“…ในขณะที่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ให้ความเห็นว่า การ ‘Set Zero’ คดีพิพาทสัมปทานทางด่วน BEM แลกกับการขยายอายุสัมปทานให้บริษัทเอกชน จะทำให้ภาครัฐไม่ต้องจ่ายเงิน ‘แม้แต่บาทเดียว’ แต่กลายเป็นว่า กทพ. จะต้องบันทึกการ ‘รับสภาพหนี้’ มูลค่า 7.39 หมื่นล้านบาท…”
............................
เป็นเวลากว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว
นับตั้งแต่ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลงนามสัญญาสัมปทานทางด่วนฉบับแก้ไข 2 ฉบับ ได้แก่ สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ฉบับแก้ไข) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ฉบับแก้ไข) กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ BEM เมื่อวันที่ 20 ก.พ.2563
ขยายอายุสัญญาสัมปทาน “โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช ส่วน A ,B และ C รวมถึงส่วน D) และโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา หรือส่วน C+)” ให้กับ BEM เป็นสิ้นสุดสัญญาสัมปทานพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578 หรือขยายอายุสัมปทานทางด่วนออกไป 15 ปี 8 เดือน
แลกกับการที่ กทพ. และ BEM ยุติข้อพิพาทระหว่างกันตั้งแต่ปี 2542-2561 รวม 17 คดี มูลค่าข้อพิพาทรวม 78,908 ล้านบาท
“เรามาถึงจุดที่ต้อง Set Zero ซึ่งหลักในการเจรจามันก็ต้องคิดอย่างนี้ และเอาเป็นว่า 17 คดีนี้ เลิกให้หมดภายใน 3 วัน 7 วัน ไปถอนให้หมด โดยที่รัฐไม่ต้องจ่ายเงินแม้แต่บาทเดียว แลกกับการขยายอายุสัมปทานจนถึงปี 2578 เพื่อให้ทุกสัญญาจบพร้อมกัน”
เป็นคำพูดของ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2563 (อ่านประกอบ : ‘วิษณุ-ศักดิ์สยาม’ ร่ายยาว แจงเหตุครม.ไฟเขียวต่อสัมปทานทางด่วน BEM)
แต่ทว่าผลพวงจากการที่ กทพ. ยอมยุติข้อพิพาทกับ BEM แลกกับการต่ออายุสัญญาสัมปทานทั้ง 2 โครงการ ดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อ กทพ. และการนำส่งรายได้เข้ารัฐ มาจนถึงปัจจุบัน
(วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ,ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และผู้บริหาร กทพ. แถลงมติ ครม. ที่ให้ต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM แลกกับการยุติข้อพิพาท 17 คดี เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2563)
@สตง.ให้ความเห็นงบ ‘กทพ.’ ปีงบ 63 ‘อย่างมีเงื่อนไข’
“ในปีงบ 2563 กทพ.ไม่ได้นำส่งรายได้เข้ารัฐ เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่า งบการเงินของ กทพ. ไม่ถูกต้อง และสตง.ยังเห็นว่า หากบันทึกรายการตามมาตรฐานทางบัญชีแล้ว ปีงบ 2563 กทพ.จะขาดทุน 6.7 หมื่นล้านบาท ไม่ใช่มีกำไร 6.4 พันล้าน” แหล่งข่าวจาก กทพ. กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
สำนักข่าวอิศรา พบว่า จากการรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ กทพ. ปีงบ 2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในฐานะผู้สอบบัญชี ได้ให้ความเห็นต่องบการเงินของ กทพ. ‘อย่างมีเงื่อนไข’ และเห็นว่า กทพ.ไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ซึ่งสรุปได้ 3 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นแรก สตง.ได้พิจารณากรณี กทพ.ลงนามกับคู่สัญญา (BEM) ในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด ฉบับแก้ไข และ สตง.เห็นว่า ที่มาของการแก้ไขสัญญาดังกล่าว เป็นการ ‘ยอมรับสภาพหนี้’ และชำระหนี้ด้วยการขยายระยะเวลาให้คู่สัญญาได้รับส่วนแบ่งรายได้ต่อไป
