกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ฐานร่วมกันยุยงให้เกิดการร่วมกันหยุดงานเพื่อบังคับรัฐบาล ฐานร่วมกันบุกรุกสำนักงานในความครอบครองของผู้อื่น ฐานร่วมกันบุกรุกอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น และฐานร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ ลงโทษจำคุกตน 5 กระทง กระทงละ 1 ปี รวมจำคุก 5 ปี
“ขอประทานกราบเรียนศาลที่เคารพว่า วันที่ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาข้างต้น และก่อนเวลาที่ศาลปิดทำการ ได้ใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลอาญาได้รับคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลอาญาไม่ได้พิจารณา สั่งปล่อยตัวชั่วคราว หรือสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แต่มีคำสั่งให้ส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง ต่อาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ส่งคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวมาให้ศาลอาญา และศาลอาญาดำเนินการออกหมายปล่อยตัวในวันที่ 26 ก.พ. 2564”
ดังที่ได้กราบเรียนศาลรัฐธรรมนูญแล้วว่า ในวันที่ 24 ก.พ. 2564 ตนกับพวก ใช้สิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวภายหลังต้องคำพิพากษาให้จำคุก อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายกำหนด รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยไว้ในหมวด 3 มาตรา 25 โดยข้อต่อสู้นี้สามารถใช้ยกเป็นข้อต่อสู้ได้แม้ในการพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และเมื่อประกอบมาตรา 29 วรรคสอง จะได้ความว่า “ในคดีอาญาให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำผิดมิได้” และในส่วนของวรรคสาม บัญญัติว่า “การควบคุมหรือขังผู้ต้องหาหรือจำเลย กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี”
ใคร่ขอให้ศาลที่เคารพได้โปรดพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 2564 เกี่ยวกับกระบวนการอ่านคำพิพากษาจนถึงกระบวนการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวว่า เกิดจากการใช้ดุลพินิจของศาลอาญา ที่ไม่พิจารณาสั่งปล่อยตัวชั่วคราว แต่สั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 24 ก.พ. 2564 ว่า ส่งศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาสั่ง ดังนั้น เมื่อใช้สิทธิในการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวภายในเวลาราชการแล้ว การพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ย่อมต้องอยู่ในระหว่างการใช้อำนาจของศาลอาญาต่อเนื่องไปยังศาลอุทธรณ์ เมื่อกระบวนการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวที่ใช้ระยะเวลานานถึง 2 วันนั้น เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการทางราชการแล้ว ย่อมต้องถือว่าคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 25 ก.พ. 2564 มีผลย้อนกลับไปอนุญาตตามเหตุแห่งคำร้องของตนกับพวก
“ขอศาลที่เคารพได้โปรดพิจารณาด้วยความเป็นธรรมว่า หากไม่เกิดจากความล่าช้าของกระบวนการทางราชการในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ผู้ถูกร้องที่ 4 (นายถาวร) กับพวก ก็ไม่ต้องถูกนำตัวไปคุมขัง”
นอกจากนี้การที่ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อสั่งคำร้องนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อความมุ่งหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ที่บัญญัติเกี่ยวกับการขอปล่อยตัวชั่วคราวไว้ในมาตรา 106, 107 ที่ศาลจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงประกอบทุกข้อ เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวทันทีที่สามารถดำเนินการได้ การที่ศาลอาญาไม่พิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราว จึงเป็นเหตุให้ตนกับพวกต้องถูกนำตัวไปคุมขังไว้ เป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 ประกอบมาตรา 29 ตามที่อ้างไว้แล้วข้างต้น