อย่างไรก็ดี แม้ว่าในอดีต กทพ.จะประเมินว่าจะชนะคดี และไม่ต้องชำระค่าเสียหายหรือค่าชดเชยใดๆ แต่ผลของสัญญาฉบับแก้ไขดังกล่าว ส่งผลให้ กทพ. มีภาระผูกพันที่ต้อง ‘แบ่ง’ ส่วนแบ่งรายได้ให้แก่คู่สัญญา โดยไม่ได้รับประโยชน์อื่นใดเพิ่มเติม ซึ่งข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อรายการทางบัญชีและการจัดทำงบการเงิน
แต่การที่ผู้บริหาร กทพ. พิจารณาว่า เมื่อมีการระงับข้อพิพาทแล้ว จึงไม่ต้องรับรู้รายการใดๆ เพื่อสะท้อนการยอมรับหนี้ข้อพิพาท และชำระหนี้ด้วยการขยายระยะเวลาให้คู่สัญญาได้รับส่วนแบ่งรายได้ต่อไปนั้น สตง. จึงเห็นว่า การบันทึกรายการบัญชีและการจัดงบการเงินของ กทพ. ดังกล่าว ‘ไม่สะท้อน’ เนื้อหาเชิงเศรษฐกิจที่แท้จริงของการระงับคดีฯ
“กทพ.จะต้องบันทึกต้องบันทึกรับรู้หนี้สินจากภาระคดีความ และข้อพิพาทที่ กทพ.นำไปเจรจาเพื่อยุติคดีความและข้อพิพาท และบันทึกค่าใช้จ่ายคดีความและข้อพิพาทเพิ่มเติมจากที่เคยรับรู้ไว้ตอนที่ศาลปกครองสูงสุดได้ตัดสินให้ กทพ.ชำระเงินค่าชดเชยรายได้ที่ลดลงจากการสร้างทางแข่งขัน
และบันทึกรับรู้รายการ การให้สิทธิคู่สัญญาได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตามสัญญาฉบับแก้ไขนี้ เพื่อชำระหนี้เป็นรายได้รอการรับรู้ และทยอยรับรู้เป็นรายได้ตลอดระยะเวลาของสัญญา” สตง.ให้ความเห็น
@ชี้ปรับปรุงงบ กทพ.ใหม่ จากกำไรพลิกเป็นขาดทุน
ประเด็นที่สอง สตง.เห็นว่า หาก กทพ. ปรับปรุงงบการเงินสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2563 ให้ถูกต้องตามที่ควรตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน โดยใช้สมมติว่า มูลหนี้ข้อพิพาทจำนวน 78,461 ล้านบาท เป็นจำนวนหนี้ที่ กทพ.พิจารณาใช้ประกอบการเจรจายุติข้อพิพาท และกำหนดจำนวนปีที่เหมาะสมในการขยายระยะเวลาสัญญา แล้ว
ในงบแสดงฐานะการเงินของ กทพ. ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 จะต้องแสดงรายได้รอการรับรู้ (จากการให้สิทธิคู่สัญญาได้รับส่วนแบ่งรายได้ค่าผ่านทางตามสัญญาฉบับแก้ไขนี้เพื่อยุติคดีความและข้อพิพาท) เป็นจำนวนเงินเพิ่มเติมประมาณ 73,992.11 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ส่วนของทุนลดลงด้วยจำนวนเดียวกัน
ขณะที่งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2563 ต้องแสดงค่าใช้จ่ายภาระหนี้คดีความและข้อพิพาท ที่ กทพ.เจรจาเพื่อยุติคดีความและข้อพิพาทตามเงื่อนไขในสัญญาฉบับแก้ไข จำนวนเงินประมาณ 73,992.11 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผลการดำเนินงานเปลี่ยนจากกำไรสุทธิ 6,420.96 ล้านบาท เป็นขาดทุนสุทธิ 67,571.15 ล้านบาท
@กทพ.ไม่เปิดเผยข้อมูล ‘มูลหนี้คดีความ’ ในงบ
ประเด็นที่สาม สตง.เห็นว่า กทพ. มีการเปิดเผยข้อมูลไม่เพียงพอเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาของสัญญาฉบับแก้ไข
เห็นได้จากในหมายเหตุประกอบงบการเงินสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย.2563 ข้อ 4.23.5 เรื่อง สัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 (ทางพิเศษศรีรัช รวมถึงส่วน D) และสัญญาโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (ทางพิเศษอุดรรัถยา) ฉบับแก้ไข