“ศาลรัฐธรรมนูญที่เคารพย่อมสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ศาลอาญาต้องมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 4 (นายถาวร) กับพวกทันที โดยที่ไม่ต้องส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป เนื่องจากเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์พิจารณา ล้วนอยู่ในสำนวนคดีของศาลอาญาทั้งสิ้น ดังนั้นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการที่ผู้ถูกร้องที่ 4 กับพวกถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เป็นเพียงกระบวนการระหว่างการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราวตามกระบวนการทางราชการเท่านั้น ผู้ถูกร้องที่ 4 กับพวก มิได้ถูกนำตัวไปคุมขังเพื่อเป็นการบังคับโทษทางอาญา ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) แต่อย่างใด”
นอกจากนี้รัฐธรรมนูญ มาตรา 125 ให้การคุ้มครองเอกสิทธิ์ ส.ส. ในระหว่างสมัยประชุมรัฐสภา ศาลจะพิจารณาคดีนั้นในระหว่างสมัยประชุมก็ได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่ ส.ส. ผู้นั้นมาประชุม โดยการที่ศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 24 ก.พ. 2564 ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนคดีของศาลอาญามาโดยตลอดว่า ตนเป็น ส.ส. อยู่ก่อนวันนัดอ่านคำพิพากษา ประกอบกับการนัดอ่านคำพิพากษาของผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และผู้พิพากษาองค์คณะต้องประชุมจัดทำคำพิพากษาล่วงหน้า และต้องมีการปรึกษาหารืออธิบดีผู้พิพากษา เพราะถือเป็นสำนวนคดีสำคัญที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ศาลอาญาย่อมทราบถึงผลของคำพิพากษาก่อนการอ่านคำพิพากษา และศาลอาญาย่อมทราบถึงผลของการอ่านคำพิพากษาว่า สามารถกระทบต่อความคุ้มครองของตนในฐานะ ส.ส. ได้
ดังนั้นการดำเนินกระบวนการของศาลอาญาตั้งแต่การนัดอ่านคำพิพากษา การไม่ดำเนินการสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของตนกับพวก การออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกาแล้วทำให้ตนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมรัฐสภาในระหว่างสมัยประชุมได้ จึงขัดกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 จึงเห็นว่า เป็นกรณีที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ความคุ้มครองตน โดยวินิจฉัยให้การออกหมายจำคุก และการคุมขังตน ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการที่ศาลอาญาออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา ย่อมไม่สามารถตีความบังคับใช้เพื่อให้เกิดผลร้ายกับตนได้
@เจตนารมณ์ รธน.ต้องตีความให้ชัด
สาม กรณีรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ไว้ว่า ต้องไม่เป็นผู้ที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาลนั้น เจตนารมณ์เพื่อเป็นการห้ามมิให้ผู้ที่ถูกคุมขังถือเป็นบุคคลที่กระทำความผิดและมีมลทินมัวหมองอยู่ ณ ขณะนั้น อีกทั้งเพื่อห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อสามารถให้พรรคการเมืองยื่นสมัครแบบบัญชีรายชื่อแทนได้ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (6) สอดรับกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42
สี่ กรณีรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 บัญญัติให้สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลงเพราะเหตุที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกไว้เพียง 2 กรณีเท่านั้น คือ
1.กรณีตามมาตรา 101 (6) ยึดโยงประกอบกับมาตรา 98 (6) ใช้คำว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล” ดังกราบเรียนแล้วข้างต้น โดยทั้ง 2 มาตราข้างต้นย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์กำหนดให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงแตกต่างกัน โดยมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) มีเจตนารมณ์กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ณ ขณะทำการสมัครรับเลือกตั้ง
2.กรณีมาตรา 101 (13) มีเจตนาห้ามมิให้ผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. มีมลทินมัวหมองถึงขนาดที่มีสภาพร้ายแรง ด้วยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แมม้จะมีการรอลงโทษก็ตาม