ได้เปิดเผยข้อพิพาทจำนวน 10 ข้อพิพาท ทุนทรัพย์รวม 55,874.08 ล้านบาท ที่ได้ถูกยกเลิกเพิกถอนไป แต่ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลจำนวนคดีความและข้อพิพาท รวมทั้งจำนวนเงินที่ยกเลิกเพิกถอนต่อกันทั้งหมด
จากเดิมที่เคยเปิดเผยในหมายเหตุประกอบข้อมูลทางการเงินระหว่างกาลสำหรับงวดสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ข้อ 4.21.1 เรื่อง ข้อพิพาทระหว่างบริษัทร่วมทุน จำนวน 11 ข้อพิพาท ทุนทรัพย์รวมจำนวน 128,099.55 ล้านบาท
และไม่ได้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนมูลหนี้คดีความและข้อพิพาทที่นำมาพิจารณา จนได้เป็นที่ยุติในการขยายสัญญาไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.2578
“ดังนั้น การให้ข้อมูลและข้อเท็จจริงในหมายเหตุดังกล่าวยังไม่เพียงพอ เพื่อให้ผู้ใช้งบการเงินนี้เข้าใจเนื้อหาสำคัญของการขยายระยะเวลาสัมปทานตามสัญญาฉบับแก้ไข” สตง.ระบุ
(ที่มา : รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ กทพ. ปีงบ 2563 สิ้นสุด ณ วันที่ 30 ก.ย.2563)
@กทพ.ไม่นำส่งรายได้เข้ารัฐ 2 ปีเกือบ 3 พันล้านบาท
อย่างไรก็ดี จากกรณีที่ สตง. ให้ความเห็นงบการเงินของ กทพ. ปีงบ 2563 ‘อย่างมีเงื่อนไข’ ส่งผลให้ในช่วง 2 ปีงบประมาณ ได้แก่ ปีงบ 2563 และปีงบ 2564 กทพ.ไม่ได้นำส่งรายได้เข้ารัฐเลย ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ประมาณการว่า ในช่วง 2 ปีงบประมาณดังกล่าว กทพ.จะต้องนำส่งรายได้เข้ารัฐ รวมทั้งสิ้น 2,931.06 ล้านบาท
โดยปีงบ 2563 (สิ้นสุด 30 ก.ย.2563) สคร. ประมาณการว่า กทพ.จะนำส่งรายได้เข้ารัฐ 1,635.19 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าการนำส่งรายได้เท่ากับ 0 บาท และปีงบ 2564 (สิ้นสุด 30 ก.ย.2564) สคร.ประมาณการว่า กทพ.จะนำส่งรายได้เข้ารัฐ 1,316.878 ล้านบาท แต่ไม่มีการนำส่งเช่นกัน
เหตุผลที่ กทพ.ไม่ได้นำส่งรายได้เข้ารัฐดังกล่าว มีการระบุในหมายเหตุการนำส่งรายได้ในปีงบ 2564 ว่า “อยู่ระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทยหารือกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ได้ข้อยุติเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีตามความเห็นของสตง.”
(ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ)
ในขณะที่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ให้ความเห็นว่า การ ‘Set Zero’ คดีพิพาทสัมปทานทางด่วน BEM แลกกับการขยายอายุสัมปทานให้บริษัทเอกชน จะทำให้ภาครัฐไม่ต้องจ่ายเงิน ‘แม้แต่บาทเดียว’ แต่กลายเป็นว่า กทพ. จะต้องบันทึกการ ‘รับสภาพหนี้’ มูลค่า 7.39 หมื่นล้านบาท
ที่สำคัญในช่วง 2 ปีงบประมาณที่ผ่านมา (ปีงบ 2563-2564) ภาครัฐยังขาดรายได้เงินนำส่งของ กทพ. เป็นเงินเกือบ 3,000 ล้านบาท เลยทีเดียว!
อ่านประกอบ :
'กทพ.' เตรียมแผนสอง หากเพิกถอนคดีพิพาททางด่วน BEM ไม่ทัน 29 ก.พ.นี้
‘ปธ.บอร์ดกทพ.’ คาดเซ็นสัญญาต่อสัมปทานทางด่วน BEM ในสัปดาห์นี้
‘วิษณุ-ศักดิ์สยาม’ ร่ายยาว แจงเหตุครม.ไฟเขียวต่อสัมปทานทางด่วน BEM
ครม.ไฟเขียวต่ออายุสัมปทานทางด่วน BEM เป็นเวลา 15 ปี 8 เดือน
‘ปธ.บอร์ดกทพ.’ คาดเซ็นสัญญาต่อสัมปทานทางด่วน BEM ในสัปดาห์นี้
เปิดร่างสัญญาต่ออายุสัมปทาน ‘ทางด่วน’ กทพ.ต้องระวังเกิดข้อพิพาทซ้ำซาก (ตอนจบ)
เปิดร่างสัญญาต่ออายุสัมปทาน 'ทางด่วน' ขุมทรัพย์แสนล้าน ‘บีอีเอ็ม’ (ตอน 1)
พนักงานกทพ. ร้อง ‘ศักดิ์สยาม’ เร่งยุติข้อพิพาททางด่วน ‘บีอีเอ็ม’
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/