ดังนั้นการวินิจฉัยให้ ส.ส.รายใดต้องพ้นจากสมาชิกภาพ เห็นว่า ควรถูกตีความโดยเคร่งครัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) – (13) บัญญัติไว้เท่านั้น เพราะเป็นการให้ความหมายโดยตรงของบทบัญญัติว่า “สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง” และกรณีของตนจึงต้องถูกตีความโดยเคร่งครัดตาม มาตรา 101 (13) เท่านั้น คือ ต้องถึงขนาดว่า ส.ส. รายนั้น ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก แม้จะมีการรอลงโทษ เว้นแต่เป็นการลงโทษในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท” เมื่อคดีนี้ยังไม่สิ้นสุด สมาชิกภาพ ส.ส. ของตนจึงยังไม่สิ้นสุด
@ยกกรณี ‘นวัธ’ มาใช้ไม่ได้ เพราะไม่เหมือนกัน
ห้า กรณี ส.ส. (นายนิวัธ เตาะเจริญสุข อดีต ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย) ถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาลและไม่ได้รับการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ดังนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12/2562 นั้น เป็นผลมาจากกรณีที่จำเลยต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิตแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ตลอดมาจนถึงวันที่มีการพิจารณาคำร้องของผู้ร้อง
แต่กรณีของตนในคดีนี้ ถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาลระหว่างรอฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ซึ่งท้ายที่สุดศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ข้อเท็จจริงจึงแตกต่างกับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 12/2562 จึงเห็นว่าเหตุที่แตกต่างกัน ต้องไม่เกิดผลที่เหมือนกัน
“ด้วยเหตุผลดังประทานกราบเรียนมาทั้งหมดข้างต้น การที่ผู้ถูกร้องที่ 4 ต้องคำพิพากษาศาลอาญาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่ระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวโดยหมายของศาลอาญา เป็นกระบวนการต่อเนื่องกัน เป็นเหตุให้ผู้ถูกร้องที่ 4 ซึ่งมีสถานะ ส.ส. หรือสมาชิกรัฐสภา ถูกขัดขวางไม่สามารถเข้าร่วมประชุมรัฐสภาได้ จึงเป็นเหตุให้กระทบต่อการทำหน้าที่ ส.ส. ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 125 การคุมขังในระหว่างสมัยประชุมจึงขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าผู้ถูกร้องที่ 4 ต้องถูกคุมขังระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวตามที่กฎหมายบัญญัติ สมาชิกภาพ ส.ส. ของผู้ถูกร้องจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (6) ตามที่ผู้ร้อง (กกต.) ขอให้ศาลวินิจฉัย”
ทั้งหมดคือคำชี้แจงในสาระสำคัญจากนายถาวร เสนเนียม โดยชี้ให้เห็นว่า กระบวนการออกคำสั่งของศาลอาญาส่งให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำร้องปล่อยตัวชั่วคราวนั้น อาจมิชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เนื่องจากอยู่ระหว่างสมัยประชุมรัฐสภา
ท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาอย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป!
อ่านประกอบ :
สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่! ศาล รธน.รับคำร้องวินิจฉัยสถานะ 5 ส.ส.จำเลยคดีชุมนุม กปปส.
กกต.ส่งศาล รธน.วินิจฉัยความเป็น รมต.-ส.ส. 5 อดีตแกนนำ กปปส.โดนศาลสั่งคุก
'สุเทพ'เสียใจมาก'ตั้น-บี'พ้น รมต.! 8 กปปส.ได้ประกัน วงเงิน 8 แสน-ห้ามออกนอก ปท.
8 จำเลยคดีชุมนุม กปปส.นอนคุกต่อ! ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งให้ประกันตัวหรือไม่
กาง รธน.-สแกนจำเลย กปปส.โดนกี่เด้ง? เลื่อน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์-‘ทยา’อดชิงผู้ว่า กทม.
‘ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์-ถาวร’หลุด รมต.! 'วิษณุ'คอนเฟิร์ม-รธน.ระบุชัดโดนคุกต้องพ้นเก้าอี้
'สุเทพ-3 รมต.'นอนคุก! รออุทธรณ์พิจารณาให้ประกันหรือไม่หลังศาลพิพากษาคดีม็อบ กปปส.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage